วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

" คำขอบคุณ "

" คำขอบคุณ "

      ช่วงนี้ มีผู้ติดตามอ่าน ..เชิงแสบ้านแม่ บ้านทุ่งริมเล ..เป็นจำนวนมาก ขอขอบคุณนะครับ

      ไม่เพียงแต่การอ่านเรื่องราวบ้านแม้ใน Blog นี้ เท่านั้น ยังมีผู้ตามไปชมบ้านแม่ด้วย..อย่างวันก่อนคุณพี่เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีผู้เป็นยอดฝีมือของเมืองไทย ก็ไปเยี่ยมชมบ้านแม่ และเลยไปชมพรุด้านทิศตะวันออกของวัดหัวนอน..ที่สวยงามและเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่คงความเป็นธรรมชาติอยู่พอสมควร.

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

บทที่ ๑๙ ขุนพัฒน์ภักดี

บทที่ ๑๙ ขุนพัฒน์ภักดี

      ในบรรดาชาวเชิงแสที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นท่านขุนยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งนับว่าเป็นขุนนางเก่าเก่าแก่ชั้นดั้งเดิมของบ้านเชิงแสบ้านแม่ของผมนั้น. มีอยู่ ๒ ท่าน คือ "ขุนอารักษ์เชิงแส" และ "ขุนพัฒน์ภักดี" วันนี้ผมจะได้กล่าวถึงขุนพัฒน์ภักดีนะครับ.

      ท่านขุนพัฒน์ฯ บรรพชนคนเชิงแสท่านนี้ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ท่านเป็นบุตรของชาวจีน ชื่อ "ก๋งเคี้ยน แซ่อุ๋ย".ขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ลูกหลานของท่านขุนในรุ่นที่ ๔ และที่ ๕ ได้รับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็มี เป็นอธิบดีที่กรมสำคัญในกรุงเทพฯ ก็มี เป็นผู้พิพากษา ก็มี ....และหากผมจะกล่าวว่า บางคนอาจจะยังไม่ทราบเลยว่าตนเองเป็นทายาทของท่านขุนพัฒน์ฯ ก็น่าจะมีเช่นกัน.

      ขุนพัฒน์ภักดีมีลูกและหลานเป็นท่านขุนเช่นกันครับ. ลูกของท่านเป็นขุนอินมนตรี ,ขุนอินมนตรีมีบุตรชายคือ ขุนบุรีรัตนรักษ์ ซึ่งเป็นคุณพ่อของท่านผู้ว่านิพนธ์ บุญภัทโร./

     

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

บทที่ ๑๘ บ้านสองชั้นหน้าหนน พิมพ์นิยมคนเชิงแส

บทที่ ๑๘ "บ้านสองชั้นหน้าหนน พิมพ์นิยมคนเชิงแส"

        "เชิงแสบ้านแม่ บ้านทุ่งริมเล" ได้บันทึกเล่าเรื่องของแม่ และครอบครัวแม่ ตลอดจนเรื่องราวของบ้านเชิงแสหลากหลายเรื่อง.จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าอ่านเกินกว่า ๑๘,๐๐๐ ครั้งแล้ว.ผมใคร่ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน และบางท่านก็เขียนข้อความมาพูดคุยกัน.

         ผมจำไม่ได้ว่าแม่หรือครูเป็นผู้สอนผมให้รู้จัก "ขอบคุณ".จำไม่ได้จริงๆ อันที่จริงแล้วเท่าที่ทราบมาเด็กเชิงแสไม่มักจะถูกสอนในเรื่องนี้นะครับ. คือ ไม่ใช่เพราะเรากระด้างหรืออะไรหรอก แต่เพราะอะไรผมก็ไม่ทราบ. ที่ว่าไม่ใช่เพราะความกระด้างนั้นผมยืนยันได้ว่าไม่มีแน่. ไม่ใช่แน่ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กๆเชิงแสมีคำสุภาพอยู่หลายคำ เช่นคำเรียกผู้ใหญ่ที่เป็นคำเฉพาะ ซึ่งใครได้ยินเข้าอาจตกใจ  คือ พูดกับผู้ใหญ่สรรพนามบุรุษที่ ๒ ว่า "ตัว"..."ตัวอี้ไปไล่วัวปาใด?"

      แต่ต้องยอมรับว่า.หากให้ละเอียดและพิถีพิถันถ้อยคำกว่านั้น.เด็กเชิงแสก็มีไม่มากนัก.จนเมื่อคุณครูสุพร  หมานมานะ มาสอนครูสอนพวกเราว่า หากผู้ใหญ่ถามว่า "รู้มั๊ย ครูเสรีมาแล้วยัง?"  หากนักเรียนไม่รู้.นักเรียนต้องตอบโดยใช้คำว่า "ไม่ทราบ ครับ"  จะตอบว่า "ไม่รู้" อย่างนี้ไม่ได้...ก็นับว่าครูเป็นคนแรกที่สอนผมเรื่องนี้.

     คำว่า "พวกเรา" นี่ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่แม่ไม่ให้ผมใช้นะครับ.แม่ว่าเป็นคำพูดที่ไม่เพราะ.ผมเคยพูดว่า "พวกเราไปเที่ยวกัน"  แม่ว่ากับผู้ใหญ่ต้องใช้ว่า "ต้องแหลงว่า  พวกผมไปเที่ยวกัน"

      แม่เป็นคนพูดดี.แม่สอนผมว่า "คนที่เขาบวชเรียนมาแล้ว จะเรียกชื่อโดยขึ้นต้นว่า "ไอ้" ไม่ได้แม้ว่าจะเป็นเพื่อน หรือเป็นผู้ที่อ่อนกว่าก็ตาม. แม่ว่าเพราะผู้นั้นได้บวชเรียนมาแล้ว.

         กล่าวถึงเรื่องอื่นไปเสียมากแล้วครับ. ก็ต้องกลับมาขอบคุณทุกท่านอีกครั้งนะครับที่ติดตามอ่าน.

        ..........................................................................................................................................

       " ไชยา  ชัยวงศ์ "

        ในบทนี้.มีไชยาได้เขียนความเห็น มาพูดคุย. จึงขอกล่าวเล่าถึงผมกับบ้านของไชยาไว้เพื่อเป็นอรรถรส......และหากมีท่านใดกรุณาเขียนความเห็นมาพูดคุยกัน ผมก็จะเขียนถึงบ้านของท่านนั้นด้วย...จะได้มั๊ยครับ?....ถือเสียว่า จะได้หายคิดถึงบ้านเกิด  หรือหวนคิดถึงวันเก่าเมื่อเรายังเป็นเด็กๆ...จะว่าไปเรื่องราวของชุมชนเล็กเล็กอย่างบ้านเชิงแส บ้านเกิดของพวกเรานี้ ผมเข้าใจว่ามีคนเขียนถึงกันไม่ค่อยมากนัก. อาจจะเพราะคนไทยเราไม่ค่อยชอบบันทึก.ก็เป็นได้??

         บ้านของน้าเขียวน้ากัญหากับบ้านของแม่ห่างกันเพียงสามบ้านคั่น.เมื่อผมเป็นเด็กผมไปที่บ้านน้าอยู่บ้าง จำได้ว่าบ้านหลังเดิมเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง.หัวไดบ้านอยู่ทางทิศตะวันตก.ที่ตั้งตำแหน่งอยู่ด้านหลังของบ้านน้าที่อยู่ปัจจุบัน. หลังจากที่ผมไปเรียนที่สงขลาแล้ว.น้าก็ปลูกบ้านใหม่. เป็นบ้านสองชั้นซึ่งผมอยากเรียกชื่อว่า " แบบแปลนพิมพ์นิยมนอกหนน "...เมื่อผมยังเรียนที่เชิงแส..มีอยู่วันหนึ่งระหว่างที่พ่อพักเหนื่อยจากไถนาที่สวนตีน .ผมเคยถามพ่อว่า. บ้านสองชั้นราคาแพงหม้ายพ่อ? พ่อตอบว่า "น่าจะมากกว่าสามหมื่น"

        บ้าน " แบบแปลนพิมพ์นิยมนอกหนน " เป็นอย่างไร? คือ เป็นบ้านสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องลอน ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ชั้นบนเครื่องไม้ ฝาผนังชั้นล่างเป็นปูน ประตูบานพับหน้าถัง. ฝาชั้นบนเป็นไม้. บางบ้านที่ชั้นบนมีระเบียงลูกกรง บางบ้านก็ไม่มีระเบียง.ทุกบ้านเหมือนกันหมดตรงที่หันหน้าบ้านออกนอกถนน. ไม่มีสวนหย่อมหน้าบ้าน....และที่สำคัญที่สุดคือ เอาวัวไว้ใต้ถุนบ้านไม่ได้???

         ที่เชิงแสบ้านแม่.มีบ้านสองชั้นอย่างนี้ที่ชายหนน นับตั้งแต่หน้าวัดกลางถึงคลองคด. ดังนี้ ริมถนนด้านทิศเหนือ มีบ้านน้าเวียน , บ้านน้าปิ่น ,บ้านพี่ปองพี่พิมพ์ , บ้านน้าฉ้วนน้าผอม , บ้านน้าจิตน้านี ,บ้านพี่สิทธิ์พี่พูน,บ้านผู้กองสุวรรณ บ้านน้าทิ่น  ,..ด้านฟากทิศใต้ถนนก็มี บ้านน้าวร ,บ้านน้าเลิศ ,บ้านน้าจัด, บ้านน้าเขียว, เป็นต้น

        บ้านสองชั้นอย่างนี้.ไม่ว่าจะปลูกที่ริมถนนใหญ่ หรือถนนซอยในหมู่บ้าน.. หลายหลังสร้างเป็นเรือนหอ นะครับ เช่นบ้านของพี่พิมพ์ สร้างเมื่อแต่งงานกับพี่ปอง. บ้านของพี่สิทธิ์สร้างเมื่อแต่งงานกับพี่พูน บ้านในซอยที่น่าจะสร้างเป็นเรือนหอ ก็เช่น บ้านพี่อุไรสร้างเมื่อแต่งกับน้านิต.

       บ้านสองชั้นแบบพิมพ์นิยมนอกหนนอย่างบ้านของน้าเขียวนี่. ควรต้องบันทึกไว้ว่า เมื่อแรกตั้งตั้งกิ่งอำเภอกระแสสินธ์ุ มีนายตำรวจระดับ "ผู้กอง" มาเช่าเป็นบ้านพัก (ผมน่าจะจำไม่ผิด)

       หากจะกล่าวให้ละเอียดเกี่ยวกับบ้านสองชั้นที่เชิงแสบ้านแม่.ผมควรต้องกล่าวด้วยว่า. " บ้านสองชั้นรุ่นแรก " เป็นอย่างไร?? และ บ้านสองชั้นรุ่นแรกควรอนุรักษ์ไว้เพียงใด??

      " บ้านสองชั้นรุ่นแรกที่เชิงแส "

       ๑. บ้านป้าฉีดครูพลอย.
       ผมขอกล่าวถึงบ้านของป้าฉีดและครูพลอย เป็น หลังแรกนะครับ เพราะป้าฉีดเป็นญาติสนิทของแม่. ป้าฉีดเป็นลูกของ ก๋งยก พี่ชาย ก๋งเห้ง ซึ่งเป็นก๋งของผม.เมื่อเล็กๆแม่จึงพาผมไปที่บ้านของป้าฉีดอยู่เสมอ.และผมก็จะได้ชอล์กขาวและชอล์กสีเหลืองมาเขียนที่ฝาบ้านแม่บ้าง เขียนที่เสาบ้านบ้าง

       บ้านสองชั้นรุ่นแรกของบ้านเชิงแสอย่างบ้านป้าฉีด.เป็นบ้านสองชั้นที่สร้างด้วยไม้ทั้งชั้นล่างและชั้นบน.และมี "ตีนเสา" สูงประมาณ ๕๐ เซ็นติเมตร พื้นบ้านนั้นเป็นพื้นไม้ทั้งสองชั้น. ชั้นบนไม่มีระเบียงครับ.อีกทั้งหลังคาเป็นทรงปั้นหยากระเบื้องดินเผา...พูดกันตรงๆ บ้านอย่างนี้แสดงถึงความมีฐานะของเจ้าของบ้านนะครับ...ที่เชิงแสเป็นชุมชนที่คนมีฐานะอยู่หลายครอบครัว จึงมีบ้านสองชั้นรุ่นแรกหลายหลังที่เดียว อย่างบ้านหลังที่ ๒ ที่ผมจะเล่าต่อไป.

      ๒. บ้านครูชื่นน้าเอียด.
      บ้านสองชั้นของน้าเอียด.ตั้งอยู่ที่ริมถนนกลางหมู่บ้าน หย่อมที่เรียกว่า ตกวัดกลาง ตัวบ้านยกพื้นเสาปูนสูงประมาณ ๖๐ เซ็น.บ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีบันไดปูนซีเมนต์.คือบ้านครูชื่นนี้ไม่ได้หันหน้าออกสู่ถนน แต่หันข้างบ้านให้ถนน อาจเป็นเพราะสร้างมาก่อนทีการพูนหนนกลางบ้าน.

     เมื่อขึ้นผ่านปากประตูเข้าไป.มีทางปูดวยไม้หนาน่าจะตรงไปที่ห้องครัว.สองฟากทั้งขวามือ และซ้ายมือนั้น เป็นตัวบ้าน อย่างบ้านสองหลัง.เฉพาะด้านขวาไม้พื้นบ้านสะอาดตาเป็นที่สุด.ผมจำได้แม่นยำ ก็เพราะ น้าเอียดขายผ้าและชุดนักเรียน.แม่พาผมไปซื้อชุดนักเรียนที่บ้านน้าเอียดอยู่หลายครั้ง.การไปบ้านน้าเอียดจึงนับว่า. มีความสุขมากสำหรับผม.

      เมื่อสองปีที่แล้ว.ผมได้พบกับพี่พรลูกสาวคนโตของน้าเอียดครูชื่น.ที่งานเดือนสิบหนหลัง.ผมยังสอบถามเรื่องบ้านหลังนี้อยู่เลย.

     นอกจากจะขายเสื้อผ้าที่บ้านแล้ว. ในวันนัด คือวันอังคารและวันเสาร์ น้าเอียดยังขายผ้าที่ตลาดนัดหัวโคกสนามโรงเรียนวัดเชิงแสอีกด้วย.ร้านของน้าเอียดตั้งอยู่ร้านแรกสุดของแถวร้านค้าหลังคามุงจากริมสนามโรงเรียนด้านริมคลองใกล้ต้นคุระ.แม่ไม่เคยพาผมไปที่ร้านของน้าเอียด เพราะแม่จะพาผมไปซื้อชุดนักเรียนที่บ้านของน้าตามที่เล่าแล้วข้างต้น.

       ๓...(บ้านสองชั้นรุ่นแรกที่เชิงแส ยังมีอีกสองสามหลังครับ เช่นบ้านครูแอบ ศิริรักษ์ บ้านของครูเปื้อน จินดานาค เอาไว้เล่าต่อนะครับ...เริ่มดึกแล้ว)

        (วันเสาร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙) เย็นใกล้ค่ำอย่างนี้.หากยังเป็นเด็กอยู่ที่บ้านเชิงแส ผมคงจะไม่ได้นั่งเล่าเรื่องบ้านสองชั้นอย่างที่กำลังเล่าอยู่ขณะนี้.พวกเรากำลังทำอะไร? เย็นใกล้ค่ำ ของบ้านเชิงแส ชาวบ้านและเด็กๆ ต่างก็กำลัง "เอาวัวเข้าคอก" นี่คือ งานหลักของผม...ไอ้แดง,อีดำ,ไอ้ขวัญ,ไอ้อุด..วัวทุกตัวเดินตามหัวนา.จากสวนตีน  มุ่งหน้าลงกินน้ำที่สระตีนหน้าบ้านก่อนที่จะเข้าคอกที่ใต้ถุนบ้านแม่...และเมื่อวัวหลายเจ้ามา "ทัง"กันบนถนนกลางหมู่บ้าน...ก็ต้องระวังอีกอย่าง นั่นคือ "วัวบ้าเหมีย" ซึ่งมักจะตามดมท้ายตัวเมียไปเข้าคอกอื่น.

         มาต่อที่บ้านสองชั้นเชิงแสรุ่นแรกดีกว่าครับ. บ้านครูเปื้อนน้าจำลอง จินดานาค.บ้านหลังนี้ผมไม่เคยเข้าไปในบ้าน.ได้แต่ผ่านๆ แต่เป็นบ้านไม้สองชั้นที่ตั้งอยู่ริมคลองเชิงแสฟากทิศเหนือ ซึ่งนับว่าเป็นหย่อมบ้านตกวัดกลาง..ใกล้คลองควายอ่าง.คลองบริเวณบ้านของครูเปื้อนนั้น เป็นคลองที่ร่มรื่นมาก.มากไปด้วยร่มไม้ไผ่.ทั้งสองฟากคลอง.ฟากคลองทิศใต้เป็นบ้านของเพื่อนผม คือ พิท พัทบุรี , และสมนึก.บ้านของพิทที่ชื่อเล่นว่า ดำ นี้ เป็นที่ตั้งของโรงสี.ส่วนบ้านสมนึกเป็นบ้านริมคลองใต้ถุนสูง และมีนอกชานยื่นออกมาที่ชายคลอง.ถัดจากบ้านสมนึกเข้าไปด้านใน เป็นบ้านของลุงว่อนป้าหลับ...ขณะนี้บ้านของลุงว่อนไม่มีเสียแล้ว.คงเหลือเพียงบ่อน้ำ ๕ ปล้องที่ใกล้บันได.ไว้เป็นที่เตือนความจำถึงลุงและป้า กับ "น้าวาด"คนถ่อเรือพกผู้ใจดีแห่งบ้านเชิงแส.

        ครูเปื้อนและน้าลองมีลูกกี่คนผมไม่ทราบ.แต่ที่ผมจำได้ ๒ คน คือพี่นิรันด์ และจรรยา.

        ต่อไปเป็นบ้านสองชั้นของครูแอบ ศิริรักษ์...

   


   

   

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทที่ ๑๗ ปางนู ที่ บ้านนา

บทที่ ๑๗ ปางนู ที่บ้านนา

        ขณะนี้. วันเสาร์ ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ ปลายปีแล้วครับ เช้าตรู่อย่างนี้ อากาศค่อนข้างเย็น. ช่วงนี้ประเทศของเรากำลังจะจัดตั้งศาลใหม่ขึ้นมาศาลหนึ่ง ชื่อว่า " ศาลอาญาคดีทุจริต " เพื่อทำหน้าที่ตัดสินเฉพาะคดีที่มีการทุจริตเท่านั้น โดยไม่รับพิจารณาคดีอื่น. และจะใช้ระบบการพิจารณาใหม่ คือ "ระบบไต่สวน" หมายความว่า ผู้พิพากษาจะเป็นผู้ถามพยานเอง ทนายความจะถามไม่ได้ อันเป็นการมอบหน้าที่ควบคุมการพิจารณาอย่างเด็ดขาดไว้ที่ผู้พิพากษา

        ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ ยก "แผนกคดีทุจริตในศาลอาญา" ขึ้นเป็น "ศาลอาญาคดีทุจริต". แผนกคดีทุจริตในศาลอาญานี้ เป็นแผนกที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อ ๔ เดือนที่แล้วนี่เอง. และขณะนี้ ผมเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกนี้อยู่ครับ. ผู้พิพากษาผู้ใหญ่สองสามท่านพูดเล่นๆกับผมว่า นิกรเลื่อนตำแหน่งเร็วจัง. แต่ผมกลับรู้สึกไปอีกทางว่า ผมไม่มีความสามารถเลย รักษาแผนกเอาไว้ไม่ได้ แค่ไม่นานก็ถูกยุบเสียแล้ว (เพื่อยกแผนกขึ้นเป็นศาลใหม่). ผมก็คงต้องมีหน้าที่หาสถานที่ตั้งศาลใหม่นี้ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถวสามเสน ในพื้นที่เขตดุสิต. ตรงนี้ใกล้กับปากคลองสามเสน ท่านใดเคยเป็นนักเรียนรุ่นเก่าเหมือนผม เคยอ่านหนังสือแบบเรียนเรื่อง "นายเถื่อนเป็นนายเมือง" จำได้มั๊ยครับ...นายเถื่อนมาหาญาติที่บางกอก ก็นั่งเรือมาเข้าคลองสามเสนนี่แหละ

       ตลอดระยะเวลาที่ผมเป็นผู้พิพากษามาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ขณะนั้นยังเป็นหนุ่มน้อยอายุสี่ยิบเศษ ไม่ใช่หนุ่มเหลือน้อยเหมือนตอนนี้. และได้มาทำงานด้านการตัดสินคดีทุจริต ซึ่งที่ผ่านมาองค์คณะผู้พิพากษาในแผนกคดีทุจริต ก็ได้ตัดสินคดีไปหลายเรื่องแล้วที่ทุกคนต้องรู้จักชื่อ คือ คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยได้พิพากษาจำคุกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สามคน คนละ ๒๐ ปี.นั่นคดีหนึ่ง หรืออีกคดีหนึ่งก็คือ คดีที่คุณหยิงท่านหนึ่งถูกฟ้องว่าจัดการสัมมนาเท็จเพียงเพื่อนำกฐินไปถวายวัด. ระยะเวลาของชีวิตที่ผ่านมา ผมคิดถึงชีวิตในวัยเด็กที่บ้านเชิงแสบ้านแม่บ้านนาอยู่เสมอ.

         ตอนเด็กๆ ผมอยู่บ้านนอกที่ใครๆ อาจจะคิดว่าห่างไกลความเจริญ ไม่มีไฟฟ้าใช้ มีแต่ตะเกียงน้ำมันก๊าดให้แสงสว่างแค่วอมแวมยามค่ำคืน. ไม่มีถนนหนทาง. จะไปมาหาสู่กัน ต้องเดินทาง "ทางรง" และตามหัวนาคันนา .แต่เมื่อย้อนกลับไปคิดถึง ดูช่างเปี่ยมความสุขเสียเหลือเกิน... หากไม่มีความสุขก็คงจะไม่อาจเขียนได้มาจนถึงบทที่ ๑๗ แล้ว...จริงมั๊ยครับ.?...คงไม่มีใครทนเขียนเรื่องทุกข์ของตัวเองได้ยาวขนาดนี้แน่

        และ  ความสุขอีกอย่างหนึ่ง  คือความสุข เมื่อคิดถึงเรื่อง " ปางนู "

        หัวค่ำของวันหนึ่ง. ผมและเพื่อนๆ หลายคนชวนกันไปอาบน้ำที่ "สระตีน" ทุ่งด้านเหนือใกล้หมู่บ้าน ตักน้ำอาบกันที่ขอบสระเสร็จแล้ว เดินตัวเปียกกลับบ้านกัน. ครั้นถึงบ้าน และขณะที่ผมกำลังผลัดผ้าอยู่นั้น มีเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่ใช่กลุ่มที่ไปอาบน้ำด้วยกัน น่าจะไปอาบตอนหลัง ได้ตามมาที่บ้านของผม. ในมือนั้นเค้าถือ "ปางนู" มาด้วย เพื่อนคนนี้พูดถามผมขณะที่ยืนอยู่ที่พื้นดินข้างนอกชานบ้านว่า " สูลืมปางนู ไว้ที่สระตีน ตอนอาบน้ำ เอามาให้ " ปางนูที่เพื่อนคนนี้พูดถึงนั้น.ผมดูแล้ว เป็นปางนูทำด้วยปลายเขาวัว.  สวยเหลือเกิน. ผมตอบไปว่า "ไม่ใช่ของเรา "และ ผมไม่รับปางนูนั้นไว้..... ผ่านมา ๔๐ ปีแล้วไม่รู้ว่าหาตัวเจ้าของได้แล้วยัง

        เมื่อเพื่อนคนนั้นกลับไปแล้ว. พ่อเรียกผมไปหา พ่อนั่งอยู่ที่ในบ้าน พ่อพูดกับผมว่า "พ่อดีใจ ที่ลูกเป็นคนก้งโท้" ..."ก้งโท้" เป็นภาษาจีนของคนเชิงแส แปลว่า "ซื่อสัตย์"

         ผมภูมิใจในตัวผมเองตลอดมาว่า.ผมเป็นคนก้งโท้จากเชิงแส และสิ่งนี้เป็นผลอย่างสำคัญให้ผมทำงานอย่างซื่อสัตย์.โดยผมคิดถึงเรื่องปางนูในวัยเด็กอยู่เสมอ. ทุกวันที่ไปส่งลูกที่โรงเรียน ระหว่างทางผมสอนลูกโดยยกเรื่องนี้ขึ้นกล่าวหลายต่อหลายครั้ง.  การที่เด็กชาวนาบ้านนอกอย่างผมมีโอกาสทำงานสำคัญของประเทศ. ผมว่าส่วนสำคัญก็มาจากความซื่อสัตย์. ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นเครื่องสอนใจเด็กไทยทุกคน ว่า ผู้ที่ซื่อสัตย์นั้น แม้จะมีพื้นฐานและกำเนิดจากบ้านนอก แต่เราก็มีเกียรติอยู่ในทุกสถานที่ ทุกหมู่ผู้คน และที่สำคัญมีเกียรติในตัวเอง ทำให้ยกมือไหว้ตัวเองได้

         ชีวิตของผมมีแรงบันดาลใจจากเรื่องปางนูอยู่หลายครั้งนะครับ.อีกครั้งหนึ่ง เมื่อคราวที่ผมกราบลาพระครูปิยะสิกขการ พระมหาพร้อม ปิยะธัมโม เจ้าอาวาสวัดหัวป้อมใน พระที่เลี้ยงดูผมมา. เพื่อเดินทางไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ่อท่านให้ผมไปหยิบหลวงพ่อทวดเป็นมงคลติดตัว. ผมเข้าไปในห้องนอนของพ่อท่าน. เห็นพระเครื่องหลวงพ่อทวดอยู่ในพานหลายสิบองค์. แต่ผมหยิบติดตัวมาเพียงองค์เดียว. ผมเล่าเรื่องนี้ให้ลูกฟังหลายครั้งเช่นกัน ผมสอนว่า ความซื่อสัตย์นั้น ต้องทำแม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็น. เพราะตัวเราย่อมรู้ย่อมเห็นด้วยตัวเราเอง. หลวงพ่อทวดองค์นี้ผู้พิพากษารุ่นพี่ท่านหนึ่งที่ดูพระเป็น ท่านดูแล้วก็พูดเล่นๆว่า " น่าจะหยิบมาเผื่อสักองค์ "

        ผมยกเรื่องนี้มาเล่า. ไม่ได้ต้องการอวดตัว ยกตัว. เพราะในอนาคตผมอาจจะทุจริตก็ได้. หากผมเกิดความละโมบ ไม่มีความสมถะเหมือนคำสอนของบรรพตุลาการ อีกทั้งยังปล่อยความต้องการของตนเป็นไปในทางที่ต่ำ. ไม่รักษาความดี ไม่รักษาความดีให้สมกับที่เป็นคนที่มีศาสนา. แต่ที่เล่ามาเพียงต้องการสื่อให้ทราบว่า.ชีวิตของเด็กบ้านเชิงแสนั้น เป็นชีวิตที่มีความสุข อุดมไปด้วยตัวอย่างและสิ่งดีๆ เรื่องปางนูนี้ คนที่เป็นเด็กดีกว่าผม ก็คือ เพื่อนของผมที่ถือปางนูมาถามผม นั่นเอง.

      " ศาลอาญาคดีทุจริต "

       หากใครถามผมว่า.ผมซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกคดีทุจริตอยู่ขณะนี้ ตั้งความหวังอะไรบ้างกับศาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศของเรา. ผมอยากจะบอกว่า...หากอีก ๑๐ ปีข้างหน้า สามารถยกเลิกศาลนี้เสียได้ ผมจะดีใจมาก. เพราะอะไร?

       เพราะ...ต่อไปประเทศของเรามีแต่คนสุจริต จะไม่มีใครต้องมาขึ้นศาลนี้อีกแล้ว. แล้วจะมีศาลอาญาคดีทุจริตไปทำไม. มีไปก็ไม่มีประโยชน์...ซึ่งความหวังของผมจะเกิดขึ้นและเป็นจริงได้หรือเปล่า...หรือจะต้องให้มีเด็กที่เชิงแสลืม "ปางนู" ไว้ที่ขอบสระตีนอีกสักหลายๆ ครั้ง

       อันที่จริงแล้ว. หากคนไทยทุกคน แค่เพียงรักษาศีลห้า ให้ได้ ตามที่รับศีลมา ประเทศเราก็ไม่ต้องมีศาลมายมายเลย. เช่น รักษาศีลข้อ ๑ ได้ ก็จะไม่ฆ่ากัน ความผิดฐานฆ่าคนตายก็ไม่เกิด , รักษาศีลข้อ ๒ ได้ ความผิดฐานลักทรัพย์ ก็ไม่เกิด. ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ก็ไม่มี ข้อหาคอร์รัปชั่น ก็ไม่มีศาลอาญาคดีทุจริตก็ไม่รู้จะตั้งไปเพื่ออะไร. เห็นมั๊ยครับ. แค่รักษาศีลข้อ ๒ เพียงข้อเดียว มีอิทธิพลถึงกับทำให้ศาลอยู่ไม่ได้.

       แล้วหากรักษาศีลข้อ ๓ ได้อีก. จะเกิดผลอะไร....ศาลครอบครัวครับ...ศาลครอบครัวหมดสิทธิตัดสินเรื่องหย่าเพราะเหตุเป็นชู้กัน...นี่คืออิทธิพลหรือผลของการรักษาศีล.

        แต่.  ความจริง อาจจะห่างไกลจากที่ผมกล่าว. ทุกวันนี้ ทุกคดีเพิ่มขึ้นมาก...โดยเฉพาะคดีทุจริต. ผมแปลกใจอยู่ตลอดมาว่า..พี่น้องชาวไทยเราทำบุญกันมากในแต่ละปี.ทั้งกฐิน ผ้าป่า งานวัด งานโยม อีกทั้งยามน้ำท่วม ประสบภัย ตลอดไปจนถึงชาวต่างชาติได้รับความเดือดร้อน แผ่นดินไหว เราคนไทยก็ยังช่วยเหลือนับร้อยๆล้าน... แต่ทำไมในบ้านเมืองเรากลับมีเรื่องการทุจริตมาก จนถึงกับต้องตั้งศาลขึ้นมากปราบการคอร์รัปชั่น.และผู้ที่ทุจริตนั้น ก็มีทั้งนักการเมืองที่ร่ำรวยมหาศาลอยู่แล้ว, มีทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ , มีทั้งข้าราชการการเมือง และข้าราชการท้องถิ่น, รวมตลอดถึงบริษัทห้างร้านเอกชนทั้งใหญ่โต และเล็กๆ ห้องแถว จนถึง ริมฟุตบาท. แทบจะกล่าวได้ว่า.ทั้งคนจนคนรวย คนใหญ่ คนเล็ก "ได้จังหวะได้ช่อง เป็นต้องโกง" และโกงกัน ในหลายรูป เช่น บุกรุกที่ตั้งแต่ภูเขา แม่น้ำ ริมคลอง ฟุตบาท ...นี่คือโกงพื้นที่,ส่วนโกงเงิน ก็คือ โกงภาษี และคอร์รัปชั่นงบประมาณ  ทำโครงการเป็นหลักล้าน ได้งานมานิดเดียว........ เมื่อผมบวชที่วัดเอก โยมชาวเชิงแสท่านหนึ่ง บ่นให้ผมฟังว่า พักหลังๆ เริ่มมีการโกงกันไปทั่ว

           " น้องหลวงรู้มั๊ย ถนนลาดลูกรังบางที่ ทำบางเหลือเกินลูกรังน้อยมาก วัวจามทีเดียว ลูกรังกระจายหมดแล้ว"

          เห็นภาพลูกรังฟุ้ง. จนแทบจะเผลอเอามือปิดจมูก./





   

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

บทที่ ๑๖ เชิงแส Online ณ บ้านชายเล

บทที่ ๑๖ เชิงแส Online ณ บ้านชายเล

     " เชิงแสบ้านแม่ ". เดินทางมาถึงบทที่ ๑๖ แล้ว . นับว่าเป็นจดหมายเหตุใน blog เรื่องยาว ที่มีพลัง และหลากหลายประเด็นที่สุดเกี่ยวกับชุมชนเล็กๆชุมชนนี้...จาก" บารเชิงแสะ " ซึ่งเป็นภาพวาดของบ้านเชิงแสและวัดทั้งสี่วัดในพื้นที่บ้านริมเลแห่งนี้ อันได้ถูกจารให้ปรากฏเพื่อการศาสนาอยู่ในแผนที่กัลปนาวัดฝั่งทะเลสาบด้านตะวันออก. และถูกเผยแพร่ออกสู่สังคมเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา..คำว่า." บารเชิงแสะ " ซึ่งอุบัติขึ้นในเอกสารคราวแรกนั้น. คงจะเดินทางสู่การรับรู้ของผู้คนอย่างเนิบช้าและมีการรับรู้กันไม่มากนัก. เป็นไปตามยุคสมัยของวิถีชีวิตในยุคก่อน. แต่ครั้นถึงยุคสมัยปัจจุบัน คำว่าเชิงแสและชีวิตชีวาตลอดจนเรื่องราวของผู้คนที่นี่กลับปรากฏอยู่มากมาย. ด้วยฝีมือของลูกหลานแห่งบ้านนี้.ทั้งที่อาศัยอยู่ที่บ้านเกิด หรือแถบถิ่นอื่ในภาคใต้ และที่กรุงเทพฯ.

       เชื่อหรือไม่ว่า. ขณะนี้.  หากคลิกค้นไปที่คำว่า " เชิงแส Facebook " หรือ " โรงเรียนชุมชนวัดเชิงแส Facebook " หรือที่ "คนบ้านเรา รักบ้านเชิงแส Facebook" ทุกท่านก็จะได้รับทราบเรื่องราวของพี่น้องลูกหลานร่วมบ้านเกิดและกิจกรรมที่นั่นทันที.ล่าสุดเพจ "คนบ้านเรา รักบ้านเชิงแส" ก็โพสต์ภาพพิธีแห่ผ้าห่มพระนอนที่วัดกลางให้ได้ชมกัน. ทำให้ภาพพีธีสำคัญและท่วงท่ารำวงของหนุ่มน้อยสาวน้อยรุ่นพี่ผมปรากฏไปทั่วกระแสออนไลน์. ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมโลกออนไลน์ของลูกหลานชาวเชิงแสที่ใช้ชื่อเฉพาะของตนในการสื่อสารอีกนับร้อยๆคน เช่น "นารถ จิตบรรจง" นายประตูมือ ๑ ทีมฟุตบอลของโรงเรียน. หรือ "อาเฝ้อ ลุงฝ้าย. facebook" พี่ฝ้ายของผมซึ่งเคยเป็นนักบอลหมายเลข ๑๐ ทีมโรงเรียน บัดนี้พี่ฝ้ายได้ขับกล่อมบทเพลงให้ท่านฟังอย่างเพราะพริ้ง.หรือเมื่อไปที่คำว่า. "Nipon Nakarabundit Facebook" พี่ชายแสนสนิทของผมซึ่งเคยเป็นอาจารย์โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย.พี่นิพนธ์ก็จะนำเรื่องของเชิงแสมากล่าวขานให้ได้ทราบกัน.แม้กระทั่งหากพิมพ์คำว่า "อินทผาลัม สวนพังการ เชิงแส" ทุกท่านก็จะได้พบกับไร่สวนผสมในท้องทุ่งเชิงแสบริเวณที่แต่เดิมเรียกว่า "หนองพังกาน". หนองพังกานนี้เป็นหนองน้ำใหญ่ที่สุดในทุ่งเชิงแสครับ.บริเวณนี้เป็นพื้นที่สูง จึงเป็นจุดแบ่งน้ำตามธรรมชาติ ที่จะไหลไปด้านทะเลหัวนอน กับด้านทิศเหนือของท้องทุ่งแล้วไปลงทะเสสาบที่คลองโรง. เรื่องหนองพังกานมีเรื่องจริงที่เล่าขานกันเรื่องหนึ่ง. คือ รุ่นพี่ผมคนหนึ่งไม่อยากไปโรงเรียน ครั้นเธอเห็นครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ ครูประจำชั้น  ป. ๑ เข้า คงกลัวครูมาก. จึงวิ่งหนีไปซ่อนที่หนองพังกาน.

     นอกจากนั้นน้องๆสาวรุ่นที่มาทำงานเทศบาลเชิงแส.ก็ส่งกระแสออนไลน์แห่งยุคสมัยใหม่ให้ได้เห็นกัน. อย่างเพจของ. "หนมเด็ก คนสวย Facebook". หรือ "Ja O Jang Facebook" สาวๆสมัยใหม่เหล่านี้ได้ส่งภาพเรื่องราวของบ้านเชิงแสออกสู่สังคมชาวเน็ต.ต้องยอมรับว่าภาพที่เห็นนั้นชวนให้คิดถึงบ้านและต้องพยายามคิดว่า.ภาพนี้คือที่ไหนของบ้านเชิงแส. บ้านแม่ของผม.

        แต่มี facebook ที่ผมอยากจะให้ลองเข้าไปดู คือ " กลุ่มศิษย์เก่ากระแสสินธ์ุวิทยา ". ซึ่งแม้ขณะนี้จะไม่มีความเคลื่อนไหวของข้อมูลมากนัก. แต่ก็มีสมาชิกกลุ่มเกินกว่า ๑,๐๐๐ สมาชิก นับว่าเป็นห้องใหญ่ในโลกออนไลน์ จากโรงเรียนในเขตชนบท. ในห้องดังกล่าวนี้ จะได้เห็นการทักทายกันของเหล่าศิษย์เก่าโรงเรียนกระแสสินธ์ุวิทยา. จากข้อมูลการพูดคุยกันทำให้ได้รู้ถึงความก้าวหน้าของศิษย์เก่าแห่งโรงเรียนนี้. ได้รู้ว่าใครทำงานที่ไหน ก็มีทั้งที่ทำงานอยู่แถวบ้านเกิดบ้าง ที่สงขลาบ้าง และที่ภาคใต้จังหวัดอื่นบ้าง. ตลอดจนที่กรุงเทพฯ ก็มีไม่น้อย. มีเรื่องหนึ่งที่หลายคนถามถึงกันก็คือการเลี้ยงรุ่น ซึ่งขณะนี้ก็มีภาพการเลี้ยงรุ่นของศิษย์เก่าบางรุ่นเช่นกัน.

        ผมไม่ได้เรียนที่กระแสสินธุ์วิทยาหรอกครับ. แต่รู้เรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนนี้พอสมควร. และผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผมต้องเล่าเสียด้วย เนื่องจากการตั้งโรงเรียนนี้มีความดีของชาวเชิงแสหลายคนที่ควรจะจารึกไว้. และศิษย์เก่าของกระแสสินธุ์วิทยาอาจจะไม่ทราบ. หรือเคยทราบก็ลืมกันไปแล้ว...เรื่องเป็นดันี้ครับ.

       ขอเริ่มจากแรกตั้งโรงเรียนก่อนเลย. ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการตั้งโรงเรียนกระแสสินธุ์วิทยา คือ พระครูปิยสิกขการ ( พระมหาพร้อม ปิยะธัมโม ) เจ้าอาวาสวัดหัวป้อมใน สงขลา พ่อท่านพร้อมท่านเป็นพระที่เห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะทั้งทางธรรมของพระเณร และทางโลกของเด็กๆ. เมื่อผมได้เป็นเด็กวัดพักอยู่กับท่าน และต่อมาผมสอบได้กฎหมายที่ธรรมศาสตร์ วันที่กราบลาท่านเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ. พ่อท่านพระมหาพร้อมให้หลวงพ่อทวดผม ๑ องค์ เป็นพระผงรุ่นเก่า. แล้วกล่าวว่า "เธอมีพ่อแม่ส่งเสีย แต่ถ้าหากไม่มีพ่อแม่นะ เราส่งให้เธอเรียนได้ " ผมยังจำคำของท่านได้จนถึงทุกวันนี้. และพระผงหลวงพ่อทวดที่ได้มา ผมก็ยังคงเก็บไว้กับตัวเช่นกัน. ๓๓ ปีแล้ว ก็ยังอยู่.

      หลังจากได้ตั้งกิ่งอำเภอแล้ว ขณะนั้นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอยังตั้งไม่ได้. พ่อท่านพระมหาพร้อมจึงดำเนินการประสานงาน ติดต่อ กับราชการด้านการศึกษาด้วยตัวท่านเอง. จนได้รับอนุมัติงบประมาณและได้รับอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียน. ( ยังไม่จบครับ ค่อยเล่าต่อ )/

       


วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทที่ ๑๕ ภาพจากบ้านแม่ เชิงแสศึกษา

บทที่  ๑๕  " ภาพจากบ้านแม่  เชิงแสศึกษา "

             ขณะนี้ผมกลับจากงานพระราชทานเพลิงศพพระครูวิสุทธิศีลประยุติ (ตาหลวงสงวน ) แล้ว ได้ภาพต่างๆ ของบ้านเชิงแสมาหลายภาพทีเดียว ภาพเหล่านี้เป็นฉากบ้านเชิงแส บ้านแม่ ที่น่ากล่าวถึงมากเหลือเกิน ภาพแรกผมขอตั้งชื่อว่า

                 "ตามทางสู่เหย้า ทุ่งข้าวเชิงแส"
                  ก่อนที่จะได้โพสต์ภาพลงให้ได้เห็นกัน.  ผมขอบรรยายภาพเป็นทำนองเพลงนะครับ

                                                 " เชิงแส  ทิ้ง  โนด  มีโหนดกับนา
                                                 เก็บข้าว  วิดปลา  สุขตามประสาชาวทุ่ง
                                                 ในนานองน้ำยามข้าวสุก
                                                 ดังมุกประกายเกล็ดทอรุ้ง
                                                 หอมดินกลิ่นปรุง หอมทุ่งท้องนา
 
                                                    คันคลองหนำเก่า ตับเต่า เถาคัน
                                                  หลุมซอ แสงขัน หลากพืชหลายพันธ์ุลุยนัก
                                                  ยามเย็นแบกโพงไปริมหนอง
                                                  ในมือถือข้องจับลูกคลัก
                                                  ชายดมรั้วผักแกงส้มต้มกิน

                                                       ชีวิต    ชีวา
                                                  ชาวนา  โอบอุ่น   โยนอ่อน
                                                 กลางเพ็ญจันทร์เอนพักผ่อน
                                                 ยามย่ำค่ำนอน สุมไฟไล่ยุง
                                                 แสงธรรมกลางใจ สว่างกว่าแสงกลางกรุง
                                                 บ้านนอก แขนบอก ผ้าถุง
                                                 ตาเดินเคียนพุง  ยายนุ่งโจงเบน

                                                    เชิงแส  ทิ้ง   โนด มีโหนด นา เล
                                                 หวันเย็นโพล้เพล้  ชวนกันทิ่มสารใส่เผล้ง
                                                 ข้าวตอก  ออกษา  ลากพระ รับฐิน ครื้นเครง
                                                 ไหว้ก้ง  หนมเทียน   หนมเข่ง
                                                  โนราห์ รักเลง เพลงบอก หนังลุง "......

         " ภาพเก่าที่หายไป "

       เมื่อเข้าไปในโบสถ์วัดเอกหลังเก่าแล้ว. สิ่งที่เด็กเชิงแสอย่างผมต้องทำเป็นอย่างแรก คือ กราบหลวงพ่อเดิม กราบเสร็จก็ใช้ขันตักน้ำมนต์ในตุ่มสีเขียวอ่อนมาดื่ม. เหลือน้ำมนต์ในก้นขันอยู่หน่อยหนึ่ง เทใสฝ่ามือแล้วลูบหัว. ได้ทำอย่างนี้แล้วรู้สึกเป็นความสุขเหลือเกิน มีความปีติเกิดขึ้นในชีวิต. ดุจว่าชีวิตนี้เรามีที่พึ่ง หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ท่านได้คุ้มครองเรา ชาวเชิงแสหรือชาวบ้านอื่นจากที่ใกล้ที่ไกล เมื่อไปไหว้หลวงพ่อเดิมแล้ว ต้องดื่มน้ำมนต์ในตุ่มที่วางอยู่หน้าหลวงพ่อใบนี้แหละ.บางคนกรอกน้ำมนต์ใส่ขวดไปฝากญาติที่บ้านด้วยก็มีไม่น้อย.

      หลังจากนั้นเวลาของชีวิตเด็กบ้านนอกก็ว่าง. รอเวลาเย็นรอไปต้อนวัวที่ทุ่งสวนตีนบ้านให้เข้าคอก.สวนตีนบ้านที่ผมกล่าวถึงนี้ คือสวนที่อยู่ด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน. เวลาที่อยู่ในโบสถ์ผมชอบที่จะเดินดูภาพถ่ายซึ่งแขวนเรียงกันอยู่ที่ฝาผนังด้านทิศใต้. ภาพทั้งหกเจ็ดภาพเป็นภาพในกรอบไม้ขนาดยาวประมาณฟุตหนึ่งแทบทุกภาพ.ภาพขาวดำเหล่านั้นบอกเล่าเรื่องของคณะกฐินสามัคคีจากกรุงเทพฯ นำคณะมาทอดทำบุญที่วัดเอก. แล้วชวนกันไปชมความงามของแหลมสมิหลา สงขลา. ภาพถ่ายของคณะกฐินที่แหลมสมิหลาดังกล่าวนั้น เรียงปีกันตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ เป็นต้นมา. ช่างเป็นภาพที่งามเหลือเกิน โดยเฉพาะงามด้วยความฝันของผมว่า. สักวันหนึ่งผมน่าจะได้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ...ขณะนี้ไม่ทราบว่าภาพทุกภาพหายไปไหน .

     " เลือกผู้แทน "

    บ้านเชิงแส.แม้ว่าจะห่างไกลความเจริญของตัวเมืองสงขลาเหลือเกิน.แต่กับบรรยากาศของการเลือกตั้งแล้ว ผมรู้สึกว่ามันอยู่ใกล้ตัวผมเสมอมา เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะพ่อได้พูดถึงผู้แทนให้ผมฟังอยู่เสมอ. ผู้แทนที่พ่อพูดถึงบ่อยมีสองคน คือ นายคล้าย ละอองมณี. และนายสงบ ทิพย์มณี. กล่าวเฉพาะนายคล้ายนั้นไม่เพียงแต่พ่อหรอกครับ ชาวเชิงแสคนอื่นๆก็พูดถึงท่านอยู่เสมอ. เช่น แปะชมพี่ชายของแม่ ได้พูดถึงนายคล้ายว่า "นายคล้ายพูดว่า อยากให้หนนสายเขาแดงกับโนดลาดยางเสียที หนนสายนี้ไม่ได้ลาดยาง ก็จะมีคนเอาไปหาเสียงอยู่นั่นแหละ"
   พ่อกับนายคล้ายดูจะสนิทกันพอควร. คือใจนักเลงทั้งคู่ หากเป็นคนสมัยนี้คงจะไม่สนิทกันแน่ และอาจจะโกรธกันก็ได้. เนื่องเพราะเมื่อพ่อไปเป็นพยานในคดีแพ่งที่ศาลสงขลา นายคล้ายเป็นทนายความให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง พ่อเล่าผมว่า "นายคล้ายซักค้านพ่อหนักมาก". แต่ด้วยความที่ทั้งพ่อและนายคล้ายต่างเป็นลูกผู้ชายใจกว้าง. เมื่อเสร็จเรื่องคดีแล้วจึงคบหากันได้อย่างสนิท. ดังคราวที่ลูกนายคล้ายต้องเสียชีวิตลง พ่อก็ได้ร่วมงาน พ่อถามนายคล้ายว่าฝ่ายก่อเหตุติดต่อมาบ้างมั๊ย? นายคล้ายตอบอย่างคมคายอย่างผู้ใหญ่ว่า. "เขายังไม่ได้ติดต่อมาเลยพี่เพียร. เขาอาจจะเห็นว่าเรายังอยู่ในช่วงเสียใจก็ได้"
    เมื่อมีการเลือกผู้แทนทุกคราว. ผมเห็นโปสเตอร์แผ่นเท่าสมุดวาดเขียนติดอยู่ที่เสาศาลาวัด และที่เสาร้านขายข้าวแกงในโรงเรียน. การหาเสียงที่วัดกันด้วยความดีนั้น ในหมู่บ้านหนึ่งๆจะติดแผ่นหาเสียงกันเพียงเล็กน้อย. แต่กระนั้นก็ตาม ที่ผมสงสัยอยู่เสมอ คือ ข้อความใต้ภาพของนายคล้ายที่เขียนว่า..."ทนายความ ชั้น ๑ "..นั้นหมายความว่าอะไร.  ?
    ผมเรียนกฎหมายจนถึงชั้นเนติบัณฑิต. โดยลืมไปว่า เมื่อตอนเล็กๆ เคยติดใจในเรื่องนี้. หลังจากที่ผมเป็นผู้พิพากษาได้ ๕ ปี ผมไปรับราชการประจำที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี.วันแรกที่ผมจะขึ้นพิจารณาคดี ผู้พิพากษารุ่นพี่ได้แนะนำว่า ที่สุราษฎร์มีทนายความอยู่คนหนึ่ง เป็น " ทนายความ ชั้น ๒ ". นั่นแหละ จึงทำให้ผมคิดถึงคำว่า ทนายความชั้นหนึ่ง ขึ้นมาอีกครั้ง. เพราะทนายความชั้นหนึ่งสามารถว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร และขณะว่าความในศาลทนายความชั้นหนึ่งมีสิทธิสวมครุย. แต่ทนายความชั้นสองว่าความได้บางจังหวัดและขณะว่าความไม่มีสิทธิสวมครุย. 
       

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

บทที่ ๑๔ จีนเชิงแส

บทที่  ๑๔  จีนเชิงแส......๐๐๐๐๐๐๐..............................................................................................................................................................................................+++++++++++
         บ้านเชิงแสเป็นชุมชนโบราณมานานกว่า  ๔๐๐ ปี แล้ว คำว่า "เชิงแส" มาจากภาษาขอมดั้งเดิม ในสมัยอยุธยาเขียนโดยใช้อักขระว่า "บารเชิงแสะ"  อ่านว่า " บ้านเชิงแส ".  ซึ่งแปลว่า "นาส่วนข้างล่าง" หรือ "บ้านปลายนา" ...เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว...ชาวจีนมาอยู่ที่เชิงแสเมื่อใด?............๐๐๐๐๐๐๐๐..............................................................................................................................................................................................++++++++++
            บทนี้ผมจะกล่าวถึง "จีนเชิงแส"  ซึ่งกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้  เป็นบรรพบุรุษของชาวเชิงแสในปัจจุบันนับแล้วได้เป็นพันๆคน. จีนคนแรกเดินทางมาถึงเชิงแสในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ . ต่อมาได้มีชาวจีนเดินทางมาตั้งบ้านเรือนที่เชิงแสอย่างต่อเนื่อง. คนจีนที่มาอยู่ที่เชิงแสนั้น ไม่ได้มุ่งตรงมาเลยทีเดียว ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางช่วงที่ ๒  คือ ได้มาอยู่ที่ตำบลอื่นก่อน แล้วต่อมาจึงมาอยู่ที่เชิงแส. ยกตัวอย่าง เช่น "จีนซุนเฮาะ" ทวดของผม เดินทางมาเมืองไทยพร้อมกับน้องชายคนหนึ่ง ชื่อว่า "จีนผ้อง". เมื่อมาถึงแผ่นดินไทย จีนซุนเฮาะและจีนผ้องสองพี่น้องได้พักอาศัยอยู่ที่ตำบลระวะก่อน แล้วเฉพาะจีนซุนเฮาะผู้พี่ จึงเดินทางต่อมาที่บ้านเชิงแส. ซึ่งขณะนั้นได้มีคนจีนอาศัยอยู่บ้างแล้ว เช่น เตี่ยของแปะล่อง บ้านตั้งอยู่ใกล้วัดเอก , ....+++...ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องถึงรัชมัยต่อมา มีชาวจีนมาอาศัยอยู่ที่เชิงแส ดังนี้...... "ก๋งเซ่งคุ่น"  ,  "ก๋งยี่เซ่ง"  ,  "ก๋งซุนเฮาะ" ,   "ก๋งจิ้ว" ,   "ก๋งเม้งกี่  แซ่ออง"  ,  "ก๋งเอี่ยม"  ,  "ก๋งสุย"  ,   "ก๋งหลีย่อง"  ,  "ก๋งกู้เซ่ง"  ,  "ก๋งฉาวเท่า"  , "ก๋งกี่เตียง"  , "ก๋งกี่โถ"  , "ก๋งกี่เท่า" , "ก๋งนอง" , "ก๋งโหย แซ่อุ่ย" ...นอกจากนั้นยังมีคนจีนที่ผมไม่ทราบชื่อแต่ทราบสายสกุลลูกหลาน เช่น ทวดของน้าแอบ ชัยเชื้อ ก็เป็นคนจีน. ต้นสกุลนิลวงศ์พ่อของกำนันฉิ้น ก็เป็นคนจีน . ศพคนจีนซึ่งตั้งอยู่ที่เนินดินนาของลุงอิ่มป้าเป้า ก็เป็นจีนแน่นอน.  ชาวจีนเชิงแสจึงมีอยู่มาก มากมานานแล้ว ทำให้เข้าใจผิดไปว่าชื่อบ้านของแม่มาจากคำว่า ซินแส  ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย... เชิงแส ไม่ได้มาจาก ซินแส แต่อย่างใดทั้งสิ้น...........๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐................................................................................................................................................................................+++++++
           ขณะนี้ผมได้เตรียมที่ดินได้แปลงหนึ่งเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ตั้งอยู่ที่สวนตีนที่ "หนองไอ้เสือ" ใกล้กับเลียบหัวโจรซึ่งเป็นที่ฝังศพก๋งของผม  ผมตั้งใจว่าในชีวิตของผม ผมจะสร้าง  "สุสานจีนเชิงแส"  ขึ้นให้ได้ . ,ผมขอเล่าประวัติที่ดินแปลงนี้เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงพระคุณของเจ้าของที่ดินเดิม. ที่ดินแปลงนี้เดิมเป็นของ "ทวดขวัญแก้ว" ทวดชายท่านนี้มีที่ดินอยู่พอสมควร แต่ทวดไม่มีบุตร ครั้นชราเจ็บป่วยลง ได้มีบุคคลสองคนไปช่วยดูแลปรนนิบัติ บุคคลทั้งสองนั้น คือ "ก๋งผอม" ลูกชายของก๋งซุนเฮาะ กับ "คุณตายน"  ทวดขวัญแก้วจึงยกที่ดินประมาณ ๔ ไร่ให่ก๋งผอมและคุณตายนได้แบ่งกัน ... เมื่อก๋งซุนเฮาะเสีย ก๋งผอมจึงใช้ดินส่วนที่ได้แบ่งมานี้เป็นที่ฝังศพก๋งซุนเฮาะซึ่งเป็นบิดา...............................๐๐๐๐๐๐๐๐...............................................................................................................................................................................................+++++++
          คนจีนรุ่นแรกๆ ที่มาอยู่ในบ้านเชิงแสได้สืบทอดธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลไว้ที่เชิงแสหลายอย่าง. เช่น ภาษา , อาหาร , ประเพณีไหว้บรรพบุรุษ , เมื่อได้มาตั้งรากฐานที่แผ่นดินใหม่แล้ว ชาวจีนเหล่านี้ได้แต่งงานกับคนไทยสืบเชื้อสายเผ่าพันธ์ุเป็นคนไทยเชื้อสายจีน บุคคลสำคัญแห่งบ้่านเชิงแสที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนท่านแรกที่ผมจะเล่าถึง คือ ..." พระราชปริยัติโกศล ( เสถียร  ฉันทโก  ป.ธ. ๙ ) "  เจ้าอาวาสวัดใหม่พิเรนทร์  เขตบางกอกใหญ่  กรุงเทพฯ ......๐๐๐๐๐๐๐๐๐.............................................................................................................................................................................................+++++++++
            ท่านเจ้าคุณเสถียรเล่าให้ผมฟังว่า  " เราเป็นคนบ้านเชิงแส  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐  มีโยมก๋งสุยเป็นปู่ และก็มีโยมเตี่ยจูห้องเป็นพ่อ. เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเชิงแสของพระอาจารย์เมฆ เมื่อครบบวชแล้วท่านเป็นพระอุปปัชฌาย์บวชให้. บวชแล้วได้มาพักที่วัดกลางกับพระอาจารย์เขียว......+++