วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทที่ ๒ บ้านเชิงแส

๒.บ้านเชิงแส


     ...ขณะที่ท่านอ่านเรื่องราวของบ้านเชิงแสอยู่จนถึงขณะนี้ Blog แจ้งยอดรวมของการอ่านได้ถึง ๒๓,๐๐๐ ครั้งแล้ว ...ผมขอเรียนว่า ทุกท่านได้รับคำขอบคุณจากผมอยู่ตลอดเวลา ในความที่เสียสละเวลาติดตามอ่านเรื่องเก่าที่เกี่ยวกับชีวิตบ้านอกบ้านนาชุมชนหนึ่ง.หากมีสิ่งใดที่ท่านเห็นว่าอยากจะเพิ่มเติม หรือแก้ไข ก็สามารถเพิ่มเข้ามาได้ส่วนในพื้นที่ความคิดเห็นที่อยู่ข้างล่างของข้อเขียนท้ายบทนี้...ขอให้ผู้ติดตามอ่านทุกท่านมีความสุขไปกับเรื่องเล่าของผมนะครับ...( ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ).

     บทที่ ๒ นี้ ผมจะกล่าวถึงบ้านเชิงแส ในแง่มุมด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา บรรพชนแห่งชุมชน ตลอดจนพลวัตของวิถีชีวิตชาติพันธุ์........แต่เบื้องต้นจะได้กล่าวถึงญาติของแม่คนหนึ่งที่ไม่ใช่ญาติโดยสายเลือด แต่ตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นญาติที่มีสิทธิโดยธรรมอย่างมากในการรับมรดกของแม่ เนื่องเพราะเป็นญาติโดยการแต่งงาน คนนั้นก็คือ "พ่อ" พ่อได้ถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านเชิงแส กับเรื่องที่เกี่ยวกับผู้คน และชาติพันธุ์ของคนแถบนี้ให้ผมได้รับรู้มาด้วยการบอกเล่าไม่น้อยเลย ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพแหล่งข้อมูลต่อครูคนแรกของผม จึงควรอย่างยิ่งแล้วที่ผมจะได้กล่าวถึงพ่อ
     พ่อของผมเป็นคนบ้านโคกพระ หมู่บ้านนี้เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านเชิงแส บ้านโคกพระไม่มีวัดประจำหมู่บ้านก็จริง แต่มีความสำคัญที่ผู้คนบ้านเชิงแสต้องให้ความเคารพ นั่นก็คือจารีตขนบวัฒนธรรมทางศาสนาในวันออกพรรษา โดยเรือพนมพระหรือเรือพระของวัดเอกเชิงแส จะต้องเชิญมาสมโภชที่ศาลาบ้านโคกพระ ในตอนเที่ยงของวันออกพรรษา เที่ยงวันนั้นมีการถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์และทำบุญใหญ่ของชาวบ้านเชิงแสและชาวโคกพระ จากนั้นก็สนุกสนานแย่งชิงเรือพระกันในระหว่างสองหมู่บ้านดังกล่าว ใช้เชือกป่านใหญ่ผูกด้านหัวและด้านท้ายเรือพระ ฟากด้านหัวเป็นของฝ่ายชาวโคกพระ ส่วนฟากด้านท้ายเรือด้านทิศใต้เป็นของชาวบ้านเชิงแส ถ้าเป็นเรือพระน้ำก็แย่งเรือกันในทะเลสาบสงขลาตั้งแต่เช้าที่ปากบางเชิงแส อันที่จริงตอนเช้าๆจะว่าแย่งเรือพระก็ไม่ถูกเสียที่เดียวนัก เนื่องจากต้องอัญเชิญพระไปสมโภชที่ศาลาโคกพระอยู่แล้ว เป็นการร่วมกันนำเรือพระไปศาลาโคกพระเสียมากกว่า ระหว่างอัญเชิญเรือพระหรือลากพระไปนั้น คนตีตะโพนก็ตีไปตลอดทาง เรียกว่า"คุมโพน" เสียงตะโพนดังสนั่น ก้องท้องน้ำ สะท้านท้องทุ่งได้อารมณ์..............ตุ้ง...ตุ้ง...ตุ้ง...ทอม...ตุ้ง...ทอม...ตุ้ง...ทอม...ไปเรื่อยๆ สลับกับเสียง...สาระพา...เฮโล...เฮโล (เฮโลนะครับ ไม่ใช่ไฮโล ไฮโล เดี๋ยวก่อน อย่ารีบ "ขวัด" ทำบุญกันก่อน)โห่รับ โห่ขาน ไปตลอดทาง ช่วงปี ๒๕๒๐ ถนนสายตกพูนกันเรียบร้อยแล้ว ปีนั้นจึงเป็นเรือพระบก มีการติดตั้งเครื่องไฟใส่ลำโพง เปิดเพลงลูกทุ่งไปด้วย จำได้ว่าเพลงฮิตเพลงนั้นคือ เพลง"จดหมายเป็นหมัน" ของขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ที่เริ่มเนื้อร้องว่า..."ลืม ลืมพี่หรือยังเล่าน้อง จดหมายพี่เคยใส่ซอง ส่งให้น้องเดือนแล้วผ่านมา ทำไมไม่ตอบ ไม่ชอบก็จงตอบมา จะได้ไม่เสียเวลา คอยตั้งตานับวันนับคืน...(เสียงร้องนกดุเหว่าแทรก)....หรือเจ้ามีแฟนใหม่เคลียคลอ ปล่อยให้พี่เฝ้ารอ เฝ้ารอ บุญมั่นขวัญยืน...ฯลฯ."เพลงจดหมายเป็นหมันดังก้องฟ้าเมืองไทยอยู่นานหลายเดือน จนกระทั่งมีเพลง "รักจางที่บางปะกง" ของสดใส รุ่งโพธิ์ทอง (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ร่มโพธิ์ทอง)และรุ่งปีขึ้นก็มีเพลงลูกทุ่งดังอีกเพลงหนึ่งคือเพลง "ขี่เก๋งอย่าลืมเกวียน" ซึ่งขับร้องโดยภูมินทร์ อินทพันธ์ ดังขึ้นแทน .....เกี่ยวกับเรื่องการชักเรือพระนี้ ผมเคยถามพ่อว่าทำไมจึงไม่มีการชักเรือพระหรือลากเรือพระไปทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เพราะถนนดินเริ่มมีแล้ว พ่อบอกว่าถือกันมาแต่โบราณแล้วว่า หากลากเรือพระให้ผ่านทุ่งนาไปทางตะวันออกของหมู่บ้าน จะเกิดฝนแล้งทำนาไม่ได้ เรือพระไปถึงไหนฝนจะแล้งไปถึงนาที่นั่น
     บ้านโคกพระมีคลองจากทุ่งนาด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาด้านทิศตะวันตกเช่นเดียวกับคลองเชิงแสและคลองหมู่บ้านอื่นๆแถบละแวกนี้ คลองนั้นหากนับจากทุ่งด้านทิศตะวันออกก็ดูจะเป็นร่องน้ำเล็กๆ ครั้นเริ่มเข้าเขตชุมชนจึงเป็นคลองใหญ่ ที่ร่มครึ้มไปด้วยก่อไผ่สีสุกสองฟากคลอง จนถึงจุดที่พ้นเขตหมู่บ้าน ออกสู่ทุ่งนาข้างๆศาลาทำบุญสมโภชเรือพระ แล้วคลองก็ไหลลงสู่ทะเลสาบ สองฝั่งคลองบริเวณ "นาเลโคกพระ" ไม่มีไม้ใหญ่ มีเพียงไม้พุ่มเล็กๆ ไปจนถึงปากบางโคกพระ บ้านเรือนของชาวบ้านที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือคลองอยู่ในเขตการปกครองของเขตตำบลโรง ส่วนบ้านเรือนด้านทิศใต้คลองอยู่ในเขตตำบลเชิงแส บ้านของพ่ออยู่ด้านเหนือคลองโคกพระ พ่อเป็นลูกชายคนที่ ๒ ของปู่พลัดและย่ากลับ ปู่ของผมเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ ปู่เป็นลูกของทวดเพ็งและทวดเขียว เป็นไทยดั้งเดิม ไทยใต้แท้ๆ รับธรรมเนียมพระพุทธศาสนามาอย่างเต็มเปี่ยม จึงบวชเรียนทางพระมาเป็นอย่างดี ปู่พูดคำสุภาพมาก พ่อเล่าว่ามีอยู่คราวหนึ่งเมื่อปู่ได้ยินคนพูดต่อว่าต่อขานกันโดยใช้คำว่า "ไอ้พันธุ์นี้" ปู่จะสอนว่า"เราคนพูดนั้นเป็นคนพันธ์ุไหน"เมื่อทางการให้มีนามสกุลในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ปู่จึงใช้นามสกุลที่เคยเป็นฉายาเมื่อเป็นพระ ซึ่งแปลว่า "กระจายไปสิบทิศ" คุณอาประดิษฐ์น้องของพ่อศึกษาเล่าเรียนมาทางพระได้เปรียญธรรมเป็นพระมหา ชั้นต่อมาลาสิกขามีครอบมีครัวแล้วเพิ่มคำว่า "ภาส" ต่อท้ายนามสกุล จึงแปลว่า แสงกระจายไปสิบทิศ ย่ากลับแม่ของพ่อนั้นก็เป็นไทย ย่าเป็นลูกสาวของทวดมีและทวดแป้น น่าเชื่อว่าบรรพชนฝ่ายพ่อของย่าเป็นคนไทยที่มีความใกล้ชิดกันมากกับวัฒนธรรมมุสลิม หรืออาจจะเป็นไทยมุสลิมก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ "ทวดมี" พ่อของย่าเป็นเจ้าของวง "กาหลอ" ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านมุสลิม โดยทวดมีทำหน้าทีเป่าปี่ ปู่ของผมมีพี่น้องรวม ๒ คน พี่สาวของปู่ชื่อว่าย่าคุลา
     ผมมีภาพถ่ายขนาดใหญ่เป็นภาพหมู่ในงานสระหัวคนเฒ่าคนแก่จำเริญอายุ เมื่อเดือนหก พ.ศ.๒๔๙๐ ของบ้านโคกพระและบ้านเชิงแสอยู่ภาพหนึ่ง นับว่าเป็นภาพคลาสสิคของบรรพบุรุษบรรพสตรี ภาพดังกล่าวนี้ถ่ายที่ใต้ร่มต้นโพธิ์บริเวณศาลาสระออกบ้านโคกพระ โดยมีพระภิกษุผู้ใหญ่สุปฏิปันนาจารย์ ๓ รูป อยู่ในภาพด้วย สุปฏิปันนาจารย์ทั้งสามคือ พระอาจารย์เลื่อน ปุญญสุวรรณโณ แห่งวัดถ้ำพระหอ เมืองนครศรีธรรมราช พระอาจารย์พ่อท่านล่อง แห่งวัดหัวถนน และพระอาจารย์พระครูประทักษ์ธรรมมานุกูล(สเถียร อภิปุญโญ)เจ้าอาวาสวัดหัวนอน หรือวัดเชิงแสใต้ สำหรับบรรพบุรุษและบรรพสตรีในภาพนั้นมี ดังนี้ คุณปู่นิ่ม อินทร์ดำ ก๋งห้อง รัตนสุวรรณ คุณปู่พลัด ทัสสโร คุณปู่คล้าย ศรีใส คุณปู่ดำ ตั้นซ้าย คุณย่าอิน มีปีด คุณย่าแก้ว ศรีใส คุณย่าแคล้ว ชุมแดง คุณย่าทุ่ม ช่วยไล่ คุณย่ากลับ ทัสสโร และคุณย่าคุลา สุวรรณโณ ........งานสระหัวจำเริญอายุดังกล่าวข้างต้นเป็นงานใหญ่ คุณอาช่วงน้องชายคนเล็กสุดของพ่อเล่าให้ผมฟังว่า งานนั้นเฉพาะการทำกับข้าวหลัก ต้องแกงคั่วปลาช่อนริ้ว ๓ กระสอบป่านเป็นกับข้าวหลัก ซึ่งก็คงมีกับข้าวเคียงจำพวก"ยำหัวโหนด" อีกหลายกะละมัง อย่างแน่นอน ในภาพจะเห็นมีการยกเบญจาสำหรับนั่งรดน้ำ เรือใส่น้ำจำหลักไว้บนต้นโพธิ์ แล้วทำหัวพญานาคยื่นออกมา มีฉัตรสี่มุม รั้วไก่ งานศิลป์แทงหยวกรังสรรค์โดยฝีมือของคุณอาจวน เซ่งเอี่ยม และ คุณอาขาว ชมภูทอง ซึ่งล้วนแต่เป็นช่างฝีมือเอกของบ้านโคกพระ

(งานเบญจาสระหัวคนเฒ่าคนแก่บ้านโคกพระและบ้านเชิงแสในภาพจะเห็นเบญจาและงานศิลปะการแทงหยวกฝีมือช่างบ้านโคกพระ)
     "เมื่อพ่อยังเป็นเด็ก ปู่พลัดขุดหนองน้ำที่ใกล้บ้าน ขุดลงไปได้เทียมอก พบเชือกม้วนใหญ่ขดอยู่ เมื่อเอามือไปจับก็เปื่อยยุ่ย..." พ่อเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา พื้นที่ของชุมชนโคกพระบ้านเกิดของพ่อเช่นนี้ ซึ่งผมเชื่อว่ามีสภาพไม่ต่างไปจากสภาพพื้นที่และธรณีวิทยาของบ้านเชิงแส ความเชื่อของผมที่เชื่อและสนใจมาอย่างนี้ เป็นแรงผลักดันให้เมื่อผมเติบโตขึ้นมีการงานทำ มีทุนรอนค้นคว้าข้อมูลก็ได้ความกระจ่างขึ้นอีกมากต่อมาก......มากต่อมากด้วยข้อมูลจากบันทึกของชาวต่างชาติซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ (ประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ)และที่สำคัญผมได้พบข้อมูลบ้านเชิงแสอายุประมาณ ๔๐๐ ปี อีกด้วย แต่ชั้นนี้ขอกล่าวเริ่มไปจากข้อมูลใหม่ ๑๐๐ ปีเศษก่อน ข้อมูลใหม่นั้นคือบันทึกของชาวต่างชาติ อันประกอบด้วยบันทึกของ เซอ จอห์น บาวริ่ง (Sir.John Bowring) ที่บันทึกสภาพของแผ่นดินบริเวณนี้ไว้เมื่อปี ๒๔๑๐ ปูมบันทึกของกัปตันเฟรเดอริค อาร์เธอร์ นีล (Frederick Arthur Neale)ชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเมื่อปี ๒๓๘๓ และได้รับราชการในกรมทหารม้าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาNealeก็ได้เขียนหนังสือเรื่อง Narature Of a Rasidence in Siam โดยกัปตันนีลบันทึกปูมเรือไว้เมื่อปี ๒๓๘๓ ว่าเรือของตนแล่นผ่านช่องแคบระหว่างเมือง Ligor หรือเมืองนครศรีธรรมราช และหมู่เกาะ Tantalem ที่ว่า " ...ทางต่ำกว่าที่อุดมสมบูรณ์ของเกาะ Tantalem มีอ่าวเล็กๆแถวเมือง Talung ราว ๔ โมงเย็น เราก็มาถึงนอกเมือง Sangora..." นอกจากนี้ กองต์ เดอ ลูโดวิค โบวัวร์ ชาวฝรั่งเศส (เข้ามาประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๑๐)ได้ทำแผนที่ไว้เมื่อพ.ศ.๒๔๒๑ โดยแผนที่ของเขานั้น เขาไม่ได้บันทึกถึงทะเลสาบสงขลาไว้ (ทั้งที่ขณะนั้นมีทะเลสาบสงขลาอยู่แล้ว... ดูได้จากแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ ๓) ซึ่งต่อมาอีก ๕๐ ปี ความเป็นทะเลสาบน่าจะชัดเจนขึ้นจึงปรากฏว่ากัปตัน เฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ(Herbert Warrington Smyth)เจ้ากรมโลหะกิจและภูมิวิทยา(ผู้เขียนหนังสือ Five year in Siam)บันทึกไว้ว่าตนนำเรือผ่านร่องน้ำระหว่างสันทรายระโนดกับเมืองนครศรีธรรมราช (Ligor)ไม่ได้เสียแล้ว แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ด้านทิศเหนือของระโนดกับหัวไทรและปากพนัังกำลังจะติดกันเป็นแผ่นดินที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ขดเชือกที่ปู่พลัดขุดพบโดยบังเอิญนั้นก็คือ เชือกจากเรือเดินทะเลเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา แผ่นดินข้างบ้านปู่แต่ก่อนนั้นคือท้องทะเล อันสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่บ้านเชิงแสครั้งที่พ่อท่านเมฆจัดให้มีการขุดสระโพธิ์ขึ้นก็ได้พบไหโบราณสี่หูที่ในพื้นดินใต้สระ ทั้งนี้เนื่องเพราะแผ่นดินที่บ้านเชิงแสก็เคยเป็นทะเลเช่นเดียวกัน ความเป็นทะเลบริเวณบ้านเชิงแสและบ้านโคกพระตลอดจนหมู่บ้านละแวกแถบนี้มิได้เกิดขึ้นเมื่อสมัยอยุธยา แต่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นนับร้อยปีทีเดียว

(ภาพวาดด้านภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์บริเวณเมือนครศรีธรรมราช และเมืองสงขลา ภาพวาดดังกล่าววาดไว้เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)
     บ้านเชิงแสมีอาณาเขตด้านทิศตะวันตกจดทะเลสาบสงขลา ความยาวนับจาก"หน้าท่าเตียน"ซึ่งเป็นเขตแดนชายฝั่งด้านทิศใต้สุด นับไปทางทิศเหนือผ่านปากบางเชิงแส เรื่อยไปจนถึงปากบางคลองโคกพระมีความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ริมฝั่งทะเลสาบของบ้านเชิงแสเป็นเกาะเลและพื้นที่พรุชุ่มน้ำ ที่เรียกว่า "ปรัง" หรือ"ในปรัง" อันมีสภาพเป็นพรุจูดหนู บัว บา สาหร่าย และแน่นอนว่าเป็นที่สาธารณะมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ระหว่างพรุปรังกับทะเลสาบเป็นที่เนินดินต่อเนื่องกันไปประมาณความกว้างราวๆ ๒๐ ถึง ๒๕ เมตร ยาวประมาณ ๘๐ เมตร หลายเนินดินต่อเนื่องไปตามริมฝั่งตลอดแนว เนินดินดังกล่าวนี้มีสภาพเป็นเกาะเล็กๆ ต่อเนื่องไปตลอดชายฝั่งทะเลเรียกว่า "เกาะเล" โดยมีไม้พุ่มประจำถิ่นที่ชื่อว่า "ไม้ตรุด" ขึ้นอยู่ที่เนินดินนั้นติดต่อกันเป็นพืด กับมีพื้นที่ว่างเป็นสนามหญ้าแกรกด้านที่ติดกับในปรังให้พวกเราเด็กๆ ได้วิ่งเล่นกัน ลานหญ้านี้บางครั้งก็เป็นที่ตากต้นเก็ก ก่อนที่จะนำมาสานเป็นเสื่อบ้าง สานเป็นกระสอบบ้างหลากประเภท เช่น กระสอบหนาด กระสอบนั่ง กระสอบนอน ใต้ร่มไม้ตรุดร่มชื้นมาก จึงมีเห็ดตับเต่าขึ้นอยู่ทั่วไป ผมและเพื่อนๆตลอดจนชาวบ้านมักจะไปหาเห็ดตับเต่าอยู่เสมอ และเหตุนี้ทำให้ยายที่เลี้ยงดูผมกังวลอยู่ตลอด เพราะเมื่อได้ไปหาเห็ดตับเต่าแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การเล่นน้ำทะเล ดำผุดดำว่ายออกไปไกลๆ จนถึงบริเวณที่เรียกว่า "หัวโคลน" ในทะเล และแน่นอนเช่นกันว่า เรื่องเล่นน้ำทะเลกันอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ขออนุญาตจากผู้ใหญ่ก่อนไม่ได้เป็นอันขาด เพราะว่าคำตอบคือไม่อนุญาต เด็กๆอย่างผมและเพื่อนๆนั้น เมื่อจะลงเล่นน้ำทะเลกัน สิ่งที่สำคัญต้องทำเป็นเรื่องแรก ก็คือ ต้องซ่อนเสื้อผ้าไว้ให้มิดชิด มิฉะนั้นแล้ว จะถูกผู้ใหญ่แกล้ง เก็บเสื้อผ้าพวกเรานำเสื้อผ้ามาไว้ที่บ้าน แล้วเราจะต้องเดินแก้ผ้ากลับบ้าน มีน้าคนหนึ่งชอบแกล้งผมเป็นที่สุดในเรื่องนี้ แกหาปลาอยู่แถวชายทะเล แกห่วงผมมากไม่อยากให้เล่นน้ำ บอกว่าถ้าลงเล่นทะเลจะฟ้องแม่ฟ้องยาย แรกๆผมก็ทำเป็นว่าเชื่อฟัง แต่ถึงจะเชื่อฟังจริงๆ ก็อดใจไม่ได้หรอก เพื่อนๆเล่นน้ำกันอยู่อย่างนั้น มีเรื่องให้ต้องลงเล่นน้ำตามไปจนได้ เมื่อลงเล่นแล้วก็ต้องออกไปให้ไกลจนถึงหัวโคลน ถึงจะสนุกและตื่นเต้น บริเวณนี้น้ำลึกปริ่มๆ จมูก เราต้องเขย่งเท้าไม่ให้สำลักน้ำ พื้นดินใต้ทะเลเป็นเขตต่อระหว่างดินแข็งกับโคลนปากคลองที่น้ำพัดพามา จึงเรียกว่าหัวโคลน เรื่องเล่นน้ำเสี่ยงๆแบบนี้ หากย้อนเวลาได้ก็คิดว่าไม่ควรเล่นเลย เพราะอันตรายจริงๆ ผู้ใหญ่จึงได้ห่วงพวกเด็กๆ กันมาก ห่วงลูกหลานกันมาก แต่ผมคิดว่าในบรรดาคำของผู้ใหญ่ที่ได้ผลที่สุดเรื่องที่จะทำให้พวกเราไม่กล้าเล่นน้ำทะเลนั้น ไม่ใช่คำเตือนคำห้าม แต่น่าจะเป็นเรื่อง "ผีพราย" ซึ่งเป็นผีในน้ำ เรื่องเล่าอย่างนี้ได้ผลยิ่งกว่าคำห้ามปรามใดๆทั้งหมด เพราะทำให้พวกเรากลัวกันไปพักใหญ่ๆทีเดียว

(ดอกลำพูชายทะเลเชิงแสบริเวณไม่ไกลจากปากบาง)

(สภาพปากบางเชิงแส ที่เก่าที่เคยเล่นน้ำ แต่เวลานั้นไม่ใช่เวลาเก่าเวลาเดิมเสียแล้ว เพราะเข็มเวลาผ่านมานานโขถึง ๔๐ ปี...)

( ภาพบน...ลูกคุระก็ยังพอมีให้เก็บภาพได้ ส่วนอีกภาพ...เรือหาปลาจอดหลบ "ลมพลัดยา" อยู่ใกล้ต้นลำพู)

(สังเกตตรุดที่ยังคงเป็นไม้กอเล็กอยู่(บริเวณหัวเรือหางยาว)ซึ่งยังพอมีให้เห็นเตือนความจำในวัยเด็ก แต่ไม้ตรุดใหญ่ๆ ประเภทมีพุ่มให้ความชื้นระดับที่เห็ดตับเต่าขึ้นเต็มดังแต่ก่อนนั้นไม่มีแล้ว หมดไปแล้ว)
     เล่นน้ำจนเหนื่อยแล้ว....ก็จะหาของกินกัน ของกินเล่นของผมและเพื่อนๆ ที่บริเวณริมชายทะเลและในปรังมีสองอย่าง อย่างหนึ่งคือ "แห้วนา" หัวแห้วนาที่นาเลเชิงแสมีมากจริงๆ "นาเล"ของบ้านเชิงแสอยู่ถัดจากในปรังเรื่อยมาจนถึงทิวไผ่เขตหมู่บ้าน ชาวบ้านไถนาที่นาเลแล้วหััวแห้วก็จะอยู่ตามรอยไถให้พวกเรากินกันอย่างสนุก ไม่มีใครหวงใครห้าม นาของใครก็หากินหาขายได้ ป้าชาวเชิงแสบางคนหาหัวแห้วไปต้มขายที่โรงเรียนทุกวัน ผมยังเคยซื้อหลายครั้ง ....ยังจำคุณป้าท่านนี้ได้ดี เนื่องจากป้าเคยมีข้อพิพาทเรื่องที่ดิน หัวค่ำหนึ่งป้ามาหาพ่อที่บ้าน ป้าบอกว่า "เรื่องนี้ จะต้องไปให้ถึงมณฑล" ป้ากลับไปแล้วพ่ออธิบายให้ผมฟังว่า "มณฑล" ที่ป้าพูดถึงนั้นหมายถึง ศาลจังหวัดสงขลาซึ่งเดิมคือศาลมณฑลนครศรีธรรมราช (ท่านที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์การศาลเมืองสงขลา ศึกษาได้จากรายงานราชการของเจ้าพระยายมราช ปั้น สุขุม และหนังสือที่ระลึกเปิดอาคารศาลจังหวัดสงขลา พ.ศ.๒๔๘๔)....นอกจากนั้นของกินอีกอย่างหนึ่งของเด็กๆที่ริมทำเลก็คือลูกบัวและเม็ดบัว ทั้งบัวสายและบัวหลวง บัวสายเม็ดสุกสีดำคล้ายๆแก้วมังกรในทุกวันนี้ ชาติจืดๆ ส่วนบัวหลวงเม็ดสีขาวรสชาติมัน แต่ใจกลางที่เป็นเส้นหน่อสีเขียวเล็กๆ อย่ากินเข้าไป รสขม ปัจจุบันนี้ผมอยู่ที่กรุงเทพฯจะกินเม็ดบัวหลวงต้องซื้อกิน เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ จะหากินกันเองเหมือนเมื่อเด็กๆ ไม่ได้เสียแล้ว....หาแห้วนาและเม็ดบัวกินกันแล้ว ก็กลับมานั่งเล่นนอนเล่นที่บนศาลาปากบาง หรือ "หลาปากบาง" บ้าง ดูชาวบ้านหาปลาบ้าง ดูป้าๆน้าๆผู้หญิง "รุนกุ้ง" บ้าง บางคราวโอกาสดีจะมีน้าผู้ชายพักจากการออกเรือหาปลาแล้วมาเล่านิทานให้ฟัง นั่งฟังกันบนศาลาที่ปากบาง สนุกมาก .....เรื่องตาก้าน....ตาก้านออกเรือหาปลาในทะเลสาบสงขลา ระหว่างหาปลาเผลอทำขวานตกทะเล ตาก้านฉลาดมากจึงใช้พร้าบากกราบเรือหมายไว้ให้รู้ว่าขวานตกที่ตรงนั้น หาปลาแล้วถ่อเรือมาจอดที่ตลิ่งชายคลองปากบาง ตาก้านบอกชาวบ้านว่า ขวานตกตรงที่บากหมายไว้ แล้วลงงมหาขวานที่ชายคลอง ตาก้านงมหาขวานไม่เจอ บ่นงึมงำว่าไม่น่าเชื่อบากแคมเรือไว้แล้ว ทำไมหาไม่พบขวาน ชาวบ้านถามว่าขวานหล่นที่ไหน ตาก้านว่า "หลนเลที่ตรงหนี้ บากแคมเรือหมายไว้แล้ว พรื้อหาไม่พบ" ชาวบ้านบอกตาก้านว่า ไปงมหาอยู่ในคลองทำไมเล่าตาก้าน เข็นเรือมาบนตลิ่งข้างศาลาดีกว่า จะได้หาขวานง่ายขึ้น ...ตาก้านว่า "หมันแหละ จริงเหมือนพี่เณรบอก ไม่น่างมหาขวานที่ในคลองให้โง่เลย พี่เณรฉลาดพันญาจริงๆ" ว่าแล้วตาก้านก็เข็นเรือขึ้นมาบนตลิ่งที่ริมฝั่งคลองเพื่อหาขวาน.....+++++....อีกเรื่องหนึ่งสนุกมากกว่าเรื่องตาก้านเสียอีก......เรื่องชายแจวเรือ....เรื่องมีอยู่ว่า ชายคนหนึ่ง แจวเรือจากบ้านเชิงแสไปที่เกาะใหญ่ ทำธุระเสร็จแล้้ว ก็"แจวหลบ" คำว่า "หลบ"เป็นภาษาใต้แปลว่ากลับ น้าชายเล่าถึงตอนนี้ก็หยุดเล่า พวกเราเด็กๆ ถามว่าแล้วเรื่องเป็นอย่างไรต่อไป น้าบอกว่า "แจวหลบ" คือ "จบแล้ว" .....เสียท่าน้าจนได้......ลงเลว่ายน้ำกันดีกว่าพวกเรา แต่อย่าลืมซ่อนเสื้อผ้าให้ดีๆ

(สิบแปดนาฬิกา วันที่ไม่มีแล้งซึ่งหลาปากบางเชิงแส)
     เดินตามตลิ่งเลียบชายคลองเชิงแสจากริมทะเลปากบางเข้ามาประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นบ้านเชิงแส.....ชุมชนแห่งนี้ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยาโดยคนไทยใต้เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ต่อเนื่องกับรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ มีการอพยพของชาวจีนเข้ามาอาศัยพระบรมโพธิสมภารอยู่ด้วย โดยก่อนหน้านั้นน่าเชื่อว่าได้มีชาวเชิงแสส่วนหนึ่งอพยพมาเพิ่มเติมจาก "บ้านเชิงแส" อีกที่หนึ่งซึ่งเป็นชุมชนโบราณกลางทุ่งนา อันตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของบ้านเชิงแสใกล้ทะเลสาบแห่งนี้...ห่างกันประมาณ ๓ กิโลเมตร ดังนั้นด้วยเหตุที่บ้านเชิงแสมีมาแต่เดิมแล้วคำว่าเชิงแส "จึงไม่ได้มีชื่อมาจากคำว่า ซินแส" อย่างที่บางคนเข้าใจกันแต่อย่างใดทั้งสิ้น.....แต่มาจากคำว่า "บารเชิงแสะ หรือ บ้านเชิงแส" นั่นแหละ.......++++++.....บ้านเชิงแสที่ใกล้ทะเลสาบ บ้านเกิดของแม่และบ้านเกิดผมแห่งนี้ได้ตั้งมา ๔๐๐ ปีแล้ว ตั้งเป็นหมู่บ้านมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ หรือก่อนนั้น ผมมั่นใจ ทำไมผมจึงมั่นใจ เหตุที่มั่นใจก็เพราะผมได้เห็นแผนที่ภาพโบราณ ที่เป็น "แผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ" มาแล้ว เห็นมาแล้ว อ่านมาแล้ว อ่านหลายรอบ หลายครั้ง.........แต่ก็เคารพท่านที่มีความเห็นต่าง ต่างจากผม...ที่มีความเห็นว่า เชิงแสมาจากคำว่าซินแส +...+...เอกสารเกี่ยวกับกัลปนาวัดพะโคะมี ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเขียนขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ฉบับหนึ่งเขียนขึ้นหลังรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อักขระกำกับบรรยายภาพและข้อความเอกสารเขียนเป็นภาษาไทยอยุธยา และเขียนเป็นภาษาขอมปนกับภาษาไทยด้วย.....++++++......เอกสารและแผนที่ภาพดังกล่าว......บอกชื่อบ้านเชิงแส โดยใช้คำว่า "บารเชิงแสะ"บ้าง "บารเชิงแส" บ้าง รวมบ้านที่ชื่อว่าเชิงแสมีทั้งสิ้น ๔ บ้าน นอกจากนั้นยังบอกชื่อผู้ควบคุมดูแลบ้านเชิงแส บอกชื่อ"คลองเชิงแส"บอกชื่อวัดเอกว่าสมัยก่อนเรียกว่า "วัดเชิงแสพระครูเอก" ยิ่งกว่านั้นเอกสารแผนภาพนี้ยังได้บอกชื่ือ"วัดกลาง" บอกชื่อ"วัดเชิงแสะหัวนอน" บอกชื่อ"คลองพระ" (ซึ่งไหลมาจากบ้านเชิงแสกลางทุ่ง มาบรรจบกับคลองเชิงแสที่บริเวณทิศใต้ของวัดกลาง)ทั้งแผนที่ภาพนี้ยังบอกชื่อ "คลองช้าง" (ที่ปัจจุบันเรียกหนองคลองช้าง) บอกชื่อและวาดภาพ"วัดทะเย้า" ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของ "เขารัชปูน" (ปัจจุบันวัดดังกล่าวไม่มีแล้ว คงมีแต่ที่นาแถบนั้นซึ่งก็ยังเรียกว่า "เยา" แต่วัดไม่มีแล้ว) นอกจากนั้นแผนที่ภาพยังมีภาพที่ดอนด้านทิศตะวันตกของหนองบ่อ ว่า "โภดอรขรี" ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "ดอนโพธิ์" ...+++++++......เอกสารโบราณเกี่ยวกับบ้านเชิงแส จึงเป็นความรู้ที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ น่าภูมิใจ ภูมิใจในบ้านของเรา บ้านที่เป็นบ้านเกิด...และจากการอ่านเอกสารนี้ทำให้ผมทราบว่า คำว่า "เชิงแส"แปลว่าอะไร???.........ดังนั้น ขณะที่ท่านกำลังอ่านเรื่อง.."เชิงแสบ้านแม่ บ้านทุ่งริมเล"...อยู่นี้ ท่านกำลังอ่านพร้อมกับที่ผมกำลังอ่านเรื่องราวของบ้านเชิงแสในเอกสารและภาพแผนที่ ซึ่งมีการรังสรรค์ไว้เมื่อสมัยอยุธยา.......แม้ว่าขณะนี้ผมและท่านผู้อ่านเราจะอยู่ห่างกัน แต่เชื่อว่า ชาวเชิงแส และลูกหลานของบ้านเชิงแส จะได้รู้เรื่องราวของบ้านเกิดไปพร้อมๆกับผม............เราจะรับรู้ไปด้วยกัน.....+++++++.......รับรู้ไปด้วยกันว่า คำว่า "เชิงแส" เมื่อสี่ร้อยปีที่แล้วแปลว่าอะไร????..และได้รู้ว่า คำว่า "เชิงแส" นั้นเป็นคำภาษาไทยประสมกับภาษาขอมโบราณ โดยคำว่า "เชิง" เป็นคำไทย ส่วนคำว่า "แส" เป็นคำขอม...."เชิงแส" คำนี้จึงมีคุณค่ามีความหมายลึกซึ้ง และน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง........++++...เนื่องเพราะ คำว่า "เชิง" แปลว่า "ตีน หรือ ฝ่าย" ซึ่งการที่จะแปลว่าตีนอันมุ่งหมายถึงส่วนที่เป็นข้างล่าง หรือจะแปลว่าฝ่ายซึ่งหมายถึงบริเวณหรือหน้าที่ด้านนั้นๆ ก็ขึ้นอยู่ที่บริบทของคำ เช่นที่ในเอกสารกล่าวถึงคำว่า "เชิงกุฎี" "เชิงเรือน" "เชิงเรือ" ส่วนคำว่า "แส" แปลว่า "นา" แปลรวมได้ว่า "เชิงแส คือ บ้านตีนนา หรือพวกฝ่ายที่มีนา หรือบริเวณที่เป็นท้องนาด้านล่าง" คำภาษาไทยปัจจุบันก็มีใช้อยู่มาก เช่น "เชิงกลอน" "เชิงชาย" "เชิงเทียน" ที่ว่านาด้านล่างนั้นเพราะนับจากวัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานซึ่งเป็นวัดหลวง ในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่สูงกว่านั่นเอง.....เมื่อผมยังเป็นเด็กจูงวัวไปส่งให้พ่อที่นา พ่อเตือนเสมอว่า "อย่าให้ข้องเชิง" คืออย่าให้เชือกหย่อนจนคล้องเข้ากับเท้าและขาของวัว ถ้าวัวข้องเชิง ต้องบอกวัวว่า "เชิง เชิง" วัวก็จะยกขาขึ้นให้ดึงเชือกออก วัวเชิงแสรู้ภาษาคนหลายคำ ตอนไถนาบอกว่า "เข้า" วัวจะไถเข้า บอกว่า "แจง" วัวก็จะไถออก....+++...ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ การดำเนินการสอบวัดที่นาเรียกตามกฎหมายเก่าว่า "สอบแส" พนักงานที่มีหน้าที่สอบแส เรียกว่า "แสนา" ต่อมากล่อนเป็น "เสนา" เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ไม่ใช่ฝ่ายกลาโหม........ด้วยพระคุณของแผ่นดินผืนนาแห่งบ้านเชิงแสนี้ ทำให้บ้านนี้ดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปีแล้ว ท้องนาจึงได้ให้ชีวิตและวิถีแห่งชาติพันธ์ุ เลี้ยงดูผู้คนมาอย่างยาวนาน พ่อสะท้อนความภูมิใจไว้ว่า "ชาวเชิงเป็นคนดี ขยัน และอดทน เห็นได้จาก การที่คนเชิงแสสามารถรักษาวัดบำรุงพระศาสนาได้ตั้ง ๓ วัด"


(แผนที่ภาพบ้านเชิงแสและวัดทั้งสี่วัดในเขตบ้านเชิงแส แผนที่ภาพดังกล่าวแม้จะวาดภาพในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ตาม แต่เชื่อว่าบ้านเชิงแสและวัดทั้งสี่ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าการวาดแผนที่ภาพอย่างต่ำประมาณ ๑๐๐ ปี)

แผนที่วัดทเยาและเขารัชปูนซึ่งปัจจุบันคงเหลือเพียงเขารัชปูน ในชื่อว่าเขารัดปูนส่วนวัดทเยานั้นเป็นทุ่งนาหมดแล้ว คงมีเพียงแต่คำบอกเล่าว่าพบซากวัดโบราณและชุมชนโบราณบริเวณนั้น

เขาทะเลจรรน์ปัจจุบันคือเขาในหรือบ้านเขาใน หมู่ที่ ๑ ตำบลเชิงแส

(ภาพท้องทุ่งนาที่สมบูรณ์ของบ้านเชิงแส สมกับคุณค่าของชื่อบ้านที่แปลว่าบ้านนา ในภาพจะเห็น "เขารัชปูน" เด่นอยู่กลางทุ่ง)
     ชาวเชิงแสเริ่มมีชาติพันธุ์อย่างผสมผสานเมื่อช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ คือประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้าน ก๋งซุนเฮาะของผมเป็นชาวจีนรุ่นที่ ๒ หรือรุ่นที่ ๓ ก๋งเข้ามาถึงบ้านเชิงแสประมาณ พ.ศ.๒๔๒๕ ชาวจีนยุคของก๋งมีหลายคนพ่อเคยบอกชื่อให้ผมฟังหลายครั้ง ผมจึงจำได้อยู่ไม่ว่าจะเป็น "ก๋งสุย" "จีนฉาวเถ้า" "จีนกี่เถ้า" "จีนเอี่ยม บิดาของครูบวร วรารัตน์" "จีนนอง มีอาชีพขายทอง" คนจีนที่อยู่ทั่วบ้านเชิงแสประกอบอาชีพทำนาเป็นส่วนมาก และตั้งโรงเหล้า โรงสูบฝิ่น ที่ริมคลองกลางหมู่บ้านที่เชิงสะพาน ชาวจีนกลุ่มนี้บางคนก็ค้าน้ำตาลอย่าง "จีนโหย" ปัจจุบันนี้ชาวเชิงแสส่วนใหญ่เป็นชาวไทยจีนแทบทั้งสิ้น คำพูดก็ผสมกันทั้งคำไทยคำจีน เช่นคำว่า "ก้งโท้" แปลว่าซื่อสัตย์ คำว่า "เจี้ยนซี่" แปลว่าตะหลิว ปลาทอดยายและแม่ว่า "ปลาเจี้ยน" ขนมก็มี "ขนมอี่" แม่เรียกที่ตักน้ำว่า "ถุ้ง" ประเพณีชาวจีนที่ผมชอบมากก็คือตรุษจีน จะว่าไปแล้วพวกเราเด็กๆเชิงแสจะชอบวันตรุษจีนมากกว่านี้หากเป็นวันที่โรงเรียนหยุด


(หลักจารึกของคนตระกูล "ถู" เมื่อ ๓๕๐ ปีมาแล้ว เข้าใจว่าลูกหลานนำมาจากเมืองจีน อ่านข้อความในจารึกนี้ได้ความว่า ผู้ตายมีลูกหลายคน แต่จารึกนี้จะทำโดยลูกชาย ๓ คน เพื่อระลึกถึงบิดาผู้ล่วงลับ... แผ่นจากรึกหินนี้ผมจำได้ติดตามาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อปี ๒๕๕๕ ผมทราบว่าจารึกดังกล่าวมีต้นไทรโอบคลุมอยู่จึงได้ดำเนินการขุดค้นขึ้นมาและถ่ายภาพไว้...)
     คนบ้านเชิงแสหลายชาติพันธ์ุได้ร่วมแผ่นดินอยู่กันมาอย่างสันติ ด้วยสิ่งยึดเหนี่ยวทางกายภาพ คือ แผ่นดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ทำนาปลูกข้าวลงเลหาปลา ยากดีมีจนก็เลี้ยงชีวิตอยู่กันได้ไม่อดไม่อยาก ฐานะก็ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งพอจะกล่าวได้ว่า "ถึงจะรวยหรือจน ทุกคนทุกครัวก็กินแกงส้มเหมือนกัน" ส่วนสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจนั้นมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือความศรัทธาในพระศาสนาตั้งแต่เมื่อเป็นพราหมณ์ มาจนเป็นพุทธศาสนา และสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์.....+++++......