วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

บทที่ ๑ บ้านแม่

โดย...นิกร ทัสสโร++++++++++++++++++++++++++...............................+.+.+...+..........................................

บทที่ ๑. บ้านแม่

     ...นับเรียงปีที่ผมเริ่มเขียน "เชิงแสบ้านแม่ บ้านทุ่งริมเล" ลงใน blogger.com จวบจนถึงวันนี้ คือ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ ก็นับได้ว่าหกปีแล้ว มีเรื่องเล่า ๒๑ เรื่อง เริ่มจาก "บ้านแม่" จนถึง "อินทผลัม ที่ขนำปลายนา" มีผู้เข้าอ่านเป็นจำนวนมาก จนจะถึง ๒๓,๐๐๐ ครั้งแล้ว ถือว่าเยอะมากนะครับ ที่เรื่องของชุมชนบ้านนอกจะมีคนอ่านหลายครั้งอย่างนี้.
      ...อันที่จริง ผมอยากจะเขียนให้สมบูรณ์กว่านี้ ตลอดจนเกลาถ้อยคำเสียให้ดี และเพิ่มเติมภาพให้มากขึ้นทั้งภาพใหม่และภาพเก่า แต่ก็ไม่มีเวลา เพราะมีงานประจำอยู่มาก.อย่างไรก็ตาม ผมขอบคุณทุกๆท่านที่เข้ามาอ่าน โดยหวังใจว่าท่านผู้อ่านน่าจะเป็นรุ่นลูกจากบ้านเชิงแส และรุ่นหลานๆ ของบ้านเชิงแส ทั้งที่ยังกลับไปทำบุญเดือนสิบอยู่ และที่ไม่ได้กลับไปทำบุญโดยทำบุญอุทิศให้ปู่ย่าตายายที่วัดใกล้บ้านแทน.หรือรวมตลอดถึงทุกท่านที่สนใจอ่านเรื่องบ้านๆ ซึ่งสภาพปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว.

     หากจะถามว่าเมื่อใดที่ผมมีความสุขที่สุด ผมตอบตัวเองว่าเมื่อผมคิดถึงบ้านแม่ บ้านแม่ที่เชิงแส หมู่บ้านชายทุ่งริมทะเลสาบสงขลา บ้านแม่ที่เชิงแสให้ความสุขแก่ผมอยู่ตลอดตั้งแต่เวลาที่ผมยังเป็นเด็ก และจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
     บางวันรถติดมาก ผมจอดรถต่อท้ายเบนซ์คันใหญ่ ที่มีเลขทะเบียนขึ้นต้นว่า "ชส...." ผมยังเผลอรู้สึกไปว่ารถคันนี้มาจากบ้านแม่ที่เชิงแส..



(ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณตำบลเชิงแส ในภาพจะเห็นว่าบ้านเชิงแสตั้งอยู่ที่ริมฝั่งทะเลสาบสงขลา ส่วนด้านทิศตะวันออกเป็นทุ่งนา ถัดไปเป็นอ่าวไทยหรือที่เรียกว่าทะเลนอก)

     บ้านแม่หลังนี้ เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวขนาดสามห้อง ใต้ถุนสูง หน้าบ้านหันไปทางทิศเหนือหรือปละตีน "ตีน หรือ ตีนนอน" หมายถึงทิศเหนือซึ่งตรงข้ามกับทิศ "หัวนอน" ซึ่งคือทิศใต้ ห้องทิศตะวันออกเป็นห้องนอน ห้องกลางเป็นห้องโถง ห้องทิศตะวันตกเป็นลอมข้าว ถัดจากลอมข้าวเป็นระเบียงไว้ข้าวเหนียวทั้งข้าวเหนียวดำและข้าวเหนียวขาว.. ซอกว่างระหว่างลอมข้าวใหญ่กับลอมข้าวเหนียวเป็นที่อยู่ของแม่แมวและลูกๆของมัน เกิดลูกกี่ครอกต่อกี่ครอกก็เกิดที่ซอกลอมข้าวตรงนี้แหละ...บ้านสามห้อง คำว่า "ห้อง" นี้นับตามช่วงเสาโดยที่ไม่ต้องมีฝากั้นห้องก็ได้

     บ้านหลังเดียวของแม่หลังนี้หลังคาบ้านเป็นกระเบื้องดินเผาซึ่งแม่ภูมิใจเล่าลูกเสมอว่า มองจากทุ่งนานอกบ้านก็เห็นมาแต่ไกล หากคนต่างถิ่นที่จะมาหายายและถามชาวบ้านเชิงแสว่่า บ้านยายแกวดหลังไหน ก็จะได้รับคำตอบว่าหลังที่มีหลังคากระเบื้องแดง อันต่างแปลกจากบ้านหลังอื่นที่ส่วนใหญ่มุงหลังคาด้วยจาก มีอยู่คราวหนึ่งเมื่อผมยังเล็ก จำได้ว่าคืนนั้นฝนตกหนักครั้นจวนสว่างเกิดพายุพัดหลังคากระเบื้องปลิวไปหลายแผ่น จนมองเห็นท้องฟ้า ยังจำภาพที่ยายนั่งว่าคาถาสลับกับสวดมนต์คำพระพร้อมทั้งโบกผ้าเช็ดน้ำหมากไล่ลมพายุได้ติดตา..
     ที่ดินแปลงปลูกบ้าน เดิมเป็นที่ของตา ตามีพี่น้อง ๔ คน คือ คุณยายเจื้อม คุณตายก คุณยายโคบ และคุณตาเห้ง จีระโร แม่บอกผมว่าเชื้อตระกูลตาของผมเป็นคนจีนแซ่จิว ตาได้รับมรดกที่ดินปลูกบ้านมาจากทวดหญิงสุ่น เมื่อตาสู่ขอยายแล้วจึงได้ปลูกบ้านขึ้นที่ตรงนี้ ผมเกิดไม่ทันตา เรื่องราวของตาและบ้านหลังนี้จึงฟังมาจากคำเล่าของยายและแม่

     ยายเล่าว่า ยายเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ พ่อของยายหรือก๋งทวดของผมชื่อซุนเฮาะ ก๋งมาจากเมืองจีน ขึ้นบกที่บ้านระวะแล้วเดินทางข้ามทุ่งนาป่าพรุมาที่บ้านเชิงแส มาอาศัยบ้านเตี่ยแปะล่องอยู่ที่ใกล้วัดเอก จากเมืองจีนมาถึงเมืองไทยแล้วก๋งแต่งงานมีครอบมีครัว และมีลูกสาว ๒ คน คือคุณยายเลี่ยนและยาย ต่อมาคุณยายเลี่ยนแต่งงานกับคุณตาเก้าสุ้น แซ่นะ ซึ่งเป็นชาวบ้านระวะจึงได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลระวะ ส่วนยายนั้นต่อมาเมื่อแต่งงานกับตาแล้วก็มาอยู่ที่นี่ที่บ้านนี้มาเป็นลูกสะใภ้ของทวดหญิงสุ่น

     ผมเห็นควรกล่าวถึงญาติของแม่สายคุณยายเลี่ยนพี่สาวของยายเพิ่มเติมไว้ ณ ที่นี้ว่า คุณยายเลี่ยนมีลูก ๕ คน แม่เรียกตามลำดับว่า ฉียกเนี่ยว เฮียข้อง เฮียเฮ้ง เฮียเฉ้ง และชิกฮั่น ชิกฮั่นญาติผู้พี่ของแม่ก็คือคุณลุงเพ็ญ ถาวรวิจิตร คุณลุงเพ็ญสันนิษฐานให้ผมฟังว่าที่คุณยายเลี่ยนได้แต่งงานกับคุณตาเก้าฉุ้นอาจจะเนื่องจากญาติผู้ใหญ่ของคุณตาเก้าฉุ้นรู้จักกับก๋งซุนเฮาะมาตั้งแต่อยู่ที่เมืองจีนก็เป็นได้

     ต่อมาก๋งซุนเฮาะแต่งงานกับทวดดำ ก๋งซุนเฮาะและทวดดำมีลูก ๓ คน คือ ก๋งผอม ซึ่งใช้นามสกุลว่า ผ่องศรี คนหนึ่ง คุณยายขุ่ยเลี่ยน คนหนึ่ง (น่าจะเกิดเมื่อปี ๒๔๕๓)และคุณยายเลี่ยนเห้ง อีกคนหนึ่ง (ปีที่เกิดน่าจะ ๒๔๕๙)ก๋งผอมมีลูกหลานมากหลายคน ส่วนคุณยายขุ่ยเลียนแต่งงานกับคุณตาเชี่ยว แซ่ฉิม มีลูกชายคนเดียว คือคุณอาสุวิทย์ นภาพงษ์ (ชื่อเดิม กิ้มเอ้ง แซ่ฉิม)ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากพระครูปลัดสุข วัดตะเครียะ ให้ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ในตัวเมืองสงขลา สำเร็จการศึกษาที่สงขลาแล้วจึงได้เรียนหนังสือชั้นสูงขึ้นโดยไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ในวิชาการช่างที่อุเทนถวาย ที่เมืองกรุงอาได้รับความอุปการะเป็นลูกศิษย์วัดของสมเด็จพระวันรัต (จับ)ขณะที่ิเรียนหนังสือที่ในเมืองสงขลา ญาติผู้ใหญ่ของผมท่านนี้ได้รู้จักสนิทสนมกับท่านอาจารย์เธียร เจริญวัฒนา บรรพตุลาการ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม แบบอย่างของเหล่าผู้พิพากษา ซึ่งเป็นคนระโนดด้วยกันและเพราะต่างเป็นลูกศิษย์วัดมัชฌิมาวาส สงขลาด้วยกัน คุณอาสุวิทย์เรียนจบสำเร็จการศึกษาจากเมืองกรุงแล้วเข้ารับราชการที่แขวงการทางจังหวัดพัทลุง สำหรับคุณยายเลี่ยนเห้งนั้นได้แต่งงานกับคุณตาเหี้ยง แซ่อิ้ว มีลูกหลายคนแต่เป็นชายคนหนึ่ง ลูกชายนั้นชื่อคุณอานิเวศ จ่าผ่องศรี ซึ่งได้เรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา และที่อุเทนถวาย กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับอาสุวิทย์ ต่อมาอานิเวศเข้ารับราชการจนมีความก้าวหน้าจนถึงตำแหน่งระดับสูงของสายช่างที่กรมทางหลวง และเคยเป็นนายกสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนราชวินิต กรุงเทพฯ ญาติของผมทั้งสองท่านนี้ต่างก็รู้จักและสนิทสนมกันเป็นอย่างดีกับท่านอาจารย์เธียร ทั้งอาสุวิทย์และอานิเวศนับว่าเป็นญาติของแม่สายก๋งซุนเฮาะและทวดดำ..ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ผมและสมยศ ผ่องศรี หลานก๋งผอมได้ตามหาญาติในกรุงเทพฯ ไปที่บ้านของคุณอาสุวิทย์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตบางกรวย เราพบลูกสาวของคุณอาสุวิทย์ ๒ คน ลูกสาวคนโตของคุณอาสุวิทย์อายุ ๖๐ ปีแล้ว ได้พูดคุยกันเป็นเวลานาน ต่างดีใจมากที่ได้พบกัน..คุณอาสุวิทย์นั้นเสียไปแล้ว ผมจึงไม่ได้ตามไปหา ได้แต่เพียงภาพของคุณอาติดมือมา ๑ ภาพ มีความสุขมากจริงๆ เมื่อได้พบญาติ เป็นความสุขอย่างวิเศษ

     ตาและยายของผมมีลูกชายหญิงรวม ๘ คน ป้าสาวจู้ทัด แปะหลวงขิ้ม แปะชม แปะเซ่ง แปะช้อย ป้าเชย แม่ และน้าวิสัย ซึ่งวันที่ผมกำลังเล่าเรื่องบ้านของแม่อยู่นี้แม่และพี่น้องของแม่ทุกคนไม่มีแล้ว ส่วนลูกๆของคุณยายเลี่ยนกับคุณตาเก้าสุ้นก็คงมีเพียงคุณลุงเพ็ญ ถาวรวิจิตร แม่เรียกคุณลุงเพ็ญว่า ชิกฮั่น ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่การจากไปของญาติแม่ที่เล่าขานกันอยู่เป็นตำนานของครอบครัว คือ การจากไปของแปะหลวงขิ้มซึ่งนับเป็นตำนานแห่งความศัทธาของครอบครัวผมเพราะแปะหลวงมรณภาพในผ้าเหลืองระหว่างเดินทางไปประเทศอินเดียกับคณะของพระโลกนาถ (Salvatore Cioffi)พระสงฆ์ชาวอิตาลี

(ภาพพระโลกนาถพระสงฆ์ชาวอิตาลีที่นำคณะพระภิกษุและสามเณรใจสิงห์เดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศอินเดีย แปะหลวงของผมและหลวงพ่อปัญญาได้เดินทางร่วมไปกับคณะนี้ด้วย)

     ในห้องนอนของบ้านแม่จึงมีภาพถ่ายแปะหลวงในกรอบขนาดใหญ่ไว้ให้กราบไหว้และระลึกถึงอยู่จนทุกวันนี้

(ภาพของแปะหลวงซึ่งไม่เพียงแต่ยังคมชัดด้วยเทคนิคด้านการถ่ายภาพเมื่อ ๘๐ ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังชัดเจนด้วยเรื่องราวที่ท่านมีความศรัทธาพระศาสนาในความทรงจำของผม และทุกคนในวงศ์ตระกูล)
     แปะหลวงบวชเป็นพระปีใดผมไม่ทราบ เสียดายมากที่ไม่ได้ถามใครไว้ในความข้อละเอียด จึงได้ทราบจากคำบอกเล่าที่น่าศรัทธาจากถ้อยคำของคุณลุงเพ็ญว่า วันหนึ่งแปะหลวงเดินเท้าข้างหนึ่งตกลงไปในหลุมโคลนที่มีปลาอยู่ข้างล่างก้นหลุม แปะหลวงเหยียบปลาตัวนั้น ปลาตาย จึง"พิจารณา"เกิดข้อธรรมขึ้นในใจ แล้วออกบวช ท่านบวชอยู่น่าจะหลายปี คุณลุงเพ็ญจำได้แค่นี้ ผมได้แต่ค้นพบประวัติเพิ่มเติมว่า ในปลายปี ๒๔๗๕ แปะหลวงขิ้มร่วมเดินทางกับคณะพระภิกษุและสามเณรใจสิงห์จากสงขลาไปสมทบกับคณะของท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุที่นครศรีธรรมราช แล้วขึ้นรถไฟจากนครศรีธรรมราชไปหาคณะใหญ่ของพระโลกนาถที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ จากนั้นในเดือนมกราคม ๒๔๗๖ ก็เดินทางต่อกันไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ ที่จังหวัดนี้แปะหลวงถูกงูเหลือมกัดรัดถึงแก่มรณภาพ ไม่นานปีนักหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุซึ่งรวมคณะไปด้วยได้นำอัฐิของแปะหลวงไปที่วัดเชิงแสหัวนอนหรือวัดเชิงแสใต้ในชื่อปัจจุบัน และพระเดชพระคุณหลวงพ่อจากเมืองพัทลุงได้มอบอัฐิของแปะหลวงให้แก่ยายของผมที่วัดนั้น

     บ้านของแม่สร้างด้วยไม้ที่แข็งแรงมาก เสาหลายต้นเป็นไม้เคี่ยม หัวนอเรือนใหญ่เป็นไม้เคี่ยม ไม้ฝาทุกด้านและไม้ฝาห้องนอนในตัวบ้านหนาเหลืองออกน้ำตาลเข้มสะอาดตา ที่มุมฝาห้องนอนส่วนที่ต่อเนื่องกับระเบียงในบ้านมีพระบรมฉายาลักษณ์ภาพเขียนสีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมอยู่ในบานกระจกขนาดใหญ่ งดงามมาก...ถัดจากพระบรมฉายาลักษณ์ลงมามีชั้นไม้ไม่ใหญ่นักพ่อวางตำราพรหมชาติเล่มใหญ่และหนังสือประวัติหลวงปู่ทวดวัดพะโคะไว้ที่นี่...ผมจึงได้อ่านหนังสือเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก

(พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่บ้านของแม่)
(พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่บ้านของผมที่กรุงเทพฯ ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวนี้ผมโดยการอนุมัติจากภรรยาได้จัดทำขึ้นด้วยทุนส่วนตัวแสนบาทเศษ เพื่อใช้ประกอบปกหนังสือ "๘๔ พรรษา พระภูมิบาล รอยเสด็จฯ ภูมิสถานศาลยุติธรรม"อันผมได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงในนามของศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในวาระที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมมายุ ๗ รอบ)

     ความข้างต้นผมเล่าถึงห้องทางทิศตะวันตกว่าเป็นลอมข้าวใหญ่ไว้บ้างแล้ว ลอมข้าวนี้สูงถึงหลังคาบ้าน บริเวณนี้มีหัววัวแขวนไว้หลายหัว แม่บอกชื่อวัวได้ทุกตัวว่าเป็นหัวของวัวตัวใดเพราะแม่ผูกพันกับวัวทุกตัวดังเช่นชาวนาทุกคน ...นั่นหัวของไอ้จำปา นั่นหัวของไอ้เขาตัด(ขี้ทอ)...เมื่อวัวตายแล้วจึงนำกระดูกหัววัวมาไว้เหนือลอมข้าวอย่างรู้คุณ แม่จึงไม่ทานเนื้อ เป็นคุณธรรมแห่งชีวิตอีกประการหนึ่งที่แม่ยึดถือไว้อย่างมั่นคงตลอดชีวิตของแม่..

     พ่อและแม่เลี้ยงวัวไว้หลายตัว มีคอกวัวที่ใต้ถุนบ้าน กลางคืนจึงได้กลิ่นวัวหอมอับๆ และได้ฟังเสียงวัวเคี้ยวเอื้องฟังเพลินดี บางคืนพ่อก็เล่าให้ฟังถึงความเก่งกาจของวัวชนตัวเก่งๆที่เมืองสงขลา เช่น เจ้าแดงเดียว บางคืนผมก็แกล้งวัวที่ใต้ถุนโดยใช้ไฟฉายส่องตาวัว เห็นตาวัวเป็นสีแดงแววงาม หากพ่อหรือแม่เห็นเข้าก็จะถูกดุ บาปกรรมนั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือเปลืองถ่านไฟฉายซึ่งเป็นของหายากสำหรับบ้านนอกคอกนาเช่นนี้

     ถัดจากตัวเรือนใหญ่บ้านสามห้องดังกล่าวแล้ว ก็เป็นระเบียงบ้าน เป็นระเบียงบ้านที่อยูรวมภายในตัวบ้าน เพราะต่อระเบียงมาจากเรือนใหญ่สามห้องพ่อและแม่จึงเรียกว่าระเบียง ดูพ่อภูมิใจกับระเบียงนี้มาก เพราะต่อขึ้นเมื่อพ่อแต่งงานกับแม่แล้ว หากไม่รู้ประวัติเช่นนี้ก็ไม่มีใครคิดหรอกว่าเป็นระเบียง ทั้งนี้เนื่องจากมีฝาผนังเป็นเนื้อเดียวกับเรือนใหญ่ และมีีช่องหน้าต่างยาวประมาณ ๒ เมตรอยู่ที่ฝาบ้านด้านทิศเหนือ..ทิศตะวันออกในระเบียงนี้เป็นที่นอนของพ่อ พ่อนอนที่นี่เพื่อป้องกันภัยให้แก่ทุกคนข้างที่นอนของพ่อจึงมีพร้าคมด้ามใหญ่ มีดเล่มใหญ่คมกริบสอดไว้ในฝักสีเหลือง กริชเล่มสีดำฝักดำ และอาวุธคล้ายทวนอีกเล่มหนึ่ง แม่กางมุ้งให้พ่อนอนทุกคืน แต่พ่อมักจะนอนนอกมุ้ง แม่บ่นเรื่องนี้อยู่เสมอบ่นว่ายุงจะกัดเอา ยุงจะมาหามเอา แต่พ่อบอกแม่ว่าเมื่อพ่อหลับยุงก็หลับเหมือนกัน อีกเหตุผลหนึ่งที่พ่อนอนที่ระบียงก็เพราะต้องนอนเฝ้าวัว

     ที่ระเบียงนี้หากช่วงใดที่โจรต่างตำบลมักจะมาปล้นวัวที่บ้านเชิงแส ใต้ถุนบ้านจะมีญาติหลายคนนำวัวมารวมกันที่นี่ และญาติชายๆจะมานอนรวมกันที่ระเบียงนี้ โดยมีปืนยาวมาด้วย ผมคิดว่าปืนยาวนี้น้ำหนักคงไม่มาก แต่ความจริงแล้วหนักน่าดูที่เดียว ทุกคนมีเรื่องราวต่างๆมาเล่ากัน เช่น เรื่องวัวชน ขณะเล่าก็จะทำนิ้วมือเป็นเขาวัว น้าเถ็กคุณพ่อของสมยศมักเล่าเรื่องการหาปลาเพราะน้าหาปลาเก่งมาก บางครั้งออกเรือไปหาไกลถึงทะเลหัวนอนใกล้ๆเกาะสี่เกาะห้า น้าหลวงชิ้นก็หาปลาเก่งและหวดนกก็เก่ง ส่วนน้าเพียรมักเล่าเรื่องไก่ชน ไก่ชนนี้ส่วนใหญ่ชื่อ ไอ้เขียว ไอ้เหลือง ช่วงหัวค่ำจึงเป็นเวลาที่่ผมและเพื่อนๆ ได้ฟังเรื่องราวและเรื่องเล่าสนุกมาก

     ระเบียงบ้านห้องกลางเป็นประตูบ้าน ประตูไม้บานพับใหญ่ ๒ ด้าน ด้านละ ๔ บาน เรียกว่าประตูหน้าถัง คงเป็นเพราะดูใหญ่แข็งแรงหรือเพราะอะไรผมไม่รู้ เห็นเรียกกันอย่างนี้ พ่อเล่าว่าบางบ้านจะเจาะรูใส่กระสุนไว้ที่ประตูทุกบาน บานละหลายรูกระสุน การเจาะนี้ไม่เจาะให้ทะลุจึงมองจากข้างนอกไม่รู้ ถึงกลางคืนปิดประตูบ้านแล้วแทงเข็มชนวนไว้ แล้วประกบด้วยไม้ขวางยาวคั่นประตูทุกบาน ครั้นโจรมาปล้นบ้าน โจรใช้วิธีพังประตูโดยใช้สากตำข้าวผูกชายคาบ้านกระแทกประตู แรงอัดทำให้กระสุนปืนทำงาน ยิงออกไป

     ยายเล่าว่าคนเชิงแสทั้งคนไทยคนจีน สู้คน ไม่กลัวใคร และไม่กลัวโจร รุ่นของก๋งซุนเฮาะและรุ่นของก๋งสุยเตี่ยก๋งจูห้องได้ต่อสู้กับ โจรที่มาปล้นบ้านเชิงแส ก๋งสุยชนะโจรฆ่าโจรได้ จึงตัดอวัยวะเพศของโจรนำไปปิ้งที่กอไผ่หญ่ใกล้ศาลาทวด หรือที่เรียกว่า "หลาทวด" กลุ่มกอไผ่บริเวณนั้นจึงเรียกว่า "กออี้ปี้ง"..โจรชั่วรายนั้นชาวบ้านช่วยกันตัดคอ และนำหัวไปเสียบประจานไว้ที่ต้นเลียบใหญ่นอกทุ่ง ด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ต้นเลียบนี้ทุกคนเรียกว่า "เลียบหัวโจร"..เรียกมาจนกระทั่งทุกวันนี้..

     เมื่อต้องไปเลี้ยงวัวกลางทุ่งด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ผมและเพื่อนๆ ต้องเดินอ้อมเลียบหัวโจรต้นนี้ทุกครั้ง ไม่ได้กลัวโจรหรอก แต่กลัวผี วัวบางตัวก็แปลก กลางวันมันจะชวนกันเล็มหญ้าหากินที่อื่น พอใกล้ค่ำ ก็จะมากินหญ้าใกล้ต้นเลียบนี้แหละ พวกเราเด็กๆต้องคอยดูไว้ให้ดีๆ โดยเฉพาะลูก วัวตัวเล็กที่เรียกว่า "ลูกแหย้" อย่าให้เข้าไป ถ้ามันเข้าไปแล้วแม่วัวก็จะตามไปด้วย คราวนี้จะยุ่ง ถ้าลูกวัวเข้าไป เราต้องจับแม่วัวไว้ แล้วช่วยกันทำเสียง ร้องเรียกลูกวัว มอ มอ มอ ..ลูกวัวบางตัวแทนที่จะรีบวิ่งหางตรงออกมาหาแม่วัว กลับร้อง แมะ แมะ แมะ เรียกแม่วัวให้เข้าไปด้วย จึง ต้องคอยจับเชือกแม่วัวไว้ให้ดี..บริเวณใต้ต้นเลียบใหญ่นี้มีพุ่มไม้หลายชนิดหนาบังตาเป็นดง เป็นต้นว่า กะพ้อ นมแมว ราม แสงขันที่ มีหนาม ปดเป็นไม้เถา เถาคัน ขุมนกซึ่งบางที่ก็เรียกว่าหนุมนก(ภาคกลางเรียกชื่อเสียเพราะพริ้งว่า "กำแพงเจ็ดชั้น"...เพราะเนื้อไม้มีวงรอบเป็นชั้นๆถึง ๗ ชั้น)และต้นหวาด หวาดนี้ยอดสีเขียวอ่อน ขมมาก แต่เป็นยาถ่ายพยาธิ เอามาปั้นคั้นเป็นน้ำคล้ายกับคั้นกะทิแล้วให้เด็กกิน ขมที่สุดในชีวิต มีคนบางคนว่า "ความรักเหมือนยาขม" ผมเข้าใจว่าคนนั้นคงไม่เคยกินยอดหวาดคั้น พ่อเคยคั้นให้ผมกินหลายครั้ง ใกล้ต้นหวาดก็มีบรเพ็ดขึ้นเป็นเพื่อนกัน ขมเหมือนกัน บรเพ็ดนี้เป็นยาให้วัวกิน แต่ต้องป้อนบังคับให้กิน วิธีป้อนพ่อจับเชือกที่สนสะพายยกให้เงยหน้าขึ้น แล้วใส่บรเพ็ดป้อนเข้าไป เป็นการบังคับให้วัวต้องเคี้ยว ต้องกลืน สำหรับคน เห็นใช้เมื่อจะให้เด็กหย่านม พวกแม่ๆใช้บรเพ็ดทานม เด็กดูดนม ขมเข้าหลายๆครั้ง ก็เลิก แม่หย่านมผมด้วยวิธีนี้หรือเปล่า ผมไม่ทราบ ลืมถาม หรือถามแล้วลืม ไม่แน่ใจ ครั้นจะถามพวกพี่ๆ ก็กลัวจะได้รับคำตอบแบบแกล้งๆ ไม่ถามดีกว่า

     ก๋งสุยเตี่ยของก๋งจูห้องนี้ เป็นปู่ของท่านเจ้าคุณพระราชปริยัติโกศล (เสถียร ฉันทโก ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดใหม่พิเรนทร์ โพธิ์สาม ต้น กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทั้งญาติและพระอาจารย์ของเด็กวัดอย่างผม..ท่านไปรับผมมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ ของเดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๕ ท่านเจ้าคุณสอบได้เปรียญธรรมประโยค ๙ เมื่อท่านมีอายุ ๗๒ ปี และปีนั้นเด็กเลี้ยงวัว ลูกชาวนา และเด็กวัดอย่างผมก็สอบอัยการและผู้พิพากษาได้สองตำแหน่งติดต่อกัน..ท่านเจ้าคุณพระอาจารย์ภูมิใจกับผมอยู่ไม่น้อย...ผมไม่มีโอกาสรับใช้ท่านเจ้าคุณคราวที่ท่านเจ้ารับพระราชทานตราตั้งสัญญาบัตร พัดสมณศักดิ์ที่พระศรีรัตนวิมล เพราะเหตุอะไร จำไม่ได้ แต่หลังจากนั้นด้วยความเป็นข้าราชการตุลาการจึงได้มีโอกาสรับใช้ครั้งที่สหายธรรมของท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ท่านให้ผมเป็นผู้ถือตราตั้งจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ แล้วอัญเชิญไปอ่านท่ามกลางหมู่สงฆ์และญาติโยมที่ร่วมมุทิตาจิต ผมได้ร่วมรับใช้พระคุณเจ้าในงานอย่างนี้หลายครั้งแล้ว ล่าสุดในคราวมหามงคลสมัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ ผู้ใหญ่ฝ่ายศาลท่านหนึ่งจะมอบบัตรเข้าร่วมพิธีให้ผม ผมเรียนท่านว่าผมต้องไปทำหน้าที่เด็กวัด เพราะสหายธรรมของพระราชปริยัติโกศล ที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดยะลา เข้ารับพระราชทานตราตั้ง ผมจะต้องไปร่วมงานและอ่านตราตั้ง...เจ้าคุณภิญโญเจ้าคณะจังหวัดยะลาท่านนี้ จบบาลีชั้นสูงสุดเปรียญธรรม ๙ ประโยค เช่นกัน เมื่อพำนักอยู่ที่วัดใหม่พิเรนทร์ ท่านเคยบิณฑบาตให้ผมกินอยู่ประมาณ ๑ ปี ยังระลึกถึงพระคุณของท่านอยู่ไม่รู้ลืม คืนวันที่ ๕ ธันวาคมนั้น ผมอ่านตราตั้งสมณศักดิ์ถวายแล้ว ในชั้นที่กราบลากลับบ้าน ท่านเมตตาขอบใจผมพร้อมกับกล่าวว่า "ฉันยังจำเธอได้ ถึงจะไม่ได้พบกันสามสิบปีแล้ว ก็ยังจำได้ เธอนั่งอ่านหนังสือที่หน้าห้องของฉันอยู่เสมอ"

     ก๋งสุยมีวิชาอะไร?..ท่านจึงชนะโจรได้ คือท่านมีอาคม มีคาถา และมีคุณสมบัติพิเศษในตัว เฉพาะตัวของท่าน จึงต้องแก้สังเวยด้วยของสำคัญ ของโจรที่กออี้ปิ้ง

     

     (ภาพขวา พระราชปริยัติโกศล (เสถียร ฉันทโก ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดใหม่พิเรนทร์ โพธิ์สามต้น กรุงเทพฯ หลานปู่ของก๋งสุย ภาพซ้าย พระมหาเอี้ยน เขมังกโร ป.ธ.๘ สุปฏิปันโนอีกรูปหนึ่งจากบ้านเชิงแส ภาพเมื่อสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนมกราคม ๒๕๕๖ คราวที่คณะศิษย์เด็กวัดใหม่พิเรนทร์และครอบครัว ทำบุญถวายภัตตาหารเพลประจำปี ซึ่งปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว)


     จากห้องโถงระเบียงต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตก เป็นห้องครัว ใกล้ประตูครัวด้านซ้ายมือเป็นที่ตั้งของโอ่งน้ำดินเผาเก่าแก่ เป็นโอ่งน้ำดื่มประจำบ้าน อายุน่าจะมีอายุ ๑๐๐ ปี ได้แล้ว สีของโอ่งน้ำดื่มใบนี้ เป็นชมพูอมสีส้ม แม่ใช้ถาดใบใหญ่ปิดฝาโอ่ง บนถาดวางขันลงหินใบใหญ่ไว้ ก่อนรับประทานอาหารแต่ละมื้อผมและน้องมีหน้าที่ตักน้ำดื่มด้วยขันลงหินใบนี้ ไปวางไว้ข้างวงทานข้าว

(ภาพโอ่งน้ำเก่าแก่ที่บ้านแม่ที่ยังคงใส่น้ำดื่มอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในภาพโอ่งน้ำวางอยู่ที่นอกชานไม้เคี่ยมแผ่นใหญ่ ราคาแผ่นละ ๒๕๐ บาท ซึ่งแม่ซื้อมาจากพัทลุง)

     บริเวณนี้นอกจากจะมีโอ่งน้ำดื่มใบนั้นแล้ว ยังมีโอ่งเคลือบใหญ่อีกใบหนึ่ง ไม่ได้ใส่น้ำหรอก แม่และยายไว้บ่มกล้วยน้ำ กล้วยน้ำนี้ไม่ใช่กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยพันธุ์พื้นเมือง หอม หวาน นุ่ม อร่อยมาก ต้นใหญ่ สูง ใบและทางใหญ่ คราวออกปลี ปลีก็ใหญ่ แกงเลียงอร่อยโดยเฉพาะแกงเลียงกับเนื้อปลาช่อนย่าง กล้วยน้ำต้นอ่อนใช้แกงคั่วเผ็ดกะทิกับเนื้อไก่บ้านเข้ากันดี และอร่อยมาก แม่บอกว่าเคล็ดลับในการแกงคั่วไก่หยวกกล้วยน้ำให้อร่อยนั้น ต้องผสมกะปิในเครื่องแกงให้มากกว่าแกงคั่วผักอื่นสักเล็กน้อย...ส่วนบนของผนังห้องครัวส่วนที่ติดกับชานบ้านหรือที่เรียกว่านอกชาน เป็นที่ไว้อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว จำพวกจานกระเบื้อง จานสังกะสี ชาม หม้ออวย หม้อเคลือบใบเล็ก เรียกบริเวณนี้ว่า "ผลา" ครั้งหนึ่งผมหยิบจานกระเบื้องลงมาคราวเดียวกันหลายใบ จานหลุดมือตกแตกกระจาย หลังจากนั้นแม่ไม่ได้เก็บจานกระเบื้องไว้บนผลาอีกเลย ขณะนี้จานกระเบื้องที่เหลือจากฝีมือของผมไม่มีอยู่เลย จะหายหรือแตกไปด้วยฝีมือใครบ้างก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช้ฝีมือผมอีกแน่ๆ จึงเหลืออยู่เพียงความทรงจำในความงามของชุดจานกระเบื้องใบใหญ่สีขาว ที่มีลายดอกไม้สีชมพูประดับด้วยลวยลายสีทอง กับความทรงจำคราวที่จานกระเบื้องแตกเมื่อผมเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมหนึ่ง

     ฝาครัวด้านทิศตะวันตกมีหน้าต่างใหญ่ ควันไฟจะลอยขึ้นไปทางหน้าต่างนี้บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเตาไฟซึ่งประกอบด้วย อั้งโล่ ๒ ใบ บนแม่เตา ข้างแม่เตาวางไหใบเล็กไว้ใส่ถ่านไฟที่ใช้ไม้คีบถ่านคีบออกมา ใส่ไหแล้วปิดฝาไว้ ถ่านจะดับไปเอง ครัวที่อยู่ในตัวบ้านอย่างบ้านแม่ ไม่เหมาะที่จะใช้น้ำพรมดับไฟ เพราะจะทำให้ขี้เถ้ากระจาย...ซ้ายมือของแม่เตา ชิดกับลอมข้าวใหญ่ เป็นที่วาง "เผล้งสาร" คือภาชนะดินเผาทรงกลมใส่ข้าวสาร ซึ่งบ้านของแม่ใช้ข้าวสารชนิดที่ดีที่สุดของบ้านเชิงแสหุงกิน ชื่อว่า"ข้าวไข่มดริ้น" ข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวพันธ์ุดีราคาแพงกว่าพันธ์ุอื่น ไม่ว่าจะเป็น พันธุ์ช่อไพร พันธุ์จังหวัด นางฝ้าย นางกอง นางหมุย หรือพันธุ์เฉี้ยง ที่จังหวัดพัทลุงนั้นมีข้าวพันธ์ุสังหยุดเป็นข้าวพันธุ์ดีมานานแล้ว (ขณะนี้เปลี่ยนชื่อเป็นข้าวสังข์หยด เปลี่ยนชื่อเสียทำไมก็ไม่รู้ ทำให้เสียประวัติที่มาของคำว่าสังหยุด)ที่บ้านเชิงแสซึ่งตั้งอยู่คนละฟากฝั่งทะเลสาบ ก็มีข้าวดี คือ ไข่มดริ้น ข้าวดีพันธ์ุนี้ ข้าวสารเม็ดสีขาวเหมือนไข่มด สารยาว กลิ่นหอม นุ่มละมุน เมื่อยังเป็นเมล็ดข้าวคู่รวงเหลืองงามมากเพราะเล็ดยาวประมาณ ๙ มิลลิเมตร เป็นข้าวที่มีน้ำหนักเบากว่าข้าวพันธ์ุอื่น แต่ราคาแพงกว่ามาก...ในเผล้งสารที่บ้านแม่จะมี "ป้อย" สำหรับใช้ตักข้าวสารเมื่อตอนจะหุง ป้อยนี้เป็นของเก่าของเดิมคู่บ้านมานานนัก ทำด้วยกะลาตาเดียว สีดำเงางาม เมื่อไม่มีทั้งแม่และพ่อแล้ว ผมจึงเก็บป้อยนี้ไว้ติดตัวมา เอามาไว้ที่บ้าน จนทุกวันนี้ บางครั้งให้รู้สึกว่าป้อยใบนี้เหมือนตัวแทนของแม่ เป็นตัวแทนของชาวนา ชาวบ้านเชิงแส

     จากระเบียงในบ้านดังที่เล่าแล้ว เป็นชานใหญ่ เรียกว่า"นอกชาน" เรียกกันอย่างนี้คงจะเป็นเพราะอยู่นอกตัวเรือน นอกชานบ้านแม่ปูเรียบด้วยไม้เคี่ยมแผ่นใหญ่ มีทั้งไม้เคี่ยมเก่าและไม้เคี่ยมใหม่ ไม้ใหม่มีทั้งหมดห้าแผ่น แม่ซื้อมาจากตัวเมืองพัทลุง ยังจำราคาได้ แผ่นละ ๒๕๐ บาท คืนไหนฟ้าดีไม่มีเมฆ หัวค่ำๆ พ่อจะชี้ให้ผมดูดาวประกายพฤษ์ ที่ขึ้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มองผ่านยอดไผ่ในหมู่บ้านแล้วดาวพระศุกร์ดวงนี้งามจับใจ ส่วนดาวพุธนั้นต้องดูตอนใกล้รุ่ง ดาวพุธขึ้นสว่างสดใสทางทิศตะวันออก พ่อสอนให้เรียกว่า "ดาวรุ่ง" ดาวรุ่งขึ้นสว่างเช่นนี้มองเห็นดาวพร้อมกับได้ยินเสียง "เพลงสวรรค์บ้านนา" ของก้าน แก้วสุพรรณ เพราะพริ้งอ่อนเย็น "ตื่นเถิดทรามวัยดวงใจของพี่...รุ่งสางสว่างแล้วนี่...ตื่นเถิดคนดีอย่ามัวนิทรา...พี่แบกคันไถ...ไล่ควายไปสู่ท้องนา น้องจงหุงข้าวคอยท่า กลับมาแล้วจะได้กิน...++++เหน็ดเหนื่อยเพียงใดทนไปไม่บ่น เมื่อยล้ากายาเหลือทน พี่จะผจญเพื่อแม่ยุพิน....ตากแดดตากลม เหงื่อโทรมร่างกายไหลริน แล้วพลันมลายหายสิ้น เห็นหน้ายุพินพี่สุขทุกยาม..." ในตอนเช้าๆมองดาวรุ่งไป ฟังเพลงไป สูดลมหายใจลึกๆ ก็จะได้กลิ่นหอมของท้องทุ่ง ทุ่งนาแห่งบ้านเชิงแส "หอมกลิ่นทุ่ง" หรือ"หอมกลิ่นทุ่งนา" ไม่ได้เป็นแค่เพียงความรู้สึก แต่เป็นความรับรู้ เนื่องเพราะทุ่งนายามเช้าๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าไถ หน้าข้าวตั้งท้อง หน้าเกี่ยวหรือหน้าเก็บข้าว ท้องทุ่งจะมีความหอมของตัวเองให้สัมผัสได้ เพียงแต่แตกต่างกันไปตามฤดูกาล กล่าวคือ หน้าไถนั้นทุ่งนามีกล่ินหอมของดินสดฉ่ำฝน ที่พลิกขึ้นมาจากผาน ส่วนยามหน้าข้าวตั้งท้อง ก็จะหอมกลิ่นดอกข้าว ผสมกับกลิ่นน้ำสะอาดใสราวกระจกที่หล่อเลี้ยงกอข้าวและพืชน้ำ จำพวก ผักลิ้น ขี้ไต้ สันตะวา สาหร่าย และตะใคร่น้ำที่เกาะอยู่บนผิวดินใต้น้ำ จึงเป็นความหอมสดเย็นชื่น ครั้นเมื่อถึงหน้าเกี่ยว เก็บรวงข้าวรวบมัดเป็นเรียงก่อนที่จะนำมาดับเป็นลอม ทุ่งเชิงแสก็จะหอมกลิ่นข้าวสุก เหลืองอร่ามเป็นทุ่งแพรสีทองสุดตางามอยู่ใต้ดงของต้นตาลสีเขียวบนคันนาทั่วท้องทุ่ง จึงกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะเป็นทุ่งนาหน้าใด ย่อมมีกลิ่นหอมอยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงทุ่งนี้ไว้ก็คือไอน้ำจืดจากทะเลสาบสงขลา ทุกเช้าจึงเห็นน้ำค้างเกาะพราวเต็มทุ่ง และน้ำค้างที่เกาะเป็นแผงติดกันตามยอดของกอหญ้า กลมบางๆ ขนาดประมาณหนึ่งฝ่ามือนั้น เรียกกันว่า "ผีตากผ้าอ้อม" เด็กๆชอบเดินเหยียบเพราะนุ่มเท้าดี

     จากนอกชานลงบันไดไปที่พื้นดินหน้าบ้าน บริเวณนี้เป็นแปลงผักกาดซึ่งล้อมด้วยรั้วทางตาลขัดแน่น แข็งแรงและสวยงาม แม่ปลูกผักกาดเขียวไว้กินในครอบครัวและขายในส่วนที่เหลือ ครั้งหนึ่งมีผักกาดเหลือมาก แม่ให้ผมนำไปขายที่ตลาดอำเภอระโนด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเด็กอย่างผม แต่ผมก็ทำได้ แม่นำผักกาดลงเข่งใบใหญ่ได้หลายใบ แล้วนำผมไปลง"เรือพก"ซึ่งเป็นเรือรับจ้างที่ท่าคลองคด ท่าเรือที่นี้เป็นท่าเรือสุดท้ายของหมู่บ้าน ก่อนที่คลองเชิงแสจะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา หากนับจากลำคลองที่เรียกว่า "สำคอแดง" เวิ้งน้ำใหญ่มาจนถึงที่นี่มีคลองอยู่ ๒ คด จึงเรียกกันว่า "คลองคด" น้าวาดถ่อเรือพกรับคนโดยสารมาจากท่าเรือที่ "คลองควายอ่าง"เรื่อยตามลำคลองมารับคนที่ท่าเรือกลางหมู่บ้าน จากนั้นก็ถ่อต่อไปถึงสำคอแดง แล้วเลี้ยวขวาผ่านป่าละเมาะสองข้างริมคลองถึงท่าคลองคด รับคนโดยสารแล้วน้าวาดถ่อเรือต่อไปตามลำคลองผ่านทุ่งนาเลและในปรัง จนถึงศาลาที่ปากบางเชิงแสที่เรียกว่า "หลาปากบาง" เพื่อรอเรือยนต์ลำใหญ่ชื่อ"ศรียนต์"ของแปะเซ่งที่มาจากพัทลุง เรือของแปะลำนี้เป็นเรือยนต์สีแดง แปะถือท้ายเอง มีโกจีนลูกชายคนที่สี่คุมเครื่องยนต์ ในตอนเช้าจะออกท่าเรือระโนด แล่นล่องเลียบชายฝั่งทะเลสาบสงขลามาทางทิศใต้ แวะรับผู้โดยสารและสินค้า ที่ปากบางเฉียงพง ปากบางมหาการ ปากบางตำบลโรง ปากบางบ้านกาหรำ ปากบางบ้านโคกพระ จนกระทั่งถึงปากบางเชิงแส จากนั้นเรือศรียนต์จะเดินจักรไปทางทิศตะวันตกฝ่าท้องทะเลสาบสงขลาช่วงที่กว้างที่สุด ตรงไปยังจังหวัดพัทลุง เมืองแห่งเขาอกทะลุ ประมาณสามชั่วโมงจึงเข้าคลองลำปำอันเป็นเวลาเที่ยงพอดี ช่วงบ่ายเรือศรียนต์ของพี่ชายแม่ จะบรรทุกผู้โดยสารและสินค้าจากพัทลุงกลับมา สินค้าที่บรรทุกมานั้น เป็นสินค้าสำคัญทั้งสิ้น เป็นต้นว่าปูนซีเมนต์ ไม้ เหล็ก หม้ออะลูมิเนียม จานกระเบื้อง นอกจากนั้นก็เป็นสิ้นค้าสำหรับบริโภคที่ผลิตจากโรงงาน เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด หมี่ขาว วุ้นเส้นที่แม่เรียกว่าตังหน และขนมโรงชนิดต่างๆ จำพวกถั่วตัด ขนมหัวจุก ขนมปังกรอบ และลูกอม กับมีสินค้าอีกประเภทหนึ่งคือผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ทุเรียน ขนุน เงาะ มังคุด ซึ่งที่บ้านเชิงแสและฟากแถบระโนดปลูกไม่ได้ ท้ายที่สุดมีผักสำคัญใช้ประกอบอาหารของชาวเชิงแสที่จะต้องนำใส่เรือข้ามทะเลมาจากพัทลุงนั่นก็คือ หน่อไม้ดอง และ มะนาว ชาวเชิงแสจึงมีคำทายเกี่ยวกับมะนาว ว่า "ไอ้ไหรเหอ มาจากเมืองลุง มีขนเต็มพุง ให้พ่อลุงบีบ (เอาน้ำ)"
(ท่าคลองคดที่เคยเป็นท่าเรือพกสำคัญของหมู่บ้าน ปัจจุบันนี้ วันที่ ๗ เม.ย. ๒๕๕๖ แม้คลองจะยังคงสภาพคดเป็นคลองโค้งอยู่ก็ตาม แต่ความเป็นท่าเรือหมดไปแล้ว ศาลาริมคลองคดก็หมดสิ้นแล้ว วันที่ผมบันทึกภาพคงมีเพียงเพื่อนเก่าของผมเดินผ่านมา จึงเก็บภาพมาฝากในฐานท่ี่คุ้นเคย)

     เมื่อเห็นเรือศรียนต์มาแล้ว น้าวาดถ่อเรือนำผมและชาวบ้านจากปากบางผ่าน"เกาะเล" ต้นลำภูที่มีขวากเต็มโคนต้น และผ่านไม้น้ำหลากหลายพรรณที่ริมทะเล สู่เว้ิงทะเลสาบสงขลา น้าถ่อเรือไปตามร่องน้ำระหว่างผืนสาหร่ายและกอบัวแดงไปยังเรือศรียนต์ที่จอดรออยู่ ผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่รู้จักกันทั้งนั้น ก็ทักทายกันโหวกเหวก น้าวาดเทียบเรือพกเข้ากับกราบเรือใหญ่ ผู้ใหญ่ช่วยกันจับเรือไว้ ถ่ายของขึ้นลงเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาพักใหญ่ๆที่เดียว การเทียบถ่ายผู้คนและสิ่งของระหว่างเรือใหญ่และเรือพกในท้องน้ำทะเลสาบยามบ่ายแก่ๆ โดยมีเขาอกทะลุและทิวเทือกเขาบรรทัดเป็นฉากหลังอยู่ไกลๆ และมีเรือมาดของชาวบ้านหาปลาแซมแต้มเป็นทิวทัศน์ประกอบ เช่นนี้ เป็นภาพที่งามแห่งวิถีชีวิตของชุมชนและผู้คนฟากริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งในปัจจุบันไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

     โกจีนมารับผมที่เรือพกแล้วจัดแจงยกเข่งผักกาดไปไว้ที่ท้ายเรือบริเวณที่ไว้สินค้า แล้วฝากขนมกับน้าวาดไปให้ยายเช่นที่เคยทำอยู่เสมอ ผมขึ้นเรือศรียนต์แล้วก็วิ่งไปหาแปะทันทีที่หัวเรือ คอยฟังแปะดึงกระดิ่งเป็นสัญญาณให้โกจีนค่อยๆเร่งเครื่องยนต์ เดินจักรสู่ปากบางโคกพระ และปากบางต่อๆไป มองไปทางทิศใต้ก็จะเห็นเกาะใหญ่เหนือน้ำอยู่เบื้องหลัง

     ใกล้ค่ำยามมุ้งมิ้ง เรือศรียนต์ก็เลี้ยวที่ปากบางและเข้าสู่คลองระโนด ผ่านวัดระโนด วัดจาก(ซึ่งในแผนที่สมัยอยุธยาเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดจากที่เก้าระวาง") ที่ทำการการไฟฟ้า ตลาดตก แสงไฟนีออนที่เสาไฟฟ้าซึ่งปักไว้เป็นระยะอยู่ในน้ำตามชายคลองเริ่มให้แสงสว่างทอเงาลงทาบคลื่นเมื่อเรือผ่าน บอกความเป็นเมือง บอกให้รู้ว่านี่คืออำเภอ อันต่างจากชุมชนอย่างบ้านเชิงแส บ้านของเรา เรือของแปะจอดเทียบที่สะพานหน้าที่ว่าการอำเภอ ซึ่งขณะนั้นสะพานกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โกจีนยกเข่งผักกาดทั้งหมดไว้ที่บนไม้พื้นของนั่งร้านเหนือน้ำของสะพานนี้ โดยมีพี่มะลิมาคอยช่วย คืนนี้ผมจะนอนที่บ้านพี่มะลิ รอเมื่อถึงเวลาตีห้าย่ำรุ่งพี่มะลิและผมจะนำผักกาดไปขายส่งให้แม่ค้าผักที่ตลาดระโนด........เงินค่าผักกาดจึงเป็นสินในดินจากหน้าบ้านของบ้านแม่

     ริมแนวรั้วที่หน้าบ้าน แม่ปลูกผักพื้นบ้านไว้หลายอย่าง เช่น เอาะดิบ พาโหม ตะไคร้ และสะตอเบา ผักพื้นบ้านเหล่านี้เป็นทั้งผักแกงและผักเครื่องเคียงที่เรียกกันว่า "ผัักเหนาะ" อยู่ในตัว ทุกวันนี้มักจะเห็นการนำเอาะดิบมาแกงส้มแกงเหลือง แต่สำหรับแม่และแม่ครัวชาวเชิงแสที่เป็นคนเก่าคนแก่ นำทางเอาะดิบและใบอ่อนประมาณเพหลาดมาแกงคั่วกะทิกับกุ้งแตะย่าง ซึ่งเป็นแกงที่อร่อยเป็นอย่างมาก แม่ทำให้กินบ่อยๆ โดยแม่จะทำแกงคั่วเอาะดิบเป็น ๒ หม้อแกง อันที่จริงแม่แกงคราวเดียวสองครั้ง คือว่า ครั้งแรกแกงไม่เผ็ดมากเสร็จแล้วตักขึ้นใส่หม้อเคลือบ เหลือไว้อีกส่วนหนึ่งสำหรับพ่อ แม่เติมพริกเครื่องแกงเพิ่มความเผ็ดลงไป ตั้งไฟต่ออีกครู่หนึ่งพอให้เครื่องแกงสุกผสมกันดี แล้วจึงราไฟ.........วิธีแกงคั่วเอาะดิบกุ้งย่าง เป็นเรื่องที่ผมสนใจและช่วยแม่ทำมาหลายครั้งมาก จึงยังจำได้จนทุกวันนี้....ก่อนแกงคั่วหนึ่งวันแม่จะซื้อกุ้งแตะที่บ้านน้าหลวงชิ้นซึ่งตั้งอยู่ที่ริมคลองกลางบ้าน มาเสียบย่างเตรียมไว้ กุ้งแตะนั้นต้องใช้ขนาดที่ตัวใหญ่สักหน่อย ขนาดสี่ห้าตัวราคา ๑ บาท ที่ต้องซื้อกุ้งใหญ่ก็เพราะต้องนำมาเสียบย่างด้วยถ่านไฟอ่อน ให้ตัวกุ้งแห้งและเล็กลงกว่าเดิม แม่เสียบกุ้งไม้ละ ๕ ตัว ประมาณห้าหกไม้ ย่างไปจนเปลือกกุ้งเป็นสีชมพูไปทั่วตัว แล้วย่างต่อไปจนกุ้งเป็นสีน้ำตาลอ่อน ได้ที่แล้วนำมาพักให้เย็น ตัดหัวตัดกรีทิ้งแล้วเก็บไว้ โดยที่ต้องไม่ลืมแบ่งให้ผมตัวหนึ่ง เป็นรางวัลที่อุตส่าห์นั่งคอยอยู่นานแล้ว.......ถึงวันที่จะแกงผมมีหน้าที่ไปถอนตะไคร้มา ขณะที่ถอนตะไคร้ก็ต้องรู้วิธีถอนไม่ให้ใบบาดมือ คือถอนต้นริมด้านนอกกอก่อน โดยจับที่โคนต้นให้แน่น ดึงลงให้เอียงมาที่พื้นดินเพื่อให้รากที่ยึดแน่นกับกอคลาย ดึงกระตุกไม่แรงนักก่อนสักสองสามครั้ง พอรากคลายมากกว่าเดิมแล้วก็ดึงแรงขึ้น ต้นตะไคร้ก็จะหลุดออกมา ตะไคร้มีวิธีถอนอย่างนี้ การที่ดึงให้ต้นเอียงเสียก่อนเช่นนี้นั้น พอเราถอนออกมา ใบตะไคร้จะไม่ตีหน้า ไม่บาดหน้า ส่วนที่ต้องกระตุกเสียก่อนนั้น ก็เพราะว่าหากดึงแรงๆ ถ้าต้นแน่นเกินแรงเด็กมือจะรูดมาถึงใบ ใบบาดมือเอาได้ หากว่าต้นไม่แน่น ดึงแรงๆ ตะไคร้หลุดติดมือมา พร้อมๆกับเราก้นจ้ำเบ้า หรือที่ภาษาใต้เรียกว่า "แยะขี้นั่ง" จึงต้องระวังหลายอย่างเหมือนกัน วิชาอย่างนี้เด็กบ้านนอกต้องเรียนรู้ด้วยชีวิตที่เหมาะตามวัยเด็ก ค่อยๆเรียนรู้ ค่อยๆจำ เพราะเป็นเรื่องของความรอบคอบ ความไม่ประมาท ครั้นโตขึ้นมีงานมีการทำ ก็ต้องปรับใช้กับสิ่งแวดล้อมและผู้คน ซึ่งจะต้องพานพบทั้งคนดีและคนชั่ว เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะพบคนประเภทไหนมากกว่า และจะรับมือหรือแก้ปัญหาอย่างไร

     ได้ตะไคร้มาประมาณ ๓ ต้น ตามจำนวนที่แม่บอกแล้ว บิดปลายและใบกับรากทิ้ง ล้างให้สะอาด จากนั้นก็นำมาหั่นบนเขียงเล็กที่พาดอยู่บนครกหิน ได้เกือบฟายมือ แม่ก็จะบอกว่าพอแล้ว และเด็ดพริกชี้ฟ้าแดงสดห้าเม็ดกับพริกที่ยังเขียวอีกสี่เม็ดใส่ตามไป ใส่เกลือเม็ดช้อนหนึ่ง ขมิ้น ๒ ข้อนิ้ว กระเทียม ๑๐ กลีบ หอมแดง ๒ หัว พริกไทย ๑๐ เม็ด แล้วช่วยแม่ตำเครื่องแกง ค่อยๆตำเบาๆก่อน ระวังอย่าให้กระเด็นจากครก โดยเฉพาะอย่าให้เครื่องแกงกระเด็นเข้าตา ตำจนแม่บอกว่าพอ ทั้งๆที่แม่บอกว่า"เครื่องเนียนแล้ว" แต่แม่ก็จะตำเครื่องต่อทุกครั้ง แล้วใส่กะปิกุ้งตำต่ออีกจนเข้ากันดี แม่สอนผมว่าเกลือนั้นเป็นตัวช่วยให้เครื่องแกงเนียนละเอียด สำหรับพริกที่จะใช้ทำเครื่องแกงคั่วเผ็ดปลาน้ำจืด อย่างปลาดุกนา หรือแกงคั่วลูกชิ้นปลาสลาดที่ชาวใต้เรียกชื่อสั้นๆว่าปลาหลาด หรือแกงคั่วกุ้งเตะย่าง ควรใช้พริกชี้ฟ้าที่สุกแดงผสมกับพริกชี้ฟ้าเขียว เพื่อให้น้ำแกงสีออกมาสวย โดยแกงคั่วปลาดุกนานั้นต้องใช้ปลาดุกพันธุ์ดุกอุยไม่ใช่ดุกด้าง และต้องใส่ข่าอ่อน ข่าที่ใช้นั้นนำมาจากกอข่าที่สวนนอกบ้าน เพราะพ่อไม่กินแกงข่าที่ใช้ข่าในหมู่บ้าน พ่อบอกว่าในหมู่บ้านน้ำสะอาดสู้ที่สวนนอกบ้านไม่ได้ ส่วนแกงคั่วไก่บ้านกับหยวกกล้วยน้ำ หรือแกงคั่วนกชันกับหัวตาลต้องใช้พริกแดงที่ตากแห้ง น้ำแกงจะเป็นสีสวยน่ากิน.......ระหว่างที่ผมช่วยแม่ตำเครื่องแกงอยู่นั้น แม่ปอกมะพร้าว ผ่าโดยรองน้ำมะพร้าวใส่ขันไว้ให้ผม แล้วแม่ขูดมะพร้าวด้วย "เหล็กขูด" การขูดมะพร้าวนั้นสำหรับเด็กแล้วจ็บมือเอาการอยู่ ผมช่วยแม่ไม่บ่อยนัก เว้นแต่ขอแม่กินเนื้อมะพร้าวขูด ก็ขูดกินเอง แม่สอนว่าการขูดมะพร้าวต้องขูดจากขอบๆเข้าไปข้างในที่เป็นก้นกะลา หากขูดจากข้างในก่อนมะพร้าวจะกะเทาะเสียหายได้ ขูดมะพร้าวเสร็จแล้ว แม่ลอกเอาะดิบ หั่นเป็นชิ้นๆ และฝานใบเอาะดิบเหมือนฝานใบยอห่อหมกล้างน้ำสะอาดเตรียมไว้ แล้วคั้นกะทินำส่วนที่เป็นหัวกะทิตั้งไฟ คั้นน้ำกะทิเตรียมไว้ใส่เติม หัวกะทิแตกหอมแล้วจึงใส่เครื่องแกงให้สุกหอม ใส่กุ้งเตะย่าง เติมน้ำกะทิ เดือดแล้วใส่เอาะดิบลงไปทั้งหมด เติมไม้ฟืนให้ไฟแรง แกงเดือดสุกก็ราไฟแล้วยกกะทะลงจากเตาใหญ่ พักไว้ที่เตาเล็ก แม่ดับถ่านไฟ แล้วตักแกงคั่วร้อนหอมใส่ปิ่นโตสำหรับถวายพระก่อน จากนั้นตักใส่ถ้วยสำหรับยาย ที่เหลือทั้งหมดก็ใส่หม้อเคลือบ......แม่อาบน้ำแต่งตัวแล้วยกปิ่นโตทั้งเถาขึ้น "ทูนหัว" วันนี้แม่จะ"ยกชั้น"ไปถวายพระที่วัดหัวนอน วัดเชิงแสใต้ วัดพ่อท่านเมฆ ติสโร หรือพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์พระอุปปัชชาญ์ของพ่อและของชายชาวบ้านเชิงแสและชุมชนจำนวนมากแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออก พระท่านเมฆได้เป็นพระครูเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ ผมเคยเห็นตราตั้งของท่าน และเข้าใจว่าขณะนี้ตราตั้งนั้นก็ยังมีอยู่ พ่อท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดเชิงแส เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๑ โรงเรียนนี้จึงได้ชื่อว่าโรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์)แม่ของผมเกิดหลังการก่อตั้งโรงเรียนแล้ว ๑๐ ปี แม่เรียนจบประถมสี่ที่โรงเรียนนี้ ส่วนพ่อไม่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียนเพราะเกิดเมื่อปี มะโรง ๒๔๕๙ ก่อนมีโรงเรียน พ่อจึงบวชเรียนทางพระ เรื่องราวของพ่อท่านเมฆพ่อรับรู้จากคำบอกเล่าของพ่อเป็นส่วนใหญ่ แต่เหตุการณ์มรณภาพของพ่อท่านแม่เป็นผู้ที่เล่าผม แม่เล่าว่า พ่อท่านอาพาธ ไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวเมืองสงขลา ครั้นมรณภาพแล้ว ชาวเชิงแสนำศพพ่อท่านมาทางเรือ เมื่อเรือมาถึงท่าคลองคดชาวบ้านต่างร้องไห้อาลัยพลางกล่าวว่า "ต้นโพธิ์ใหญ่ของบ้านเชิงแสล้มเสียแล้ว"

(ภาพโรงเรียนวัดเชิงแส (เมฆประดิษฐ์) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พ่อท่านเมฆตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ โดยตั้งขึ้นในที่ดินของวัดเชิงแสใต้ที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส โรงเรียนแห่งนี้ก่อให้เกิดคุณูปการด้านการศึกษาแก่อนุชนบ้านเชิงแสตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันเปรียบประดุจต้นโพธิ์ใหญ่ด้านวิชาการที่ให้ร่มเงาและที่พักพิงตลอดมา)



(ภาพงานทอดผ้าป่าสมทบทุนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดเชิงแส อาคารที่ ๓ ซึ่งเป็นการอนุวรรตด้านการศึกษาต่อจากรากฐานเดิมที่พ่อท่านเมฆได้วางเป็นแนวทางไว้)
แม่ศรัทธาวัดเชิงแสใต้หรือวัดหัวนอนมากทีเดียว ดังปรากฏจากคำเทศนาธรรมของพ่อท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ที่ได้เทศนาไว้ในงานศพของแม่ ท่ีว่า "น้าอบมีความศรัทธาสูง อันที่จริงคืนนี้ฉันมีกิจนิมนต์ที่อื่น แต่ของด ต้องมาเทศนาที่นี่ เพื่อจะได้กล่าวถึงความดีของน้า คือว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งทางวัดเชิงแสใต้ วัดหัวนอนของเรา ต้องบอกบุญเรี่ยไรเงินเป็นค่าถมที่ น้าอบถวายเงินให้จำนวนหนึ่งแล้ว ต่อมาได้ไปถวายอีก ๗,๐๐๐ บาท น้าบอกฉันว่า เกรงว่าทางวัดจะได้เงินไม่พอค่าที่ดินถมที่ ฉันยังนึกถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ" ...ต้องยอมรับว่าลูกๆของแม่ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อนเลย เมื่อได้รู้ได้ทราบแล้วก็ให้เกิดความภูมิใจในตัวแม่มาก เงินเจ็ดพันในยุคนั้นคงจะมากโขอยู่หากเทียบกับว่าเมื่อผมเริ่มรับราชการได้รับเงินเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรี เพียง ๒,๗๖๐ บาท

     สุดท้ายที่เกี่ยวกับตัวเรือนบ้านของแม่ นั่นคือ ใต้ถุนบ้าน ใต้ถุนบ้านแม่นอกจากจะเป็นที่รวมกิจกรรมทุกอย่างของชาวนาไว้แล้ว ยังเป็นที่พบปะพูดคุยของเพื่อนบ้าน เป็นที่เล่นของผมและเพื่อนๆ เล่นกันอย่างสนุกสนานตามประสาเด็กชายชาวนาบ้านนอก บางวันช่วงบ่ายๆ หลังหน้านาเก็บข้าวแล้ว หากพวกเราเด็กๆเล่นกันเสียงดังมากเข้าก็ถูกผู้ใหญ่ที่นอนเคลิ้มๆกันอยู่บนแคร่ ตะโกนดุให้เบาๆเสียงลงบ้าง เพราะพวกผู้ใหญ่เขาจะนอนกลางวันกัน และบางคราวเด็กอย่างพวกเราเล่นกันแล้วขัดใจทะเลาะกัน หากถึงกับชกต่อยกัน ก็ชกกันที่ใต้ถุนบ้านนี้แหละ หากไม่ถึงกับชกกันเพียงแต่ด่าบรรพบุรุษกัน ก็ด่ากันใต้ถุนบ้าน ผู้ใหญ่ได้ยินเข้า ก็จะเรียกไปอบรมว่า ท่ีด่าบรรพบุรุษกันนั้นมิได้ด่าใครที่ไหนหรอก ด่าต้นตระกูลตัวเองกันทั้งนั้น เพราะนับญาติกันได้ อย่างที่ชาวเชิงแสมักจะพูดเปรียบเทียบว่า "สาวย่านหวย" หมายความว่าหากเป็นเถาวัลย์แล้วดึงย่านก็ยังสั่นไหวไปถึงปลายย่านอยู่เพราะเทือกเถาเหล่ากอเดียวกัน

     ใต้ถุนเรือนใหญ่ด้านทิศตะวันออก ยกเป็นแคร่ไม้กระดานสำหรับกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนถึงนั่งเล่น นอนเล่น ถัดมาทางด้านเหนือแคร่ไม้เป็นที่วางกระสอบป่านใส่บรรจุข้าวเปลือกที่แม่รับซื้อมา บริเวณนี้จึงมีเครื่องชั่งขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "ชั่งพุ้น" วางอยู่ ไว้ชั่งข้าวเปลือก กระสอบป่านที่ผมกล่าวถึงนั้นเรียกว่า "สอบปู้เท้" บรรจุข้าวได้ประมาณ ๗๐ ถึง ๘๐ กิโล แล้วแต่เป็นข้าวเบาหรือข้าวหนัก ถัดเข้าไปใต้ถุนบริเวณห้องกลางบ้านเป็นที่ผูกวัวไว้วัวตอนกลางคืน ใต้ถุนถัดเข้าไปอีกเป็นร้านแม่ไก่ ใต้ถุนตรงบริเวณนี้มีเสามากเพราะเป็นที่รับลอมข้าวมีลอมข้าวอยู่ข้างบน อีกทั้งยังมีเสาอยู่ต้นหนึ่งที่สำคัญของบ้านเรียกว่า "เสาภูมิ"

     กิจกรรมของคนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นชาวนาอย่างแม่ที่ใต้ถุนบ้านนี้ เป็นไปตามฤดูกาลและตามเทศกาล...............ถึงหน้านาแม่นั่งเคล้าข้าวปลูกที่ใต้ถุนบ้าน การเคล้าข้าวปลูกนั้นเรียกว่าเป็นภาษาใต้ว่า "เคล้าโปลก" คือนำเมล็ดพันธ์ุข้าวที่คัดไว้มาคลุกเคล้ากับปุ๋ยขี้ค้างคาวผสมขี้เถ้าและน้ำแต่พอหนืดให้ปุ๋ยเกาะเมล็ดข้าวได้ ก่อนที่จะนำไปหว่าน.............ครั้นถึงเทศกาลเดือนแปดเข้าพรรษาใต้ถุนบ้านก็เป็นที่คั่วข้าวตอกถวายพระ เดือนสิบใต้ถุนบ้านเป็นที่รวมญาติรวมเพื่อนบ้านช่วยกันทอดทำขนมลา ขนมเบซำ สำหรับทำบุญเดือนสิบอุทิศให้บรรพบุรุษ ต่อจากนั้นไม่นานก็ออกพรรษาทำขนมข้าวต้มที่ห่อด้วยใบพ้อ ขนมปัดห่อด้วยยอดใบลาน จนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าพระบวชใหม่"เข้าพร้อมตอก ออกพร้อมต้ม" คือเข้าพรรษาพร้อมกับการทำข้าวตอก ออกพรรษาพร้อมการทำต้ม วันเวลาผ่านไปถึงหน้าน้ำเดือนอ้าย เดือนยี่ หากปีใดน้ำไม่ท่วมใต้ถุนบ้านแม่ก็จะตั้งเตาใหญ่นึ่งขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมห่อ สำหรับตรุษจีนที่ใต้ถุนบ้านนี้แหละ ขนมเทียนของแม่และของชาวเชิงแสเป็นขนมที่ไม่มีใส้ แต่ขนมห่อนั้นมีใส้เป็นใส้หวาน ส่วนขนมเข่งชาวเชิงแสเรียกว่า "ขนมชะ" เพราะว่าก่อนที่จะนึ่งต้องนำใบตองใส่เข่งเล็กๆก่อนแล้วจึงกรอกแป้งขนม เข่งนั้นคนเชิงแสเรียกว่า "ชะ" ..............ชะเป็นภาชนะสานสำหรับหาบข้าว สานด้วยตอกไม้ไผ่ ใหญ่และแข็งแรงมาก ใส่เรียงข้าวเต็มทั้งสองข้างแล้ว ต้องแข็งแรงจริงๆจึงจะหาบไหว ผมเคยเห็นลูกวัวที่เป็นลูกแหย้ตัวซนๆวิ่งเข้าไปในชะ ชะก็ไม่พัง หากครั้งคราวใดเด็กเลี้ยงวัวอย่างผม ปล่อยให้ลูกแหย้ซนวิ่งเข้าชะ ก็เป็นอันว่าวันนั้นจะต้องถูกพ่ออบรมแน่........ชาวเชิงแสส่วนใหญ่ปลูกบ้านใต้ถุนสูง เพราะหมู่บ้านอยู่ใกล้ทะเลสาบ น้ำท่วมแทบทุกปี แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีบ้านใดตำน้ำพริกแล้วมะนาวหล่นลงพื้นใต้ถุนให้ต้องย่ืนมือลงไปหยิบ เหมือนบ้านหลังหนึ่งแถวพระโขนงที่กรุงเทพฯ.............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++................................