วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

บทที่ ๕ Massey Ferguson ความผันแปรรอยไถในท้องทุ่ง


บทที่ ๕ Massey Ferguson ความผันแปรรอยไถในท้องทุ่ง


      จากเรื่องราวเรื่องแรกของ "เชิงแสบ้านแม่ บ้านทุ่งริมเล" จนถึงเรื่องที่ ๒๑ "อินทผาลัม ที่ขนำปลายนา" ผมขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านข้องานเขียนของผม ขอบคุณทุกท่านนะครับ...อยากจะขอบคุณให้ยาวกว่านี้ แต่เสียงรถจักรแทร็กเตอร์ดังขึ้นแล้ว ต้องรีบวิ่งกันไปดูแล้วล่ะ...

       เสียงเครื่องยนต์ของรถจักรไถนาคันสีแดง ยี่ห้อ Massey Ferguson ราคา ๒๖,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นรถไถนาคันแรกสุดของบ้านเชิงแส ดังกระหึ่มทุ่ง รถไถนาคันนี้เป็นของน้ากิมจั่น ประพันธ์ ธีระกุล แม้ "รถจักร" คันแรกของหมู่บ้านจะเป็นรถที่มีกำลังเครื่องยนต์ไม่มากนัก แต่ก็ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีการทำนาของชาวเชิงแสอยู่ไม่น้อย หากจะเปรียบเทียบแล้วคงคล้ายกับคราวที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายนวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงสั่งนำเข้ารถแทรกเตอร์เข้ามาใช้ในที่นาทุ่งรังสิตเมื่อปี ๒๔๔๙ ประมาณนั้น ทั้งนี้เพราะการเข้ามาของ "Ferguson" รถจักรคันแรกทำให้ต่อมาไม่นานนักมีชาวเชิงแสอีกสามสี่รายได้สั่งซื้อรถจักรแทรกเตอร์จากบริษัทที่อำเภอหาดใหญ่มาไถนาในแปลงนาของตนเอง และรับจ้างไถนาให้แก่เจ้าของนารายอื่นด้วย
 
      และหนึ่งในจำนวนผู้ที่สั่งซื้อรถแทรกเตอร์มาไถนา ก็คือ พ่อ โดยพ่อร่วมหุ้นกับคุณอา รถที่พ่อซื้อมาเป็นรถแทรกเตอร์ยี่ห้อ "FORD" สีน้ำเงินมีแถบขาวคาด ผมยังจำได้ดี ขณะนั้นผมอายุได้ ๕ ขวบ จำได้ด้วยว่าผมยืนอยู่ข้างรถไถ น้าหลวงคนขับยกตัวผมขึ้นไปนั่งบนรถคันนี้ การที่รถแทรกเตอร์เข้ามาสู่ทุ่งเชิงแสดังกล่าวนั้น หากจะเปรียบไปแล้ว (...ผมจะกล่าวเฉพาะรายของพ่อ รายของพ่อคนอื่นแม้จะสนิทกันมากเพียงใด ผมก็ไม่เกี่ยวนะครับ คือพ่อของใครคนนั้นต้องเขียนเอาเอง) ก็นับว่า...เป็นเรื่องที่ฝรั่งเรียกว่า "Skelton bone in the cabinet หรือโครงกระดูกในตู้...ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ "ลมหัวด้วน" หน้าร้อนที่พัดผ่านท้องทุ่ง เนื่องจากได้ทิ้งรอยร่องแห่งความเสียหายไว้แก่ครอบครัวอยู่ไม่น้อย โดยรถแทรกเตอร์ไถนาของพ่อคันนี้เดินจักรไถนาได้ไม่กี่ปีก็ต้องมาจอดเสียอยู่ที่หน้าศาลแพ่ง กรุงเทพฯ ในคดีแพ่งหมายเลขคดีแดงที่ ๑๐๐๐๐เศษ/๒๕๑๘ ต่อมาหลังจากนั้นสิบปีเศษเมื่อผมเป็นนักเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ผมไปขอคัดสำเนาคำพิพากษาที่ศาลแพ่ง สนามหลวง ผมถูกเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง เรียกเงินตั้ง ๑๐๐ บาท โดยไม่มีใบเสร็จ แต่โลกนี้กลมและหมุนเร็วจริงๆ ครั้นเมื่อถึงพ.ศ.๒๕๓๕ ผมสอบผู้พิพากษาได้แล้ว ผมฝึกงานที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ยังพบกับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ...ตั้งใจว่าจะย้อนความหลังกันเสียหน่อย ก็ยังไม่ทันได้ย้อนความหลังกัน...ต่อเรื่องรถไถนาดีกว่า...รถแทรกเตอร์ของชาวบ้านเชิงแสคันอื่นหลายคันก็เช่นเดียวกัน มาจอดเสียอยู่ที่หน้าศาลแพ่งเหมือนๆกัน...เหตุผลสำคัญก็คือ เศรษฐกิจของผู้คนชาวบ้านเชิงแสมีพื้นฐานจากการทำนา นาที่เหมาะกับการใช้แรงงานวัว พวกไอ้แดงหน้าโพธิ์ ไอ้ลาย ไอ้ลางสาด ไอ้ดำ อีแดงเขากุด เพื่อนร่วมชีวิตที่มีหญ้าเป็นอาหาร ไม่ใช่รถแทรกเตอร์ที่มีน้ำมันและดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อเป็นอาหาร เมื่อทุกคนต่างมีที่นาไม่กี่สิบไร่ ใช้รถแทรกเตอร์ทุกคันไถนา ที่นามีไม่พอจะให้ไถดะไถแปรได้...เจ้าของรถต่างแข่งขันกันลดราคาค่ารับจ้างไถ เงินค่าเช่าซื้อจึงได้น้อย ไม่พอส่งค่างวด เกิดเป็นหนี้สินขึ้นทบทุกเดือน ยิ่งเมื่อเสร็จหน้านา หมดหน้าไถ รายได้มีไม่พอส่งบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ บางรายต้องคืนรถ บางรายพยายามนำรถข้ามทุ่งไปรับจ้างไถที่ทุ่งระโนด ซึ่งที่นั่นก็มีรถแทรกเตอร์อยู่เช่นเดียวกัน มิหนำซ้ำมีชาวเชิงแสบางคนได้พบอาชีพใหม่ คืออาชีพ "พารถจักร" คือนำรถแทรกเตอร์จากตำบลอื่น อำเภอที่อื่น มารับจ้างไถนาที่ทุ่งนาบ้านเชิงแส เมื่อปัญหาเรื่องรถแทรกเตอร์สร้างรายได้ต่อเดือนไม่พอค่างวด ไม่กี่ปีรถจักรไถนาแห่งทุ่งเชิงแสก็เริ่มหมดไปเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นเสียงรถจักรหลายคันที่ครางกระหึ่มกลบเสียง "แจง ๆ"..."เข้า ๆ"..."พาย ๆ"..."ลง ๆ" ก็ค่อยๆ เบาเสียงลง

(รถแทร็กเตอร์ ยี่ห้อ Massey Ferguson)

     บัดนี้เสียงหายใจหนักๆของวัวถึกเมื่อยามลากคันไถ ผสมผสานกับเสียง...แจงๆ..เข้าๆ..พายๆ ของชายหญิงแห่งบ้านเชิงแสที่กุม "หางยาม" แน่นกดผาลไถก่อผืนนาให้เป็นคลองไถ ได้หวนคืนกลับมายังทุ่งเชิงแสอีกคราวหนึ่งแล้ว...ภาพของการ "ไถนาวาน" กลับมาอีกครั้งเมื่อพ.ศ.๒๕๑๘ วัวคู่งามที่เข้าแอกเทียมหางยาม ลากหัวหมูและผาลไถเมื่อเริ่มย่างเข้าเดือน ๙ ต่อเดือน ๑๐ หลังวันชิงเปรตหนหลังผ่านพ้นไม่นาน พร้อมฝนนอกที่โปรยปรายลงมา ให้ดินพอนุ่มเท้า ในท้องทุ่งนาเชิงแสปีนี้ งายเช้า มองไปทางไหนก็เห็นแต่หญิงชายชาวเชิงแส จับหางยามคันไถเดินตามหลังวัวคู่ใจ พลิกแปรผืนดินให้เป็นรอยไถไปทั่ว...ขณะที่ในห้องเรียน..พวกเราเด็กนักเรียนชั้นประถมก็ได้ยินครูบางท่านเล่านิทานตลกเกี่ยวกับแทรกเตอร์ว่า ...พวกรุ่นพี่ๆของเธอ เข้าไปเรียนมัธยมที่เมืองสงขลา เขียนจดหมายฝากเรือยนต์มาขอเงินพ่อแม่ว่า แม่เหอ ลูกจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การเรียนราคาแพงมากน้องน้องราคารถไถแทรกเตอร์ แม่ส่งเงินมาให้ลูกโดยเร็ว เพราะลูกต้องซื้อ ..."ไม้โปรแทรกเตอร์" ...พร้อมทั้งตบท้ายด้วยคำยอดนิยมสำหรับเนื้อความจดหมายขอเงินจากพ่อแม่ที่ว่า "หวังว่าพ่อและแม่คงไม่ขัดข้อง..." ...ส่วนแม่นั้น รับจดหมายจากลูกแล้ว ก็ครวญเบาๆผ่านลมทุ่งให้พอได้ยินว่า "...ไอ้บาว อี้สาว ขอเบี้ยมาแล้วเล่า หมันบอกมาว่า กูคงไม่ขัดข้อง กูอี้ขัดข้องทำไหร กูบอกพวกหมันไปว่า กู้ไม่ขัดข้องหรอกลูกเหอ ตอนนี้กูไม่ขัดทั้ง"ข้อง" และไม่ขัดทั้ง"แตรง" เพราะต้องไถนา ฉากหัวนา ไม่มีเวลาทำข้องหาปลา ต้องทำนาสงเบี้ยให้โหมรสูเรียน หวังว่าพวกสูคงจะได้ปริญญาบัตรก่อนปริญญาบุตร นะลูกเหอ.."

     ปริมณฑลแห่งตำบลเชิงแส.........จากที่เคยกล่าวไว้ในบทที่ ๒ ว่า ด้านทิศตะวันตกของบ้านเชิงแสนั้นติดกับทะเลสาบสงขลา มีความยาวจาก "หน้าท่าเตียน" ไปทางทิศเหนือผ่านปากบางเชิงแส ต่อเรื่อยไปยังปากบางโคกพระ ยาวประมาณสองกิโลเมตรเศษ ผมทิ้งค้างไว้ในบทดังกล่าว จึงขอต่อเสียตรงนี้ว่าอาณาเขตของบ้านเชิงแสด้านทิศเหนือก็เป็นแนวจากปากบางโคกพระปละคลองหัวนอนเรื่อยตรงขึ้นไปด้านทิศตะวันออก ผ่านกอไผ่ริมคลองในหมู่บ้าน ตัดสู่ทุ่งนาเรื่อยไปประมาณ ๓ กิโลเมตร ผ่านทุ่งที่เรียกว่า "ปลายหรำ" ตรงไปอีกจนถึงทุ่งนาที่เรียกว่า "หนองคลองช้าง" และ "หนองตรุดห้าง" บริเวณนี้เป็นที่นาของลุงคล้าย ไชยสุวรรณ คุณพ่อของผู้ช่วยศาสตราจารย์จวน ไชยสุวรรณ นักเรียนนอกคนแรกๆของบ้านเชิงแส พี่จวนของผมและของน้องๆ เป็นนักเรียนอเมริกา และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตรงนี้ไกลจากหมู่บ้านมากและต่อเขตแดนกับตำบลวัดสน เมืองพังยางโบราณ หากดูแผนที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ประมาณ "บารนางสีม้า" (อ่านว่า บ้านนางสีมา) จากบริเวณนี้หักไปทางทิศใต้ ไปตามทางที่เรียกว่า "หมอน" คือเขตแดนระหว่างบ้านเชิงแสกับหมู่บ้านเจดีย์งาม และบ้านอื่นๆ ที่อยู่ด้านที่ดินสูงกว่า เรียกกันรวมๆว่า "เนิน" เรียกชาวบ้านว่า "พวกเนิน" และเรียกเขตแดนว่า "หมอนเนิน" หมอนเขตแดนนี้ครอบครองไม่ได้เป็นทางเป็นที่สาธารณะ กว้างประมาณ ๑๐ เมตร จากหนองตรุดห้าง ผ่านมาที่ "หนองบ่อ" ซึ่งเป็นหนองน้ำจืดที่สุด ดื่มได้อร่อยคงจะพอๆกับน้ำจืดใน "แม่น้ำเพชรบุรี" ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ห้ว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริไว้ ยายมีที่นาอยูที่หนองบ่อประมาณ ๕ ไร่ ต่อมาเป็นของแปะช้อย น้าวิสัยและของแม่ตามลำดับมา จากหนองบ่อเขตแดนเชิงแสเรื่อยไปทางทิศใต้ ผ่าน "หนองพานทอง" "หนองนกพลัด" และ"หนองพังกาน" คลองผี แล้วผ่านหมู่บ้านและวัดโบราณชื่อว่า "วัดทเย้า" ปัจจุบันทุกวันนี้เป็นทุ่งนาตั้งอยู่ที่ทิศตะวันออกของเขารัดปูน เรียกว่า "เยา" ใกล้ท้องทุ่งที่กล่าวถึงมานี้ ผมและเพื่อนๆเคยไปตัดหญ้าใส่ "หย้องแหย้ง" หาบมาเลี้ยงวัวเสียหลายต่อหลายครั้ง เพราะหญ้าที่บริเวณนี้และที่ใกล้เคียงสมบูรณ์มาก เขียวชอุ่มเต็มคันนา ใต้ต้นตาลโตนด ทำกันเป็นประจำในวัยเด็ก จึงเขียนให้อ่านได้อย่างลื่นไหล ประหนึ่งว่าเวลาเพิ่งผ่านมาไม่นาน ..คงเริ่มแก่แล้ว.. แต่ต้องยอมรับว่าทุ่งที่ตรงนี้ไกลและเปลี่ยว ต้องไปกันสองสามคน ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วยลำพังพวกเด็กๆไม่ควรนำวัวไปเลี้ยง เพราะจะถูกคนต่างถิ่นปล้นวัวได้ .../และที่บริเวณนี้ชาวโคกพระได้แสดงความกล้าหาญไล่ตามโจรปล้นวัวและเกิดยิงต่อสู้กันตั้งหลายชั่วโมง โจรภายใต้การนำของ "ไอ้..."(ที่จริงผมยังจำชื่อและตำบลที่อยู่ของโจรพวกนี้ได้ แต่มันจะไม่ดีเพียงใดก็ขอไม่เอ่ยชื่อ)หัวหน้าโจรที่มีปืน เอ็ม.๑๖ ถูกยิงตายที่นี่ ๒ คน ผมและชาวเชิงแส โคกพระไปดูศพโจรกัน ยังจำได้ติดตา "ไอ้..."หัวหน้าโจร นอนตายอยู่ข้างคันนา สภาพศพนอนหงาย มือสองข้างยกขึ้นเล็กน้อย พวกเราเด็กๆพูดกันตามประสาเด็กว่า เป็นท่าถือปืนเอ็ม.๑๖ ซึ่งคงจะไม่จริงหรอก แต่หากจริงผมคิดว่าท่าถือปืนท่านี้ คงเป็นท่าเท่ๆเฉพาะตัว เพราะเป็นท่าที่ไม่มีใครอยากเลียนแบบ ส่วนพวกของมันนอนอีกศพหนึ่งนอนตายอยู่ไม่ห่างนัก ที่ศพมีกระสุนเข้าที่อก มดหลายตัวไต่อยู่ที่รูกระสุน...ผมยังจำติดตาจนถึงทุกวันนี้...//..เขตแดนเชิงแสตรงไปทางทิศใต้อีกจนถึงบริเวณทิศตะวันตกของ "วัดพะโคะ" อันเป็นจุดที่อยู่ตรงทิศตะวันออกของบ้านเขาใน หรือ "เขาทเลจรรไน์" ในแผนที่โบราณดังกล่าว จากหนองตรุดห้างถึงบริเวณนี้ยาวประมาณ ๖ กิโลเมตรเศษ จากนั้นเขตแดนเชิงแสหักตรงลงมาทางทิศตะวันตกผ่านเขาใน ไปตกของเขาในถึงป่าพรุช่มน้ำด้านทิศตะว้นออกของ "วัดหัวถนน หรือ วัดอินทาราม" เป็นวัดที่พ่อท่านล่องเป็นเจ้าอาวาส (ดูภาพในบทที่ ๒) เขตแดนเชิงแสหักจากจุดนี้มายัง "ป่าพรุตกเขารัดปูน" อันเคยเป็นพรุเสม็ดที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศ แม้จะมีเนื้อที่น้อยกว่า พรุควนเคร็ง ก็ตาม "พรุตกรัดปูน" เป็นที่สาธารณประโยชน์มาตั้งแต่โบราณในชื่อของ "หนองประทิ่นพระครูเอก" เป็นต้นกำเนิดของคลองใหญ่ ๒ สายธาร คือ "คลองเชิงแส" และ "คลองจังหน" หรือปัจจุบันเรียกว่า "คลองโหน" ซึ่งเป็นคลองที่ไหลสู่ทะเลสาบสงขลา ผ่าน"บ้านโคกโหนด" และ "บ้านโตนดด้วน"...แลจากจุดนี้แนวเขตของเชิงแสก็จะห้กตรงไปทางทิศตะวันตก ไปลงทะเล ผ่านต้นมะม่วงใหญ่ ที่เรียกว่า "ม่วงงาม" ตรงลงสู่ "หน้าท่าเตียนที่ชายทะเล"

     รวมพื้นที่แผ่นดินเชิงแสทั้งสิ้นประมาณ ๓๓ ตารางกิโลเมตร และหากจะกล่าวให้สมบูรณ์ก็ต้องรวมพื้นน้ำทะเลสาบสงขลาอีกประมาณ ๒๕ ตารางกิโลเมตร เข้าไปด้วย ในพื้นดินถิ่นเชิงแส ๓๓ ตารางกิโลเมตรนี้ จำแนกเป็น ที่ตั้งบ้านเรือน วัด โรงเรียน ๑ ตารางกิโลเมตร ที่สวนทั้งสวนตีนด้านทิศเหนือหมู่บ้านและสวนหัวนอนประมาณ ๒ ตารางกิโลเมตร ที่ป่าอันเป็นเขารัดปูนและเขาในประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร พื้นที่สาธารณะป่าพรุเกาะเลชายทะเลประมาณ ๓ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าพรุสาธารณะด้านทิศตะวันตกของเขาใน เขารัดปูน จนถึง "หน้าบ้านนายเรียว" ซึ่งเป็นป่าเสม็ดชั้นดีชุ่มน้ำขังตลอดปี และรวมกับพื้นที่ต่อเนื่องคือเขตคลองใหญ่ด้านตะวันออกของวัดเชิงแสใต้จนถึง "สะพานยาว" ซึ่งบริเวณนี้เป็นป่ากก กระจูดหนู ผืนใหญ่ รวมแล้วทุกบริเวณ ประมาณ ๖ ตารางกิโลเมตรเศษ..............++++.....ดังนั้น...จึงเหลือพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่นา ท้องทุ่งนา รวม ๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๒,๕๐๐ ไร่ พื้นที่นาจำนวนนี้แหละครับที่เป็นที่กำเนิดและเป็นชีวิตของชาวเชิงแสทุกคน...ยากดีมีจนก็ฝากชีวิต ฝากอนาคตของตัวเองและของลูกหลานไว้กับท้องนาที่นี่...ท้องนาที่เชิงแส...

     โรงสีเชิงแสกสิกิจ
     การใช้เทคโนโลยีสำหรับการเกษตรอีกประเภทหนึ่งสำหรับชาวเชิงแส นอกจากรถจักรไถนาตามที่ผมกล่าวไว้แล้วข้างต้น ก็คือ โรงสีข้าวหัวบด ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่เรียกกันว่า "โรงสีแยก" อันเป็นการพัฒนาด้านการสีข้าวมาจาก "ครกสี"และ "ครกตำข้าว"อันเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมรุ่นปู่ย่าตายาย.... โรงสีแยกอย่างนี้ถูกนำเข้ามาใช้ก่อนปี ๒๕๐๐ คุณน้าประพันธ์ ธีระกุล และ คุณน้าถิ่น แก้วทอง เป็นสองเจ้าแรกที่นำโรงสีประเภทนี้เข้ามาสู่บ้านเชิงแส โรงสีของคุณน้าถิ่นนั้นชื่อว่า "โรงสีเชิงแสกสิกิจ" คุณน้าถิ่นแต่งงานกับคุณน้าปาน แก้วทอง จึงใช้นามสกุลของสามี คุณน้าถิ่นเป็นญาติของแม่สายทวดหญิงเจื้อม ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของคุณตาผม (คุณตาของผมมีพี่น้องสี่คน เรียงตามลำดับ คือ คุณยายเจื้อม คุณตายก คุณยายโคบ และ คุณตาของผมเป็นน้องสุดท้อง บรรพบุรุษของผมทั้งสี่คนพี่น้องมีพ่อเป็นคนจีน แซ่จิว ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็นไทยว่า "จีระโร"...โรงสีของน้าประพันธ์และโรงสีของน้าถิ่นเป็นพลังผลักดันให้ชาวเชิงแสหลายคนรวมทั้งพ่อได้หันมาทำธุรกิจโรงสีด้วย โดยพ่อและอาทำกิจการโรงสีที่พัทลุง สำหรับที่เชิงแสนั้นเท่าที่ผมจำได้และมั่นใจว่าจำไม่ผิด คือว่าต่อมาได้เกิดโรงสีขึ้นที่บ้านเชิงแสทั้งฝั่งคลองตีนและปละคลองหัวนอนถึงสิบกว่าโรง เช่น โรงสีน้าฮวดน้าเจียร ศรีสุวรรณ โรงสีน้าก้าน พัทบุรี โรงสีน้าเหล็ก ศรีแสง แต่ในบรรดาโรงสีทั้งหมดดูผมมีความทรงจำที่ "โรงสีเชิงแสกสิกิจ" นี่แหละ ความจำของผมเกิดจากไปสีข้าวกับแม่บ่อยๆ ผมรู้สึกทึ่งในแผงร่อนข้าวว่าทำงานได้อย่างดีจริงๆ ไม่หยุดพักเหนื่อยเลย เมื่อผู้ใหญ่เผลอผมเคยใช้มือจับเครื่องร่อนข้าว นอกจากมันไม่หยุดทำงานแล้ว มือและแขนผมก็สั่นตามแรงเครื่อง สนุกมาก นอกจากนั้นสิ่งที่ผมแอบทำบ่อยๆ อีกอย่างก็คือการใช้มือรองข้าวสารจากท่อข้าวสาร มันให้ความรู้สึกว่ามืออุ่นดี แต่การที่จะเดินไปที่หลังตัวโรงสี ไปที่สายพานใหญ่ระหว่างโรงสีกับเครื่องยนต์ด้านหลังนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ห้ามเด็ดขาดเพราะอันตราย เนื่องจากเด็กจะเผลอจับสายพานเครื่องสี แต่ผมก็ยังจำเครื่องสีข้าวของโรงสีเชิงแสกสิกิจได้ดี เป็นเครื่องจักรใหญ่วางอยู่บนแท่นซีเมนต์ขนาดใหญ่ เมื่อเดินเครื่องจักรจะเกิดเสียงดังมาก เด็กๆต้องเอามืออุดหูด้วยความสนุกและซุกซน แล้วตะโกนพูดแข่งกับเสียงเครื่องจักร..........ธุรกิจโรงสีข้าวขนาดเล็กอย่างนี้มีอยู่ทุกหมู่บ้านและทุกตำบล ใครที่เป็นเจ้าของโรงสีชาวบ้านก็จะเรียกว่า "เถ้าแก่โรงสี"

(ครกสีข้าวภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวไทยและชาวบ้านเชิงแส)

      โรงสีที่เชิงแสทุกโรงทุกของเถ้าแก่เป็นโรงสีขนาดเล็กมีกำลังผลิตไม่เกินวันละ ๓ เกียน(ปัจจุบันเรียกว่า เกวียน)ข้าวเปลือก แต่อย่างที่ผมเล่าไว้ข้างต้นแล้วว่าทุ่งเชิงแสมีที่นาประมาณ ๑๒,๕๐๐ ไร่ ดังนั้นจึงผลิตข้าวรวมกันได้ประมาณ ๕,๐๐๐ เกียน ต่อปี เท่านั้น เมื่อมีโรงสีมากเกินไป กิจการโรงสีของหลายเถ้าแก่จึงประสบภาวะการขาดทุน บางรายเป็นหนี้สิน ค้างค่าข้าวของชาวนาที่ไปซื้อมา ต้องเสียดอกเบี้ยก็มี ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ เรียกตามภาษาของชาวเชิงแสว่า "เสียพวด" อย่างไรก็ตามกิจการโรงสีที่เชิงแส ก่อให้เกิดผลทางสังคมและทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๒ ประการ คือ...๑.ทางสังคม...ได้เกิดภาพการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของโรงสีกับชาวบ้านเพื่อผลในการซื้อขายข้าว โดยเมื่อข้าวใกล้สุกถึงหน้าเก็บข้าวแล้ว ภาพเจ้าของโรงสีเดินไปตามบ้านชาวบ้านทั้งที่เป็นญาติสนิทและญาติห่าง เพื่อพูดขอซื้อข้าวเปลือกสำหรับโรงสีของตัวเอง ก็เริ่มมีให้เห็นในตอนหัวค่ำ ข้าวของแม่มีเจ้าของโรงสีหลายรายมาพูดติดต่อขอซื้อ ซึ่งแม่จะตกลงขายให้บางส่วน ส่วนที่เหลือแม่เก็บไว้ขายให้แก่แปะช้อยพี่ของแม่ เพราะแปะและป้าพริ้มมีโรงสีอยู่ที่ตำบลปากแตระ ตำบลหนึ่งในเขตอำเภอระโนด ตั้งอยู่ริมทะเลหลวงทะเลน้ำเค็มตามภาษาการเขียนแผนที่เก่า การขายข้าวของชาวนาเชิงแสนั้นจะว่าไปแล้วน่าสงสารมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เงินสดเต็มจำนวน เจ้าของโรงสีจะติดค้างไว้ก่อนจนกว่าตนจะขายข้าวต่อไปได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเจ้าของโรงสีบ้านนอกมีไม่มากรายนักที่มีฐานะดีมากๆและมีเงินเก็บหมุนเวียนพอ ชาวนาบางรายกว่าจะได้เงินค่าข้าวครบจำนวน ก็เลือดตาแทบกระเด็นทีเดียว บางครั้งแม่ก็พบกับสภาวะอย่างนี้เหมือนกัน แต่จะว่าไปแล้วแม่ก็ไม่น่าจะลำบากนักเพราะพอจะมีเงินอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากบางปีแม่รับซื้อข้าวไปขายต่อได้ และน่าจะได้กำไรอยู่บ้าง พวกเราลูกๆ ไม่ได้สังเกตกันนักเกี่ยวกับเงินทองของแม่ คือมีหน้าที่ใช้จ่ายเงินกันอย่างเดียว มารู้อีกที่ก็เมื่อแม่เริ่มป่วย จึงรู้ว่าแม่เป็นชาวนาที่ไม่มีหนี้ แถมยังมีเงินเหลืออยู่ให้ลูกมากพอควร...นี่คือชาวนาอย่างแม่...๒.ทางด้านเศรษกิจ...โรงสีขนาดเล็กอย่างโรงสีที่บ้านเชิงแส เมื่อรวมกับโรงสีที่หมู่บ้านอื่นตำบลอื่นแล้ว ได้ก่อให้เกิดอานุภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ส่งผลให้โรงสีไฟขนาดใหญ่ที่ระโนดสั่นสะเทือนทางการค้า และในที่สุดก็ไม่สามารถดำรงกิจการอยู่ได้ (แต่พึงเข้าใจนะครับว่า เจ้าของโรงสีไฟไม่ได้ขาดทุนอะไรหรอก...เพียงแต่กิจการเดินหน้าต่อไม่ได้) ทั้งนี้เพราะโรงสีขนาดเล็กนับร้อยๆ โรง ได้แย่งชิงซื้อข้าวในหมู่บ้านเสียไปเป็นส่วนมาก ขณะนี้จึงเหลือเพียงคำเล่าขานเป็นตำนาน "โรงสีไฟระโนด" คุณลุงเพ็ญ ถาวรวิจิตร หรือชิกฮั่นของแม่วิเคราะห์เรื่องนี้ให้ผมฟังเมื่อผมไปเยี่ยมที่อำเภอจะนะเมื่อวันสงกรานต์ปีนี้ ขณะที่คุณลุงอายุ ๙๐ ปี..ว่า..."เมื่อมีโรงสีเล็กเป็นจำนวนมาก โรงสีเล็กรับซื้อข้าวในหมู่บ้านไปมากต่อมาก ชาวบ้านหาบข้าวมาสีโรงสีเล็กก็สีได้ ชาวบ้านแบกข้าวมาก็สีได้ ชาวบ้านทูนข้าวมาบนหัวโรงสีเล็กก็สีได้ สีได้ทังเหม็ด...แต่โรงสีไฟสีข้าวหาบเดียว ทูนเดียวไม่ได้ เพราะข้าวน้อยเดินเครื่องไม่ได้..."

      คุณลุงเพ็ญญาติผู้พี่ของแม่พรั่งพรูความทรงจำที่ดีเยี่ยมเกี่ยวแก่เรื่องราวของโรงสีไฟที่ระโนด จนผมจดเสียแทบไม่ทัน ลูกผู้พี่ของแม่ ชายวัย ๙๐ ปีที่ยังแข็งแรงและความจำดี(กับฐานะดีมาก...เอ๊ะ..เกี่ยวอะไรด้วยนี่..ผมชักจะมั่วแล้ว) เล่าผมว่า "...ลุงอายุได้ ๑๒ ปี แม่เลี่ยนก็เสีย ต่อมาพ่อเสียลงอีก ชีวิตจึงลำบาก มีญาติซึ่งก็คือ "น้าแกวด" ยายของเธอ น้าแกวดนี่รักพวกเราที่เป็นหลานๆมาก แกรักจริงๆ เสร็จหน้านาที่เชิงแสแล้ว พวกเราหลานๆถ่อเรือจากระวะไปตามคลอง ไปถึงบ้านน้ำโอที่โคกแห้ว ถ่อไปจนถึงตำบลโรง แล้วออกเลสาบถ่อไปถึงเชิงแส ไปบรรทุกข้าวมากิน น้าให้มาเต็มลำเรือ บางคราวพักกันที่เชิงแสหลายวัน...เมื่อเตี่ยเสียแล้วลุงไปอยู่กับเฮียที่ระโนด และได้ทำงานรับจ้างกับเรือบรรทุกข้าวของฉีเฉี้ยวซึ่งเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในระโนด และลุงได้พบกับพ่อของเธอ เราต่างก็มาทำงานรับจ้างกับฉีเฉี้ยว ลุงเรียกเรียกพ่อเธอว่า "บ่าว" เพราะเป็นรุ่นพี่แก่กว่าลุง เราต้องถ่อเรือรับซื้อข้าวไปทั่ว ฉีเฉี้ยวท่านนี้มีเรือบรรทุกข้าวลำใหญ่มากที่สุดของระโนด บรรทุกข้าวได้ถึง ๔๕ เกียน ไม่ต้องใส่กระสอบ บรรทุกใส่ไปในระวางเรือเลยทีเดียว เรือลำใหญ่ของฉีเฉี้ยวลำนี้มีเสาใบเรือ ๒ เสา ที่หัวเรือเสาหนึ่ง ที่กลางลำเรือเสาหนึ่ง ที่ท้ายเรือเป็นเก๋งที่พักที่หุงข้าว นอกจากจะบรรทุกข้าวมาสีที่โรงสีแล้ว ยังบรรทุกข้าวไปขายที่โรงสีแดง "ทับโห้หิ้น" ที่เมืองสงขลาด้วย ...น่าเสียดายที่ตอนหลังเรือใบที่ใหญ่ที่สุดของระโนด โถกโยะ(โดนพายุ)จมลงที่เกาะใหญ่ในทะเลสาบสงขลา ลุงและคนงานได้มาช่วยกันขนข้าวเปลือกขึ้นจากเรือ..."

      ระโนดเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วส่วนสำคัญมาจากความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งนาขนาดใหญ่ พ่อเล่าของว่าทุ่งด้านทิศเหนือของระโนดไปจนถึงหัวไทร ปากพนัง เป็นทุ่งนาที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ กล่าวเฉพาะทุ่งระโนดนั้นผลิตข้าวได้มากมาย จึงเกิดโรงสีไฟหลายโรง ระโนดจากที่เคยเป็นตำบลหนึ่งในสิบสองตำบลของ "อำเภอปละท่า" แห่งเมืองสงขลาก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ที่ตัวอำเภอมีโรงสีใหญ่ของทวดหญิงฉีด ชื่อ "โรงสีไฟ ฮกซุ่นหิ้น" และมี "โรงสีไฟ นำไทยหลี" กับยังมี "โรงสีไฟของฉีเหี้ยง" อีกโรงหนึ่งด้วย ผมรู้เรื่องราวของโรงสี่ไฟฮกซุ่นหิ้นและโรงสีไฟนำไทยหลีทั้งสองโรงนี้นี้พอสมควร เนื่องจากขณะนี้ผู้เป็นเจ้าของที่ตั้งโรงสีและเป็นเจ้าของ "ป้าย" ชื่อโรงสีไฟ คือ "คุณฉกาจ จีระโร"ซึ่งเป็นหลานชายของแปะเซ่ง จีระโร พี่ชายของแม่ นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ของระโนดผู้นี้อายุเท่าผม เมื่อเด็กๆในคราวทำบุญที่บ้านแม่ยามที่ยายยังอยู่ ผู้ใหญ่มักจะให้พวกเราที่เป็นหลานๆ ร้องเพลงรับรางวัล จำได้ว่าผมร้องเพลงที่ทุกคนต้องร้อง คือร้องเพลงชาติ ส่วนนักธุรกิจคนนี้ร้องเพลงที่เด็กบ้านนอกอย่างผมไม่เคยได้ยินมาก่อน เนื้อเพลงช่วงต้นมีว่า..." มีวิทยุเปิดเพลงเบาๆ แล้วรินเหล้าใส่โซดาบางๆ..." นับว่าเป็นการร้องเพลงที่เขาเอาเปรียบผมมากที่เดียว เพราะขณะนั้นผมที่เชิงแสบ้านผมมีน้อยบ้านมากน้อยบ้านเหลือเกินที่มีวิทยุฟัง และโซดาคืออะไรผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า...ถ้ากินหวากเข้าไปมากๆ ก็จะเดินโซเซ...ด้วยฤทธิ์ของกระแซ่น้ำตาลเมา...เพลงนี้มีชื่อว่า "เพลงเศรษฐีในใจ" เสียงร้องของ "รุ่ง โพธาราม"...รุ่ง โพธาราม นอกจากจะร้องเพลงดังกล่าวแล้ว ยังมีเพลงดังๆอีกหลายเพง เช่น "เพลงลาสาวโพธาราม" ซึ่งมีเนื้อร้องเกี่ยวกับหนุ่มทหารไทยต้องลาสาวไปรบที่เวียดนาม และอีกเพลงหนึ่งคือ "เพลงหนองน้อยปลาชุม" รุ่งเป็นทหารบกมีชื่อว่า "พยงค์ ทองประหลาด" เป็นคนบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ก่อนบันทึกแผ่นเสียงเคยอยู่กับวงของสุรพล สมบัติเจริญ เพลงเศรษฐีในใจรุ่งบันทึกเสียงที่ห้างแผ่นเสียงศรีไพบูลย์ เพลงนี้แต่งโดย "ท้วม บ้านแพ้ว" ที่อำเภอโพธารามนี้มีนักร้องชื่อดังอีกคนหนึ่ง คือ "เพชร โพธาราม" เจ้าของเสียงเพลง "สุโขทัยระทม" "รักคนชื่อน้อย" และเพลง "ต.ช.ด.ขอร้อง" พูดถึงเพลงหนองน้อยปลาชุมแล้ว อย่าให้เสียเวลา หลบเชิงแสไป"เพ็ดจ้อน" แบกโพงวิดหนองกันดีหวา ไอ้เกลอเหอ

      อนึ่ง เพื่อเป็นความรู้แก่และสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ด้านเครื่องจักรเครื่องกลเกี่ยวกับโรงสีข้าวในสมัยรัตนโกสินทร์ ผมหายเหนื่อยจากวิดปลาในหนองกลางทุ่งแล้ว จึงขอเล่าไว้เสียด้วยว่าโรงสีไฟแห่งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๑ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ คราวครั้งนั้นเป็นโรงสีไฟของชาวอเมริกัน ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวอเมริกันได้ตั้งโรงสีใหญ่ขึ้นที่กรุงเทพฯ ชื่อโรงสีไฟอเมริกัน สตรีมไรซ์มิลลิ่ง แอนด์ โก (American Steam Rice Milling co.)และต่อมามีโรงสีไฟของบริษัท เจ เอส มาร์กเกอร์ ( J S Marker Company) ขึ้นอีกโรงหนึ่ง หลังจากนั้นผู้มีฐานะและเจ้านายหลายพระองค์ก็ได้ตั้งโรงสีขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ก็ทรงตั้งโรงสีที่หลังพระตำหนักบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้วัดเทวราชกุญชร ชื่อว่า "โรงสีเล่งหงษ์".........+++++......+++++

      (รอชม...ภาพปล่องไฟของโรงสีไฟนำไทยหลี ภาพฐานรากของโรงสีไฟนำไทยหลี ภาพป้ายชื่อโรงสีไฟฮกซุ่นหิ้น ภาพฐานแท่นเครื่องจักรโรงสีไฟฮกซุ่นหิ้น และภาพโรงสีไฟของคุณยายเหี้ยง ระโนด รวมภาพที่รอชมทั้งสิ้น ๕ ภาพ)

(ป้ายชื่อ "โรงสีไฟ ฮกซุ่นหิ้น ระโนต" ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเป็น "ระโนดโฮมสเตย์")

(ฐานซีเมนต์ของโรงสีไฟฮกซุ่นหิ้น ยังคงเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์แห่งกิจการค้าข้าวที่เคยรุ่งเรืองของระโนดในอดีต ซ้ายมือของภาพคือระโนดโฮมสเตย์)

(ฐานรากของโรงสีไฟ "นำไทยหลี" ระโนด)

(ปล่องไฟของโรงสีไฟนำไทยหลีที่ถูกปกคลุมไว้ด้วยต้นไทรใหญ่...ต้องพยายามสังเกตนะครับ ไม่อย่างนั้นจะมองไม่เห็น ปล่องไฟนี้น่าจะเป็นปล่องไฟโรงสีไฟในระโนดที่เหลืออยู่..ภาพเมื่อฝนกำลังโปรยในตอนใกล้ค่ำของวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๖ )

บทที่ ๔ ร่มกาสาวพัสตร์ วัดหัวนอน


บทที่ ๔ ร่มกาสาวพัสตร์ วัดหัวนอน


     ผมลังเลอยู่เหมือนกันว่าบทนี้จะเป็นหัวข้อย่อยของบทที่ ๓ ต่อจากสินนุราชคำกาพย์เพราะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของวัดเชิงแสใต้วัดหัวนอนเหมือนกัน หรือจะตั้งเป็นบทใหม่ดี และวันนี้ก็ตัดสินใจขึ้นเป็นบทใหม่ บทใหม่เพราะเห็นว่า
     ๑."วัดเชิงแสะหัวนอน" หรือวัดเชิงแสใต้แห่งนี้ไม่เคยเป็นวัดร้าง เนื่องเพราะดำรงความเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเชิงแสตลอดมาตั้งแต่ยังเป็น "วัดเชิงแสะหัวนอน" เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
     ๒.สุปฏิปันนาจารย์แห่งวัดเชิงแสใต้ท่านมีคุณธรรมพิเศษสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งซึ่งวัด อื่นน้อยนักจักมีได้ คือ ท่านมีความเป็นนักวิชาการที่เห็นความสำคัญของการศึกษา ดังจะเห็นได้จากการที่โรงเรียนวัดเชิงแส (เมฆประดิษฐ์)ตั้งอยูในเขตของวัดเชิงแสใต้มาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อพ.ศ.๒๔๖๑ และตั้งตรึงแน่นผลิตนักเรียนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมมาตั้งแต่รุ่นแม่จนกระทั่งถึงตัวผม ส่วนลูกสาวของผมนั้นแม้จะเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ผมก็บอกลูกว่าหากลูกอยากจะเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ไปใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างพ่อก็บอกพ่อได้นะลูก พ่อจะส่งไปเรียนที่โรงเรียนวัดเชิงแสเหมือนพ่อ ผมบอกลูกหลายครั้งแล้ว ไม่เห็นเธอตอบตกลง ลูกสาวผมคงไม่รู้ความจริงว่าโรงเรียนวัดเชิงแสที่พ่อเรียนหนังสือมานั้น ได้ให้ประสบการณ์ชีวิตได้ดีไม่แพ้หลักสูตรภาษาอังกฤษของโรงเรียนสาธิตที่กรุงเทพฯ โรงเรียนที่เธอเรียนอยู่นะลูกรักเอ๋ย จะยกตัวอย่างให้ก็ได้ เช่น ที่โรงเรียนวัดเชิงแสพ่อสามารถ "ขึ้นเที่ยง" กลับไปกินข้าวกลางวันที่บ้านได้ทุกวัน เพราะแม้ที่โรงเรียนจะมีร้านอาหารร้านข้าวแกงของคุณน้าตั้นหิ้มภรรยาของน้ากำนันลิ่ม ประชา สมุทรจินดา ให้ซื้อกินก็ตาม แต่ต้องรอวันสอบโน่นแหละแม่จึงจะให้เงินผมเป็นพิเศษ คือเป็นค่าข้าวแกงและค่าขนม รวม ๑ บาท ๒๕ สตางค์ เงินที่แม่ให้ไปโรงเรียนจำนวนนี้แยกเป็นค่าข้าวแกง ๑ บาท ที่เหลือ ๒๕ สตางค์เป็นค่าขนม เพราะปกติแล้วแม่ให้เงินผมไปโรงเรียนเฉพาะแต่ค่าขนมวันละ ๒๕ สตางค์ เงินจำนวนนี้เมื่อสี่สิบปีที่แล้วถือว่าพอสำหรับซื้อขนมกินที่โรงเรียน เด็กจำนวนมากไม่ได้มีเงินไปโรงเรียนทุกวัน ไม่ใช่ว่าไม่มีเงิน เงินนั้นพอจะมี แต่ไม่จำเป็น เพราะกินข้าวกินขนมที่บ้าน มื้อเที่ยงก็ "ขึ้นเที่ยง" กินข้าวมื้อกลางวันที่บ้าน เด็กนักเรียนในทุกวันนี้ไม่ได้รับรู้บรรยากาศของการรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านหรอก กินข้าวเสร็จผมก็จะรอเพื่อนๆ มาเรียกเดินกลับไปโรงเรียนด้วยกัน เพื่อเรียนหนังสือภาคบ่ายกันต่อ แต่ส่วนใหญ่แล้วสำหรับผมนั้นกว่าจะเดินไปเรียนช่วงบ่ายก็เปิดวิทยุฟังข่าวกลางวันก่อน แล้วต่อด้วยข่าวกีฬาของ "สาโรจน์ พัฒทวี" ที่สถานี สวพ.สงขลาถ่ายทอดเสียงมาจากกรุงเทพฯ

(พระเจดีย์หน้าพระอุโบสถวัดเชิงแสใต้)
     ร้านข้าวแกงกลางวันของน้าตั้นหิ้มมีลูกค้าประจำเป็นนักเรียนจากบ้านโคกพระและบ้านเขารัดปูนซึ่งต้องเดินเท้ามาเรียนที่โรงเรียนวัดเชิงแส กับลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งคือคุณครูที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครูเสรี ชุมทอง จากบ้านเขาใน ครูกิติพันธ์ ชูโชติ จากบ้านเขารัดปูน ครูปราโมทย์ น้อยเสงี่ยม ครูลาภ เกื้อมา จากบ้านเถรแก้ว และครูผู้หญิงซึ่งมีอยูู่เพียงท่านหนึ่งคือครูสุพร หมานมานะ คุณครูสุพรเป็นอิสลาม สอนวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนครูอาวุโสอย่างครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ ครูแอบ ศิริรักษ์ ครูบวร วรารัตน์ ครูเทอด จินดานาค นั้น บางท่านคดข้าวห่อ บางท่านก็กลับไปทานข้าวเที่ยงที่บ้านเหมือนพวกผม...ผมกล่าวถึงครูกิติพันธ์แล้วเล่าต่อไปเสียเลยว่า เดิมท่านชื่อว่าครูก้าน ท่านสอนที่นี่อยู่ประมาณ ๔ ปี ต่อมาท่านเสียชีวิตเพราะกินยาฆ่าตัวตาย พวกผมเด็กนักเรียนได้ไปร่วมงานเผาศพท่านที่สนามโรงเรียนบ้านรัดปูน จำครูได้อยู่เสมอครับคุณครู จำได้ว่าตอนเข้าแถวสวดมนต์ครูกำชับย้ำนักย้ำหนาว่า บทสวดที่ ๒ นั้น อย่ากล่าวว่า .."สวาขาโต ต้องพูดเสียให้ชัดว่า..สวากขาโต ภควตา ธัมโม ...เพราะ"สวา" นั้นแปลว่าลิง สวาขาโตจะแปลว่า ลิงขาใหญ่.."...และ
     ๓.วัดเชิงแสใต้แห่งนี้มีพระพุทธรูปสำคัญพุทธลักษณะงดงามอย่างยิ่ง ซึ่งน้อยคนนักจะสนใจทราบ นั่นคือ พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร เดิมองค์พระพุทธปฏิมางามสง่านี้ประดิษฐานอยู่ที่โรงธรรม เป็นพระประธานให้กราบไหว้ในทุกกิจกรรมแห่งศาสนพิธี เมื่อผมยังเป็นเด็กอยู่ผมได้สร้างวีรกรรมไว้ที่บุษบกฐานพระพุทธรูปนี้ครั้งหนึ่ง คราวครั้งนั้นเป็นงานพิธีอะไรจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าขณะที่แม่และอุบาสกอุบาสิกากำลังไหว้พระอยู่เต็มโรงธรรม ผมลุกจากที่นั่งข้างแม่ ผมเดินไปแหงนมองพระพุทธรูป แล้วจะปีนขึ้นไปบนฐานบุษบก ไม่ใช่ด้วยความศรัทธาในองค์พระดอก ด้วยความซุกซนอ้อนไม้เรียวของพ่อเสียละมากกว่า แล้วผมก็เหนี่ยวกนกฐานบุษบกจะปีน ทำให้ฐานบุษบกชิ้นหนึ่งหัก ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ "ทำให้เสียทรัพย์ ที่เคารพศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนา" เห็นผู้ต้องหาก่อเหตุเช่นนั้น ก็ร้องเอะอะขึ้นว่า "หักแล้ว หักแล้ว หนกหักแล้ว"... ผู้ต้องหารายสำคัญรายนี้ตกใจรีบวิ่งออกไปทางประตูโรงธรรมด้านหลังพระ ทางทิศตะวันตก ณ ที่นั้นพ่อของผู้ต้องหายืนอยู่พอดี พ่อผู้ต้องหาจับมือผู้ต้องหาไว้ แล้วถามว่า "ลูกบ่าวปีนขึ้นไปทำไหรละลูก?"...ทุกวันนี้เมื่อผมกลับไปไหว้พระที่วัดเชิงแสใต้ ผมยังคงคิดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่เสมอ ด้วยเหตุที่คิดถึงก็เพราะว่า คือรู้สึกโล่งใจไปว่าฐานพระเสียหายไม่มากนัก คงจะบาปไม่มาก นั่นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง กระทำความผิดขณะเป็นเด็กคงมีเหตุลดมาตราส่วนโทษแน่นอน แต่ที่สำคัญอย่างสุดท้ายก็คือว่าวันนี้กรณีนี้ "ขาดอายุความ" เรียบร้อยแล้ว...แต่จะว่าไปจริงๆแล้วขณะกราบพระ ก็อดจะคิดไปถึงพระประธานอย่างในเรื่อง "ไผ่แดง" ของคุณชายหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ได้เหมือนกันว่า หากพระประธานที่วัดเชิงแสใต้ท่านพูดได้ ท่านคงจะถามผมว่า..."เมื่อไหร่จะมาซ่อมให้เรียบร้อยยยย...เสียทีี...ก่อเหตุไว้หลายปีแล้วนะ"

(พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรพระประธานในโรงธรรมวัดเชิงแสใต้ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่หอวิหาร "เมฆสถิตอนุสสร")
     ด้วยเหตุทั้งสามประการดังกล่าวแล้ว ผมจึงเห็นว่าวัดเชิงแสใต้ควรจะได้เป็นที่รับทราบแก่สาธุชนในหัวข้อ "ร่มกาสาวพัสตร์ วัดหัวนอน"
     นับตั้งแต่พลังแห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนาปรากฏขึ้นในบริเวณริมฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา คำนวณแล้วก็อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เห็นจะได้ บริเวณนี้มีวัดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พลังขับเคลื่อนที่สำคัญนั้นต้องยอมรับว่า คือ พระสงฆ์ พระภิกษุพุทธสาวกท่านเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจ เป็นทั้งผู้ประกาศธรรมของพระตถาคต เป็นทั้งผู้ให้การศึกษา และเป็นทั้งผู้นำของชุมชนชุมชน...อย่างวัดเชิงแสใต้นี้ นอกจากจะมีปราชญ์อย่างพระผู้แต่งคำสวด "สินนุราชคำกาพย์" แล้ว ในกาลต่อมาพระครูธรรเจดีย์ศรีสังวร พระอธิการคง และพระอธิการเมฆ ท่านเจ้าอาวาสผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดเชิงแสใต้ก็ได้เป็นศูนย์รวมใจของผู้คนทั้งชาวเชิงแส และชาวบ้านแถบละแวกนี้ตลอดมา ในบทนี้จึงใคร่กล่าวถึงประวัติของสุปฏิปันนาจารย์และปฏิปทาของพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดเชิงแสใต้ ดังนี้ ๑.พระคุณธรรมเจดีย์ศรีสังวร ๒.พระอธิการเมฆ ติสโร ๓.พระอธิการคง

(ภาพวาดพระอธิการเมฆ อดีตเจ้าอาวาสวัดเชิงแใต้)

(ภาพวาดพระอธิการคง อดีตเจ้าอาวาสวัดเชิงแสใต้)

(สัญบัตรตราตั้งพระอธิการเมฆ หรือพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์ เมื่อพ.ศ.๒๔๘๔)

(หอ "เมฆสถิตอนุสสร" ที่ประดิษฐานรูปเหมือนและภาพวาดพระอธิการเมฆ หอวิหารดังกล่าวออกแบบและอำนวยการก่อสร้างโดยพระปลัดปรีชา ธัมปาโล สถาปนิกชาวเชิงแส และนักบริหารระดับปริญญา ซึ่งออกแบบและอำนวยการสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘)

พ่อท่านทองมาก (พ่อท่านเฒ่า ; พระครูธรรมเจดีย์ศรีสังวร)
     พ่อท่านทองมากหรือพระครูธรรมเจดีย์ศรีสังวร เป็นชาวสีหยัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเชิงแส ห่างข้ามทุ่งไปประมาณ ๗ กิโลเมตร เมื่อพ่อท่านทองมากเป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงแสใต้หรือเชิงแสวัดหัวนอนนั้น ท่านเป็นพระสังฆาธิการที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง เพราะพ่อท่านเป็นผู้มีบุญญาบารมีมาก อีกทั้งท่านเป็นพระที่มีความรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ สามารถประกอบยารักษาโรคได้หลายขนาน หลายชนิดโรค นอกจากนั้นท่านยังมีอาคมเก่งกล้าในระดับที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เจ้าเมืองสงขลาได้เคยทดสอบอาคมของท่านเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๑ คราวครั้งนั้นพระยาวิเชียรคีรี ได้เดินทางจากเมืองสงขลามาปฏิบัติหน้าที่ปราบโจรผู้ร้ายในเขตทะเลสาบสงขลาเรื่อยไปจนกระทั่งถึงแขวงระโนด ระหว่างที่ผ่านบ้านเชิงแสเจ้าเมืองสงขลาท่านที่ ๘ ได้เข้านมัสการพ่อท่านทองมากและได้ทดสอบยิงปืน ชาวเชิงแสเล่ากันว่าพระยาวิเชียรคีรีหันปากกระบอกปืนไปทางทิศตะวันออก แต่กระสุนปืนไม่ลั่นพุ่งไปทางนั้น กลับพุ่งไปทางด้านทิศตะวันตกแทน
     ไม่เพียงแต่พ่อท่านทองมากจะมีวิชาการแพทย์และวิชาอาคมเท่านั้นท่านยังเป็นพระที่มีวาจาสิทธิ์ กล่าวกันว่าชานหมากของท่านเป็นเหล็ก และขนที่ใบหูท่านเป็นทองแดง ด้วยความเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์ท่านจึงเป็นพระอุปปัชฌาที่มีลูกศิษย์ลูกหาที่ท่านอุปสมบทให้เป็นจำนวนมาก แม้ในยามชราซึ่งไม่สามารถออกเดินทางไปอุปสมบทให้แก่กุลบุตรที่ศรัทธาได้สะดวกแล้วก็ยังมีผู้ที่ประสงค์จะให้ท่านอุปสมบทให้ จึงต้องใช้ไม้คานหาม หามท่านไปยังอุโบสถวัดต่างๆ ปัจจุบันไม้คานหามดังกล่าวก็ยังคงเก็บรักษาไว้ที่หอ “เมฆสถิตอนุสสร
     ในส่วนผลงานด้านการพัฒนาของพ่อท่านทองมากนั้น ได้ท่านสร้างสะพานยาวเป็นถาวรวัตถุที่คงอยู่กับบ้านเชิงแสมาจนกระทั่งถึงยุคของผม นั่นก็คือ “สะพานยาว” ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่มีความยาวมากประมาณ ๑๐ เส้นเศษ หรือ ๔๐๐ เมตรเศษ สะพานแห่งนี้ทอดข้ามคลองเชิงแสในส่วนที่กว้างที่สุด เหตุที่คลองเชิงแสบริเวณนี้กว้างที่สุดเพราะเป็นที่บรรจบกันระหว่าง “คลองพระ” กับ “คลองเชิงแส” มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในปัจจุบันเมื่อคลองพระตื้นเขินไม่เหลือสภาพคลองแล้ว ก็ยังมีบริเวณที่คลองทั้งสองบรรจบกันให้ได้เป็นที่หมุดหมายไว้ คลองเชิงแสที่บรรจบกับคลองพระโบราณจึงเป็นคลองเนื้อเดียวกันที่มีความกว้างมากถึง ๔๐๐ เมตรเศษ
     สภาพของสะพานยาวผมยังจำได้ดีเพราะเคยซุกซนเดินไปคนเดียวจากหัวสะพานด้านวัดเชิงแสใต้จนกระทั่วไปถึงปลายสะพานด้านที่เป็นทุ่งนา สะพานยาวแห่งนี้มีเสาเป็นไม้แก่นกลมเป็นคู่ๆ ไประยะห่างระหว่างคู่เสาประมาณ ๔ เมตร และปูด้วยไม้กระดานหนา ๒ นิ้ว กว้าง ๑๒ นิ้ว แต่ละแผ่นยาวประมาณ ๖ - ๘ เมตร ความแข็งแรงของสะพานสามารถรับชาวบ้านเชิงแสที่หาบข้าว ๑๐๐ เรียง หรือหาบน้ำตาลโตนด ๖๐ กระบอกได้ ตัวสะพานสูงจากผิวน้ำในลำคลองมาก ขนาดว่าปลายต้นกกที่ลำคลองนั้นอยู่ในระดับที่เสมอกับพื้นสะพาน การที่พ่อท่านทองมากดำเนินการก่อสร้างสะพานยาวได้เช่นนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการสัญจรของชาวเชิงแส ชาวเขาในและชาวรัดปูน เป็นอย่างยิ่ง กล่าวได้ว่าสะพานยาวเปรียบเสมือนเส้นทางเศรษฐกิจและเส้นทางแห่งชีวิตสายสำคัญของชาวเชิงแส ชาวรัดปูนและชาวเขาใน สะพานแห่งนี้มีการซ่อมแซมใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยใช้ไม้จากจังหวัดพัทลุง การซ่อมแซมครั้งนี้เกิดขึ้นในสมัยของพ่อท่านเมฆ ติสโร คุณครูชื่น เมืองศรี ครูใหญ่โรงเรียนวัดเชิงแสเมฆประดิษฐ์เล่าไว้ในหนังสือ “ความดีไม่สูญ เทิดทูนชาวเชิงแส” ว่าเมื่อมีการซ่อมแซมปรับปรุงสะพานยาวเสร็จได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร มีการรับมโนราเติมจากเมืองตรัง มโนราช่วงจากนครศรีธรรมราชแข่งขันพนันเมียกัน
     ภาพที่งดงามบนสะพานยาวแห่งนี้ในความรู้สึกของผม ก็คือ ภาพชาวเชิงแสหาบข้าวกลับจากนาหาบกล้าไปปักดำ และแบกคราด แบกไถ เป็นแถวตามแนวของสะพานยาว ภาพหนึ่ง ส่วนอีกภาพหนึ่งก็คือภาพที่พระภิกษุและสามเณรจากวัดเชิงแสใต้เดินทางไปบิณฑบาตที่บ้านเขารัดปูน ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ คุณตาว่อนและคุณยายหลับ อโนทิพย์ ได้สละทรัพย์ส่วนตัวทำถนนคอนกรีต ต่อจากบริเวณหัวสะพานยาวกลางทุ่งนาด้านทิศตะวันออกไปประมาณ ๒๐ เมตร เมื่อผมยังเป็นเด็กผมยังเดินข้ามสะพานยาวไปคนเดียวจนกระทั่งถึงถนนคอนกรีตแห่งนี้ จำได้ว่าขณะนั้นเป็นหน้าน้ำ น้ำท่วมอยู่เต็มถนนผิวคอนกรีตดังกล่าว
     สะพานยาวแห่งบ้านเชิงแสหมดสภาพลงไปอย่างน่าเสียดายเมื่อมีการทำสะพานใหม่ด้านทิศใต้ของวัดเชิงแสใต้ ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ มีการขุดเสาสะพานและไม้กระดานสะพานยาวไปทำสะพานแห่งใหม่ สะพานแห่งนี้อยู่ได้ไม่นานนักก็ถูกแทนที่ด้วยสะพานคอนกรีต(อ่านว่าคอนกรีตนะครับ ...ไม่ใช่ คอ.นก.รีต ...ต้องเตือนกันไว้ก่อน เกือบจะลืมเตือน)แม้สะพานยาวจะหมดสภาพไปแล้วแต่ก็ยังคงมีชื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคุณงามความดีในด้านการพัฒนาของพระครูธรรมเจดีย์ศรีสังวร พ่อท่านทองมาก หรือพ่อท่านเฒ่า ปูชนียบุคคลของชาวเชิงแส

(สภาพปัจจุบันที่บริเวณหัวสะพานยาวด้านวัดเชิงแสใต้ ในภาพจะเห็นเพียงหมู่ไม้ปกคลุมเต็มพื้นที่ ผมถ่ายภาพนี้ไว้เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖)
     ก่อนที่จะผมจะได้กล่าวถึงพ่อท่านเมฆ ติสโร พระอาจารย์ของพ่อ ในความต่อไป เนื่องจากผมได้พูดถึงพระยาวิเชียรคีรี (ชม)เจ้าเมืองสงขลาไว้แล้วจึงขอนำประวัติของเจ้าเมืองสงขลาท่านนี้ท่านที่ได้มาถึงบ้านเชิงแส มากล่าวไว้เสียด้วย ดังต่อไปนี้ (ข้อความส่วนใหญ่เกี่ยวกับปรัวัติของท่าน ผมคัดมาจากหนังสือ "พงศาวดารเมืองสงขลาและพัทลุง" พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณหญิงแข เพ็ชราภิบาล (แข ณ สงขลา) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมมีอยู่และใช้อ้างอิงอยู่เป็นประจำ)

(ภาพถ่ายของพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ถ่ายภาพคู่กับคุณหญิงสมบุญวิเชียรคีรี เป็นภาพประกอบหนังสือพระราชทานเพลิงศพของท่านเจ้าคุณวิเชียรคีรี)

(ภาพสีพระยาวิเชียรคีรีและคุณหญิงเป็นการระบายสีจากภาพขาวดำข้างต้น)

     พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)
     พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)เป็นเจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ ๘ ของสกุล "ณ สงขลา" ต่อจากหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) เจ้าเมืองสงขลาคนที่ ๑ พระยาวิเชียรคีรี(เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๓๖๐ – ๒๓๙๐ ผู้เริ่มสร้างเมืองสงขลา บ่อยาง พระยาวิเชียรคีรี(บุญสัง ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๓๙๐ – ๒๔๐๘ พระยาวิเชียรคีรี(เม่น ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๐๘ – ๒๔๒๗ พระยาวิเชียรคีรี(ชุ่ม ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๒๗ – ๒๔๓๑ แล้วก็ถึงพระยาวิเชียรคีรี(ชม ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๔๓๙ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา, ที่ ๘,พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๔๔)
     พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นบุตรชายคนโตของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาและคุณหญิงพับ และเป็นหลานชายคนใหญ่ของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) พระยาวิเชียรคีรี(ชม) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๓๙๗ ที่ตำบลบ้านป่าหมากในเมืองสงขลา บริเวณบ้านเกิดของท่านในภายหลังบุคคลในสกุลได้ขายให้แก่ทางการในราคา ๒๘,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นจึงได้ตั้งเป็นศาลมณฑลนครศรีธรรมราชและต่อมามีการก่ิสร้างเป็นสำนักงานองค์การโทรศัพท์ สงขลา คือบริเวณที่ถนนจะนะตัดกับถนนวิเชียรชม
     พระยาวิเชียรคีรีได้ศึกษาวิชาการหลายอย่าง คือ ๑ เรียนหนังสือไทยกับเจ้าพระยาสงขลา (เม่น) ผู้เป็นปู่ ๒ วิชาช่างไม้และวืชาการยิงปืนกับพระยาหนองจิก (เวียง) บุตรพระอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) ผู้เป็นญาติ ๓ เรียนวิชาโหราศาสตร์ได้อย่างเชี่ยวชาญยิ่งนัก ๔ เรียนวิชาแพทย์กับหมอทิมชาวกรุงเทพฯและมีท่านเจ้าวัดโปรดเกษฯ แขวงเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นอาจารย์ ๕ เรียนวิชาการเดินเรือต่อกัปตันวรดิกสกี ๖ วิชาการถ่ายรูปต่อหลวงอรรคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และมิสเตอร์ลำเบิกกับมิสเตอร์เนาต้า ๗ วิชาการช่างเหล็กช่างทอง ๘ วิชาทำแผนที่
     ประมาณ พ.ศ. ๒๗๑๘ พระยาวิเชียรคีรีได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ สำนักพระอาจารย์แดง วัดดอนรักซึ่งตั้งอยู่หลังจวนเมืองสงขลา ลำดับตำแหน่งยศและบรรดาศักดิ์ของพระยาวิเชียรคีรี(ชม)
     พ.ศ. ๒๔๐๗ ปีชวด อายุ ๑๑ ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ ๔ รับราชการเวรฤทธิ์อยู่ในกรุงเทพฯ ๒ ปี แล้วทูลลากลับไปเมืองสงขลา
     พ.ศ. ๒๔๑๓ ปีมะเมีย อายุ ๑๖ ปี ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑ เป็นหลวงวิเศษภักดีตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่
     พ.ศ. ๒๔๑๓ ปีชวดสัมฤทธิศก วันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลา โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงวิเศษภักดีขึ้นเป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา ๑,๕๐๐ ไร่ และให้มีหน้าที่เป็นผู้รักษาราชการเมืองสงขลา ในเวลาที่ว่างไม่มีตัวผู้สำเร็จราชการเมือง (ขณะนั้นพระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) เพิ่งถึงอนิจกรรมได้ ๖ วัน)
     พ.ศ. ๒๔๓๓ วันที่ ๑๑ มกราคม ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิเชียรคีรี ศรีสมุทวิสุทธิ์ศักดามหาพิไชยสงคราม รามภักดีอภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา ๕,๐๐๐ ไร่ มีเมืองจะนะ เมืองเทพา เป็นหัวเมืองขึ้น และได้บังคับเมืองแขกทะเลหน้าใน ๗ หัวเมืองด้วย
     เมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาท่านได้รับพระราชทานผลประโยชน์ค่าธรรมเนียมความและส่วนลดภาษีอากรบางอย่างตามสมัยเดิม หาได้รับพระราชทานเป็นเงินเดือนไม่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ รัชกาลที่ื ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล โดยรวมเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง และเมืองขึ้นตั้งเป็นมณฑลเรียกว่ามณฑลนครศรีธรรมราช และโปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แต่เมื่อเป็นพระยาสุขุมนัยวินิจ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล และตั้งศาลาว่าการมณฑลที่เมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรีคงรับราชการเทียบตำแหน่งปลัดมณฑลนครศรีธรรมราช เพราะยังเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งศาลาว่าการมณฑล ตั้งต้นได้รับพระราชทานผลประโยชน์เป็นเงินเดือน เดือนละ ๔๕๐ บาท และได้รับพระราชทานยศเป็นชั้นที่ ๑ ตรี (เทียบเท่ากับมหาอำมาตย์ตรี)
     ถึงแม้ว่าเมื่อได้รวมเมือง จัดเป็นมณฑลแล้วก็ดี ท่านก็ยังมีความอุตส่าห์ตั้งในรับราชการกลมเกลียวกับข้าหลวงเทศาภิบาล พยายามชี้แจงระเบียบราชการ และประเพณีการเมืองอย่างเดิมๆ ช่วยส่งเสริมราชการให้ความรู้ความสะดวกแก่ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นอันดี กับได้จัดการปกครองเมืองสงขลาซึ่งเป็นเมืองในหน้าที่และเป็นเมืองที่ตั้งมณฑล โดยเฉพาะการตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านและสารวัตรตำบลได้เรียบร้อยก่อน อันเป็นตัวอย่างแก่เมืองอื่นๆ ท่านรักษาราชการตามตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยตลอดมา นับเป็นความดีความชอบในราชการ
     พ.ศ. ๒๔๔๔ เมื่อจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้วได้ ๖ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นจางวางกำกับราชการเมืองสงขลา รับพระราชทานเบี้ยบำนาญตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปปีละ ๘,๐๐๐ บาท สูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับพระราชทานในเวลาประจำการปีละ ๒,๖๐๐ บาท และสูงกว่าเบี้ยบำนาญของผู้ว่าราชการเมืองในมณฑลเดียวกัน เป็นพระมหากรุณาอย่างพิเศษ
     เมืองสงขลาเป็นเมืองใหญ่ชั้นโท นับเป็นหัวเมืองชั้นนอกอยู่ห่างไกลปลายพระราชอาณาเขตข้างฝ่ายใต้ เดิมไม่มีรถไฟเรือไฟและไปรษณีย์โทรเลข จึงใช้เรือใบเป็นพาหนะ หรือบางคราวเป็นเวลามรสุมคลื่นลมแรง ต้องใช้คนเดินไปติดต่อกับกรุงเทพฯ กว่าจะรู้เรื่องกันได้ก็กินเวลาตั้งเดือนๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้สำเร็จราชการ มียศบรรดาศักดิ์ชั้นสูงถึงพานทอง และเป็นเจ้าพระยาก็มี เจ้าเมืองต้องเป็นผู้ที่ทรงคุ้นเคยไว้วางพระราชหฤทัยเฝ้าแหนได้ใกล้ชิดอย่างมหาดเล็กผิดกว่าที่หัวเมืองชั้นใน การปกครองบังคับบัญชาต้องเด็ดขาดและศักดิ์สิทธิ์ถึงประหารชีวิต ได้เป็นที่ยำเกรงแก่ราษฎรอีกทั้งโปรดให้ได้ถวายต้นไม้เงินทองทำนองเมืองประเทศราช
     พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวางอย่างใจนักเลงทั้งมีความโอบอ้อมอารีเป็นอันดี อัธยาศัยเป็นคนตรง รักเป็นรัก เกลียดเป็นเกลียดท่านชอบการช่างฝีมือทำสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับต่างๆ เช่น ทำไม้เท้าแกะสลัก เครื่องงา เครื่องเงิน เครื่องทองได้หลายอย่าง ของที่ใช้สอยอยู่ในบ้านก็ใช้ของที่ทำด้วยฝีมือเองโดยมาก ลงทุนสะสมเครื่องมือตั้งโรงงานไว้ในบ้าน มีเครื่องจักรเครื่องกลหลายอย่าง ทำสิ่งของต่างๆ ได้อย่างประณีต ไม่ทำไว้เพื่อขาย แต่ทำตามความพอใจที่ชอบ โดยมากทำไว้เพื่อจะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเจ้านาย แจกข้าราชบริพาร ข้าราชการ ตลอดจนมิตรสหายที่ได้ไปถึงเมืองสงขลาโดยไม่มีความเสียดาย เมื่อใครไปถึงเมืองสงขลาได้ไปหาเยี่ยมเยียนก็ยินดีรับรอง และแจกของที่ทำด้วยฝีมือให้เป็นที่ระลึก ของที่ทำถวายแจกเป็นศิลปอย่างดี เป็นที่ชอบใจแก่ผู้ได้แจกยิ่งนัก เพื่อเป็นพยานแห่งวิชาฝีมือการช่างที่ทำของดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาให้เป็นสำคัญ
     อนึ่ง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งมณฑลมีข้าหลวงเทศาภิบาลออกมากำกับ ซึ่งนับว่าเป็นคราวเปลี่ยนแปลงแก้ไขอำนาจและสิทธิ์ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองที่เคยได้มีมาแต่เดิมมากอยู่ ท่านก็ไม่ท้อถอยกลับมีความมานะอุตส่าห์ช่วยส่งเสริมราชการ จัดการปกครองท้องที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง และช่วยข้าหลวงเทศาภิบาลจัดราชการให้ได้ดำเนินไปโดยดีและปรองดองกัน อาศัยความดีที่มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อราชการดังกล่าวมา เมื่อยกขึ้นเป็นจางวางกำกับราชการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำนาญให้เลี้ยงชีพถึงปีละ ๘,๐๐๐ บาท สูงกว่าอัตราเบี้ยบำนาญผู้สำเร็จราชการเมืองในมณฑลเดียวกัน พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นจางวางกำกับราชการอยู่ ๓ ปีเศษ ก็ป่วยด้วยโรคชราถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านในเมืองสงขลา เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ตรงกับ ณ วันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ เวลาบ่าย ๕ โมง อายุ ๕๐ ปี เป็นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่ ๑๓ ปี
      พ่อท่านเมฆ ติสโร
     พ่อท่านเมฆ ติสโร เป็นบุตรของโยมทวดชู และโยมทวดนุ้ย ชาวบ้านกลาง ตำบลท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ท่านมีพี่น้อง ๕ คน คือ คุณตาพิน คุณตาพุ่ม คุณยายพ่วน คุณตาปู และพ่อท่านเมฆ เนื่องจากคุณตาปูผู้พี่ได้มามีครอบครัวอยู่ที่บ้านเชิงแสกับยายเตี้ยว เมื่อเห็นว่ามีน้องชายมีอายุสมควรอุปสมบท ก็ได้นำมาบวชกับพ่อท่านทองมากที่วัดเชิงแสใต้ พ่อท่านเมฆคิดว่าท่านคงมาบวชไม่กี่วัน ก็ฝากกระบอกตาลกับเพื่อนไว้ แต่หลังจากท่านบวชแล้วก็คงซาบซึ้งในรสพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ประจวบกับได้เป็นศิษย์ของอุปัชฌาย์อาจารย์ที่เก่งกล้าสามารถในหลายๆ ด้าน ก็เกิดความพึงใจในร่มกาสาวพัตร์ที่วัดหัวนอน ครองเพศบรรพชิตไม่ลาสิกขาบท ทั้งสนใจศึกษาพระธรรมวินัย ประกอบกับมีความเมตตาช่วยเหลืออุบาสกอุบาสิกา ท่านจึงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ เชี่ยวชาญผสมหยูกยารักษาคนไข้ทุกประเภท แม้กระทั่งคนไข้โรคจิต กล่าวได้ว่าทุกๆ วิชาที่พ่อท่านทองมากมีอยู่ท่านได้ร่ำเรียนมาหมด อย่างศิษย์เอกของพ่อท่านทองมาก เช่นนี้จึงหลังจากพ่อท่านทองมาก และพ่อท่านนวนมรณภาพแล้ว ก็เป็นยุคของพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์
     พ่อท่านเมฆ ท่านมีบุญญาบารมีมากเช่นเดียวกับพ่อท่านเฒ่า ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป จึงเป็นศูนย์รวมแห่งพลังของความสามัคคีกลมเกลียว ด้วยเหตุนี้พ่อท่านจึงสามารถสร้างอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดเชิงแส ซ่อมแซมสะพานยาว ขุดลอกสระโพธิ์ ได้เป็นสาธารณประโยชน์มาจนถึงชนรุ่น ป.สข.๓๔๗ อย่างผม
     คุณครูชื่น เมืองศรี บันทึกไว้ในหนังสือ "ความดีไม่สูญ เทิดทูนเชิงแส" ว่า...เนื่องจากพ่อท่านเมฆ เห็นเด็กเรียนในโรงธรรมคับแคบและเบียดเสียดยัดเยียดกันมากแล้ว ท่านมีความเมตตาจึงปรึกษาชาวบ้านสร้างอาคารเรียนให้ได้จัดชาวบ้านช่วยกันหาไม้แบบสร้างสะพานยาว คือไปตัดไม้ในป่าเขตจังหวัดพัทลุงบ้าง ขอรับบริจาคทั่วไปบ้าง เช่น เจ้าบ่าวที่เข้าป่าเพื่อตัดไม้เพื่อสร้างเรือน
     ด้วยความดีที่พ่อท่านเมฆได้ช่วยเหลือสร้างอาคารเรียนให้ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจาก คณะสงฆ์เป็นที่ “พระครูเมฆ ติสโร” ชื่อเสียงของท่านไม่ได้มีเพียงบ้านเชิงแส แม้แต่ถิ่นฐานบ้านไกลๆ ก็ย่อมทราบถึงความดี ความสามารถ ว่าพ่อท่าน “ศักดิ์สิทธิ์” ผู้คนต่างก็มากราบไหว้บูชาพึ่งบุญบารมีของท่านมากมาย และมาตอบแทนบุญคุณท่านด้วยการติดทองคำเปลวที่เท้าท่าน มหรสพประเภท หนัง ลิเก มโนราห์ มีให้ชาวเชิงแสดูกันไม่ค่อยขาด มหรสพโรงใดเดินทางผ่านเชิงแส ต้องแวะแสดงถวายเสียคืนหนึ่งก่อน หรือถ้าเร่งรีบต้องเดนทางจริงๆ ก็ต้องรำถวายหรือเชิดเครื่องต่อหน้าท่านเสียก่อนจึงเดินทางผ่านได้ มิฉะนั้นอาจต้องมีอันเป็นไปนาทางมิดีได้ เสียงพูดกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้น “ท่านจะถูกเอา” ซึ่งความจริงก็คือจิตใจของเจ้าตัวเองที่รู้สึกไม่สบายใจหากผ่านผู้มีบุญแล้วไม่ได้แวะคารวะท่าน เมื่อมหรสพมาแวะที่วัด ทางวัดก็จะตีตะโพนขึ้นให้ชาวบ้านรู้กันว่าเป็นตะโพนขอข้าวขอแกง หรือเวลาทางวัดต้องการน้ำกินน้ำใช้ก็ตีตะโพน ชาวบ้านก็เข้าใจ หาบน้ำจากสระโพธิ์ไปให้ ถ้ามหรสพใดประโคมเครื่องดนตรีขณะเดินผ่านบ้านเชิงแส ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นการแสดงคารวะต่อพ่อท่านเมฆ และต้องรีบเดินทางไปแสงดที่อื่น
     ตอนสุดท้าย ท่านได้นำชาวบ้านไปหาไม้ในเขตจังหวัดพัทลุง เพื่อนำมาสร้างอุโบสถและบูรณะกุฏิวิหารที่ชำรุด ท่านไปติดเชื้อไข้ป่าต้องรีบกลับมาวัด ยังไม่ทันถึงวัด ท่านต้องมรณภาพระหว่างการเดินทางกลับ...เหมือนดังที่แม่กล่าวว่า “ต้นโพธิ์ใหญ่ของบ้านเชิงแสล้มเสียแล้ว”

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

บทที่ ๓ สินนุราชคำกาพย์ เชิงศิลป์ เชิงกวีที่เชิงแส


บทที่ ๓ สินนุราชคำกาพย์ เชิงศิลป์ เชิงกวีที่เชิงแส


     "ว่าพลาง พลางชมพนมพนัส เห็นหมาหมูแม่นหมี ชนีแห นกเขาขานขันขับแล้วจับสังแกเมื่อหันแลก็เห็นกวาง หมลังที่ย่างเดิน..." น้าหลวงขับกลอนสดอยู่บนยอดตาลโตนดขณะที่กำลังปาดตาล เสียงสดใสดังไปไกล ต้นตาลต้นนี้ขึ้นเป็นตาลต้นเดี่ยวอยู่ที่ริมคลองเชิงหัวสะพานยาววัดหัวนอน ใกล้ๆแถวต้นคุระ ปฏิภาณกวีกลอนสดแบบชาวบ้านลอยมาอย่างนี้ หวนให้นึกให้คิดไปถึงความเป็นแหล่งรวมปราชญ์ด้านกาพย์กลอนที่วัดหัวนอนบ้านเชิงแสของเรา เพราะที่วัดนี้เป็นที่เก็บคำประพันธ์ซึ่งรังสรรค์ขึ้นของเหล่ากวีมานานแล้ว ...จึงปรากฏหลักฐาน "หนังสือบุด" ต้นฉบับบันทึกวรรณกรรมไว้หลายเรื่อง คือ "สินนุราชคำกาพย์" "มโหสถ" และ "โสนน้อย"....อันเป็นวรรณกรรมอักขระในสมัยอยุธยา ที่วัดเชิงแสใต้แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่เก็บวรรณกรรมภาษาไทยเท่านั้น ยังเป็นที่เก็บคำสวดวรรณกรรมภาษาขอมอีกด้วย


(อุโบสถวัดเชิงแสใต้ซึ่งเคยเป็นที่เก็บวรรณกรรมทั้งสามเล่มดังกล่าวข้างต้น...ส่วนบริเวณหลังอุโบสถนั้นเป็นหมู่กอจากริมชวากคลอง พื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมไปด้วยต้นกระจูดหนูและไม้น้ำหลายชนิด ...ที่สำคัญก็คือเป็นแหล่งที่มีปลากัดชุกชุมมาก ระหว่างพักเที่ยงผมกับเพื่อนสนิทเคยมาช้อนปลากัดจนลืมเข้าเรียน ครั้นกลับไปถึงโรงเรียนคุณครูท่านหนึ่งถือไม้เรียวรออยู่ที่บันได เราถูกตีคนละ ๓ ที)

     กล่าวเฉพาะวรรณกรรมภาษาไทยโบราณทรงคุณค่าจากบ้านเชิงแสทั้งเรื่องโสนน้อยและสินนุราชคำกาพย์สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถบรรพชนคนเชิงแสในเชิงวรรณศิลป์ได้อย่างดีเยี่ยม กล่าวคือ เรื่องโสนน้อยผู้แต่งนิพนธ์บทประพันธ์ได้อย่างไพเราะตลอดทั้งเรื่องและทั้งเรื่องใช้โวหารเด่นในลักษณะบรรยายโวหารก่อให้เกิดลำดับเรื่องราวด้วยภาพชัดเจน
     ส่วนเรื่องสินนุราชคำกาพย์นั้น จัดเป็นวรรณกลอนสวด ที่มีลายลักษณ์อักษรละเอียดบริบูรณ์ เรื่องนี้เก็บอยู่ที่วัดหัวนอน หรือวัดเชิงแสให้ครบทั้งสี่เล่ม หนา ๔๙๔ หน้า ผู้แต่งประพันธ์เรื่องด้วยกาพย์ ๓ ชนิด คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบับ ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
     เมื่อได้อ่านทั้งสองเรื่องแล้วน่าภูมิใจว่าบรรพชนชาวเชิงแส ได้สร้างสรรวรรณกรรมในระดับชาติไว้สด้วยความดีทั้งกายวาจาใจ ยากที่ชุมชนเล็กๆ แห่งใดในประเทศนี้ที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงจักสรรค์สร้างได้

     “โสนน้อย”

     โสนน้อย เป็นวรรณกรรมประโลมโลก ต้นฉบับเป็นหนังสือบุดขาวแต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
     เนื้อเรื่องโดยย่อมีว่า นางโสนน้อยธิดาท้าวหัสวิไชกับนางเกศนีแห่งเมืองโรมวิไส วิตกเรื่องที่โหรทำนายว่านางจะได้พระสวามีเป็นผีต่างเมือง นางเกรงว่าหากเป็นจริงก็จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระบิดา นางจึงหนีออกจากเมือง พระอินทร์ทราบเหตุเช่นนั้นก็ทรงพระเมตตาประทานของวิเศษให้ ของวิเศษดังกล่าวสามารถชุบชีวิตได้ ขณะที่เดินป่านางได้พบศพนางคูลาจึงชุบชีวิตขึ้นมาเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง เมื่อโสนน้อยเดินต่อมาถึงอุทยานเมืองนพรัตน์ก็ได้ชุบชีวิตพระพิจิตรโอรสท้าวกาสิกราชและนางประไพลัคนา ณ ที่เมืองนพรัตน์นี้ ในขณะที่นางสรงน้ำได้ถูกนางคูลาซ้อนกลขโมยเครื่องทรง แล้วเรียกตนเองว่าโสนน้อย กับได้บังคับให้โสนน้อยเป็นข้าเรียกชื่อเป็นนางคูลาแทน จากนั้นนางคูลาทูลขอเป็นมเหสีของพระพิจิตร พระพิจิตรตอบรับแต่ทรงให้รอการอภิเษกไว้ก่อน
     ต่อมาพระพิจิตรออกเที่ยวทะเล เรือพระที่นั่งถูกพายุพัดไปจนถึงเมืองโรมวิไส ชั้นที่พระพิจิตรจะกลับเมือง ท้าวหัสวิไชทรงฝากเรือนหลังเล็กๆ ไปถึงโสนน้อยด้วย และกำชับให้ ๒ อำมาตย์ คือ บันลาดและรัชดา ทำทีเป็นพ่อค้าตามสืบข่าวโสนน้อยไปพร้อมกันด้วย
     เมื่อพระพิจิตรเดินทางกลับมาถึงเมืองนพรัตน์ พระองค์ทรงยกเรือนน้อยแต่ยกไม่ขึ้น เหตุครั้งนี้ยังความประหลาดพระทัยแก่พระพิจิตรเป็นครั้งที่ ๒ โดยครั้งแรกตอนจะออกทะเลก็ถอนสมอเรือไม่ขึ้นมาคราหนึ่งแล้ว ต้องให้นางโสนน้อยมาถอนจึงถอนสมอเรือได้สำเร็จ เมื่อทรงยกเรือนน้อยไม่ได้จึงตรัสให้หาโสนน้อยมาอีก ครั้นโสนน้อยมาถึงนางก็เข้าไปภายในเรือนน้อยได้เป็นที่อัศจรรย์ โดยในเรือนนั้นมีบริเวณกว้างขวาง พร้อมสรรพด้วยเครื่องตกแต่งและสนมกำนัลเป็นจำนวนมาก อันยังความประหลาดใจแก่พระพิจิตรเป็นอย่างยิ่ง หลังจากพระพิจิตรเข้าเฝ้าพระชนกชนนีแล้ว ตกราตรีก็มาประทับด้วยโสนน้อยทุกคืน แต่ทั้งสองหาได้เสียกันไม่
     ฝ่ายนางคูลาเมื่อเห็นโสนน้อยหายไป ก็ออกตามหาจนมาถึงเรือนน้อยซึ่งอยู่ในเรือ นางคูลาได้ยินเสียงพูดจากข้างใน จึงจำได้ว่าเป็นเสียงของโสนน้อย จึงเรียกให้ออกมาหานาง ครั้นโสนน้อยไม่ปฏิบัติตาม นางคูลาจึงเรียกให้สนมกำนัลช่วยเหลือ แต่ทุกคนไม่ช่วยทำให้นางคูลาโมโหมาก เข้าไปจะยกเรือนน้อยทิ้งทะเล แต่ยกเท่าไรเรือนน้อยก็ไม่ขยับเขยื้อน ซึ่งยิ่งเพิ่มความโมโหให้แก่นางและนางคูลาได้กล่าวผรุสวาทต่างๆ นานา พระพิจิตรจึงให้ทหารออกไปจับตัวแล้วนำไปสอบสวนหน้าพระที่นั่ง นางคูลารู้ว่ากลแตกจึงรับสารภาพ โดยเล่าเรื่องหนหลังให้ฟัง นางจึงถูกลงโทษให้เป็นทาสอยู่ประจำสวนอุทยาน ฝ่ายโสนน้อยนั้นท้าวกาสิกราชโปรดให้เข้าวัง และมีสาสน์ถึงท้าวหัสวิไชกราบทูลความทั้งหมดให้ทรงทราบ
     เรื่องโสนน้อยนี้ผู้แต่งสื่อให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องวาสนาบารมีว่าผู้ที่มีบุญวาสนาและความดีแม้จะตกยากก็ย่อมได้ดีในที่สุด ส่วนคนชั่วนนั้น แม้จะพยายามอย่างไรก็สำเร็จได้ยาก
     นอกจากนั้นเรื่องโสนน้อยเรื่องนี้แฝงการสั่งสอนอบรมไว้โดยอ้อมว่าการตั้งต้นในทางมิจฉาทิฐิย่อมก่อให้เกิดโทษภัย ยิ่งมิจฉาทิฐิกระทำต่อบุคคลผู้มีพระคุณด้วยแล้วก็ยิ่งก่อภัยมหันต์แก่ตนเอง
     ผู้แต่งเรื่องโสนน้อย แต่งคำกาพย์ได้อย่างไพเราะตลอดทั้งเรื่อง โดยใช้โวหารที่เด่นที่สุดก็คือบรรยายโวหาร ซึ่งสามารถลำดับเรื่องราวให้เห็นเป็นขั้นตอนและให้เห็นภาพพจน์ชัดเจน ถ้อยคำที่ใช้เรียบง่ายก็จริงแต่เป็นคำกวีที่ไพเราะทั้งด้านเสียงและภาพลักษณ์ ดังตอนพระพิจิตรเข้าเรือนเพื่อหาโสนน้อย ที่ว่า

     "จะเข้าในเรือนน้อย      โสนงามของโฉมศรี
ให้พบยุพาพี่      ได้สมดังมโนปอง
หัตถ์ผลักทวาเรศ      พระทรงเดชคะนองลอง
เสียงกริ่งพระนิ่งจ้อง      ก็เปิดออกสะดวกดาย
พระเสด็จดำเนินหงส์      จับประจงแล้ววางชาย
เนตรส่องแสวงสาย      สวาทน้องอยู่ห้องไหน
เสด็จถึงที่ฉากกั้น      ลูกกลอนลั่นออกด้วยไว
พวกนางระบำใน      ก็ก้มเกล้าชุลีกร
ต่างคนต่างขยับหนี      รู้ทีสโมสร
บุ้ยปากให้เพื่อนจร      ไปหลับนอนตามประสา
     ปางโฉมพระพิจิตร      สุริวงศ์ก็ทัศนา
สรรพสิ่งยิ่งโอฬาร์      มีลดหลั่นเป็นชั้นเฉลียง
ประทีปแก้วส่องสว่าง      หม่อมท้าวนางนอนบนเตียง
พิศพักตร์ก็คบเคียง      ละม้ายแม้นเหมือนเลขา
สมบูรณ์พูนเพิ่มสวัสดิ์      ท้าวเนาวรัตน์อลงการ์
แต่องค์วนิดา       แม่มิ่งมิตรสถิตไหน
มาถึงฉากกระจก      กระหนกเกี่ยวกระหนาบไป
ลับแลแก้วประไพ      ก็โชติช่วงวิเชียรพราย
คมเลิศประเสริฐพิศ      ชวลิตสกุลลาย
เด่นดวงมังกรราย      กระหนกหางเหมือนอย่างจริง
     มลังเมลืองงาม      อร่ามศรีมณีสิงห์
โตดูประดุจจริง      มาชิงดวงมณีชม
ระย้าระยาบยับ      แสงวาบวับระบายถม
สลับสีควรภิรม      เยศท้าวเสด็จคลา
ถึงที่ศรีไสยาสน์      พระหน่อนาถชำเลืองหา
เปิดพระวิสูตรมา      สุคนธ์รื่นยังชื่นทรวง"


     ส่วนโวหารอุปมานั้นเล่า ผู้แต่งก็ใช้คำได้คมคาย ปรากฏในตอนนางโสนน้อยกล่าวบ่ายเบี่ยงต่อคำฝากรักของพระพิจิตร โดยยกเอาความไม่คู่ควรที่พญานาคจะสมจรกับงูดินขึ้นมาเปรียบว่า

     "ไม่ควรเกียรติยศท้าวไท      เกียรติยศเป็นใหญ่
ทั่วพื้นพิภพสากล
     ประมาณเหมือนพระยานาคฤทธิรณ      ไม่รู้สงวนตน
มาระคนสมจรงูดิน
     เจ็ดเศียรเจ็ดพักตร์สุกริน      ครหาจะฉิน
ตราบเท่าจนสิ้นอวสาน"


      “สินนุราชคำกาพย์”

     วรรณกรรมกลอนสวดที่ล้ำค่าเรื่องนี้ ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าน่าจะจัดอยู่ในระดับ “มรดกของชาติ” ได้ทีเดียว เนื่องจากผู้แต่งใช้คำประพันธ์ได้อย่างลงตัวในความผสมผสานคำกาพย์ อีกทั้งเนื้อหาชวนอ่าน ที่สำคัญหนังสือทุกหน้าทั้ง ๔๙๔ หน้ายังบริบูรณ์ดีอย่างยิ่ง ลูกหลานชาวเชิงแสควรจะอิ่มเอมใจ และควรจะระลึกว่าตั้งแต่มีบ้านเชิงแสมาหลายร้อยปีแล้ว ในยุคปัจจุบันชาวเชิงแสและอนุชนคนบ้านนี้ยังไม่สามารถสร้างวรรณกรรมคำกาพย์ได้เช่นที่บรรพชนสรรค์สร้างมา...
     วรรณกรรมเรื่องสินนุราชคำกาพย์ เรื่องนี้ มีทั้งหมด ๔ เล่มหนังสือบุด พิจารณาจากอักขระแล้วน่าเชื่อว่าเขียนขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับสมุดภาพแผนที่กัลปนาดังที่ผมกล่าวไว้ในบทที่ ๒ ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เข้าใจว่าต้นฉบับเดิมชำรุดเช่นเดียวกับเรื่องโสนน้อย จึงมีพระเชิงแส ๔ รูป หรือไม่ก็ชาวเชิงแส ๔ คน หรือทั้งพระทั้งประสกต่างช่วยกันคัดลอกขึ้นไว้จากต้นฉบับเดิม จึงปรากฏว่าอักษรที่ใช้ยังเป็นอักษรเดิม มิใช่อักษรสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พิจารณาโดยเทียบกับกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑ ทั้งฉบับหอหลวง และฉบับศาลหลวง ...(ฉบับศาลหลวงนั้นในช่วงปี ๒๔๘๖ เป็นต้นมาหายไปมากต่อมากน่าเสียดายจริงๆ)...) ...เมื่อคัดลอกแล้วเสร็จ ก็ยังคงเก็บไว้ที่ในอุโบสถวัดเชิงแสใต้เช่นเดิม...โดยคณะผู้คัดได้เขียนกำชับห้ามมิให้ผู้อ่าน "ทำให้เปื้อนน้ำหมาก ห้ามนอนอ่านเพราะจะทำให้หนังสือยับ..." กับเล่าไว้ด้วยอารมณ์ขันว่าผู้เขียนนั้น "นั่งเขียนกันจนเข็ดเอว ใครยืมไปอ่านแล้วไม่รักษา หมาทั้งชาติ"...

     สินนุราชคำกาพย์ ต้นฉบับหนังสือบุดขาว (ปุสตก (ส.) โปตถก(บ.)) ของวัดเชิงแสใต้เป็นวรรณกรรมชาดกนอกนิบาตที่มีความล้ำค่าหลายประการ กล่าวคือ
     ๑. ล้ำค่าด้านอรรถรสของวรรณคดีเนื่องเพราะกวีชาวเชิงแสใช้โวหารภาษาอุปมาอุปไมยได้อย่างยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
     ๒. ล้ำค่าด้านการลำดับผสมผสานเรื่องราว โดยกวีแบ่งซ้อนเนื้อเรื่องเป็นสองตอน ตอนที่หนึ่งแต่งใช้เค้าเรื่องจากสุธนูชาดก ในปัญญาสชาดก ตอนที่สองแต่งโดยนำอนุภาค ของเรื่องรามเกียรติ์และจันทโครพมาเป็นเค้าเรื่อง ดังนั้นเรื่องในตอนแรกจึงมีพระสัชนูเป็นตัวเอก ส่วนตอนที่สองมีพระสินนุราชโอรสพระสัชนูเป็นตัวเอก
     ๓. ล้ำค่าด้านเจตนารมณ์ในการประพันธ์ เนื่องจากกวีชาวเชิงแสประพันธ์เรื่องสินนุราชคำกาพย์เพื่อเป็นหนังสือสวดที่หมายมุ่งสั่งสอนจริยธรรมแก่ผู้คน
     ๔. ล้ำค่าด้านการสอดแทรกวิถีผู้คนและชุมชนเข้าไว้ในเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คติธรรม ความเชื่อ ขนบ ความเป็นอยู่ และสภาพของสังคมขณะประพันธ์ ทำให้เห็นสภาพของบ้านเชิงแสและชุมชนใกล้เคียง จากคำประพันธ์อันสูงค่าเช่นนี้ จึงนับได้ว่าสินนุราชคำกาพย์เปรียบเหมือนหนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกของบ้านเชิงแส
     หากได้เห็นหนังสือบุดขาวสินนุราชคำกาพย์แล้ว เชื่อว่าชาวเชิงแสและลูกหลานชาวเชิงแสจะปลื้มใจจนน้ำตาไหล และก้มกราบหนังสือทั้งสี่เล่มนี้ได้โดยไม่รู้ตัวทีเดียว ด้วยการทรงคุณค่าของวรรณคดีดังที่ผมกล่าวแล้ว ทั้งหนังตลุงและมโนราจึงนำเอาบางช่วงบางตอนมาเป็นบทแสดงของมหรสพชาวใต้ทั้งสองประเภท
     ๕ ล้ำค่าด้านอักขระในการแต่ง กวีผู้แต่งเรื่องสินนุราชท่านนี้เป็นผู้ที่เป็นปราชญ์ซึ่งได้อ่านและมีการศึกษาขั้นสูง จึงทำให้นำเค้าเรื่องจากชาดกและวรรณคดีมาแต่งเป็นคำสวด ด้วยกาพย์ ๓ ประเภท ได้อย่างมีอรรถรสวิจิตรด้วยอักขระและภาษากวี ยากที่จะเลียนแบบได้ แม้ไม่ยากที่เราชนรุ่นหลังจะเดินตามทางกวีของท่าน แต่ก็คงเดินตามได้ห่างๆ เท่านั้น กล่าวสำหรับผมนั้นคงหมดสิทธิเดินตามทางกวีชั้นสูงของปราชญ์เชิงแสท่านนี้อย่างแน่นอน อย่าว่าแต่เดินตามเลย คลานตามจะไหวหรือเปล่าก็ยังไม่รู้
       ๕.๑ อักขระเดิมที่แต่ง กวีชาวเชิงแสผู้ไม่ปรากฏนามแต่งโดยใช้อักขระสมัยอยุธยา แต่ในชั้นที่มีการคัดลอกลงหนังสือบุดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ผู้คัดลอกมีอย่างต่ำ ๔ ท่าน ดังที่กล่าวแล้วตอนต้นคัดลอกโดยใช้อักษรไทยรัตนโกสินทร์ตอนต้นผสมอยู่ด้วย ตัวอักษรที่ได้คัดได้เขียนมามีการเล่นหางเป็นระเบียบ และสม่ำเสมอด้วยวางแนวตัวอักษรไว้ใต้บรรทัดทั้ง ๔๙๔ หน้า การจบเรื่องใช้คำว่า “ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๙๖ พระพรรษา ปีฉลู เบญจศก เขียนจบ ณ วัน ๖ ฯ ๓, ๑๒ แลท่านเอย”
       ๕.๒ วรรณกรรมภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เพราะกวีผู้แต่ง แต่งด้วยความศรัทธาให้เป็นหนังสือสวดสอนจริยธรรม กวีมีจิตใจสูง ไม่ต้องการชื่อเสียง ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ผู้เขียนหนังสือมักจะลอกเนื้อหาจากหนังสือเล่มอื่น แล้วต่างต้องการชื่อเสียงเป็นของตัว โดยไม่ยอมอ้างอิงที่มา เช่น หนังสือเรื่อง “หมิ่นประมาทพระบิดาแห่งกฎหมายไทย” อัยการและทนายความได้ลอกไปจากหนังสือ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ที่ผมเรียบเรียงขึ้นและได้รับรางวัลพระราชทานดีเด่นแห่งชาติ แต่อัยการกับพวกไม่อ้างอิงชื่อผม “ที่ตลกก็คือ มีบางข้อความ บางพ.ศ. พิมพ์ผิด ก็ยังคัดลอกไปอย่างผิดๆ” เช่น ปีพ.ศ.๒๔๔๗ นั้นผิด ที่ถูกเป็นปีพ.ศ.๒๔๔๖ เป็นต้น ผมไปพบเข้าโดยบังเอิญ ตอนนี้ก็ยังมีจำหน่ายอยู่ โดยสำนักพิมพ์ใหญ่ระดับประเทศรับจัดจำหน่ายให้ ก็ต้องขออวยพรให้ทั้งอัยการกับทนายความผู้ลอกผลงานของผมและสำนักพิมพ์ยิ่งใหญ่ผู้จำหน่ายนั้น จงมีความรุ่งเรือง มีความร่ำรวยและความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ
     กลับมาที่เรื่องสินนุราชคำกาพย์ฉบับวัดเชิงแสหัวนอนหรือวัดเชิงแสใต้ต่อดีกว่า อยากจะกล่าวว่าตอนจบเรื่องสินนุราชผู้แต่งกวีได้แสดงความมีจิตใจสูงให้ได้เห็นโดยกล่าวไว้ว่า “ผู้ได้สร้าง ไว้เป็นที่อ้าง คือปักหลักชัย บุญนั้นหนักหนาผู้มาอีมไป (คือมายืมไป...ผู้เขียน) อ่านครั้งหนึ่งไซร้ ได้บุญสิบกัลป์”

     ก่อนจบเรื่องนี้ใคร่ขอยกตัวอย่างลักษณะเด่นของสินนุราชคำกาพย์ พอสังเขป ดังนี้...+++... .......บทชมธรรมชาติ......+++เพลาเมื่อรุ่งเช้า...พระปิ่นเกล้าชมสระศรี...แมงภู่หมู่ภุมรี...ชมมาลีกลิ่นละออง...+++...บัวหลวงแลบัวครั่ง...ดอกสะพรั่งอยู่เรืองรอง...คืออุรังเจ้าทั้งสอง...น้วรลอองทังคูเคียง(วรรคนี้ผมตั้งใจใช้คำดั้งเดิมตามหนังสือ แปลเป็นภาษาปัจจุบันให้เหมือนวรรคอื่นว่า /นวลละอองทั้งคู่เคียง/)...+++...เดินพบจัตุบาท...เที่ยวเกลื่อนกลาดอยู่ในดง...เสือโคร่งอันย่องยง...เที่ยวจ้องครองมองกวางทราย...+++...ละมั่งละมาดมี...เสือดาววิ่งไล่โคควาย...หมีแรดแผดมาใกล้...พระเลิศชายไม่เงืองงง... .....หรืออีกบทหนึ่ง.......+++สายหยุดพุดทรา...ชมนาดจำปา...ลิซ้อยมะลิวัลย์...ชงโคโยธิกา...กระดังงาอัญชัน...กระถินอินจัน...รถนั้นโอฬาร์... .....หรืออีกบทหนึ่งตอนที่พระสัชนูอยู่ในป่า ที่ว่า.....+++สุริยาลับเมรุผัน...แสงพระจันทร์สว่างใส...ภูธรนอนใต้ไทร...มีสระใหญ่ใจสำมราญ...+++แสงเดือนสว่างแผ้ว...คือแสงแก้วในชลธาร...น้ำใสพ้นวิกาล...ได้ชื่นบานในอินทรีย์...+++เพลาเมื่อรุ่งเช้า...พระปิ่นเกล้าชมสระศรี...แมงภู่หมู่ภุมรี...ชมมาลีกลิ่นละออง... .....นอกจากนั้นสินนุราชคำกาพย์ยังมีบทอุปมาอุปไมยตอนที่นางเกศสุวรรณมาลีสลบเพราะปราบนรินทร์กินผลไม้พิษ นางเข้าใจว่าถึงแก่ความตาย จึงรำพึงเปรียบเทียบ ว่า....+++ถ้าพระเป็นนกเปล้า/เมียทรามเคล้าเป็นไพรวัลย์/เป็นที่พระทรงธรรม์/เข้าขันร้องพร้องเจรจา...+++ถ้าพระเป็นแขกเต้า/เมียคูเคล้าเปนสาริกา/สรรพสัตว์สกุณา/เมียนี้หนาเป็นป่าไพร....+++ถ้าพระเป็นทรายทอง/เมียร่วมห้องเป็นหญ้าไซ/ให้ท้าวสำมราญใจ/ที่ในแผ่นพระสุธา....+++ถ้าพระเป็นแมลงภู่/เมียร่วมชู้เป็นบุปผา/ถ้าพระเป็นมัจฉา/เมียนี้หนาเป็นวารี...+++ถ้าพระเป็นคชสาร/กระหม่อมฉันเป็นพงพี/ถ้าพระเป็นราชสีห์/ตัวเมียนี้เป็นคูหา... ......น่าประทับใจในคำประพันธ์ของกวีชาวเชิงแสบ้านแม่บ้านเกิดจริงๆ เชียวครับ อ่านแล้วอยากกลับบ้าน ใครที่จากบ้านมานานก็ควรจะกลับบ้านสักครั้งได้แล้วกลับกันให้ครบ หลบเชิงแส ......ยังมีอีกบทหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเพื่อยกย่องกวีนิรนาม ก็คือรสวรรณคดีที่เป็นการเล่นคำ เช่นคำว่า..+++ร้วย ๒ ภระภ้ายภา/ต้องอุราใหอาใหลย/ราง ๒ รมางไนย/ก้วรภระไทยเจาขึนมา...+++บัดเดียวภระภ้าย/ภัดตองออรไทย/เร้งย้ายโรปา/เร้งตองเร้งเต้ง ครัดเคร้งขึนมา/ยิงชมยิงชา/ยิงมาลารใจ...(แปลเป็นอักขระปัจจุบันว่า...รวยรวยพระพายพา/ต้องอุราให้อาลัย/รางรางระมางใน/กวนพระทัยเจ้าขึ้นมา....+++บัดเดี๋ยวพระพาย/พัดต้องอรทัย/เร่งย้ายรูปา/เร่งต้องเร่งเต่ง/ครัดเคร่งขึ้นมา/ยิ่งชมยิ่งชา/ยิ่งมาลานใจ... ......ด้วยความที่วัดเชิงแสใต้เป็นแหล่งกวีเชิงศิลป์เช่นกล่าวแล้ว ในระยะต่อมาลานวัดลานโรงเรียนก็เป็นที่รวมการแสดงมหรสพหลายประเภท ผมนั้นทันได้เห็นโนราแข่ง หลังตลุงแข่งหลายคณะ ผมเคยได้ดูโนราเติมแข่งกับโนราเสน่ห์ที่ใต้ต้นเลียบใหญ่ จำได้ว่าผู้คนดูโนราเติมทั้งนั้น โนราเสน่ห์ไม่มีใครดูนอกจากผมและเพื่อนกับชาวบ้านบางคน ตัวผมนั้นปีนขึ้นไปนั่งบนโรงโนราใกล้คนตีโหม่ง ดูสนุกมากสนุกอยู่คนเดียว หนังตลุงที่วัดเชิงแสใต้ตั้งโรงที่ใกล้ต้นประดู่ใหญ่ริมสระรักทางไปป่าช้าบ้านเชิงแส ผมได้ดูหนังกั้น ทองหล่อ เล่นเรื่องที่พระเอกร้องเรียกชาวบ้านทุกหัวรุ่งให้ได้ตื่นไปทำนา หนังสกุล เสียงแก้ว จากสงขลาผมก็เคยดูหลายครั้งมาก ดูจนตอนหลังเปลี่ยนเป็น หนังสกุล ตลุงชาโดว์ แต่มหรสพที่คนดูกันจนมืดฟ้ามัวดินก็คือ ลิเกคณะบุษบา ที่มีพระเอกชื่อ ประเทือง เสียงกาหลง การรับลิเกคณะบุษบาไปเล่นไปเปิดการแสดงที่สนามหน้าโรงเรียนวัดเชิงแสเมื่อปี ๒๕๑๘ นั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก ชาวบ้านเชิงแสถึงกับตั้งคณะกรรมการเดินทางมาที่สำนักงานของบุษบาที่ถนนงามวงศ์วาน กรุงเทพฯ กันเลยที่เดียว.. หลบเชิงแส...