วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทที่ ๘ "คุรุเมธี" ที่เชิงแส ครูของแม่และครูของผม


บทที่ ๘ "คุรุเมธี" ที่เชิงแส ครูของแม่และครูของผม



(พระเถระของบ้านเชิงแส และคณะคุณครูโรงเรียนวัดเชิงแส กับคณะกรรมการโรงเรียน ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าอาคาร ๒ ...ด้านขวามือของภาพ...จะเห็นรูปของคุณครูหลัก มุสิกรักษ์ ครูของแม่อยู่ในกรอบภาพถ่ายเป็นเกียรติเป็นศรีอยู่เสมอมาทุกสมัย...+++...ภาพแถวนั่ง(จากซ้าย).ครูเสรี ชุมทอง,ครูปราโมทย์ น้อยเสงี่ยม,ครูบวร วรารัตน์,พระจวง,พระครูประทักษ์ธรรมานุกูล,พระครูปิยสิกขการ,ครูเทิด จินดานาค,ครูชื่น เมืองศรี...ภาพแถวยืน(จากซ้าย)น้าจ้วน สาโรจน์,ลุงจูด สังขะบุญญา,น้ากิมจั่น ประพันธ์ ธีระกุล,ครูแอบ ศิริรักษ์,น้านิตย์ นกเพชร,แปะล่อง พรหมบรรจง,ครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์,ลุงดิษฐ์ ปิ่นทองพันธ์,น้ากำนันลิ่ม ประชา สมุทรจินดา,และลุงแมว นวลละออง)

     ผมขึ้นต้นบทที่ ๘ นี้ไว้ ด้วยคำที่ยิ่งใหญ่โดยความรู้สึกของผมจริงๆ คือผมรู้สึกว่า เมื่อผมโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีโอกาสได้ทำงานที่มีเกียรติและมีโอกาสได้เขียนหนังสือสำคัญหลายเล่ม เช่น หนังสือเรื่อง "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" ...หนังสือเรื่อง "๘๔ พรรษา พระภูมิบาล รอยเสด็จฯ ภูมิสถาน ศาลยุติธรรม" ...เป็นบรรณาธิการหนังสือ "คุรุเมธี ธานินทร์ กรัยวิเชียร" กล่าวเฉพาะหนังสือเล่มหลังนี้ จัดทำขึ้นในวาระที่ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี มีอายุครบ ๘๔ ปี คำว่า "คุรุเมธี" นี้ผมคิดขึ้นด้วยตัวผมเอง และติดอยู่ในใจผมอยู่ตลอด ติดอยู่ว่า ที่จริงแล้วครูของแม่และครูของผมที่บ้านเชิงแสนั้นก็นับว่าเป็นปราชญ์และปูชนียบุคคลไม่ต่างกับครูบาอาจารย์ในวงการศาล สมควรแก่เวลาแล้วไม่ใช่หรือ? ที่เด็กบ้านนอกอย่างผมจะได้เขียนถึงท่าน แต่ก็ได้แต่ "จะ" และ "จะ" อยู่อย่างนั้น ไม่ได้เขียนเสียที่ เมื่อวานนี้เองท่านอาจารย์เธียร เจริญวัฒนา โทรศัพท์มาสอบถามเรื่องราชการบางอย่าง และพูดตบท้ายว่่า "ที่เชิงแสนั้นมีครูหลัก เป็นปูชนียบุคคลนะ จำได้มั้ย?." ผมตอบว่า "จำได้ครับ ท่านนามสกุล มุสิกรักษ์ ครับ บ้านท่านอยู่ที่เชิงแส ตรงที่เรียกว่า คลองคด ครูหลักเป็นครูของแม่ ส่วนครูของผมนั้นมีหลายท่าน ท่านหนึ่ง ชื่อ ครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ " ขณะนี้ทั้งครูของแม่และครูของผมไม่อยู่แล้ว.........++++++.........บทนี้จึงเป็นเรื่องครูของแม่และเรื่องครูของผม.....

     เบื้องต้น ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องครู ก็ควรต้องเริ่มที่โรงเรียนก่อน โรงเรียนของแม่และโรงเรียนของผมนั้น ชื่อ "โรงเรียนวัดเชิงแส (เมฆประดิษฐ์)" ครูของแม่คนแรกและน่าจะเป็นคนเดียวที่ต้องสอนตั้งแต่ประถม ๑ ถึงประถมปีที่ ๔ คือ คุณครูหลัก มุสิกรักษ์ ครูหลักเป็นครูคนแรกของโรงเรียนวัดแห่งนี้ ครั้นเมื่อพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์เริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นในปี ๒๔๖๕ นั้น ท่านให้ใช้โรงธรรมของวัดเชิงแสใต้ หรืออีกชื่อหนึ่งอันเป็นชื่อมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ว่า "วัดเชิงแสหัวนอน" เป็นโรงเรียนเป็นสถานที่สอนหนังสือของครูเป็นที่เรียนหนังสือของเด็ก ครั้นถึงปี ๒๔๗๙ แม่อายุได้ ๘ ปี แม่ก็ไปนั่งเรียนหนังสือในโรงธรรมแห่งนี้ ด้วยความที่พื้นโรงธรรมเป็นกระเบื้องขนาดใหญ่ขนาดแต่ละแผ่นสิบสองนิ้วคูณสิบสองนิ้ว แม่และเพื่อนๆ ทั้งหญิงทั้งชาย เช่น พระครูปิยสิกขการ (พร้อม ปิยธัมโม , ป.ธ.๔) คุณน้าเลื่อน เครือแก้ว คุณน้าจูเหี้ยง จิระโร จึงนั่งกันคนละแผ่นกระเบื้องเป็นที่นั่งเรียนหนังสือ เพราะไม่มีทั้งโต๊ะและเก้าอี้ นั่นคือโรงเรียนแรกของแม่ "ครูหลัก" ท่านทุ่มเทและตั้งใจสั่งสอนนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง กล่าวได้ว่าท่านเป็น "หลัก" ทางการศึกษาให้แก่เด็กบ้านเชิงแสสมแก่ชื่อของท่าน จึงด้วยความทุ่มเทดังกล่าวเด็กเชิงแสโดยเฉพาะเด็กหญิงเช่นแม่ที่ไม่สามารถบวชเรียนทางพระได้ จึงได้มีความรู้อ่านออกเขียนได้ แม่เรียนจบชั้นประถม ๔ จากที่นี่แล้ว ก็ถือว่าจบการศึกษาในระบบโรงเรียน ชีวิตของแม่ที่เหลือจึงเป็นชีวิตที่ต้องอาศัยบ้านเชิงแส คลองเชิงแส ทะเลสาบสงขลา และท้องนาท้องทุ่ง เป็นสถานศึกษา และเป็นที่สอนวิชาความรู้ให้แก่ผม ที่ผมจำได้ไม่ลืมเลย ก็คือ วันหนึ่งที่แม่และผมเดินตามคันนากลับบ้าน แม่สอนผมว่า เมื่อลูกเรียนจบที่โรงเรียนเชิงแสแล้ว ต้องเรียนชั้นสูงขึ้นที่ในเมืองที่สงขลา และจากนั้นก็เรียนหนังสือให้สูงขึ้นอีกที่กรุงเทพฯ ผมถามแม่ว่าคนเรียนจบที่กรุงเทพฯแล้ว เขาเรียนที่ไหนต่อ แม่ตอบผมว่า "เรียนที่เมืองนอก" ผมถามว่า "เมืองนอกพันพรื้อแม่? เมืองนอกอยูเท่ไน่?" แม่ตอบว่า "เมืองนอกอยู่ต่างประเทศ ภาษาเขาแหลงกันไม่เหมือนประเทศเรา ต้องไปทางเรือเหาะ" ที่บ้านผมไม่มีทั้งวิทยุและโทรทัศน์ แม่รู้ได้อย่างไรว่าโลกนี้มีเมืองนอก? แม่รู้ก็เพราะแม่ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเชิงแสและเพราะแม่มีครูที่ชื่อว่า "ครูหลัก มุสิกรักษ์" นั่นเอง

     กาลต่อมา โรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์)มีคุณครูผู้สอนสั่งเพิ่มอีกสองสามท่าน บางท่านนักเรียนและชาวบ้านก็ตั้งฉายาให้เหมือนกัน เช่น ให้ฉายาครูจ่าและครูแดงว่า ...."ครูจ่าขี้แหลง ครูแดงขี้เมา" เป็นการให้ฉายากันด้วยความเคารพตามบุคลิกอุปนิสัยของท่าน โดยมิได้มีเจตนาลบหลู่แต่อย่างใด ครูของโรงเรียนนี้เป็นครูผู้ชายทั้งนั้น จนกระทัั่งถึงปี ๒๕๑๘ จึงมีครูผู้หญิง ท่านบรรจุใหม่ มาสอนวิชาภาษาอังกฤษ คุณครูสตรีท่านนี้ ชื่อว่า "คุณครูสุพร หมานมานะ" เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ที่ผ่านมาท่านเกษียณแล้วครับ เกษียณอายุราชการที่โรงเรียนบ้านกลาง และด้วยใจอันเป็นกุศลท่านจึงได้ตั้งกองทุนขึ้นเพื่อการศึกษา ผมทราบข่าวนี้จึงได้มีโอกาสร่วมบุญด้านการศึกษากับครูสุพร ครูผู้หญิงคนแรกของผม...และหากโลกนี้สามารถของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้จริง ก็ขอให้กุศลจิตของผมคราวนี้ จงส่งผลให้นักเรียนโรงเรียนวัดเชิงแส (เมฆประดิษฐ์)โรงเรียนแห่งแรกของครู จงสำเร็จการศึกษาชั้นสูงเป็นคนดีและเป็นคนเก่งของสังคมทุกๆคน...ผมขอมากไปหรือเปล่าก็ไม่รู้??...คุณครูสุพรสอนวิชาภาษาอังกฤษในคราวนั้น ท่านได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประกอบการสอน คือ นำเครื่องเทปเปิดเสียงภาษาอังกฤษให้นักเรียนฟัง พวกเราตื่นเต้นกันมากทีเดียว...เมื่อคุณครูสุพรเริ่มสอนที่เชิงแสเป็นโรงเรียนแรกในวิชาชีพครูนั้น ครูอายุได้ประมาณ ๒๒ ปี เห็นจะได้ ครูเป็นสาวสวย แต่งกายด้วยชุดสวยเรียบร้อย นับได้ว่าครูเป็น "ดาวแห่งบ้านนาที่มาจากในเมือง"

     เขียนเรื่องราวของครู คุรุเมธีที่บ้านเชิงแสคราวนี้ได้ไม่มากนัก ผมมีข่าวที่น่าเสียใจที่จะเรียนให้ทราบว่า วันนี้ ...วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ คุณครูแอบ ศิริรักษ์ คุณครูที่สอนผมเมื่อชั้นประถม ๓ ได้จากไปแล้ว วันนี้เอง หลวงพี่ปรีชากรุณาแจ้งข่าวให้ทราบ ถือเป็นข่าวเศร้าของชาวเชิงแสครับ เมื่อปีก่อนผมกลับบ้านเพิ่งได้กราบครูมา นั่งคุยกับครูอยู่นานทีเดียว รู้สึกว่าครูยังแข็งแรงดีมากๆ ขอกราบคารวะคุณครูด้วยความอาลัยยิ่งครับ......"เทียนธรรมดวงนี้ให้แสงสว่าง ศิษย์เห็นแนวทางคุรุเมธี แม้ชีพเลือนลับดับล่วง เกียรติครูกลับช่วงเกินดวงมณี...คงคุณความดีเป็นศรีแผ่นดิน"

     ช่วงแรกของบทนี้ ผมได้กล่าวถึงคุณครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ ไว้บ้างแล้ว คุณครูวิทย์ก็นับว่าเป็นปูชนียบุคคลแห่งบ้านเชิงแสเช่นกัน ครูและแม่เกิดปีไล่เลี่ยกันและได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเชิงแสเหมือนกัน ครูวิทย์สอนหนังสือเด็กเชิงแสมาหลายสิบรุ่น บางครอบครัวครูสอนรุ่นพ่อแล้ว ถึงชั้นลูกครูก็สอนอีก เล่ากันว่า...ในบางคราวคุณครูเคยบ่นว่า ..."รุ่นพ่อก็ตอบคำถามนี้ไม่ถูก มาถึงรุ่นลูกก็ตอบข้อนี้ผิดอีก" ...ครูวิทย์ไม่ได้เป็นครูที่ทำหน้าที่สอนหนังสือเท่านั้น ในด้านการพัฒนาชุมชนครูก็เป็นผู้นำ เช่น เมื่อปี ๒๕๑๖ ครูวิทย์เป็นผู้นำในการจัดสร้างถนนสาย "สระโพธิ์ ถึง สะพานกลางบ้าน" โดยครูจัดหา หิน ทราย และรับบริจาคปูนซีเมนต์ สำหรับก่อสร้างถนนจนแล้วเสร็จ ขณะนั้นผมอายุได้ ๙ ปี แต่ก็ยังจำสภาพถนนสายนี้ได้ดี เป็นถนนสูงขนาบด้วยคูน้ำลึกทั้งสองข้างทาง หากยืนอยู่ที่หัวสะพานด้านทิศใต้ และหันหน้าไปทางทิศใต้ ไปทางสระโพธิ์ ด้านซ้ายมือที่ชายคลองเป็นที่ตั้งบ้านของครู ด้านขวามือเป็นกลุ่มกอไม้ไผ่ริมคลอง บริเวณนี้มีไผ่ขึ้นเป็นดง รากไผ่สูงจากน้ำในคลองประมาณ ๑ เมตร รากไผ่ถูกน้ำในคลองสาดซัดอยู่เสมอ จึงขาวงามตา ถัดไปทางทิศใต้นับจากบ้านของครูวิทย์ เป็นบ้านคุณครูชื่น เมืองศรี ครูใหญ่โรงเรียนวัดเชิงแสในรุ่นของผม หลังบ้านครูเป็นที่ตั้งของบ้านครูบวร วรารัตน์...ละแวกนี้จึงมีบ้านของครูอยู่ ๓ ท่าน ...นอกจากครูวิทย์จะได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างถนนสายนี้แล้ว ต่อมาในปีเดียวกันครูก็ได้สร้างสะพานเล็กๆ แต่แข็งแรงขึ้นที่หนึ่ง คือสะพานข้ามทางน้ำที่ถนนสาย "สระโพธิ์ ถึง สำคอแดง"....กิจกรรมพัฒนาด้านการสร้างถนนหนทางที่สำคัญยิ่งเพราะเป็นถนนสายใหญ่ นั่นคือ ถนนสาย "เชิงแส ถึง เจดีย์งาม" ถนนสายนี้ครูและชาวเชิงแสทุกคนภายใต้การนำของ พระอาจารย์เลื่อน ปุญญสุวรรณโณ พระครูปิยสิกขการ (พร้อม ปิยธัมโม) พระอธิการเฉลิม ชุติวัณโณ ได้ร่วมแรงร่วมใจขุดสร้างขึ้น เป็นถนนที่เจ้าของนาในเส้นทางต้องเสียสละบริจาคที่ดินให้ทำเป็นถนน โดยที่ทางราชการไม่ต้องจ่ายค่าเวนคืนแม้แต่สตางค์เดียว ....และไม่มีข้อครหาว่าใคร "ไปซื้อที่ดักหน้าไว้ รอถนนตัดผ่าน"

     นอกจากนั้นเมื่อนักเรียนที่โรงเรียนวัดเชิงแสขาดแคลนเงินทุนการศึกษา ใน พ.ศ.๒๕๑๗ ครูวิทย์ก็เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มจัดตั้ง "กองทุนการศึกษาโรงเรียนวัดเชิงแส"...ในส่วนการทุ่มเทเอาใจใส่นักเรียนนั้น ยามหัวค่ำคุณครูวิทย์จะเดินไปแทบทุกบ้าน ผ่านบ้านหลังไหนท่านจะเรียกชื่อนักเรียน แล้วสอบถามว่าอ่านหนังสือแล้วยัง? ผมถูกครูเรียกอยู่บ่อยๆ "นายนิกรอ่านหนังสือแล้วไม่? เหอว่าหลับแล้ว? " ผมก็จะตอบเป็นภาษาใต้ว่า "อ่านแล้ว ครูเหอ...ยังไม่นอนที"...เมื่อคราวที่ผมลาบวชครูไปร่วมงานบวชของผม ครูชั้นประถม ๑ ท่านนี้ได้ร่วมเดินรอบอุโบสถวัดเอกพร้อมๆกับผมที่เป็นนาค คุณครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ ท่านเป็นครูที่ประเสริฐสุด เป็นคุรุเมธีที่ยิ่งใหญ่ของบ้านเชิงแส นับได้ว่าท่านเป็นดุจ....."เทียนธรรมดวงหนึ่งซึ้งในใจศิษย์ งามด้วยชีวิตและการถักทอ ก่อเกิดดอกผลคุณธรรม งามล้ำชูช่อ แตกก้านกิ่งกอให้ชนชื่นชม" อย่างแท้จริง ....บัดนี้อัฐิของครูสงบนิ่งอยู่ใน "บัว" ที่วัดหัวนอน วัดเชิงแสใต้ ครับ..+++๐๐๐๐๐+++...เมื่อปีที่แล้วผมได้ไปไหว้บัวของครูและถ่ายภาพไว้ จากนั้นก็ถ่ายภาพป่าช้าบ้านเชิงแส เหลือเชื่อจริงๆ เชิงตะกอนสีดำสูงใหญ่ทมึนที่พวกเราเคยกลัวกันมาก บัดนี้ทรุดโทรมโรยราลงอย่างน่าใจหาย เช่นเดียวกับศาลาในป่าช้าก็ทรุดโทรมลงเช่นกัน จากป่าช้าเดินเรื่อยไปจนถึงสระโพธิ์ ผ่านต้นโพธิ์ใหญ่ โพธิ์ต้นนี้ผมและคุณครูผดุง สุวพนาวิวัฒน์ บุตรชายของครูวิทย์ เคยมายืนหลบฝนระหว่างที่เดินกลับบ้านหลังเลิกเรียน ครูผดุงบอกว่า "ต้นไม้ใหญ่อย่างนี้ มายืนหลบฝนไม่ได้ ฟ้าจะผ่าเอา...แต่วันนี้มันจำเป็น" ผมหัวเราะและคิดทบทวนว่าเคยสาบานไว้บ้างหรือเปล่า? ทิ้งความจำเก่าๆไว้แล้วเดินตามถนนจากสระโพธิ์จนถึงบ้านของครู ซึ่งเป็นบ้านที่ครูปลูกใหม่ จะว่าปลูกใหม่ก็ไม่เชิงนัก เป็นการขยับจากริมคลองเข้าไปด้านในมากกว่า เหตุการตอนนั้นนับเป็นความเสียสละของครูครั้งสำคัญในชีวิต ครูมาหาพ่อที่บ้านของผม ครูบอกพ่อว่า "อายุมากอย่างเรานี้ เป็นวัยที่ต้องอยู่บ้าน ไม่ใช่วัยที่จะมาสร้างบ้านใหม่" แต่ด้วยความเสียสละของครู ในที่สุดครูก็จำต้องสร้างบ้านใหม่ เพื่อให้ได้ทำถนนที่ริมคลอง...ผมเข้าไปในบ้าน ไหว้คุณน้าขาวคู่ทุกข์คู่ยากของครู น้ายังแข็งแรงและความจำดีมาก น้าเล่าเรื่องของแม่ผม เล่าเรื่องราวของตัวน้าเอง ผมรู้สึกอบอุ่นและมีความสุขที่ได้พูดคุยกับคนเก่าคนแก่ของบ้านเชิงแส เป็นความสุขที่หาได้ยากในสังคมกรุงเทพฯ ก่อนไหว้ลาผมสังเกตว่าบ้านของครูยังเป็นบ้านที่สะอาดเหมือนเดิม กระดานไม้ยังให้ความรู้สึกที่ดีเหมือนกับวันเก่าๆ ที่ผมเคยมาที่บ้านครู และบางวันก็กินข้าวมื้อเที่ยงที่บ้านครูนั่นแหละ




(ภาพ "บัว" ที่บรรจุอัฐิของครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ ในวัดเชิงแสใต้ ใกล้ๆกับป่าช้าบ้านเชิงแส)


(ภาพ "ป่าช้า" ของบ้านเชิงแสในปัจจุบัน,ซึ่งต้นยางนาขนาดสองสามคนโอบหายไปหมดแล้ว,แต่เท่าที่สังเกตยางนาเท่าที่พอมีอยู่บ้างก็ยังให้พอได้ชื่นใจในการคิดถึงวันเก่าๆ)


(ภาพ "เชิงตะกอน" ป่าช้าบ้านเชิงแส,เชิงตะกอนนี้เดิมสูงใหญ่ และเคยมีดงไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ ทำให้บรรยากาศดูน่ากลัวมาก,วันนี้เหลืออยู่เท่าที่เห็น)

     โรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์)และคณะครูของโรงเรียนนี้ผลิตนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่า เริ่มแรกศิษย์เก่าของที่นี่เมื่อเรียนจบแล้วก็เป็นชาวนาตามอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย จนในระยะหลังประมาณ ๕๐ ปีที่ผ่านมาบรรดาลูกศิษย์ของครูที่เชิงแสได้ออกจากบ้านไปเรียนต่อที่ในเมืองสงขลาและที่กรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง หลายคนจึงได้เริ่มรับราชการและประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจ แต่มีผู้หญิงศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้คนหนึ่งที่ต้องพบกับความโศกเศร้าในชีวิต เป็นเรื่องราวของผู้หญิงรุ่นเดียวกับแม่ ที่ผมอยากจะเล่าด้วยความเคารพและสงสารในชีวิตของเธอ ไม่น่าเชื่อเลยว่าชีวิตของเธอโชคชะตาจะกำหนดให้พานพบกับความอยุติธรรม จากหญิงงามแห่งบ้านเชิงแส กลับกลายผันแปรเป็นหญิงเสียสติ เพราะฤทธิ์ของ "ยาสั่ง" ที่ครอบครัวของเธอโดนกันทุกแทบทุกคน เธอผู้อาภัพนี้ชื่อว่า..."วัดเนี่ยว"

     "สาววัดเนี่ยว"....สาววัดเนี่ยวเป็นลูกสาวคนโตของลุงขลิ้งและป้าตั้น พี่ดวงพรพี่สาวคนโตของผมให้ข้อมูลว่า ลุงขลิ้งเป็นพี่ของลุงขลุกมีนามสกุลว่า "ชัยเชื้อ" ส่วนป้าตั้นนั้นเป็นคนตำบลเกาะใหญ่ในสกุล "จันทร์ศรีบุตร" สาววัดเนี่ยวเธอเป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมดสี่คน ทั้งสี่พี่น้องเติบโตในบ้านซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของวัดเชิงแสกลาง ลุงขลิ้งเป็นคนเชื้อจีนเหมือนแม่ ลุงเป็นคนผิวขาวร่างโปร่ง ลุงมีฐานะพอสมควรทีเดียว คือ มีที่นา และมีความรู้ในระดับที่ได้ทำหน้าที่เก็บเงินจากผู้ค้าในตลาดบ้านเชิงแส ที่เรียกว่า "ตลาดนัดหัวโคก" ซึ่งเป็นตลาดนัดที่สนามหน้าโรงเรียนวัดเชิงแส ภาษาชาวบ้านเชิงแสเรียกผู้มีหน้าที่เก็บเงินค่าตลาดอย่างลุงขลิ้งว่าทำหน้าที่ "เก็บหัวหลาด" เชื่อกันว่าลุงขลิ้งผู้นี้เป็นผู้ชายคนแรกของบ้านเชิงแสที่สวมรองเท้าหนังหุ้มส้น...สาววัดเนี่ยวลูกสาวของลุงเป็นหญิงงามมาก และมีชายที่เธอชอบพออยู่แล้ว เป็นชายที่มีการศึกษาและหน้าที่การงานดี ต่อมามีชายอีกคนหนึ่งมาสู่ขอเธอแต่งงาน สาววัดเนี่ยวไม่ตกลงแต่งงานด้วย ไม่นานนักสาววัดเน่ียวและบุคคลในครอบครัวแทบทุกคนจึงถูก "ยาสั่ง" เป็นยาที่มีผู้นำมาฝังไว้ใต้ถุนบ้าน ยาสั่งนี้ทำให้บุคคลในครอบครัวของลุงขลิ้งเสียสติกันไปหมด มากบ้างน้อยบ้าง โดยสาววัดเนี่ยวและน้องสาวนั้นถูกยาหนักสุด ถึงกับเป็นบ้า หลังจากนั้นสาววัดเนี่ยวก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนเธอมีท้อง และคลอดลูก "ย่าดำและปู่ปุ่น จ้ายมะโน" สองตายายผู้ใจบุญแห่งบ้านทุ่งบ้านสวนตีนจึงรับเด็กทารกไปเลี้ยงดู ต่อมาไม่นานเด็กก็เสียชีวิต ลูกเสียไปแล้วแต่สาววัดเนี่ยวยังมีชีวิตอยู่ต่อ เป็นชีวิตที่ยากลำบากมากเท่าที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะพึงพบ สาววัดเนี่ยวมักจะเทินข้าวของไว้บนหัวและหอบเสื้อผ้าเดินอยู่ในหมู่บ้านอย่างน่าสงสาร ผมพบเห็นหลายครั้ง...ท้ายที่สุดเธอและ "บ่าวสะอาด" น้องชายร่างงามที่มีฝีมือเป็นช่างตัดผมและเคยตัดผมให้พี่ชายของผมหลายครั้ง ก็ได้โดยสารเรือไปที่อำเภอระโนด สาววัดเนี่ยวไปนอนอยู่แถวๆอาคารเชิงสะพานข้ามคลองระโนด ...๐๐๐...ขณะนี้เรื่องราวและภาพวาดของสาววัดเนี่ยว ถูกถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เขียนโดยคุณพี่เอนก นาวิกมูล ชาวระโนดนักเขียนสารคดีมือเอกของประเทศ ในชื่อหนังสือว่า ..."เมื่อวัยเด็ก"...(วันพุธที่ ๒๐ สัปดาห์หน้า ผมจะนำภาพเขียนภาพสาววัดเนี่ยวผู้น่าสงสารมาให้ชมครับ)+++/


(หนังสือของพี่เอนก นาวิกมูล ยอดนักเขียนสารคดีชาวระโนด เป็นหนังสือคุณภาพเล่มใหญ่ที่เขียนถึงเรื่องราวของสาววัดเนี่ยว นางงามของบ้านเชิงแส.)


(สาววัดเนี่ยวผู้น่าสงสาร ฝีมือวาดโดยศักดิ์ดา วิมลจันทร์ ภาพจากหนังสือ "เมื่อวัยเด็ก" ของพี่เอนก นาวิกมูล)

     "ใต้ร่มลานโพธิ์"
     "ใต้ร่มลานโพธิ์" ที่สนามหน้าโรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์)มีต้นไม้ใหญ่อยู่สามต้น ที่ว่าใหญ่นี้ใหญ่จริงๆ นะครับ ต้นหนึ่ง คือต้นยาง ยางนาต้นนี้ขึ้นอยู่ที่ด้านทิศใต้ของสนามหน้าโรงเรียน ที่เรียกว่า "หัวโคก" นี่แหละ ด้วยความใหญ่และความสูงของต้นยางต้นนี้ จึงเป็นสถานที่ปลอดภัยของนกกาบบัว คราวถึงฤดูฟักไข่นกกาบบัวหลายคู่จะมาทำรังวางไข่ที่บนต้นยาง เช่นเดียวกับอีกหลายคู่ที่ทำรังอยู่บนต้นเลียบใหญ่ด้านทิศใต้ของโรงครัววัดหัวนอน เมื่อฟักไข่มีลูกนกและลูกนกบินได้แล้ว นกกาบบัวเหล่านี้ก็กางปีกงามสีชมพูพากันบินจากไป รอจนถึงปีหน้าจึงจะกลับมาอีกครั้ง ผมจำได้ว่าในปี ๒๕๑๘ ยังมีนกกาบบัวมาฟักไข่ที่บ้านเชิงแส แต่หลังจากนั้นจำไม่ได้แล้ว พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า นกกาบบัวนี้มาทำรังที่ต้นเลียบใหญ่วัดเชิงแสใต้ต่อเนื่องกันทุกปีเป็นประจำ เมื่อมีลูกนกแล้วแม่นกจะไปหาปลามาป้อนให้ลูกกิน นกมาทำรังมากจนได้กลิ่นคาวปลาจากใต้ต้นเลียบ...+++...ไม้ใหญ่อีกต้นหนึ่งที่สนามหน้าโรงเรียน คือ ต้นโพธิ์ โพธิ์ใหญ่ต้นนี้จะถือว่าเป็นไม้ประจำโรงเรียนวัดเชิงแสก็ได้ รอบๆต้นโพธิ์ล้อมด้วยลานซีเมนต์ยกสูงราวครึ่งเมตร เมื่อผมไปเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ซึ่งมีลานโพธิ์อยู่หน้าคณะศิลปศาสตร์ท่าพระจันทร์ ผมก็ให้รู้สึกว่า ที่โรงเรียนวัดเชิงแสของผมก็มีลานโพธิ์เหมือนกัน ใต้ลานโพธิ์ต้นนี้ทุกเช้าหลังเคารพธงชาติและสวดมนต์แล้ว คุณครูวิทย์จะขึ้นมายืนแจ้งข่าวสารและอบรมนักเรียนด้วยเสียงที่ดังฟังชัด ครั้งหนึ่งทางการศึกษาอำเภอระโนดจัดให้มีการประกวดโรงเรียนในอำเภอ เมื่อผลการประกวดประกาศออกมาแล้ว ครูวิทย์ประกาศให้ทุกคนทราบว่า "โรงเรียนของเราแพ้เขา" ที่ลานโพธิ์ดังกล่าวเป็นที่รวมกิจกรรมหลายอย่างของนักเรียนและกิจกรรมชุมชนของชาวบ้าน เพราะมีลานสะอาดให้นั่งพัก เช่น เมื่อมีการแข่งขันกีฬาก็ใช้ลานโพธิ์เป็นกองอำนวยการ วัดความสูงของนักกีฬา รุ่นเล็กพิเศษ , รุ่นเล็ก , รุ่นกลาง , รุ่นใหญ่ ...สนามหน้าลานโพธิ์ใช้เป็นที่แข่งขันฟุตบอล โดยเฉพาะฟุตบอลในกลุ่มโรงเรียน ระหว่าง ทีมฟุตบอลโรงเรียนวัดเชิงแสกับโรงเรียนวัดโรง โรงเรียนของผมมีนักฟุตบอลเก่งๆหลายคน เช่น นาถ จิตรบรรจง และ โกวิทย์ สาโรจน์ สองคนนี้เป็นนายประตู , วิเชียร ทะลิทอง และ นิกร ดำสิโก เล่นปีก , แซม ไตรสุวรรณ กองหลัง คนนี้ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วิวัฒน์ , ไพฑูรย์ ตุกชูแสง คนนี้เป็นกองหน้า , สากล ชนะบางแก้ว กับ วิเชียร (จำนามสกุลไม่ได้,เด็กบ้านโคกพระมีพี่ชื่อประชา) สองคนนี้เล่นตำแหน่งกองกลาง, ที่กล่าวมานี้อาจจะเป็นนักฟุตบอลต่างยุคกันนะครับ .... ส่วนนักกีฬาหญิงที่แข่งแชร์บอลนั้น ผมจำได้คนเดียว คือ หมุก ขุนแก้ว...สำหรับเพลงเชียร์ฟุตบอลมีเพลงหนึ่งจำได้ท่อนท้ายๆ ว่า "...ฟุตบอลมาแบ็ค แบ็คแตะลอย บอลมาหนอยๆ ปลอยให้โกล.." มาหนอยๆนั้นหมายถึงบอลมาไม่แรงมาเบาๆ.....+++...ไม้ใหญ่ต้นที่สามที่ริมสนามหน้าโรงเรียน คือ ต้นมะขาม ซึ่งขึ้นอยู่ทางทิศใต้ของต้นโพธิ์ห่างกันประมาณ ๖๐ เมตร...มะขามใหญ่ต้นนี้ปีนขึ้นเก็บกินยากมาก เพราะโคนต้นใหญ่เด็กๆโอบไม่รอบ แต่ก็มีการแอบขึ้นโดยไม่ให้ครูเห็น การขึ้นมะขามต้นนี้ต้องปีนขึ้นด้านทิศตะวันตก เนื่องจากมีกิ่งหักขนาดแขนอยู่ในตำแหน่งเหนือศีรษะให้โหนได้ เมื่อโหนได้แล้วก็ใช้เท้าทั้งสองรัดหนีบโคนต้นไว้ ใช้มือเกร็งยกยันตัวขึ้นโดยมีเท้าคอยถีบช่วยจนปีนขึ้นได้ ดูยากลำบากเอาการจริงๆ ต้นมะขามนี้มีประโยชน์ด้านกีฬาชนิดหนึ่ง คือ การซัดบอลเข้าเป้า โดยครูและน้านิต นกเพชร ภารโรงของโรงเรียนช่วยกันนำกระดานดำมาตอกตะปูตรึงไว้กับโคนต้นมะขาม ใช้ชอกล์ทำวงเข้าที่กระดาน จากนั้นกำหนดจุดให้ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๒ ถึง ๑๕ เมตร ใช้ลูกเทนนิสชุบน้ำในถังให้เปียก แล้วผลัดกันปาเป้า เป็นกีฬาของเด็กบ้านนอกที่สนุกดี กีฬาชนิดนี้ถูกเลิกไปโดยปริยาย เมื่อปี ๒๕๑๕ คืนหนึ่งมีพายุฝนแรงมากตลอดคืน เช้าขึ้นมาแม่ไปส่งผมที่โรงเรียน เราสองคนเดินไปท่ามกลางสายฝนที่ยังตกพรำๆ เมื่อผ่านกำแพงวัดกลาง ก็ให้แปลกใจที่มองไปทางทิศใต้ที่โรงเรียนตั้งอยู่ไม่เห็นยอดต้นมะขาม ครั้นข้ามสะพานที่ "คลองควายอ่าง" และเข้าเขตโรงเรียนแล้ว พบว่าพายุเมื่อคืนพัดแรงจนมะขามใหญ่ต้นนี้ล้มลงเสียแล้ว...อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่สนามหน้าโรงเรียนวัดเชิงแสก็ยังคงมีต้นโพธิ์ใหญ่ให้ร่มแก่ลานโพธิ์อยู่ดังเดิม

     "ร่มโรงธรรม"
     "ร่มโรงธรรม"....เมื่อกล่าวถึงร่มของลานโพธิ์สถานที่ซึ่งนักเรียนได้ยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ ตลอดจนฟังโอวาทข่าวสารจากคุณครูในตอนเช้าๆแล้ว สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่นักเรียนต้องประชุมเพื่อไหว้พระสวดมนต์ในเวลาเย็นของวันศุกร์ ก็คือ "โรงธรรม" ของวัดเชิงแสใต้ ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนวัดเชิงแสนั้นไม่มีหอประชุม จึงต้องใช้โรงธรรมของวัดเป็นที่ประชุมสวดมนต์ และประชุมในคราวอื่นวาระอื่น เช่น ประชุมฟังการประกาศผลสอบประจำภาค ในการประชุมฟังผลสอบนั้น นักเรียนทุกคนตั้งแต่ชั้นประถม ๑ ถึงประถม ๗ ทั้งห้อง ก และห้อง ข นั่งเข้าแถวตอนแยกตามชั้นรวม ๑๔ แถว จากนั้นคุณครูใหญ่จะพูดถึงภาพรวมของการสอบ แล้วเมื่อถึงเวลาก็ประกาศผลสอบ เด็กนักเรียนที่สอบได้ที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะได้รับเกียรติให้ยืนขึ้น และไดรับรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นของขวัญ กำลังใจ นอกจากนั้นในวาระเดียวกันครูก็ประกาศชื่อนักเรียนที่สอบตกด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ผมเรียนชั้นประถมปีที่ ๗ ปีนั้นหลังจากที่ครูประกาศชื่อผู้สอบได้และนักเรียนลำดับที่ ๓ ลุกขึ้นยืนแล้ว ครูก็อ่านชื่อคนสอบตก ว่า "ผู้ที่สอบตกมี ๑. เด็กชาย...." สิ้นเสียงของครูปรากฏว่า เด็กชายคนที่เป็นเจ้าของชื่อก็ลุกขึ้นยืน ทันใดนั้นเองทั้งครูและนักเรียนต่างก็พูดขึ้นพร้อมกันว่า "คนสอบตกไม่ต้องยืน..คนสอบตกไม่พักยืน"....+++...เมื่อคราวเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ คุณครูเรียกประชุมนักเรียนในตอนเย็น คุณครูเปลื้อง ช่วยไล่ เล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นให้นักเรียนฟังว่า "นักศึกษาที่มาเดินขบวน ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก เขาขึ้นเฮลอคอบเตอร์ แล้วยิงลงมา เปรียบเหมือนเอาบุหรี่จี้ลงไปบนกองมดคัน" ผมยังจำคำเล่าของครูไม่เคยลืม เมื่อไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ก็ยังคิดถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ จนเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี ๒๕๓๕ ผมกำลังเตรียมตัวสอบเป็นผู้พิพากษา ก็ยังได้ไปร่วมเดินขบวน ทั้งกลางวันและกลางคืน ในปีนี้พี่น้องมวลมหาประชาชน ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ก็ยังต้องไปร่วมชุมนุมอยู่หลายครั้ง แต่เนื่องจากอายุของผมเริ่มมากขึ้น ความอดทนแดดลมไม่เหมือนเดิม ร่วมชุมนุมได้ไม่เกิน ๓ ชั่วโมง ก็ต้องกลับ แต่ต้องชื่นชมในความมีน้ำอดน้ำทนของผู้ชุมนุม ต้องตากแดดตากฝนนับครั้งนับคืนไม่ถ้วนก็ไม่ย่อท้อ นี่ลมหนาวมาแล้ว คงลำบากกันอีกมากทีเดียว ประเทศเรานั้น ผมเห็นว่า หากนักการเมืองทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับตำบล ไม่ทุจริตเสียอย่างเดียว ประเทศชาติก็จะมีความเจริญ ประชาชนก็ร่มเย็นเป็นสุข แต่ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นักการเมืองทุจริตกันมากจริงๆ จนประเทศชาติจะล่มจมอยู่แล้ว ก็ยังไม่เลิกโกงบ้านกินเมือง กินเปอร์เซนยังไม่พอ ที่หนักที่สุดคือการทุจริตเชิงนโยบายครบวงจร น่าหนักใจมาก ผมได้แต่หวังว่าการชุมนุมครั้งนี้ จะสามารถถอนรากถอนโคนการทุจริตลงได้ พวกเราศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่เป็นคนใต้ ได้ร่วมกันสนับสนุนกันมากทีเดียว จนเปิดห้องพักให้ชาวใต้บางส่วนได้พักที่โรงแรมแห่งหนึ่งใกล้ๆ ถนนราชดำเนิน

     ที่โรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์)นี้ มีวิชาหนึ่งที่ในสมัยนี้คงจะไม่มีโรงเรียนใดสอนกันแล้ว นั่นคือ "วิชาขับร้อง" วิชาขับร้องเป็นวิชาที่สอนเสริมสอนแทรก เพื่อให้นักเรียนแสดงความสามารถในการร้องเพลง ให้ร้องเพลงหน้าชั้นเรียน แล้วครูก็ให้คะแนน โดยที่ไม่ต้องสอนวิธีการออกเสียง เปล่งเสียงให้ยุ่งยาก ชั้นเรียนของผมมีเพื่อนที่เป็นญาติคนหนึ่งซึ่งมีความสามารถในการขับร้องมาก เขาคือ...."สมเกียรติ ผ่องศรี" หรือในนิกเนมว่า "ถก" เมื่อเวลาร้องเพลงสมเกียรติมิเพียงแต่ส่งเสียงร้องอย่างเสนาะเพราะพริ้งเท่านั้น เขายังมีท่าทางประกอบการร้องด้วย เพลงหนึ่งที่สมเกียรติร้องที่หน้าชั้นเรียน และผมยังจำเนื้อร้องได้มาบางตอน คือเพลงที่ขึ้นต้นว่า "เธอช่างสวย เธอช่างสาว เหมือนดาวผ่อง..." และต่อไปก็ถึงท่อนที่น่าจะเป็นสุดท้ายที่ว่า "พี่จะรัก น้องนุชสุดชีวิต เหมือนกามนิตรักวาสิฏฐี ไม่มีสอง เหมือนรจนาคู่หวังกับสังข์ทอง จะรักน้องเป็นที่สุดดุจดวงใจ" ...ในปี ๒๕๒๐ สมเกียรติ และผม รวมทั้งเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนของเราอีกหลายคน เรียนจบชั้น ป.๗ แล้ว สอบเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ได้ ซึ่งนับว่าเป็นปีที่เด็กเชิงแสสอบเรียนต่อเข้ามหาวชิราวุธในเมืองสงขลาได้มากที่สุดปีหนึ่งทีเดียว จึงขอบันทึกชื่อไว้เป็นที่ระลึกถึง ดังนี้ .....สุชาติ ดำคลิ้ง สอบได้คะแนนดีมาก จึงได้เข้าเรียนในห้อง ๑ เรียนห้องเดียวกับ สุวิช ธรรมปาโล , โกสินทร์ ฤทธิรงค์ ซึ่งเป็นเด็กในเมือง...นอกจากนั้นเด็กเชิงแสที่สอบเข้าเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธได้อีกก็มี...พิท พัทบุรี , ไข่แดง หนูยี่ , ไสว แสงแก้ว ,จรัล ทองหยู ,สุภาพ มุสิกพงศ์ เป็นต้น....+++.....เพื่อนจากโรงเรียนวัดเชิงแสแทบทุกคนที่กล่าวถึงนั้น ยังพบปะกันอยู่แม้จะไม่เป็นประจำก็ตาม บ้างคนยังได้ไปร่วมงานแต่งงานของผม...และแทบทุกคนยังคงใช้ชื่อเดิมกันอยู่ จะยกเว้นก็เพียง "ไข่แดง" เท่านั้น ที่เมื่อเข้าเรียนในเมืองแล้ว ไข่แดง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัชระ หนูยี่".../