วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บทที่ ๑๐ สืบสานงานศิลป์บรรพชนคนเชิงแส


บทที่ ๑๐ สืบสานงานศิลป์บรรพชนคนเชิงแส


     ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วจนกระทั่งถึงวันมาฆะบูชาแห่งปีนี้ ผมและทายาทของบรรพชนชาวเชิงแส ๒ ท่าน ได้ปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องในการที่จะอนุรักษ์และบูรณะอาคารซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของบ้านเชิงแสไว้ สิ่งนั้นก็คือ การอนุรักษ์และบูรณะพระอุโบสถของวัดเชิงแสใต้ หรือวัดหัวนอน และการอนุรักษ์อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์) ทายาทของชาวเชิงแสทั้งสองท่านนั้นเป็นคนในสกุล "บุญญภัทโร" ท่านแรกเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ท่านชื่อ "นิพนธ์ บุญญภัทโร" ผมเรียกท่านว่าพี่นิพนธ์บ้าง ท่านผู้ว่านิพนธ์บ้าง ส่วนท่านที่สองนั้นปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมศิลปากร ท่านมีนามกรว่า "อนันต์ ชูโชติ" ผมเรียกท่านว่าพี่นันต์ ทั้งท่านผู้ว่านิพนธ์และท่านรองอธิบดีอนันต์ต่างมีบรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าเป็นชาวเชิงแสบ้านหัวนอน กล่าวคือ ปู่ของท่านผู้ว่ามีลูกหลายคน ลูกชายคนโตเป็นกำนันคนแรกของตำบลเชิงแส ชื่อว่า "กำนันอั้น" น้องของกำนันอั้นคือท่านขุนรัตนารักษ์เป็นคุณพ่อท่านผู้ว่านิพนธ์ และน้องกำนันอีกคนหนึ่งคือคุณแม่ของท่านรองอนันต์ ท่านผู้ที่มีนามสกุลว่า "ชูโชติ" นี้ผมเคยกล่าวไว้ในบทก่อนๆแล้ว ว่า ครูของผมคนหนึ่งเป็นชาวบ้านเขารัดปูน ชื่อ "กิตติพันธ์ หรือ ก้าน ชูโชติ" ครูก้านของโรงเรียนวัดเชิงแสนั้นท่านเป็นบุตรของคุณปู่แดง ชูโชติ และครูก้านก็เป็นน้องชายของคุณพ่อรองอธิบดีอนันต์ ชูโชติ ...เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๘ คุณปู่แดงได้มอบตู้เหล็ก ๑ ใบ ราคา ๑,๐๐๐ บาท และมอบชุดรับแขก ๑ ชุดราคา ๑,๒๐๐ บาท ให้แก่โรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์)ท่านผู้ว่านิพนธ์เล่าผมว่าขณะนี้ที่บ้านเชิงแสยังมีญาติของท่านอีกหลายคน เช่น น้าหนูแนม พรหมมา (ภรรยาน้าจวน)ที่เพิ่งเสียไปก็เป็นญาติของท่านผู้ว่านิพนธ์ ท่านผู้ว่านิพนธ์โทรศัพท์มาเล่าผมว่า "ผมเพิ่งคุยกับน้องนิกรเรื่องวัดเชิงแสใต้ แล้วโทรไปหาญาติที่หาดใหญ่เพื่อจะพูดคุยกันถึงวัดเชิงแสใต้ ญาติผมบอกว่าเขากำลังเดินทางไปงานศพน้องแนมที่วัดเชิงแสใต้ ผมรู้สึกเป็นอัศจรรย์มากที่เดียวเกี่ยวกับวัดเชิงแสใต้นี้...น้องหนูแนมเป็นญาติกับผม เธอเป็นลูกน้าลั่นและเป็นหลานปู่ของน้าเลี่ยง...ผมถามญาติก็ทราบว่ากระดูกปู่กระดูกย่าของผม ก็น่าจะอยู่ที่วัดเชิงแสใต้นั่นแหละ"...ท่านผู้ว่านิพนธ์เล่าเรื่องบรรพบุรุษและเรื่องญาติของท่านให้ผมฟังอย่างพรั่งพรู แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างท่านกับบ้านเชิงแสซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดบรรพบุรุษของท่าน...เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างที่ผมขับรถไปรับลูกสาวที่โรงเรียนพี่อนันต์ท่านรองอธิบดีกรมศิลปากรโทรศัพท์มาบอกผมว่า "อีกไม่นานผมจะไปที่วัดเชิงแสใต้ จะไปดูโบสถ์ ลูกน้องได้รายงานมาให้ทราบแล้วว่า งานศิลปะที่หน้าจั่วทั้งข้างหน้าและข้างหลังยังสมบูรณ์อยู่มาก และเขารายงานด้วยว่าภาพปูนปั้นที่หน้าจั่วด้านหน้าก็ไม่เหมือนด้านหลัง"


(อุโบสถของวัดเชิงแสใต้ที่อาจจะได้รับการบูรณะจากโครงการของกรมศิลปากร)

     ความสนใจของอนุชนทั้งสองท่านซึ่งเป็นลูกหลานของชาวเชิงแสในเรื่องที่จะมีการบูรณะพระอุโบสถวัดหัวนอนของเรานั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง...และผมได้กราบนมัสการให้หลวงพี่พระปลัดปรีชา ธัมมปาโล ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดเชิงแสใต้ทราบแล้ว และก่อนที่คณะของรองอธิบดีกรมศิลปากรจะไปที่วัดเชิงแสใต้ ผมกับหลวงพี่ปรีชาก็ตกลงกันว่าขณะนี้ที่วัดเชิงแสใต้ยังมีอาคารสำคัญอยู่อีก ๒ อาคาร คือ อาคารโรงธรรม และ หอประดิษฐานรูปเหมือนพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์ จึงจะว่าจ้างให้ช่างทำป้ายชื่อสิ่งปลูกสร้างทั้งสองนี้เสีย โดย โรงธรรมนั้น เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แด่พ่อท่านทองมากหรือพ่อท่านเฒ่า จึงตั้งชื่อโรงธรรมนี้ว่า "โรงธรรมเจดีย์ศรีสังวร" อันเป็นการนำเชิญสมณนามของท่านที่ว่า "พระครูธรรมเจดีย์ศรีสังวร" มาเป็นชื่อโรงธรรม ส่วนหอประดิษฐานรูปเหมือนพ่อท่านเมฆ นั้น ตั้งชื่อว่า "หอเมฆสถิตอนุสสร" เพราะเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์นั่นเอง คำว่าอนุสสสรเป็นคำเก่า ผมว่าดูดีกว่าคำว่าอนุสรณ์ที่เป็นคำใหม่...อย่างไรก็ตามท่านใดเห็นว่าจะตั้งชื่ออื่นที่เหมาะสมกว่านี้ ก็กรุณาเสนอความเห็นแลกเปลี่ยนกันได้ครับ เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม เมื่อวาระที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ มีพระชันษา ๑๐๐ ปี ศาลยุติธรรมจัดทำหนังสือประชุมพระนิพนธ์ เป็นที่ระลึก ผมได้รับมอบหมายให้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ ผมจึงตั้งชื่อว่า "เจริญธรรม ญาณสังวร" โดยนำพระนามเดิมของพระองค์ที่ว่า "เจริญ" มาตั้งเป็นชื่อนำ ก่อนที่ตามด้วยราชทินนาม ปรากฏว่าคณะกรรมการของศาลมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นชื่อที่เหมาะสม เด็กเชิงแสอย่างผมก็เลยได้หน้ามาเล็กน้อย...เลยนำมาคุยในเรื่องเชิงแสบ้านแม่ฯ เสียใหญ่โต........++๐๐++...ต่อไปผมจะกล่าวถึงประวัติการสร้างพระอุโบสถวัดเชิงแสใต้ เป็นการเล่าในลักษณะนิทานอิงประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุ ดังนั้นเรื่องที่เล่าจึงเจือจิตนาการผสมผสานอยู่ด้วย และเรื่องที่จะเล่านี้มาจากแรงบันดาลใจจากการข้อมูลที่ผมทราบมาจากพระอาจารย์พระมหานุ่ม แห่งวัดสร้อยทอง ว่า "ช่างที่สร้างโบสถ์วัดหัวนอนนั้น ชื่อว่า ช่างหลง เป็นคนบ้านโตนดด้วน สร้่างในสมัยพ่อท่านเมฆ"

     ลมยามบ่ายพัดวุ้งๆ ที่ทุ่งนาป่าตาลด้านทิศตะวันออกของหัวสะพานยาว ลมโชยกลิ่นน้ำสะอาดใสจากเวิ้งคลองเชิงแสจุดที่บรรจบกับคลองพระเดิมให้ความสดชื่นเย็น เสียงนาคหนุ่มหลายสิบคน ที่กำลังท่องคำขานนาคดังแว่วมาจากโรงธรรม ณ เขตวัดหัวนอนที่บริเวณริมคลองด้านทิศตะวันออก พ่อท่านเมฆสังฆาธิการของอารามเก่าแก่แห่งบ้านเชิงแส เดินสำรวจพื้นที่อย่างครุ่นคิด ท่านกังวลว่าอุโบสถหลังเดิมที่ก่อสร้างมานานนับร้อยปี เริ่มจะทรุดโทรมลงไปมาก หากจะบูรณะซ่อมแซมใหม่ ด้วยบารมีของท่านในเวลานี้ ไม่เป็นการยากลำบากแต่อย่างใด เพียงติดปัญหาสำคัญแต่ว่า ภูมิสถานที่ตั้งของพระอุโบสถแห่งนั้นเป็นที่ลุ่ม เมื่อจะสร้างใหม่เป็นถาวรวัตถุสืบพระศาสนา ก็ควรที่จะสร้างในพื้นที่ที่สูงกว่าเดิม ทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงนี้ สงครามโลกครั้งที่สองก็ยุติแล้ว การทำงานในยามย่ำยามคืนย่อมปลอดภัย ไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะมีแสงไฟให้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดอย่างที่ชาวบ้านล่ำลือและกลัวกันนักหนา ว่าจะเป็นเหมือนเช่นในเมืองสงขลา ทั้งที่ความจริงแล้วคงไม่เป็นเช่นนั้นแน่ ที่สำคัญหากการก่อสร้างเริ่มเสียในช่วงเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ ที่วัดวาจะมีกำลังงานของพระและผู้คนมาก พระนั้นแต่ละปีจำพรรษาที่วัดหัวนอนถึง ๕๐,๖๐ รูป มิเคยขาด อีกทั้งชาวบ้านเชิงแสทั้งคนไทยคนจีนก็มีมาก การสำคัญเช่นนี้มีทางที่จะสำเร็จได้ไม่ยาก...เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ได้เบื้องต้นแล้ว เพื่อความรอบคอบในงานพ่อท่านก็ตกลงใจว่าจะต้องปรึกษา "หลวงพี่" ที่วัดกลาง และ วัดเอก หลวงพี่ทั้งสองของพ่อท่านนั้นคือ พ่อท่านเขียวแห่งวัดกลาง และพ่อท่านเจียมแห่งวัดเอก นั่นเอง


(ภาพถ่ายพระอธิการเมฆ ติสสโร ซึ่งอยู่ภายในหอเมฆสถิตอนุสสร วัดเชิงแสใต้)


(ตึกสามชั้นของร้านบ้วนเฮงที่ถนนนครใน จังหวัดสงขลาซึ่งถูกระเบิดเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒,ภาพถ่ายโดยเอนก นาวิกมูล)

     พ่อท่านเมฆพร้อมด้วยพ่อท่านคงสองพระเถระเดินเท้าตามสะพานข้ามคลองเชิงแสตรงที่เรียกว่า "คลองควายอ่าง" มาถึงเขตของวัดกลาง ท่านทั้งสองไม่ได้ตรงไปที่กุฏิของพ่อท่านเขียวหรอก ด้วยท่านทราบเป็นอย่างดีว่าในเวลาเย็นนั้น พ่อท่านเขียวกำลังเดินดูสมุนไพรนานับชนิดที่แปลงปลูกภายในวัด นับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือที่ในแถบประเทศเราเรียกว่า "สงครามมหาอาเชียบูรพา" นั้นหยูกยาหายากมาก เพราะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงจากสงคราม แม้แต่ในเมืองสงงขลาก็ยังหายายาก เพราะเป็นจังหวัดที่ "ญี่ปุ่นขึ้น" คือกองทัพญี่ปุ่นบุกและตั้งกองกำลังอยู่ประจำการ พ่อท่านเขียวจึงต้องรับภาระในการปรุงยาหลายขนาน เนื่องเพราะพ่อท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านเป็นจำนวนมากที่เจ็บไข้ได้ป่วย ....ครั้นพ่อท่านเมฆและพ่อท่านคงมาถึงในระยะใกล้แล้ว ก็กล่าวขึ้นว่า "หลวงพี่" พ่อท่านเขียวหันมามองพระเถระรุ่นน้องด้วยความแปลกใจพลางกล่าวรับว่า "น้องหลวงพระครูมาเงียบๆ ไม่รู้ตัวเลย นิมนต์ที่กุฏิเถอะ" เมื่อพ่อท่านเขียวนั่งบนอาสนะที่ประจำแล้ว พ่อท่านเมฆและพ่อท่านคงต่างกราบแสดงความเคารพ..."น้องหลวงพระครูมีเรื่องไหรเหอ ถึงได้มาพร้อมกัน" ..."ผมคิดจะสร้างโบสถ์ใหม่จึงใคร่ปรึกษาหลวงพี่" พ่อท่านเมฆเริ่มข้อหารือ และบอกเล่าถึงแนวดำริว่า ตำแหน่งที่ตั้งพระอุโบสถใหม่นั้นท่านจะตั้งทางทิศเหนือของอุโบสถเก่า แต่พื้นที่ตรงนั้นเป็นบริเวณริมเวิ้งชายคลอง จำเป็นต้องถมดินให้สูงขึ้น ท่านตั้งใจว่าจะขุดสระขึ้นที่ด้านตะวันออกของพระอุโบสถเดิม ซึ่งจะได้ประโยชน์ ๒ ทาง กล่าวคือ ได้สระเก็บน้ำเพิ่มขึ้น และได้ดินมาถมที่ซึ่งจะก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ..."เป็นความคิดที่ดีมาก"..พ่อท่านเขียวเห็นด้วยอย่างชื่นชมแล้วจึงไต่ถามเรื่องไม้ที่จะใช้ก่อสร้าง พ่อท่านเมฆกราบเรียนว่า ..."ไม้นั้นผมตั้งใจว่าจะนำมาใช้เฉพาะเครื่องบนกับประตูหน้าต่าง ด้วยว่าพื้นและผนังตั้งใจว่าจะก่ออิฐถือปูน แต่ไม้ใหญ่ที่เขารัดปูนและที่เกาะใหญ่คงไม่มีที่เหมาะ ผมตั้งใจว่าจะนำชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาไปขออนุญาตทางการตัดไม้ที่พัทลุง"...เมื่อพ่อท่านเขียวได้ยินเช่นนั้นก็ให้รู้สึกเป็นกังวล ท่านจึงท้วงว่า "หลวงพี่ให้รู้สึกเป็นห่วง ถ้าน้องหลวงพระครูต้องไปเองแล้ว หลวงพี่กลัวเรื่องไข้ป่า เพราะเวลานี้หยูกยาหายาก"
     พ่อท่านเมฆและพ่อท่านคงสองพระเถระใหญ่ของวัดเชิงแสใต้รับมนัสการความคิดเห็นจากพ่อท่านเขียวแล้ว ก็กราบลาเดินตามคันนามุ่งสู่วัดเอกซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ...ณ เวลานั้น "วัดเอก" หรือที่มีชื่อเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนปี พ.ศ. ๒๒๒๓ เรียกว่า "วัดเชิงแสะพระครูเอก" มีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาส คือ "พ่อท่านเจียม" พ่อท่านเจียมเป็นพระที่ได้รับการยกย่องทางด้านความมีเมตตากรุณา ท่านนำพาวัดเอกและหมู่สงฆ์ไปในทิศทางของการสงเคราะห์ เป็นที่ทราบทั่วกันว่าในบรรดาวัดแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกนั้น "ขนมเดือนสิบของวัดเอกจะหมดก่อนวัดอื่น" ทั้งนี้เพราะพ่อท่านเจียมมีจิตเอื้อเฟื้อต่อชาวบ้านเป็นอย่างสูง ทุกๆเที่ยงวันหลังเพลแล้วจึงมีผู้คนมาทานข้าวปลาอาหารและขนมต่างๆที่วัดเอกเป็นจำนวนมาก ...ยามนั้น พ่อท่านเจียมกำลังดูแลการทำความสะอาดพระอุโบสถของวัดเอกอยู่ เพราะใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว นาคหนุ่มทั่วสารทิศจะต้องมาบวชพระต่อหน้า "หลวงพ่อเดิม" ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถแห่งนี้...พ่อท่านเมฆและพ่อท่านคงเข้ากราบนมัสการพ่อท่านเจียมแล้วก็นมัสการหารือสังฆกิจการก่อสร้างพระอุโบสถ ท่านอธิบายรายละเอียดทั้งหมดแล้ว พ่อท่านเจียมจึงเอ่ยถามว่า "น้องหลวงทั้งสองจะให้ช่างบ้านไหนมาเป็นแม่งานก่อสร้างฤา?" พ่อท่านเมฆกราบอธิบายว่า "งานนี้เป็นงานใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณ ๒ ปี กระผมตั้งใจจะให้ "ช่างหลงแห่งบ้านโตนดด้วน" เป็นแม่งาน โดยมีโยมพี่ปู ปูขะโร และ โยมย้อย เอกกุล คอยช่วยเหลือ " เมื่ิอฟังคำของพ่อท่านเมฆเช่นนั้นแล้ว พ่อท่านแห่งวัดเอกก็กล่าวอนุโมทนาและกล่าวด้วยจิตเมตตาสงเคราะห์ว่า "หากขาดเหลือสิ่งใดแล้วให้บอกเถิด หลวงพี่พร้อมช่วยเหลือทุกอย่าง นานมาแล้วที่บ้านเชิงแสไม่ได้สร้างสังฆววัตถุขนาดใหญ่เช่นนี้ ขอบารมีของพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ เป็นภวปัจจัยให้งานนี้สำเร็จเถิด" แล้วสุปฏิบันโนทั้งสามก็กราบลงที่หน้าหลวงพ่อเดิม
     เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว คืนนั้นพ่อท่านเมฆได้เรียกเด็กวัดก้นกุฏิให้มาพบ "สังแหย้วเอ้ย คางคูดเอ้ย อยู่ที่ไน่ มานี่ที" สองศิษย์วัดได้ยินเสียงพ่อท่าน ก็รีบคลานตามพื้นกระเบื้องแดงเข้ามาหาพ่อท่าน กราบนมัสการแล้วนั่งนิ่งอยู่ พ่อท่านจึงสั่งว่า "ต่อเช้า ให้ทั้งสองคน ลงไปเก็บกระจับที่ในสระรักษ์มาคนละหอบ จะเอามาทำยา" สังแหย้วและคางคูดสองเพื่อนเกลอรับคำสั่งแล้ว ได้มานั่งปรึกษากัน สังแหย้วกังวลว่า หากลงไปในสระพร้อมกันแล้ว จะไม่มีใครเฝ้ากางเกงที่ถอดวางไว้ที่ขอบสระ คางคูดเสนอว่าให้สลับกันลงสระที่ละคน คางคูดว่า "พันนี้หวา ที่แรกให้สังแหย้วลงสระ เราเฝ้ากางเกง ทีที่สองผลัดกัน ให้เราเฝ้ากางเกง สังแหย้วลงสระ เอาไม่?" สังแหย้วคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า "ผลัดกันลงสระแบบนี้ ดีเหมือนกัน คางคูดไอ้เกลอเราฉลาดจริงๆ"
     ด้วยอำนาจของกุศลจิต ข่าวที่พ่อท่านมีดำริจะสร้างอุโบสถใหม่ของวัดหัวนอน จึงแพร่สะพัดไปทั่วบ้านเชิงแสภายในเวลาเพียงวันเดียว เย็นวันนี้ขณะที่พ่อท่านกำลังต้มต้นกระจับกับเครื่องยาอยู่นั้น ท่านขุนอารักษ์เชิงแสกำนันตำบลเชิงแสก็เข้ามากราบนมัสการอาสารวบรวมกำลังคนช่วยลงแรงในการก่อสร้าง "ผมทราบข่าวนี้แล้ว ยินดีจัดชาวบ้านมาช่วยงานพ่อท่านทั้งกลางวันและกลางคืน ทุกวันจะจัดเวรหมุนเวียนข้าวหม้อแกงหม้อมาให้ชาวบ้าน จะไม่ให้บกพร่องครับ" ท่านขุนกำนันกราบเรียนพ่อท่าน ครั้นเมื่อได้ฟังคำของกำนันแล้ว พ่อท่านเมฆจึงกล่าวว่า "ต้องขอแรงกำนันไปช่วยตามช่างหลงมาให้ที จะได้วางแผนเขียนแบบโบสถ์" ...การออกแบบพระอุโบสถกินเวลานานจนถึงเดือนแรกของพรรษา แต่ระหว่างนั้นทุกๆวันและทุกคืนชาวบ้านเชิงแสและลูกศิษย์ของพ่อท่านทั้งใกล้ไกล ต่างได้ร่วมกันขุดขนดินมาถมเป็นลานเตรียมการสร้างอุโบสถ บริเวณที่ดินยุบแน่นแล้วช่างหลงสั่งการให้วางผังและขุดหลุมลึกเทียมหัวเป็นที่ก่อฐานราก ลูกศิษย์จากเขารัดปูนต่างก็นำก้อนหินบรรทุกเรือมาตามลำคลอง นำมาใช้ในการก่อสร้าง...และคืนวันพระสำคัญก็มาถึง พ่อท่านประชุมชาวบ้านเพื่อกำหนดการออกเรือไปตัดไม้ที่เมืองพัทลุง...วันที่เรือใบออกจากท่าคลองควายอ่างบ้านเชิงแสมีผู้คนมาร่วมส่งเป็นจำนวนมาก พ่อท่านทั้งสามวัดร่วมกันประพรมน้ำมนต์ สังแหย้วและคางคูดร่วมเดินทางไปด้วย ทั้งสองคนมีหน้าที่รักษาหม้อยาของพ่อท่าน...ประมาณ ๑ เดือนแผ่นไม้สำหรับใช้สร้างบานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถก็บรรทุกแพลูกบวบมาถึงวัดเชิงแสใต้ หลังจากนั้นอีกสองเดือนไม้ขื่อ ไม้คานเครื่องบนก็มาถึง แต่น่าเสียดายว่าไม้เครื่องบนนั้นสั้นไปหน่อยหนึ่ง ดังนั้นเมื่อออกพรรษาแล้วพ่อท่านและชาวบ้านจำนวนหนึ่งร่วมเป็นคณะไปตัดไม้ที่เมืองพัทลุง...+++..พ่อท่านเมฆจากวัดเชิงแสใต้ไปคราวนี้ ท่านเข้าป่าในช่วงหน้าฝน พ่อท่านจึงเป็นไข้มาลาเรียหรือไข้ป่า คณะลูกศิษย์จึงนำพ่อท่านไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลสงขลา แต่อาการของพ่อท่านรุนแรง ให้เจ็บป่วยอย่างรวดเร็วจนเกินที่จะเยียวยาได้...และพ่อท่านถึงแก่มรณภาพละสังขารลงที่เมืองสงขลา ในปี ๒๔๙๑...วาระที่นำศพพ่อท่านมาถึงบ้านเชิงแสนั้น แม่เล่าให้ผมฟังว่า ชาวเชิงแสเศร้าโศกสลดกันทั้งบ้าน...เนื่องเพราะ..."ต้นโพธิ์ใหญ่แห่งบ้านเชิงแสล้มเสียแล้ว"...แม่เล่าผมอย่างนั้น
     ภายใต้การนำของช่างหลง งานศิลป์ด้านสถาปัตยกรรมของบรรพชนคนเชิงแสดำเนินต่อไปอย่างมั่นคงในเจตนารมณ์ของพ่อท่านเมฆแห่งวัดเชิงแสใต้ จนงานลุล่วงสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ความงามที่พึงกล่าวถึงอย่างยิ่งมี ๒ อย่าง คือ ศิลปะปูนปั้นพระอิศวรทรงช้างเอราวัณอันงดงามที่หน้าบันของอุโบสถ และงานประดับกระเบื้องเคลือบที่สวยงามที่พื้นภายในพระอุโบสถ แม้กาลเวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้ว แต่ความงามของงานศิลปะดังกล่าวก็ยังคงอยู่
     ผมกล่าวถึงงานศิลปะของชาวเชิงแสเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมมาแล้ว ต่อไปจะกล่าวถึงด้านวรรณกรรม ซึ่งอันที่จริงก็ได้เขียนเนื้อหาไว้แล้วในบท "เชิงศิลป์ เชิงกวี ที่เชิงแส" ดังนั้น บทนี้จึงนำภาพมาให้ชม และจะอธิบายประกอบภาพแทนการบรรยายเรื่องราว ภาพที่จะนำมาให้ชมนั้นประกอบด้วย ๑.ภาพหนังสือบุดเรื่องสินนุราชคำกาพย์ ๒.ภาพหนังสือบุดเรื่องโสนน้อย และ ๓.ภาพหนังสือบุดเรื่องมโหสถ ซึ่งวรรณกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นภูมิปัญญาทางวรรณกรรมของชาวเชิงแส ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดหัวนอนหรือวัดเชิงแสใต้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(หนังสือบุดขาวเรื่อง "สินนุราชคำกาพย์" ฉบับวัดเชิงแสใต้ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓)

(หน้าปลายของสินนุราชคำกาพย์ ผู้แต่งขอให้ผู้ที่อ่านหนังสืออย่าทำให้หนังสือเสียหาย)

(เนื้อเรื่องของสินนุราชคำกาพย์)

(หนังสือบุดขาวเรื่องพระมโหสถฉบับวัดเชิงแสใต้)

     ขณะนี้ผมพบข้อเขียนเรื่องราวพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์เรื่องหนึ่ง ผู้เขียนเรื่องนี้ คือ ผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต ประเภทประวัติศาสตร์ และเป็นชาวระโนดคนแรกที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา ท่านคือ ราชบัณฑิตณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ท่านณัฐวุฒิเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๖๑ ที่ริมคลองบ้านน้ำโอ ตำบลโรง ท่านเป็นบุตรของคุณปู่รัง เกื้อหนุน และคุณย่าสาย สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตณัฐวุฒิบันทึกไว้ในหนังสือ "ระโนดสังสรรค์" ว่า..."ตำบลเชิงแสนั้นเป็นตำบลใหญ่ คำว่าเชิงแสแปลว่าอะไรยากที่จะแปล มีคำเขมรปนเข้ามา คำว่า "เชิง" ภาษาเขมรแปลว่า เท้า หรือ ตีน ส่วนคำว่า "แส" แปลว่า สะสางที่นาหรือที่ดิน ที่ตำบลนี้มีคนจีนมาตั้งรกรากอยู่ก่อนตั้งกิ่งอำเภอระโนด ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคนจีนมาตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลเชิงแสนี้คงจะเป็นในสมัยกรุงธนบุรี หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ...อนึ่ง,ตำบลเชิงแสเป็นตำบลใหญ่ มีประชากรหนาแน่น เป็นแหล่งแห่งความเจริญของบ้านเมือง เคยมีกำนันเป็น "ขุนอารักษ์เชิงแส" คล้องจองกับ ขุนสุนทรวัดสน ขุนชุมพลพิทักษ์ แล้วจึงมาถึง ขุนอารักษ์เชิงแส ข้าพเจ้าเรียนหนังสือชั้นประถมที่วัดโรง แต่เวลาสอบไล่ ต้องเดินทางไปสอบไล่ที่โรงเรียนประชาบาลที่วัดเชิงแสทุกปี ต้องเดินทางไปนอนค้างอ้างแรมอยู่ที่วัดเชิงแสใต้ ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านพุทธศาสนา ที่บ้านของข้าพเจ้าที่กรุงเทพมหานครเวลานี้ มีอัฐิของพ่อท่านเมฆ วัดเชิงแส และอัฐิพ่อท่านยอด วัดโรง ไว้สักการะบูชา เพราะท่านเกี่ยวกับการสอบและการอุปสมบทของข้าพเจ้า..."
     (อนึ่ง ท่านที่สนใจเรื่องราวของ ฮีโร่ ทั้งหลาย เช่น ฮีโร่ป๊อบคอร์น นั้น ใคร่แจ้งให้ทราบว่า ที่บ้านเชิงแสบ้านเกิดผม มีฮีโร่เกิดขึ้นนานแล้ว ในนามของ "ฮีโร่ก๋งสุย" ซึ่งสร้างวีรกรรมได้อย่างห้าวหาญ และหวาดเสียวกว่าทุกฮีโร่ สนใจเรื่องนี้ให้เปิดไปอ่านที่ท้ายบทที่ ๗ เสือลาทุ่ง...)