วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บทที่ ๑๒ เชิงแส ;ริมเล เสน่ห์บ้านนา

บทที่ ๑๒ เชิงแส ;ริมเล เสน่ห์บ้านนา


        บ้านนาบ้านนอกแต่ละที่แต่ละแห่งนั้น แม้จะเป็นชุมชนของคนชนบทเหมือนกันก็ตาม แต่ความมีเสน่ห์ของแต่ละที่ไม่เหมือนกันครับ บ้านนาของอีสานตอนล่างแถวๆลำน้ำมูล มีเสน่ห์ของความอดทนในการต่อสู้กับความแห้งแล้งและบรรเจิดของความหวังเมื่อถึงคราหน้าเกี่ยว ประมาณเหมือนที่พงศ์เทพ กระโดนชำนาญ บรรยายว่า..."กำด้ามเคียว มือเรียวเกี่ยวรับรวง รวงข้าวลีบร่วงลงดิน"...+++..ส่วนเสน่ห์ของท้องทุ่งบ้านนาภาคกลางนั้น ต่างแบบจากอีสานอยู่มากทีเดียว เพราะบ้านนาภาคกลางจะมีบรรยากาศของคุ้งน้ำเข้ามาเสริมเสน่ห์ทุ่ง เอาเป็นว่าอย่างที่ ศรคีรี ศรีประจวบ บรรยายไว้ในเพลง "ทุ่งรัก" ที่ว่า..."แดดบ่ายปลายคุ้ง ท้องทุ่งรวงทอง ฝนทรงเมื่อเดือนสิบสอง หัวใจพี่กลับนองรักน้องนางทุ่ง ...กระจับ จอก แหน เป็นแพลอยติดก้นคุ้ง.."...+++...สำหรับบ้านนาบ้านทุ่งอย่างบ้านเชิงแสบ้านแม่ของผม ก็มีเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเดิมผมเคยคิดว่าเป็นเสน่ห์ความงามของแปลงนาระหว่างต้นตาลนับแสนต้นริมทะเลสาบสงขลา ที่มีการทำนาโดยชาวไทยใต้ผสมเชื้อสายจีน..เดิมผมคิดอย่างนั้นจริงๆ คิดมานานแล้ว...แต่เพิ่งรู้ตัวว่า ที่ผมคิดไว้นั้น ไม่น่าจะใช่ ...เพราะแท้จริงแล้ว เสน่ห์ของบ้านนาเชิงแสกลับอยู่ที่..."สำรับบ้านนา อาหารบ้านทุ่ง" ต่างหาก...ดังนั้นบทนี้ผมจะเล่าถึงเรื่องเสน่ห์ด้านอาหารการกินสำรับกับข้าวของชาวเชิงแสครับ รับรองว่า ทุกสำรับนั้นเป็นของหากินยากเสียแล้วในยุคนี้ขณะนี้ ยกตัวอย่างให้ฟังก็ได้ เช่น...++.๑."น้ำเคยปากไห"...++.๒."หนาง"...++.๓."เคยจี"...++.๔."กุ้งเค็ม สูตรป้าเพียร"...++.๕."ขนมม่อซี่ สูตรป้าลับ"...++.๖."หมูต้มส้มแขก"...++.๗."ไข่ปลาเจี้ยน"...++.๘."ปลาดุกร้า"...++.๙."ต้มเลือดเครื่องในหมู"...++.๑๐."เหนียวงานไหว้"...++.๑๑."ปลาริ้วจี กับ ปลาตรับอับเกลือ"...++.๑๒."น้ำเคยขี้ปลาเด"...++.๑๓."ต้มเค็มลูกคลัก"...++.๑๔."หนมโคหัวล้าน"...++.๑๕."ลาซับน้ำผึ้ง"...ฯลฯ...ซึ่งผมขอเริ่มจาก"หมูต้มส้มแขก" และ "ต้มเลือดเครื่องในหมู" ก่อนนะครับ

        เสร็จจากงานทำบุญชักพระวันออกพรรษาแล้ว คู่บ่าวสาวที่ผู้ใหญ่และคนเถ้าคนแก่ได้ "แหลงกันไว้แล้ว" ก็ดูฤกษ์งามยามวันดีกำหนดการงานแต่งที่เรียกว่า "ยกหัวขันหมาก" เด็กๆอย่างผมและเพื่อนๆก็เฝ้ารอฟัง "เสียงเครื่องไฟ" ซึ่งเจ้าภาพบ้านเจ้าสาวได้ว่ามาเปิดไฟฟ้าแทนแสงตะเกียงและเปิดเพลงในงาน งานแต่งงานมงคลสมรสนั้นที่เชิงแสบ้านผมเรียกว่า "งานไหว้" งานไหว้งานนี้เจ้าสาวเป็นชาวเชิงแส เธอชื่อว่า "พี่น้อย" พี่น้อยเป็นหญิงสาวที่สวยมาก หน้ารูปไข่ ไว้ผมยาว ร่างสูงเหมือนคุณตาของเธอ แต่ผิวนวลนั้นออกจะคล้ำไปหน่อย ทั้งๆที่แม่และพ่อของพี่น้อยที่ผมเรียกว่าน้า เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ความสวยของพี่น้อยเป็นความสวยแบบธรรมชาติสาวบ้านนา สวยโดยไม่ต้องใช้ครีมไข่มุกกวนอิม ของนายห้างประจวบ จำปาทอง บ้านของพี่น้อยเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงดูสะอาดตาตั้งอยู่ที่ชายคลอง ผมไม่ได้พบพี่น้อยเธอบ่อยนักเพราะเธอไปเรียนตัดเสื้อที่ในเมือง เรียนจบแล้วก็มีจักรเย็บผ้ามารับจ้างเย็บเสื้อเย็บผ้าที่บ้าน ต่อเมื่อถึงหน้านานั่นแหละผมจึงได้พบพี่น้อยบ่อยขึ้น ซึ่งก็นับว่านานๆครั้งเพราะนาอยู่คนละที่กัน การ "เข้างาน" ในงานไหว้ครั้งนี้จะมีขึ้นที่บ้านฝ่ายเจ้าสาว...งานไหว้จัดขึ้น ๓ วัน วันแรกเป็นวันก่อนเข้างาน เครื่องไฟเริ่มมาตั้งแต่เช้าของวันนั้น วันที่สองเป็นวันเข้างาน มีการเลี้ยงแขกกินงานกินเลี้ยงกันทั้งวันจนถึงมื้อค่ำ วันที่สามเป็นวันไหว้ ขันหมากของเจ้าบ่าวมาถึงและพิธีไหว้มงคลสมรสอยู่ในวันที่สามนี้...ตั้งแต่เริ่มงานวันแรก แม่และญาติพี่น้องตลอดจนเพื่อนบ้านที่เป็นผู้หญิงนำโดยคุณน้าเอื้อนภรรยาของคุณครูบวร ได้มาช่วยกันจัดครัวใหญ่เป็นที่หุงข้าวต้มแกงที่กอไผ่ริมรั้ว ภายในเขตบ้านเจ้าสาวบริเวณด้านหลังบ้าน ส่วนน้าหลวงฝ่ายชายที่ชำนาญการนึ่งข้าวด้วยกะทะใบบัว ก็มาเตรียมก้อนเส้าใหญ่ตั้งเตาที่ใต้เงากอไผ่ใกล้ๆกัน และที่ขาดไม่ได้เลย! ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด! สำหรับบุคคลที่คล่องงานโยธาสารพัดอเนกประสงค์ ก็คือ "บ่าวหมุน" แห่งบ้านโคกพระท่าคลองหัวนอน บ่าวหมุนเป็นชายร่างค่อนข้างหนา สูงราว ๑๗๐ เซนติเมตร เห็นจะได้ บ่าวหมุนได้มาช่วยงานของชาวเชิงแสทุกงาน บ่าวหมุนถนัดงานสารพัดที่เป็นงานหนักต้องใช้แรงกาย ไม่ว่าจะเป็นตักน้ำ เฉียงฟืน หาบถ้วยจานชามมาจากวัด แบกข้าวสาร เป็นต้น ...ภาพของบ่าวหมุนอยู่ในความทรงจำของผมอยู่เสมอมา...ขออภัยจริงๆ หากผมจะกล่าวว่า เมื่อผมเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผมตั้งความหวังว่า ผมจะโชคดีอย่างยิ่ง หากในศาลที่ผมเป็นหัวหน้านั้นมีเจ้าหน้าที่ศาลที่เป็นคนขยันการงาน ซื่อสัตย์ และไม่มีปากมีเสียงเช่นเดียวกับบ่าวหมุน...+++..การเข้างานอย่างนี้ แม่ครัวนับว่าสำคัญมาก คุณน้าแม่ของพี่น้อยและป้าหนูยายของเธอ นัดพูดคุยวางแผนงานครัวกับคณะฝ่ายแม่ครัวมานานหลายวันแล้ว เพราะต้องเตรียมการหลายอย่าง ตั้งแต่การโดยสารเรือยนต์ไปซื้อ หอม กระเทียม ส้มแขก น้ำตาลทราย น้ำปลา ซีอิ๊ว และขนมโรง ที่ตลาดพัทลุง ซึ่งคนเชิงแสบ้านผมเรียกตัวเมืองพัทลุงว่า "สี่กัก" คือ สี่แยก นั่นเอง จะไปพัทลุงก็บอกว่าไปเมืองลุงไปสีกัก นอกจากนั้น ก็ยังต้องเตรียมการเรื่องอาหารคาวอาหารหวานไว้เลี้ยงแขกหลายหม้อให้พอเพียง ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ขนมสำหรับคู่แต่งงานใหม่ต้องนำไปไหว้คนเฒ่าคนแก่ในเวลากลางคืนหลังวันแต่งประมาณ ๓ วัน อันนี้เป็นธรรมเนียมสำคัญของชาวบ้านเชิงแสเลยทีเดียว

        เช้าวันแรกนั้น แม่และฝ่ายหญิงฝ่ายต่างนำ "เหล็กขูด" มีดหั่นหมู เขียง ครกตำเครื่องแกง กันไปที่บ้านงานเตรียมช่วยทำครัว เมื่อไปถึงก็ได้ยินเสียงน้าเอื้อนสั่งบ่าวหมุนว่า "เหล็กขูดไม่พอคน หมุนช่วยไปเอาเหล็กขูดจากครัววัดกลางมาให้ที" หลังจากนั้นไม่นานน้าท้วมก็หาบหมูมาให้แม่ครัวช่วยกันหั่นเป็นชิ้น น้าท้วมบอกว่า เดี่ยวน้าหีดภรรยาแกจะนำเลือดหมูตามมา ให้ได้ต้มจืดเลือดหมูกับเครื่องในกินกันก่อน พวกแม่ครัวฝ่ายหญิงตั้งวงขูดมะพร้าวกันบนเสื่อพวกหนึ่ง มะพร้าวนี้ญาติๆของฝ่ายเจ้าบ่าวนำมาให้นับร้อยลูก เป็นมะพร้าวจากเกาะใหญ่ทั้งนั้น ฝ่ายหญิงอีกพวกที่บนแคร่ไม้ต่างเริ่มลงมือช่วยหั่นหมูสามชั้นเป็นชิ้นๆ น้าเอื้อนล้างส้มแขกผึ่งลมไว้ให้พอนิ่ม...ที่บนบ้านพี่ผู้หญิงสาวๆ ช่วยกันติดสายรุ้งหลากสีสวยงามเป็นรัศมีกลมกระจายไปโดยรอบที่ห้องโถงของบ้าน ส่วนคนแก่ๆฝ่ายหญิงดูความเรียบร้อยของหมากพลู...และห้องหอซึ่งต่อเติมออกไปทางทิศตะวันออกของตัวบ้านใหญ่ งานทุกอย่างราบรื่นสมกับเป็นงานมงคลจริงๆ....+++..ไม่นานนักน้าหีดก็หาบเลือดหมูมา โดยมีลูกชายรุ่นเดียวกับผมเดินตามมาด้วยและในมือของเขานั้นได้ถือของสำคัญอย่างยิ่งมา นั่นคือ "กระเพาะเยี่ยวหมู" ๒ กระเพาะ ที่ว่าสำคัญก็เพราะเด็กๆจะได้นำมาเตะเล่นเหมือนลูกฟุตบอล น้าท้วมบอกว่าให้เป่าลมเสียใหม่ให้ตึงๆ น้าหลวงคนครัวจึงให้ไปหักก้านมะละกอที่หน้าบ้านครูบวรมาเป็นท่อเป่า ได้ก้านมะละกอมาแล้ว น้าท้วมเสียบก้านมะละกอด้านหนึ่งเข้าไปในกระเพาะหมู แล้วให้เด็กๆช่วยจับปากกระเพาะไว้ให้แน่น น้าเป่าลมเข้าไปไม่กี่พรืด กระเพาะหมูก็ตึง พวกเราช่วยกันใช้ยางรัดจนแน่น แล้วเฮโลพากันไปเตะกันอย่างชุลมุนแสนสนุก โดยมีเสียงผู้ใหญ่ตะโกนมาว่า "พากันไปฉัดไกลๆ ผู้ใหญ่จะทำครัว"

         "ต้มเลือดเครื่องในหมู" มีชื่อเรียกอีกให้สั้นเข้าอีกอย่างว่า "ต้มเลือดหมู"...เป็นแกงจืดที่อร่อยมาก และนานๆจึงจะได้ทำกันสักครั้ง เนื่องจากต้องใช้เลือดหมูสดและเครื่องในหมูทุกอย่างผสมกันต้มเป็นหม้อใหญ่ๆ แกงประเภทนี้เป็นแกงรวมทำกินกันก่อนในหมู่วงของเจ้าภาพ,ยกใส่ถาดให้ผู้อาวุโส และล้อมวงกินกันในพวกคนครัวผู้มาช่วยงาน...คือเป็นแกงในครัว ไม่นำไปเลี้ยงแขก...วิธีทำไม่ยากเลย เริ่มจาก ตั้งหม้อใหญ่ใส่น้ำต้มให้เดือด ใส่เลือดหมู ตามด้วยชิ้นของเครื่องใน ประเภท ตับ ปอด ใส้อ่อน ต่อด้วยหมูสามชั้นหั่นชิ้นเล็กๆ หัวหอมปอก ๒ กำมือใหญ่ๆ ต้มจนเดือดพอสุก ใส่เกลือ น้ำตาลเพื่อชูรส ปิดท้ายด้วยพริกไทยดำตำละเอียด ขณะที่แกงเดือดอยู่นั้น ก็เตรียมตัวล้อมวงรอชิม ท่ามกลางไอหอมของต้มเลือดหมู...พี่ละอองบอกว่า "สุกแล้วๆ จัดเท่ให้คนเฒ่าคนแก่เลย"...+++ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้อาวุโสทั้งคุณตาคุณยายที่นั่งยนหมากเคี้ยวพลูกันอยู่ที่บนบ้านนั้น มีบุคคลสำคัญสำหรับงานไหว้คนหนึ่งด้วย ท่านผู้อาวุโสท่านนี้ คือคนที่ผมเรียกว่า "ลุงมุก" ลุงมุกป้าจันบ้านตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดหัวนอน ลุกมุกเป็น "หมอทำขวัญบ่าวสาว"...งานแต่งงานที่บ้านเชิงแสนั้น มีหมอทำขวัญบ่าวสาว เช่นเดียวกับงานบวชท่ี่ต้องมี หมอทำขวัญนาค หมอทำขวัญบ่าวสาวทำหน้าที่ให้พรและสั่งสอนอบรมทุกเรื่องให้คู่บ่าวสาวทราบ ใช้เวลาสั่งสอนอบรมในวันพิธีนานมากๆเลยทีเดียว ...เรื่องที่สอนก็เช่น การครองรัก การครองเรือน การทานอาหารที่ทำให้มีน้ำนม การเลี้ยงลูก เยอะมากเลย...ผมกับพี่ๆผู้หญิงลูกสาวของลุงมุกสนิทกันทุกคน เพราะเมื่อผมเป็นเด็กผมไปกินข้าวที่บ้านลุงมุกหลายครั้ง อีกทั้งลูกชายคนเล็กของลุงมุกกับผมก็เป็นเพื่อนกัน เขาชื่อว่า "แก้ว" เมื่อหลายปี่ก่อนผมขับรถเช่าจากสนามบินหาดใหญ่ ผ่านวัดพะโคะเมื่อเย็นมากแล้ว วันนั้นมีงานที่วัดพะโคะ ผมได้พบกับแก้วเพื่อนเก่าของผม เมื่อผมไปทัก แก้วจำผมได้ และถามผมว่า "มึง กร ลูกน้าเพียร หมันไหม้?" ผมตอบว่า "หมันแล้วแก้วเหอ" แก้วเลยบอกว่า "หลบบ้านอีกคราวหลัง ขอให้ซื้อกางเกงขายาวมาฝากสักตัว" ผมโชคดีอยู่อย่างที่กลับเชิงแสครั้งใด ก็มักจะพบเพื่อนๆ เมื่องานทำบุญทอดผ้าป่า ที่ป่าช้าเชิงแส วันที่ ๑๑ เมษายนที่ผ่านมา ได้พบเพื่อนเก่าอีกคนหนึ่ง ชื่อว่า "แจก" เราพบกันขณะผมกำลังถ่ายภาพวัดกลาง แจกจำผมไม่ได้ แต่ผมจำเขาได้ดี ถามว่าแจกจะไปไหน แจกว่า "ไปวัดเอก" ผมเลยขับรถไปส่งแจกที่วัดเอก แจกเขาเป็นเจ้าประจำกับวัดเอก ผมส่งแจกลงจากรถแล้ว พาไปนั่งที่หน้าโรงครัวตามที่แจกต้องการ แล้วผมขอถ่ายภาพของแจกมา ๑ ภาพ แจกวางมาดยิ้มเย็นให้ผมเก็บภาพด้วยความเต็มใจ...ทั้งแจกและแก้วเป็นเพื่อนเก่าของผมครับ...เพื่อนเก่าที่เชิงแส...!..........๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐................................................................................................................................................................................+++++++++++++++.................
              หลังจากอิ่มม้ือเช้าด้วยอาหารบ้านทุ่งตำหรับเชิงแสแล้ว . แม่ครัวทุกคนเริ่มหั่นหมูกันต่อ เพราะจะต้องทำกับข้าวชนิดแรก นั่นคือ "ต้มส้มแขก" .สำรับประเภทนี้ พอที่จะจัดเข้าในประเภทแกงจืดได้เหมือนกัน แต่เป็นแกงจืดที่มีรสชาดของความเปรี้ยวนำ ตามด้วยหวานอมเค็ม น้าเอื้อนหัวหน้าแม่ครัวตั้งกระทะใบบัวบนก้อนเส้า. แล้วใส่น้ำสามส่วนสี่  เติมฟืนเร่งไฟจนน้ำเดือด น้าบอกให้ลูกมือนำหมูเนื้อแดงและหมูสามชั้นชิ้นใหญ่เท่าหมูพะโล้ มาใส่ลงในกระทะ . เมื่อหมูสุกจนนุ่มดี ก็ใส่ซีอิ๊วขาวลงไป ตามด้วยเกลือและน้ำตาลทราย. ได้ที่แล้วจึงใส่ชิ้นส้มแขกหลายฟายมือ  ตั้งไฟต่ออีกไม่นาน. รสแกงหอมอร่อยก็อวลกลิ่นทั่วลานเงาไผ่ . เป็นกลิ่นแกงกลิ่นกับข้าวแรกของงานไหว้. ขณะเดียวกัน น้าหลวงฝ่ายชายก็เริ่มนึ่งข้าว ด้วยกระทะใบบัว  ครอบด้วยถังใหญ่ ใต้ถังเป็นถาดข้าวสารน้ำปริ่ม  วางเป็นระเบียบอยู่ในชั้นไม้เนื้อแข็งประมาณ ๑๒ ถาด. เป็นวิธีหุงข้าวที่แปลกตามาก ถ้าไม่ใช่งานไหว้อย่างนี้ ก็มักจะไม่หุงกัน . งานแต่งพี่น้อย แม้จะเป็นคนเชื้อจีน แต่บ้านนาบ้านทุ่งอย่างบ้านเชิงแส อย่างนี้ กับข้าวเลี้ยงแขกอีกอย่างที่ ขาดไม่ได้ นั่นคือ "แกงคั่ววัว"  ซึ่งจะมีการตีหัววัว ก่อนมีการชำแหละ. ทำไมไม่ฆ่าวัวโดยวิธีอื่นก็ไม่รู้ . แกงคั่วเนื้อวัวเป็นอาหารเลี้ยงแขกประเภทแกงเผ็ด . ปัจจุบันเรียกกันติดปากว่า "คั่วกลิ้ง" . ชื่อที่เรียกว่าคั่วกลิ้ง  ผมเพิ่งได้ยินครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๓๙  ปีนั้นผมรับราชการที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี. แต่วิธีทำคั่วกลิ้ง กับวิธีทำคั่ววัวที่เชิงแสบ้านผมนั้นแตกต่างกัน.  เอาคร่าวๆ ก็คือ คั่ววัวที่เชิงแสเป็นคั่วแห้งที่ใส่กะทิ ...+++.ซึ่งแม่ครัวที่ขูดมะพร้าวเสร็จแล้ว ได้เตรียมช่วยกันทำเครื่องแกง ...เรียกว่า "ทิ่มเครื่อง" คือตำเครื่องแกงนั่นเอง....+++ เสียงตำเครื่องแกงหลายครก ดังสนั่นทั่วคลองเชิงแส . ในขณะที่เสียงเครื่องไฟก็เริ่มเปิดเพลง...++++."ขันหมากมาแล้ว"...ของขุนพลเพลงชื่อดังแห่งยุค "ยงยุทธ  เชี่ยวชาญชัย"...จากนั้นก็ต่อด้วยเพลง "รักพี่จงหนีพ่อ" ...แล้วเป็นเพลง "สัจจะชาวนา" ...ซึ่งมีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า ..."พี่เป็นคนจน  รถยนต์ก็ไม่มีจะขี่  มีแต่เกวียนเทียมควายชั้นดี อยากเอาไปให้ขี่ก็อายเหลือทน...",..และเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจก็ไม่ทราบ เมื่อจบเพลงชุดของยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย  แล้ว . เพลงชุดใหม่ของขุนพลเพลงจากราชบุรี ที่ชื่อว่า "เพชร โพธาราม " ก็ดังขึ้น .,..ใช่แล้วครับ ...+++ " รักคนชื่อน้อย"...+++.ชื่อเดียวกับเจ้าสาวของงานนี้  นั่นเอง........๐๐๐๐๐.....................................................................................................................................................................................................++++++++...........
          เพลง "รักคนชื่อน้อย" ... ขึ้นต้นว่า ..."ผมหลงรักคนผู้หญิงชื่อน้อย  เฝ้ารัก  เฝ้าคอย  แต่น้อยไม่ยอมเห็นใจ  เมินหน้าหนีไม่มีเยื่อใย  ไม่แลเหลียว  ไม่ยอมเคียงใกล้ ...โอ้! ..ใจน้อยดำเหลือทน..+++"...เพลงนี้ผู้แต่ง คือ "ครูสุชาติ  เทียนทอง"..เพชร  โพธาราม ร้องเพลงไว้มาก . ที่ดังติดใจแฟนเพลงลูกทุ่งอีก  คือ เพลง .." ต.ช.ด. ขอร้อง" และเพลง " สุโขทัยระทม" ที่แต่งโดย "ครูจิ๋ว พิจิตร " (ซึ่งเป็นชาวอ่างทอง) ...+++...ระหว่างที่ฟังเพลงจากเสียงเครื่องไฟงานไหว้อยู่อย่างเพลิดเพลิน. น้าเล็กผู้ที่มีฝีมือเลิศรสด้านการทำขนม โดยเฉพาะขนมชั้น ก็เตรียมการหุงข้าวเหนียว  เพื่อทำ "เหนียวงานไหว้"  คุณยายหนูและพี่น้อยเจ้าสาวลงจากบ้านมาเพื่อจะช่วยทำ "หัวเหนียว" ทุกคนร้องห้ามบอกว่า. พี่น้อยไม่ต้องช่วยหรอก เจ้าสาวไม่ต้องช่วย เดี๋ยวจะเหนื่อย ให้ไปพักผ่อน . เจ้าสาวนี่ที่เชิงแสไม่ได้เรียกเจ้าสาวหรอกครับ เรียกว่า  "นางสาว" ฟังแล้วแปลกดี...การทำเหนียวงานแต่งงานหรืองานไหว้คราวนี้ ทุกคนที่มาช่วยทำครัวต่าง ช่วยกันนำ "สรวด" ซึ่งภาคกลางเรียกว่า "หวด" มาเป็นภาชนะในการนึ่งข้าวเหนียว . นับรวมแล้วถึง ๑๐ ใบ ซึ่งล้วนแต่เป็นสรวดดินเผาอย่างดีจากเกาะยอทั้งสิ้น. บริเวณที่นึ่งข้าวเหนียวก็อยู่ใกล้ๆ กับที่ตั้งวงกันขูดมะพร้าวนั่นเอง  น้าเล็กบอกว่าเมื่อนึ่งข้าวเหนียวเสร็จแล้ว ชั้นที่จะทำ "เหนียวหลบ" ต้องไปทำในครัวบนบ้าน . น้าเล็กดูจะระวังเรื่องความสะอาดของข้าวเหนียวเป็นพิเศษจริงๆ  แต่ที่สำคัญแม่บอกว่าเหตุที่ต้องหลบเหนียวกันบนบ้าน เพราะไม่อยากให้กะทิอยู่ใกล้ความร้อนหรือบริเวณที่มีแสงแดด . จึงต้องทำเหนียวหลบที่บนครัวซึ่งเป็นที่ร่ม ...ผมลืมบอกไปว่า คำว่า "เหนียวหลบ หรือ หลบเหนียว" ของบ้านเชิงแส นั้น กรุงเทพฯ เขาเรียกว่า "ข้าวเหนียวมูน" ...ซึ่งที่กรุงเทพฯ ร้านที่แพงและพอจะอร่อยก็มีร้าน " ก พานิช" " ถนนตะนาว ไม่ไกลศาลฎีกานัก ....+++..ในการทำเหนียวงานไหว้ไว้เลี้ยงแขกครั้งนี้ แม่รับทำ "หัวเหนียว" เพราะแม่มีฝีมือทำขนมอร่อยหลายชนิดขนม ยกตัวอย่าง เช่น ขนมถาด , ขนมเท่ดิบ , ขนมเท่สุก , และขนมมันโท้นึ่ง (ที่กรุงเทพฯ คือ ขนมมันสำปะหลังนึ่ง) ทุกชนิดที่กล่าวถึงนั้น ผมพยายามหาที่กรุงเทพฯ แล้ว . ไม่มีที่ไหนเท่าฝีมือแม่...! พูดตรงๆ นะครับ ขนาดว่าที่ "ร้านศิลปาชีพ ๙๐๔" ซึ่งมีบรรจุภัณฑ์ที่ดี และขนมมันนึ่งหลากสีสวย แต่รสชาติก็สู้มันโท้นึ่งฝีมือแม่ไม่ได้จริงๆ...เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะขนมของแม่ใช้น้ำตาลโตนด จึงทำให้รสหวานของขนมเป็นรสหวานนวล ไม่หวานแหลม นั่นเอง........๐๐๐๐๐๐๐๐๐......................................................
        (ขณะนี้มีข้อขัดข้องด้านการเผยแพร่ข้อความและภาพ  ผมพยายามแก้ไขหลายครั้งแล้ว ยังไม่สำเร็จ การเผยแพร่เพิ่มเติมใช้เวลานานมาก บางครั้งเพียง ๑ ย่อหน้า ต้องใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมง...สอบถามผู้รู้บางท่านบอกว่า เป็นเพราะข้อมูลมากเกินไปหรือเปล่า? ก็ จะรีบแก้ไขครับ ...จะให้ทันขันหมากเจ้าบ่าวพี่น้อย...เรื่องข้อขัดข้องในการเผยแพร่ข้อความนี้ ไม่รู้ว่า "บ่าวหมุน" แห่งบ้านเชิงแส,โคกพระ . จะช่วยผมได้หรือเปล่าก็ไม่รู้?...เพราะนี่ใช้ระบบ "3G"...แต่ที่เชิงแสนั้นมีแค่ 2G ...คือ "เคยจี กับ ปลาจี"..ครับผม.........๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐............................................................................................................................................................................................++++++++++++++++++................
            เมื่อคืนวันศุกร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ใครได้ดูข่าวในพระราชสำนักบ้างไม่ทราบ?   หากใครได้ดู ก็จะได้เห็นข่าวที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปที่ลุ่มแม่น้ำปากพนัง นครศรีธรรมราช . และได้ทอดพระเนตร พันธ์ุข้าวพื้นเมือง ประมาณ ๓ สายพันธ์ุ  หนึ่งในนั้น มีพันธ์ุ   "ไข่มดริ้น" .รวมอยู่ด้วย ดูข่าวแล้วให้คิดถึงบ้านแม่ที่เชิงแส . ซึ่งขณะนี้ทุุ่งท้องนาแห่งบ้านเชิงแสไม่มีข้าวไข่มดลิ้นเสียแล้ว . จะมีก็แต่เรื่องราวที่ผมเล่าไว้ในบทที่ ๖ ...ช่วงนี้งานผมยุ่งมากจริงๆ ไม่ได้เขียนเล่าบ่อยนัก เว้นแต่มีเรื่องที่เห็นว่าสำคัญ . ที่เกี่ยวพันกับบ้านเรา . สำหรับภาพต่างๆ ก็เพียงแต่เตรียมไว้ ไม่ได้นำมาลงให้ชมกัน .อดใจรอหน่อยครับ ...ขณะนี้เรื่องราวของเชิงแสบ้านแม่ที่ผมเขียนอยู่นี้ มีผูเข้าชมเกือบถึงหนึ่งหมื่นคนแล้ว ...+++...แต่ผมยังแก้ปัญหาเรื่องการพิมพ์ข้อความไม่ได้อยู่เหมือนเดิมครับ ...สงสัยจะต้องขอช่วย "พี่หลวงโชติ " เสียแล้ว  พี่หลวงโชติลูกลุงรุ่ง ช่วยผมได้หรือไม่ผมไม่รู้ แต่ "ช่วยจันทร์" ได้แน่ๆ เพราะมีนามสกุลว่า "ช่วยจันทร์" ...+++..................๐๐๐๐๐๐๐.......................................................................................................................................+.........................................................+++++++++++.........
           ใกล้ค่ำวันศุกร์ เมื่อวาน มีเหตุระเบิด "คาร์บอมบ์" !! ที่อำเภอเบตง ยะลา น่าเศร้าใจมากทีเดียวครับ พี่น้องไทยพุทธ และ ไทยมุสลิม ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก .  "เบตง" หรือที่คนเชิงแสออกเสียงเป็น "เบะตง" อำเภอนี้เป็นถิ่นที่สงบสุขมานานแล้ว ไม่น่าจะเจอกับเหตุอย่างนี้เลย . ชาวเชิงแสบ้านเราไปทำการทำงานและมีบ้านอยู่ที่อำเภอเบตงหลายคน ญาติของผม คือ ลุงไสว แสงแก้ว และครอบครัวไปตั้งหลักปักฐานกันอยู่ที่เบตง อยู่นานหลายสิบปี . ผมไปเบตงครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๔ พ่อพาไปเยี่ยมพี่ปรีชาพี่ชายคนที่ ๒ . เบตงเป็นอำเภอใหญ่ที่น่าอยู่ มีลำคลองน้ำใสไหลเชี่ยวผ่านตัวเมือง  ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวจีน . เมื่อผมมีลูกสาว ปี ๒๕๔๔ อายุลูกได้ ๗ เดือน ผมและครอบครัวไปเยี่ยมแม่ที่พักอยู่กับน้องที่ตัวจังหวัดยะลาแล้ว ก็ไปเยี่ยมญาติที่เบตง จนพากันไปเที่ยวมาเลเซีย โดยมีพี่สุภาพลูกของลุงไสวนำเที่ยว. "เบตง" แห่งนี้เป็นอำเภอที่ผมระลึกถึงอยู่เสมอ .ปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ผมก็มีโปรแกรมจะไปทำบุญที่อำเภอเบตง ...ถึงจะมีเหตุการร้ายแรงอย่างไร. ก็จะไปให้ได้ ...เราต้องไปให้กำลังใจกัน...ให้ทุกคนมีกำลังใจต่อสู้ และฝ่าฟันอุปสรรค..เราจะผ่านพ้นภัยให้ได้...+++..ขอให้พี่น้องไทยภาคใต้ จงปลอดภัย และมีกำลังใจต่อสู้ ...ผมให้กำลังใจครับ....++ ให้กำลังใจพี่น้องใต้ครั้งนี้ หากมีเวลา ก็อ่าน เชิงแสบ้านแม่ฯ บท "จารึกสังฆคุณสองแผ่นดิน" ก็ได้ครับ ...เพราะ พ่อท่านรื่น ชาวเชิงแสเคยมาสร้างวัดไว้ที่เบตง ....๐๐๐๐............................................................................................................................................................................................................+++++++++++++.............
                ช่วงนี้ทั้งทำงานคดี  และต้องเป็นประธานประชุมจัดระเบียบตลาดคลองหลอดรอบศาลฎีกา  ประชุมกับฝ่ายทหาร  ฝ่ายตำรวจ และฝ่าย กทม.  แทบทุกคืนตอนสองทุ่ม  ...งานจัดระเบียบเป็นไปได้ดีพอสมควร ขณะนี้ตกลงกับผู้ค้าทั้ง ๑,๐๐๖ ราย ได้เรียบร้อยแล้ว และมีการประเมินว่าเริ่มมีความปลอดภัยมากขึ้น . ผมจึงเข้าพื้นที่ริมคลองในเวลากลางคืนได้ งานค่อนข้างเสี่ยงทีเดียว ก็อย่างว่าแหละครับ . ตลาดนี้เป็นตลาดคลองหลอด ไม่ใช่ตลาดคลองคดสำคอแดงที่บ้านเรา งานจัดระเบียบย่อมเป็นงานยาก . ต้องใช้หลากหลายวิชา แต่ที่สำคัญต้องทำงานอย่างให้เกียรติกัน ทั้งผู้ร่วมงาน ที่เราได้ตั้ง "กองอำนวยการร่วม"  และต้องให้เกียรติผู้ค้าทุกคนด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ผู้ค้าระดับแกนนำนั้นผมรู้จักแทบทุกคน .มีผู้เป็นห่วงเป็นใยผมอยู่พอควร มีอะไรก็ให้ข้อมูลอยู่เสมอ บางคนให้เงินมาเป็นหมื่น เพราะรู้ดีว่าทำงานอย่างนี้ต้องใช้เงินพิเศษมากจริงๆ มันเป็นงานนอกระบบ แต่อยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม . ท่านประธานศาลฎีกาก็มาเยี่ยมผมขณะที่ผมอยู่ในพื้นที่ . ท่านเมตตาผมมาเยี่ยมเยียนทักทายสารทุกข์สุกดิบสองครั้ง เป็นการส่วนตัว . เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ที่ผ่านมา เสร็จงานวันรพีแล้ว ท่านประธานศาลฎีกาชวนผมไปดูพื้นที่การก่อสร้างศาลฎีกาเฉลิมพระเกียรติที่กำลังสร้างอยู่นี้ ท่านประธานศาลฎีกาพูดขำๆ ว่า "โครงการนี้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา แต่มีอุปสรรคมาก คงสร้างเสร็จในวาระ ๙๐ พรรษา" ขณะนี้ผมเริ่มเขียนเรื่องราวการก่อสร้างศาลฎีกาไว้ในลักษณะของจดหมายเหตุ. .......+++...ท่านที่สนใจให้  search  ค้นหาไปที่คำว่า " ศาลฎีกา ; สารานุกรมจดหมายเหตุ" ...+++...ตกลงว่างานแต่งของพี่น้อยผมยังเขียนค้างอยู่ ยังไม่ได้เขียนต่อเสียที่  มีเรื่องอื่นเข้ามาแทรกอยู่เรื่อยๆ .....ไม่ว่ากันนะครับ .................................๐๐๐๐๐๐๐............................................................................................................................................................................................+++++++++
            ช่วงนี้ที่กรุงเทพฯ ฝนตก. ผมไม่สบายเป็นไข้หวัด เมื่อเป็นหวัดอย่างนี้ ก็พานให้คิดถึงบ้านแม่ที่เชิงแส. คือ คิดถึงลูกอมชนิดหนึ่ง ผมเรียกว่า "ลูกอมหวัด" ซึ่งผมสันนิษฐานว่า ลูกอมหวัดนี้น่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ของ "ลูกอมฮอลล์" เพราะรสชาติคล้ายใกล้เคียงกัน  ลูกอมหวัดมาถึงบ้านเชิงแสเมื่อใดผมไม่ทราบ และคงจะไม่มีใครได้บันทึกไว้ ผมรู้แต่ว่าเงินสลึงหนึ่งก็ซื้อลูกอมหวัดได้สามสี่เม็ด . ที่เรียกว่าลูกอมหวัดนั้นน่าจะมาจากสรรพคุณบรรเทาอาการเจ็บคอ . แต่ถึงจะไม่เจ็บคอก็อมได้ ตามธรรมดาเม็ดหนึ่งก็อมได้คนเดียว . แต่ที่เชิงแสผมเคยเห็นเด็กๆบางคนแบ่งกันอม ก็มีเหมือนกัน คนที่อมก่อนก็รีบๆอมรีบดูด คนที่อมทีหลังก็ยืนรอ . แต่ถ้ามาทันเวลาก่อนที่เจ้าของเขาจะเอาใส่ปาก ก็ขอได้ เจ้าของใจดีกัดแบ่งครึ่งให้ ได้แบ่งกันอม . ชีวิตเด็กบ้านนอกเป็นอยู่กันอย่างนี้. ครั้งหนึ่งพี่ละอองลูกสาวคนโตของป้าเชย ถูกเบอร์ ๒ บาท จึงซื้อลูกอมหวัดถุงใหญ่มาเลี้ยงเพื่อนบ้านที่มาแสดงความยินดี . ผมก็ไปแสดงความยินดีด้วย จึงได้ลูกอมหวัดมา ๒ เม็ด , ลูกอมหวัดที่บ้านเชิงแสมีเพื่อนลูกอมที่สนิท ชื่อว่า "ลูกอมเนย" ....ขณะนี้ที่เชิงแสร้านไหนยังขายลูกอมหวัดและลูกอมเนยอยู่บ้างครับ???..........................๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐..............................................................................................................................................................................................++++++++++++
              เมื่อวาน...ผมเปิด Fb.ของตัวเองดูข้อมูลครั้งแรกในรอบสามเดือน  ต้องขออภัยที่ไม่ได้รับใครเป็นเพื่อนเลย  แต่ขอให้ทราบนะครับว่า. ผมรับเป็นเพื่อนทุกคน.,...ดีใจมากที่มีเพื่อนจากเชิงแสคนหนึ่งได้อ่านเรื่องเชิงแสบ้านแม่. นอกจากจะดีใจแล้วก็ให้รู้สึกเขินๆ ปนๆกับกังวลว่าจะเขียนไม่ดี., จะพยายามเขียนให้ดีครับ  เพื่อจะได้คืนความสุขให้พี่น้องชาวเชิงแส ชาวระโนด และชาวสงขล ตลอดจนผู้อ่านทุกท่าน .,++++...เพื่อนจากเชิงแสที่ผมกล่าวถึงนี้ เธอชื่อว่า "สุคนธ์" . ซึ่งทั้งบ้านเชิงแสบ้านเกิดผมมีคนชื่อสุคนธ์อยู่สามคน .สวยๆทุกคน บ้านของสุคนธ์ตั้งอยู่กลางบ้านใหญ่ทางไปริมคลอง ,ละแวกนั้นมีบ้านญาติของแม่สองบ้าน คือบ้านของแปะชม จีระโร พี่ชายแม่ และบ้านของป้าฉีด รัตนวิไล (ป้าฉีดเป็นลูกก๋งยกซึ่งเป็นพี่ชายของตาผม) บ้านของสุคนธ์เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง เสาปูน หันหน้าบ้านไปทางทิศตะวันออก ส่วนด้านทิศตะวันตกนั้นมีประตูเล็กๆ แต่ไม่มีบันได.,+++ ..คนบ้านเชิงแสมีบ้านลักษณะอย่างนี้อยู่หลายหลัง .,กล่าวถึงชื่อคนที่ซ้ำกันแล้ว เชิงแสบ้านแม่ของผม มีคนที่ชื่อซ้ำกันมากที่สุด คือ ชื่อว่า "เนี่ยว" เช่น ., ยกเนี่ยว , บ้วนเนี่ยว , รักเนี่ยว, เฉ้งเนี่ยว , บุญเนี่ยว , วัดเนี่ยว , อั้นเนี่ยว ,และ  เนี่ยว (เฉยๆ) .   ,นอกจากนั้น คือชื่อว่า "เลี่ยน"  เช่น พี่ๆ น้องๆ ยายของผม ซึ่งมีทั้ง .,เลี่ยน , ขุ้ยเลี่ยน , และ คุณยายเลียนแห้ง เป็นต้น) .............๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐.................................................................................................................................................................................++++++++++++++
              (ดูเหมือนว่า...ผมจะแก้ปัญหาเรื่องการอัพเดตข้อมูลได้แล้ว. ..จึงขอต่อเรื่องงานแต่งพี่น้อยนะครับ)+++...........๐๐๐๐๐๐๐๐๐............................................................................................................................................................................................++++++++++++++
                แม่และน้าเล็กเตรียม  " ผัดหัวเหนียว " อย่างเต็มฝีมือ. เครื่องหัวเหนียวงานไหว้ที่แม่จะทำในวันนี้มีพร้อมอยู่แล้วที่ในถาด. ดูเรียงรายไปหมดใกล้ๆตัวของแม่ ทั้งมะพร้าวขูดขาวสะอาดที่พูนเต็มถาด, ถั่วใต้ดินคั่วตำพอบุบในถาดถัดไป ถั่วใต้ดินตามคำเรียกของชาวเชิงแส ก็คือถั่วลิสงนั่นเอง,เม็ดหัวครกเผาแกะเจียะออกแล้ววางไว้ในถาดใกล้กัน, และที่สำคัญน้ำตาลโตนดสีนวลหอม ในหม้อเคลือบที่แม่กำลังตักใส่กระทะบนอั้งโล่เตาถ่าน, ได้ยินแม่พูดกับน้าเล็กว่า " น้ำผึ้งโหนดเจ้านี้หอมจัง ". น้าเล็กจึงบอกแม่ว่า " ฉานให้ยายหนูสั่งมาจากโคกพระ น้าอบเหอ แลตะ เป็นน้ำผึ้งใหม่ทั้งเพ้น ".เมื่อน้ำผึ้งโหนดเดือด ปุด ๆ ได้ที่แล้ว. แม่ใส่ถั่วลิสงและเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ลงไปผัดก่อน จากนั้นจึงใส่มะพร้าวขูดลงไป. แม่ใช้ไม้พายผัดหัวเหนียวจนเสร็จ ในเวลาไล่เลี่ยกับที่น้าเอื้อนให้พวกแม่ครัวนำข้าวเหนียวสองกะละมังมาถึงในครัว. น้าเล็กจึงเตรียมทำ "เหนียวหลบ" น้าเล็กแบ่งข้าวเหนียวใส่กะละมังขนาดกลาง นำหัวกะทิที่ใส่เกลือไว้แล้ว ราดลงในข้าวเหนียวพอชุ่ม ใช้ไม้พายคู่มือที่เตรียมมาพลิกคนกลับให้ข้าวเหนียวเข้ากับหัวกะทิ. คงเป็นเพราะอย่างนี้กระมังครับ ที่เชิงแสจึงเรียกว่า " เหนียวหลบ" . สังเกตดู จะเห็นเคล็ดลับในการทำเหนียวมูนว่า หลังจากมูนเหนียวหรือหลบเหนียวอย่างที่เล่าแล้ว น้าเล็กจะนำกะละมังมาครอบอบอีกขั้นตอนหนึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย....+++...เมื่อทั้งเหนียวหลบและหัวเหนียวเสร็จเรียบร้อยแล้ว. แม่และน้าเล็กก็ตักมาให้คนเถ้าคนแก่ทานกันก่อน. ป้าลับที่มีฝีมือทำขนม "ม่อชี่" กล่าวชมว่า "ทำเหนียวหลบได้หรอยจัง"..................๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐......................................................................................................................................................................................+++++++++++
                 ในวันงานที่ขบวนเรือขันหมากเจ้าบ่าวมาถึง. น้าเอื้อนหัวหน้าแม่ครัวได้เพิ่มกับข้าวงานแต่งงานพี่น้อยขึ้นอีกสองอย่าง. คือ  "ผัดหมี่" และ " หนางหมู". ซึ่งสำรับกับข้าวของชาวเชิงแสทั้งสองประเภทนี้ผมขอข้ามไป จะไม่เล่าถึงรายละเอียดนะครับ....งานไหว้ที่เชิงแสบ้านแม่ของผม. ยังมีพิธีกรรมอีกสองอย่างที่ผมจะต้องกล่าวถึง ก็คือ ..."พีธีเวียนสาดเวียนหมอน"  และ " พีธีรับไหว้" โดยพีธีเวียนสาดเวียนหมอนนั้น ทำในคืนส่งตัวเจ้าสาว . ส่วนพีธีรับไหว้มีในคืนที่สองหรือคืนที่สามก็ได้. สำหรับงานแต่งพี่น้อย ในเวลาหัวค่ำของคืนที่สามคุณป้าของพี่น้อย. ได้นำพี่น้อยและเจ้าบ่าวมาที่บ้านแม่. เมื่อมาถึงคุณป้าพี่น้อยร้องเรียกพ่อและแม่ว่า " น้าเพียร  น้าอบ เฮ. อี้พาลูกหลานมาไหว้ขอศีลขอพร " พ่อบอกว่า "ขึ้นมาตะ วัง. วัง. อีัพลัดหัวได."...แม่ว่า "อี้พลัดไซร้ ฉานเอาเกียงมารับแล้ว".................๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐.............................................................................................................................................................................................++++++++++++
               ขณะที่คุณป้าพี่น้อย พี่สมปอง และพี่น้อย ขึ้นมาเช็ดเท้าที่นอกชาน ผมก็ปูเสื่อทั้งสองผืนที่ระเบียงบ้านเสร็จพอดี.  พ่อกับแม่นั่งคู่กันบนเสื่อเพื่อทำพิธีรับไหว้ โดยนั่งหันหน้าออกไปทางนอกชาน. ส่วนพี่น้อยและพี่สมปองนั่งคู่กันตรงข้ามกับพ่อและแม่. คู่สมรสต่างประคอง "อยอง" ซึ่งเป็นพานขนาดเล็กที่ใส่หมากพลูมาวางไว้หน้าพ่อและแม่  แล้วก็ไหว้กราบ จากนั้นเปิดผ้าคลุมอยองออก แล้วส่งให้พ่อ.  พ่อรับแล้ว เก็บหมากพลูไว้ พร้อมกับให้พรว่า " การที่ได้ไหว้ ได้แต่งกันนี้ ถือว่าทำบุญมาด้วยกัน จึงได้พบกัน ได้แต่งงานอยู่กินกัน ให้ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม พระธรรมจะได้คุ้มครองเธอทั้งสอง ขอให้มีความรักต่อกันให้ยั่งให้ยืน ถือไม้เท้ายอดทอง ตะบองยอดเพชร..." พ่อให้ศีลให้พรพี่ทั้งสองเสร็จแล้ว แม่ก็นำเงิน ใบสิบสองใบสีน้ำตาลใหม่ๆ ใส่ในอยองเป็นการรับไหว้ ...จากนั้นพิธีสำคัญ สำหรับผมก็มาถึง คือคุณป้าของพี่น้อยให้ผมไปเอาจานมาใส่ขนมโรง. ผมบอกว่า เตรียมจานไว้ใส่ขนมตั้งแต่เมื่อวานแล้วได้ความจากที่ผู้ใหญ่พูดกันว่า คู่บ่าวสาวจะอยู่ที่เชิงแสประมาณ ๗ วัน พี่น้อยก็จะไปอยู่กับครอบครัวของเจ้าบ่าวที่ตลาดระโนด. ไปเปิดร้านตัดเสื้อที่นั่น เพราะเจ้าบ่าวเป็นตำรวจนายสิบโทประจำที่โรงพักอำเภอระโนด นั่นเอง.............๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐...........................................................................................................................................................................................++++++++++
             ผมเล่ามาถึงตอนนี้. ก็ขอคุยโม้เสียเลยนะครับว่า ลูกสาวบ้านเชิงแสนั้น เป็นหญิงที่งามกิริยา การศึกษาอบรมดี มีความขยัน เป็นแม่บ้านแม่เรือน. เท่าที่จำได้ทั้งสาวๆรุ่นพี่ๆของผม และรุ่นผมสวยๆ กันทั้งนั้น . ยกตัวอย่างก็ได้  เป็นตัวอย่างเรียงตามอายุนะครับ  คนแรกเลย บ้านหัวนอน , "พี่อุบล" ลูกสาวครูวิทย์ครูของผม ,คนต่อมา บ้านหน้าวัดกลาง พี่ๆลูกคุณครูแอบ อย่าง "พี่พรทิพย์" ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ดุษฎี ,คนต่อไป บ้านตกวัดกลาง รุ่นเดียวกับผม เธอชื่อ "จรรยา" ชื่อเล่นว่า (นึกไม่ออกเสียแล้ว..) ,คนต่อไปบ้านใหญ๋ หย่อมบ้านผม ก็มี "พี่ถวิล" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น รัชนก  , คนต่อไป " เกษร" ญาติของผม ,ต่อไปที่บ้านสวนตีน ก็มีสาวๆ หลายคน งามๆทั้งนั้น , ต่อไป กลุ่มบ้านคลองคด มี "พี่นิภา และ พี่พิมพ์" ....เรียกว่า กองเอ จริงๆ......ใครที่ไม่มีชื่อ ขอให้เติมเอาเอง ก็แล้วกันครับ.............๐๐๐๐๐๐..................................................................................................................................................................................................++++++++++++
           
                 "ต้มเค็มลูกคลัก"

                  สำรับบ้านนาอีกอย่างหนึ่งสำหรับบ้านทุ่งอย่างเชิงแส  คือ  "ต้มเค็มลูกคลัก" ...ต้มเค็มลูกคลักนั้นเป็นแกงที่ทำกินกันตามขนำปลายนา โดยหลังจากเก็บข้าวเสร็จแล้ว น้ำในนาเริ่มแห้งขอดลง. ที่ลุ่มในนาเริ่มเป็นปลักน้ำระหว่างซังข้าว ปลาหมอ, ปลากระดี่ , ปลาช่อนตัวเล็ก, รวมถึงปลาดุกนาตัวเล็กๆ เริ่มดิ้นไหลตามร่องน้ำระหว่างกอซังข้าวแห้ง . ปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้  คลักรวมกันตามแอ่งน้ำขอด . กลิ่นทุ่งยามนี้หอมซังข้าวแห้ง ผสมรากกอข้าว และกลิ่นน้ำขอด เป็นกลิ่นหอมทุ่งเชิงแส เมื่อเริ่มเข้าเดือนเมษายน . ปลาที่เป็นลูกคลักตามท้องนามีอยู่ทั่วไป จะเป็นนาของใครก็วิดปลาจับปลาลูกคลักได้ โดยเจ้าของนาไม่ห้ามไม่หวง.....+++....วันนี้..หลังจากปล่อยวัวที่สวนตีนหมู่บ้านแล้ว. ฝูงวัวเริ่มเล็มหญ้าไปทางทุ่งด้านทิศตะวันออกของสวนปู่ปุ่นย่าดำ. ผมและเพื่อนๆ จึงชวนกันไปเล่นที่สวนของลุงชอนป้าป้อง...."ลุงชอนและป้าป้อง"...สองท่านนี้ปลูกบ้านอยู่ที่สวนตีนด้านทิศเหนือของสระข่อย. สวนของลุงด้านทิศใต้ติดกับสวนลุงเซ้งป้าเตี้ยง . บริเวณสวนของลุงชอนร่มรื่นมากเพราะมีต้นโพธิ์เลใหญ่เป็นแถวกั้นเป็นแดนเป็นรั้วทางทิศตะวันตกของบ้าน. ใต้ร่มโพธิ์เลที่ร่มนั้นมีแคร่ไม้กระดานให้ทุกคนได้นั่งได้นอนเล่นกัน...เมื่อผมไปถึงมีลุงๆหลายคนนั่งอยู่ที่แคร่ไม้. ลุงคนหนึ่งร้องเรียกผมว่า .."นิกร. มาพอดี  มา  มา ช่วย " จุดหลัง " ให้ลุงที  จุดให้หลายหนวยนะ คันหลังอยู่หลายวันแล้ว  เดี๋ยวหวันเที่ยงจะต้มเค็มลูกคลักให้กินเล่นกัน"...
             
               ผมนั่งลงจุดหลังให้ลุง. ลุงบอกว่า "ได้แรงดีจัง"...ระหว่างนั้นมดแดงสองสามตัวไต่ลงมาที่โคนต้นโพธิ์เล . ลุงอีกคนเห็นเข้าจึงแกล้งถามลุงเล่นๆว่า "รอยจุดที่หลังพันนี้ ...เอามดแดงบีบใส่ได้ไหม้พี่หลวง? "...ลุงร้องเอ็ดตะโรว่า " เฮ้อ!..ไม่ได้ ไม่ได้  ห้ามหล็อกเหล็ก  อย่าหล็อกเหล็ก ..แสบหลัง" แล้วเสียงเฮฮาที่แคร่ก็ดังขึ้นอย่างสนุกสนาน ...การพูดเล่นหยอกล้อกันตามประสาระหว่างผู้ใหญ่เช่นนี้ ทำให้พวกเด็กๆ ครื้นเครงไปด้วยเช่นกัน.+++.ระหว่างที่นั่งให้ผม "จุดหลัง" ให้อย่างได้แรงอยู่นั้น. ลุงบอกว่าวันนี้พวกบ่าวๆเขาไปวิดลูกคลักกัน เดี่ยวจะพาผมไปหาไม้แห้งมาทำไม้ฟืน ต้มเค็มลูกคลักให้กินเล่นๆ....เมื่อจุดหลังให้ลุงเสร็จแล้ว ลุงก็ชวนผมไปหากิ่งไม้แห้งมาทำฟืน. ...+++...บริเวณสวนลุงชอนร่มรื่นดีมาก รอบบ้านพื้นเย็นนุ่มเท้า. มีดอกโพธิ์เลทั้งสีม่วงและสีเหลืองร่วงอยู่ตามพื้นดิน. ที่ใต้ถุนบ้านมีแม่ไก่สองครอกคุ้ยเขี่ยอาหารให้ลูกมันกิน. ข้างนอกชานและบันไดลุงและป้าปลูกถั่วพูไว้สี่ห้าค้าง ถัดไปเป็นค้างถั่วฝักยาวที่มีฝักเป็นสีม่วงห้อยงอดูสวยงาม. ลุงและป้าดูแลอย่างดีนัก ถั่วไม่ "ขึ้นครอม" เลย ด้านสวนทิศตะวันออกลุงยกร่องปลูกพริกบ้าง แตงไทยบ้าง น้ำเต้าเทศบ้าง . เลยไปหน่อยหนึ่งก็เป็นร่องยาสูบเขียวสวย . จากนั้นไปอีกเป็นดงไม้หนาตา ผมเห็นควันขึ้นกรุ่นอยู่ที่ยอดดงไม้. จึงถามลุงว่า "ใครทำอ้ายไหรเหอลุง? "  ลุงจุ๊ปากเบาๆ แล้วบอกว่า " เด็กๆ อย่ารู้เลย "...เมื่อลุงพูดเช่นนั้น ก็ทำให้ผมยิ่งอยากรู้...อยากจะรู้เสียจริงๆ......

                เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ ผมก็เห็นน้าหลวงกำลังต้มน้ำวิเศษอยู่พอดี. น้ำเหล้าเถื่อนสีเหลืองใสแจ๋ว  หยดจากรางอลูมิเนียมเล็กๆ ลงในแก้วรอง น้าหลวงพูดกับผมว่า ..." ลูกๆ ต้องเรียนกันหลายคน นิกรเหอ ทำนาขายข้าวอย่างเดียวอยู่ไม่ได้.."  แล้วน้าหลวงก็ล้อผมเล่นว่า  .." มึก สัก เคือก มั้ย?.." ผมตอบว่า .."ไม่เอา  เดี๋ยวพ่อรู้" ...ก็จริงอย่างที่น้าหลวงว่านั่นแหละ ชาวบ้านเชิงแสที่ต้องส่งลูกๆ ไปเรียนหนังสือที่ในเมืองนั้น  ต้องทำนากันหลังขดหลังแข็ง กว่าจะหาเงินส่งให้ลูกๆได้เล่าเรียนกัน...บางครอบครัวถึงกับต้องเรียนคนหนึ่ง. ให้ทำนาคนหนึ่งสลับกัน..เป็นอย่างนี้ก็มี

               ลุงนำผมไปเก็บกิ่งไม้แห้งและงวงโหนดที่บริเวณที่สวนของน้าไข่. น้าไข่มีสวนอยู่ทางทิศเหนือของสระน้ำลุงชอน.น้ามีลูกชายคนหนึ่ง ชื่อว่า .."บ่าวเนือย" ...ซึ่งน่าจะรุ่นพี่ผมสักสองสามปี. ชื่อนี้เป็นชื่อเล่น น่าจะเรียกกันเพราะบ่าวร่างผอมสูง บ่าวเนือยมีชื่อจริงว่าอะไร ผมไม่ทราบจริงๆ ...+++...ใช้เวลาไม่นานนัก ผมกับลุงก็ได้กิ่งไม้แห้งและงวงโหนดแห้งมาคนละหอบ. เมือมาถึงบ้านสวนของลุงชอนแล้ว ลุงก็ "ดับก้อนเส้า" ทำเป็นเตาที่ลานดินใต้ร่มโพธิ์เล  เตรียมต้มเค็มลูกคลักกัน

            ครั้นดับก้อนเส้าทำเตาเสร็จป้าป้องก็นำหม้อพร้อมหัวหอม เกลือ และขมิ้น  ลงมาจากบ้าน. ป้าว่า "ต้มเสีย  บนเรินก็ได้ ไม่พักมาตั้งเตาข้างเริน " ลุงๆ ว่า "ตรงนี้แหละดีแล้ว เดี๋ยวจะได้ หมกหัวมันกันต่อ" ...