วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

บทที่ ๑๑ จากเชิงแส,สงขลา...ตามรอยเสด็จฯ รัชกาลที่ ๕ ไปยุโรป


บทที่ ๑๑ "จากเชิงแส,สงขลา...ตามรอยเสด็จฯ รัชกาลที่ ๕ ไปยุโรป"


     คงจะไม่เคยมีใครได้บันทึกไว้กระมังว่า มิสเตอร์คนใดเป็นฝรั่งคนแรกที่มาถึงบ้านเชิงแส แต่ในความจำของผมนั้นผมจำได้ว่า เมื่อผมยังเป็นเด็กอายุประมาณไม่เกิน ๑๐ ขวบ มีฝรั่งคนหนึ่งมาที่บ้านครูพร้อม น้อยเสงี่ยม ชาวบ้านบางคนพูดกันถึงเรื่องนี้ ผมเล่นอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน จึงได้เดินไปที่บ้านครูพร้อม ไปดูฝรั่ง ขณะที่ผมยืนอยู่ที่เชิงบันไดของบ้านครูพร้อม ผมมองขึ้นไปก็เห็นฝรั่งคนนั้น เป็นชายร่างสูงค่อนข้างผอม ผิวขาว ผมสีออกแดง ฝรั่งคนนี้ไม่ทราบว่าชื่ออะไร ผมเข้าใจว่าที่ได้มาบ้านของครูพร้อมก็น่าจะมากับครูปราโมทย์ น้อยเสงี่ยม บุตรชายครูพร้อม หรือไม่ก็มากับลูกหลานท่านใดท่านหนึ่งของครูพร้อม หรืออาจจะมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ก็อาจเป็นได้...ดังนั้น ในประวัติแห่งความจำของผม จึงต้องทึกทักถือเอาไว้ก่อนว่า มิสเตอร์ผมแดงแห่งบ้านครูพร้อมที่ผมเห็นในวันนั้น เป็นฝรั่งคนแรกที่มาถึงบ้านเชิงแส
     โดยส่วนตัวของผม อาจจะเป็นเพราะเรียนมาทางด้านกฎหมาย ผมจึงมีความสนใจค่อนข้างมากในการค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อการศาลไทย และเมื่อผมเรียนจบมีงานมีการทำแล้ว ผมจึงเริ่มสะสมหนังสือเก่าและสะสมภาพพระราชกรณียกิจด้านการศาลทั้งที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยและตีพิมพ์ที่ต่างประเทศ ตลอดจนได้ตามรอยเสด็จฯ พระองค์ท่านไปที่ศาลฎีกาของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งที่ศาลนี้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เคยประทับบัลลังก์ทอดพระเนตรการพิจารณาคดีอาญา ปัจจุบันนี้อาคารศาลฎีกาของสิงคโปร์หลังดังที่ผมกล่าวถึงก็ยังมีอยู่...ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงปฏิรูประบบราชการไทยนั้น ในปี ๒๔๑๓ และปี ๒๔๑๔ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรงานบริหารราชการของต่างประเทศมาก่อน รวม ๓ ประเทศ คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ อินเดีย ขณะนั้นสิงคโปร์และอินเดียอยูใต้การปกครองของอังกฤษ ส่วนอินโดฯหรือชวาอยู่ใต้การปกครองของฮอลันดา ผมจะกล่าวเฉพาะเรื่องการศาลนะครับ เรื่องกระทรวงอื่นผมไม่มีความรู้มากนักก็จะไม่กล่าวถึง กลัวจะผิด...เดี๋ยวเสียชื่อคนเชิงแสหมด เรื่องศาลและกระบวนการยุติธรรมนั้นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงให้ความสำคัญไม่น้อยเลย ดังจะเห็นได้จากพระองค์ทอดพระเนตรทั้งศาลและเรือนจำที่สิงคโปร์และที่ปัตตาเวีย ชวา ต่อมาในปี ๒๔๒๕ ก็โปรดให้เจ้าพระยาสุริยวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นแม่กองสร้าง "ศาลหลวง" เพื่อรวบรวมศาลทุกศาลที่กระจายสังกัดกรมต่างๆ ในพระนคร และรวบรามกฎหมายทั้งหมดไว้แห่งเดียวกัน หลังจากนั้นโปรดให้ตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น โดยทรงนำแบบมาจาก "Law school" ของประเทศอียิปต์ เมื่อมีนักกฎหมายสำเร็จเนติบัณฑิตแล้ว รัชกาลที่ ๕ ก็มีพระมหากรุณาธิคุณส่งเนติบัณฑิตไปเรียนต่อที่ประเทผศในทวีปยุโรป ปีละ ๒ คน ชาวสงขลาคนแรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงยุติธรรม และได้ร่วมเดินทางไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ไปในคราวที่พระองค์เสด็จฯ ประเทศในยุโรปเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ ก็คือ "นายจิตร ณ สงขลา" ซึ่งในกาลาวลาต่อมาท่านได้รับการสถาปนาให้เป็น "เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร" หรือที่ทราบกับในนาม "เจ้าพระยาคนสุดท้ายของสยามประเทศ"


(พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์ครุยปริญญากฎหมายของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ซึ่งมหาวิทยาลัยดังกล่าวทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๕๐)


(เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ถ่ายภาพเมื่อได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าพระยา)


(ศาลจังหวัดสงขลา)



(บ้านและศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชของตระกูล ณ สงขลา ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา)

     (วันนี้...วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๗ ผมกลับจากทำบุญทอดผ้าป่าหาทุนซ่อมแซมเมรุที่ป่าช้าวัดเชิงแสใต้ ออกจากเชิงแสเมื่อเวลา ๑๔ นาฬิกา และโดยสารเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่กลับมาถึงบ้านที่กรุงเทพฯ ประมาณ ๓ ทุ่ม กลับบ้านเกิดในคราวนี้รู้สึกซาบซึ้งใจ เพราะได้พบกับชาวเชิงแสและลูกหลานของชาวบ้านเชิงแสเป็นจำนวนมากที่ต่างก็มาร่วมกันทำบุญงานนี้ อดไม่ได้จริงๆ และจะเสียดายมาก หากไม่รีบโพสต์ไว้...อยากจะเล่าไว้ ณ ที่นี้เป็นเรื่องแรกว่า เมื่อได้ไหว้้น้าขาว สุวพนาวิวัฒน์ แล้ว ก็ให้คิดถึงแม่ เพราะน้าขาวกับแม่เกิดปีเดียวกันและมีความสนิทสนมกันมากทีเดียว...อีกครอบครัวหนึ่งที่ต้องขอกล่าวไว้...คือ ครอบครัวของคุณครูชื่น เมืองศรี คุณครูปราโมทย์ น้อยเสงี่ยม ตลอดจนพี่ๆผู้หญิงซึ่งเป็นหลานของคุณยายลั่นเนี่ยว คุณยายลั่นเนี่ยวนั้นมีพระคุณต่อผมมาก ท่านเป็นหัวหน้าทีมหมอตำแยทำคลอดผม แม่เล่าว่า ทันทีที่ผมคลอดคุณยายลั่นเนี่ยวก็บอกแม่ว่า "อบเหอ ลูกเกิดยามดี เลี้ยงให้ดีตะ จะได้พึ่ง" ดังนั้น เมื่อผมเป็นนาคเตรียมบวชเณร แม่จึงให้น้าหลวงชิ้น เครือแก้ว พาผมไปไหว้คุณยาย...เรื่องต่อมาที่ขอกล่าวถึง คือ งานบุญผ้าป่าครั้งนี้ผมได้เห็นพุ่มผ้าป่าเป็นจำนวนมากถึง ๔๑ พุ่ม เต็มโต๊ะแถวยาวใน "หลาเปลว" ที่ตั้งไว้ทั้งสองแถว เท่าที่ผมสังเกตจับความรู้สึกพบว่า หลวงพี่ปรีชาและชาวเชิงแสดูจะมีความภูมิใจในความสำเร็จของงานบุญนี้อยู่ไม่น้อย..ผมพูดกับหลวงพี่ว่า "เมรุนี้เป็นของแปลกนะครับ หลวงพี่ ชั้นที่จะสร้างหรือจะซ่อม เรามาร่วมสร้างและซ่อมได้ด้วยตัวเอง แต่หากถึงคราวจะใช้ กลับมาเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นช่วยพามา" หลวงพี่บอกว่า "จริงของน้องบ่าว แต่ตอนนี้พี่หลวงคิดว่า คนยังอยากสร้างและซ่อมเมรุ มากกว่าอยากใช้" ...เรื่องต่อมา คือ ในตอนเย็นของวันที่ ๑๑ ก่อนพิธีสมโภชผ้าป่า ผมได้รับความกรุณาจากน้าวาด เสถียรรังสฤษดิ์ และพี่หลวงเผียน รวมทั้งชาวเชิงแสหลายคน ช่วยกันทำแผนที่ "หนองน้ำ" ในเขตทุ่งเชิงแส และแล้วเย็นวันนั้นสมยศ ผ่องศรี ก็ทำหน้าที่เป็นสารถีโดยมีพี่หลวงเผียนให้เกียรติเป็นเนวิเกเตอร์(nevigagor)นำผมไปสำรวจหนองน้ำทุ่งเชิงแสจนถึงที่ "ทุ่งเยา" หรือที่แผนที่โบราณเขียนว่า "วัดทเย้า" ผมจึงทำแผนที่คร่าวๆไว้ดังนี้...หนองน้ำทุ่งเชิงแสด้านทิศใต้ถนนสาย "เชิงแส...เจดีย์งาม" มีดังนี้ คือ...หนองใหญ่ , หนองท่อม , หนองแห้ว , หนองพานทอง , หนองนกพลัด , หนองกกซุง , หนองพังกาน , หนองสามจีน , หนองมน,....๐๐๐...ช่วงเวลาที่อยู่ที่เชิงแสบ้านแม่ ผมได้ตระเวนเก็บภาพต่างๆ ไว้หลายภาพ จึงขอประมวลมาไว้ชั่วคราวก่อนจะเดินทางไปราชการที่ประเทศในแถบยุโรป)

ภาพท่ี่ ๑

(คุณยายลั่นเนี่ยว เมืองศรี หมอตำแยผู้ที่พูดทำนายถึงอนาคตของผม)

ภาพท่ี่ ๒

(หนังสือบุดขาวเรื่อง "สินนุราชคำกาพย์" ฉบับวัดเชิงแสใต้ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ ๓)

ภาพท่ี่ ๓

(หน้าปลายของสินนุราชคำกาพย์ ผู้แต่งขอให้ผู้ที่อ่านหนังสือระวังอย่าทำให้ "น้ำหมากตกถูกหนังสือ ย่อยยับอับปรา")

ภาพท่ี่ ๔

(เนื้อเรื่องบางส่วนของสินนุราชคำกาพย์)

ภาพท่ี่ ๕

(หนังสือบุดขาวเรื่องโสนน้อยเรือนงาม หนังสือเรื่องนี้มีอยู่ที่วัดเชิงแสใต้และที่วัดอื่น ในภาพเป็นชุดหนังสือจากอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

ภาพท่ี่ ๖

(หนังสือบุดขาวเรื่องพระมโหสถฉบับวัดเชิงแสใต้)

ภาพท่ี่ ๗

(กำแพงวัดกลางบ้านเชิงแสซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยการนำของพระครูวิบูลย์ปรีชาญาณ หรือ พ่อท่านรื่น โชติรโส ชาวเชิงแสที่ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอบาลิง รัฐไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย)

ภาพท่ี่ ๘

(สภาพสระน้ำของ "วัดเยา" กลางทุ่งนาเชิงแสในปัจจุบัน)

ภาพท่ี่ ๙

(จากวัดเยาในอดีตปัจจุบันมีเพียงศาลพระภูมิที่ผู้ครอบครองที่ดินนำมาตั้งไว้)

ภาพท่ี่ ๑๐

(แผ่นอิฐริมสระน้ำของวัดเยา สันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถของวัดเยาในอดีต)

ภาพท่ี่ ๑๑

(วัดเยา ซึ่งในแผนภาพกัลปนาวัดพระโคะ พ.ศ. ๒๒๒๓ เรียกว่า "วัดทเย้า" อันมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเขารัดปูนและด้านทิศตะวันตกของบ้านโพ โดยแผนที่โบราณใช้คำว่า "เข้ารัชปูน" และ "บานโภ")

ภาพท่ี่ ๑๒

(.........)

ภาพท่ี่ ๑๓

(ภาพที่ ๑๒ และ ๑๓ ทุ่งนาของชาวเชิงแสบริเวณหัว "สะพานยาว"ด้านทิศตะวันออก เห็นทุ่งข้าวเหมือนผืนพรมเขียวงาม ในยามเย็นวันที่ ๑๑ เม.ย. ๒๕๕๗ ขณะที่บิ้งนาใกล้กันกำลังรอการไถ)

ภาพท่ี่ ๑๔

(.....)

ภาพท่ี่ ๑๕

(ภาพที่ ๑๔ เช้าวันที่ ๑๒ เมษายน ผมถ่ายภาพพระอุโบสถหลังเดิมของวัดเอกไว้ ศาสนสถานแห่งนี้เป็นที่ที่ผมบวชเมื่อปี ๒๕๓๗.,ส่วนภาพที่ ๑๕ เป็นความงามของพระอุโบสถหลังใหม่)

ภาพท่ี่ ๑๖

(กลับมาที่วัดกลางอีกครั้งหนึ่ง ผมรอแสงแดดเช้าที่พอเหมาะแล้วจึงบันทึกภาพของกุฏิพระที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่งามที่สุดในประเทศ สังเกตให้ดีจะเห็น "ตีนเสา" ปูน รองรับเสาไม้ไว้อย่างมั่นคง ,เดิมกุฏินี้สูงประมาณ ๑.๕ เมตร ภายหลังมีการถมดินที่ใต้ถุน จนเห็นเป็นกุฏิเตี้ยเกือบติดดินเสียแล้ว)

ภาพท่ี่ ๑๗

(.........)

ภาพท่ี่ ๑๘

(ภาพที่ ๑๗ และ ๑๘ ,พระพุทธรูปและพระนอนภายในศาลารายรอบวิหารวัดกลาง)

ภาพท่ี่ ๑๙

(คลองเชิงแสหน้าวัดกลาง ถ่ายภาพจากจุดที่คลองบรรจบกับ "คลองพระ"เมื่อครั้งสมัยโบราณนานเน เห็น "คลองควายอ่าง" อยู่ไม่ไกล)

ภาพท่ี่ ๒๐

("ต้นเนียน" ต้นไม้ใหญ่ในวัดกลาง,เชิงแส ในภาพเห็นกำแพงวัดที่เหลือความสูงประมาณ ๑ ฟุต จากเดิมที่เคยสูงเกิน ๑ เมตร.)

ภาพท่ี่ ๒๑

(แนวกำแพงวัดกลาง ช่วงหนึ่งในหลายช่วงที่จารึกชื่อชาวไทรบุรีและจำนวนเงินที่ทำบุญก่อสร้างกำแพงวัด)

ภาพท่ี่ ๒๒

(.........)

ภาพท่ี่ ๒๓

(ภาพที่ ๒๒,๒๓ พุ่มผ้าป่าที่ศาลากลางป่าช้าบ้านเชิงแส วันนั้นสามัคคีร่วมบุญกันมากได้ปัจจัยมาทั้งสิ้น ๑,๓๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้ยินแต่เสียง"ครูภรณ์ ดวงจักร" ว่า สาธุ ๆ)

ภาพท่ี่ ๒๔

(ภาพสุดท้ายของวันกลับบ้านคราวนี้ เป็นภาพความงามของหมู่เมฆเหนือบ้านเชิงแส เมื่อเวลา ๑๗.๔๐ นาฬิกา ,ผมถ่ายภาพจากเครื่องบินขากลับกรุงเทพฯครับ)
     ผมกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว.....ปรากฏว่าขณะนี้ไม่ได้ยินเสียงเพลง "สู้เข้าไปอย่างได้ถอย..." เสียแล้วครับ ได้ยินแต่เสียงเพลง "หนักแผ่นดิน" ผมชอบใจวรรคหนึ่งของคำร้องบทเพลงนี้ที่ว่า "...คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชัน แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย..." ไม่น่าเชื่อนะครับว่า ในประเทศไทยของเราจะมีคนเช่นนี้อยู่ อยากจะเรียนว่าประเทศของเรานั้นร่มเย็นมาถึงทุกวันนี้ เราต้องระลึกถึงพระคุณของสองบรรพชน ๑.พระบารมีของบุรพมหากษัตริย์แต่โบราณ ที่ได้นำทัพรักษาบ้านเมืองให้รอดพ้นจากศัตรู ทั้งศัตรูที่อยู่รอบบ้านและที่มาจากฝรั่งตะวันตก ๒.กลุ่มบรรพชนชาวไทยซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวนาชาวบ้านนี่แหละ ที่ได้ร่วมกันเป็นกองทัพตามเสด็จออกสู้ศึก เป็นกองทัพชาวนาจริงๆ บรรพบุรุษของเราเสียชีวิตเลือดเนื้อจนเรามีแผ่นดินอยู่ ให้ได้ทำมาหากิน , ให้ได้ทะเลาะฆ่าฟันโยนยิงระเบิดใส่กัน ,ให้ได้เรียกหาประชาธิปไตย ถ้าไม่มีแผ่นดินนี้ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถจะไปอาศัยแผ่นดินอื่นทะเลาะกันได้หรอก ,ตัวผมนั้นสอนและเตือนตัวเองอยู่เสมอให้ระลึกถึงบุญคุณของพระมหากษัตริย์ และบรรพชนคนไทย เพราะอะไร? ...ก็เพราะบรรพบุรุษฝ่ายแม่ของผมที่เชิงแส ทั้งก๋งซุนเฮาะ และ ก๋งเห้ง จีระโร ไม่ได้ร่วมสร้างและไม่ได้ร่วมรักษาแผ่นดินนี้ เพียงแต่มาอาศัยแผ่นดินนี้อยู่ และฝังร่างไว้ในแผ่นดินนี้ ก่อนที่จะฝังร่างไว้ในแผ่นดิน ก๋งของผมมีลูก มีหลาน และก็มีคนรุ่นเหลนอย่างผม ผมจึงระลึกเสมอว่าผมเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดินไทยเป็นที่สุด ถ้าก๋งผมไม่ได้มาอาศัยแผ่นดินไทยอยู่ ผมก็ไม่สามารถเป็นคนไทยได้เลย ...ดังนั้นแผ่นดินไทยนี้มีบุญคุณเหนือหัวผม ทุกปีที่ผมและภรรยาเสียภาษีให้หลวงเป็นเงินรวม ๕๐๐,๐๐๐ บาท เศษ ผมน้ำตาไหลทุกครั้ง ไม่ใช่น้ำตาไหลเพราะเสียดายเงิน แต่น้ำตาไหลเพราะเป็นโอกาสดีที่ผมได้ทดแทนคุณแผ่นดิน.....+++....ผมไปดูงานที่ศาลฎีกาของประเทศนอรเวย์ และได้นั่งเรือกลับมาประเทศเดนมาร์ก ที่กรุงโคเปนเฮเกน มีสะพานหนึ่งชื่อว่า "สะพานแห่งพายุ" เป็นจุดที่ชาวเดนมาร์กเขาภูมิใจมาก เพราะเขาชนะศึกต่อกองทัพสวีเดนที่สะพานนี้ ทำให้เขารักษาเอกราชไว้ได้ ...นอกเวลาการศึกษาดูงานที่ศาลแล้ว ผมได้ตะลอนไปยังที่ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จฯ เช่น ผมได้ไปถึงโรงแรมไฟลเซอร์ เมืองวอส นอรเวย์ ที่มีพระราชหัตถเลขาของพระองค์ท่านในสมุดของโรงแรมแห่งนี้ จึงได้ถ่ายภาพมา .,ได้ไปที่ลานสกีที่พระองค์เคยเสด็จฯ .,ที่เดนมาร์กผมได้ไปดูชานชลาสถานีรถไฟ และท่าเทียบเรือที่พระองค์เสด็จ วันสุดท้ายก่อนกลับประเทศไทย ผมได้ไปถ่ายภาพวาดของนายพลชาวเดนมาร์กที่เคยมารับราชการที่ประเทศไทย และร่วมกับชาวไทยสู้รบกับทหารของฝรั่งเศส ในคราวเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ นายทหารเรือเดนมาร์กท่านนี้ ท่านมีความรักในแผ่นดินไทยมาก และรัชกาลที่ ๕ ก็มีพระราชเมตตาจึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น "พระยาชลยุทธโยธิน" ท่านมีนามว่่า "แอนเดรียส ดู เพลซี เดริเชลิเออ(Andreas du Plessis Richelieu เกิด ๒๔ ก.พ. ๑๘๕๒ อนิจกรรม ๒๕ มี.ค. ๑๙๓๒ ,อายุ ๘๐ ปี) ...ชาวไทยที่เป็นคนจิตปกติหากได้ทราบวีรกรรมของพระยาชลยุทธฯ ที่ประกอบไว้ให้แผ่นดินไทยแล้ว จะต้องมีความเห็นว่าเราคนไทยยุคนี้ หากไม่มีเวลาที่จะสร้างความดีไว้ในแผ่นดิน ก็ต้องไม่เป็นคนหนักแผ่นดิน ....รายละเอียดและภาพที่เก็บมาจากยุโรปผมจะค่อยทยอยเล่าไปเรื่อยๆ นะครับ........ตอนนี้ขอไปฟังเพลง "หนักแผ่นดิน" เพื่อเตือนใจตัวเองก่อน/