วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทที่ ๑๕ ภาพจากบ้านแม่ เชิงแสศึกษา

บทที่  ๑๕  " ภาพจากบ้านแม่  เชิงแสศึกษา "

             ขณะนี้ผมกลับจากงานพระราชทานเพลิงศพพระครูวิสุทธิศีลประยุติ (ตาหลวงสงวน ) แล้ว ได้ภาพต่างๆ ของบ้านเชิงแสมาหลายภาพทีเดียว ภาพเหล่านี้เป็นฉากบ้านเชิงแส บ้านแม่ ที่น่ากล่าวถึงมากเหลือเกิน ภาพแรกผมขอตั้งชื่อว่า

                 "ตามทางสู่เหย้า ทุ่งข้าวเชิงแส"
                  ก่อนที่จะได้โพสต์ภาพลงให้ได้เห็นกัน.  ผมขอบรรยายภาพเป็นทำนองเพลงนะครับ

                                                 " เชิงแส  ทิ้ง  โนด  มีโหนดกับนา
                                                 เก็บข้าว  วิดปลา  สุขตามประสาชาวทุ่ง
                                                 ในนานองน้ำยามข้าวสุก
                                                 ดังมุกประกายเกล็ดทอรุ้ง
                                                 หอมดินกลิ่นปรุง หอมทุ่งท้องนา
 
                                                    คันคลองหนำเก่า ตับเต่า เถาคัน
                                                  หลุมซอ แสงขัน หลากพืชหลายพันธ์ุลุยนัก
                                                  ยามเย็นแบกโพงไปริมหนอง
                                                  ในมือถือข้องจับลูกคลัก
                                                  ชายดมรั้วผักแกงส้มต้มกิน

                                                       ชีวิต    ชีวา
                                                  ชาวนา  โอบอุ่น   โยนอ่อน
                                                 กลางเพ็ญจันทร์เอนพักผ่อน
                                                 ยามย่ำค่ำนอน สุมไฟไล่ยุง
                                                 แสงธรรมกลางใจ สว่างกว่าแสงกลางกรุง
                                                 บ้านนอก แขนบอก ผ้าถุง
                                                 ตาเดินเคียนพุง  ยายนุ่งโจงเบน

                                                    เชิงแส  ทิ้ง   โนด มีโหนด นา เล
                                                 หวันเย็นโพล้เพล้  ชวนกันทิ่มสารใส่เผล้ง
                                                 ข้าวตอก  ออกษา  ลากพระ รับฐิน ครื้นเครง
                                                 ไหว้ก้ง  หนมเทียน   หนมเข่ง
                                                  โนราห์ รักเลง เพลงบอก หนังลุง "......

         " ภาพเก่าที่หายไป "

       เมื่อเข้าไปในโบสถ์วัดเอกหลังเก่าแล้ว. สิ่งที่เด็กเชิงแสอย่างผมต้องทำเป็นอย่างแรก คือ กราบหลวงพ่อเดิม กราบเสร็จก็ใช้ขันตักน้ำมนต์ในตุ่มสีเขียวอ่อนมาดื่ม. เหลือน้ำมนต์ในก้นขันอยู่หน่อยหนึ่ง เทใสฝ่ามือแล้วลูบหัว. ได้ทำอย่างนี้แล้วรู้สึกเป็นความสุขเหลือเกิน มีความปีติเกิดขึ้นในชีวิต. ดุจว่าชีวิตนี้เรามีที่พึ่ง หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ท่านได้คุ้มครองเรา ชาวเชิงแสหรือชาวบ้านอื่นจากที่ใกล้ที่ไกล เมื่อไปไหว้หลวงพ่อเดิมแล้ว ต้องดื่มน้ำมนต์ในตุ่มที่วางอยู่หน้าหลวงพ่อใบนี้แหละ.บางคนกรอกน้ำมนต์ใส่ขวดไปฝากญาติที่บ้านด้วยก็มีไม่น้อย.

      หลังจากนั้นเวลาของชีวิตเด็กบ้านนอกก็ว่าง. รอเวลาเย็นรอไปต้อนวัวที่ทุ่งสวนตีนบ้านให้เข้าคอก.สวนตีนบ้านที่ผมกล่าวถึงนี้ คือสวนที่อยู่ด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน. เวลาที่อยู่ในโบสถ์ผมชอบที่จะเดินดูภาพถ่ายซึ่งแขวนเรียงกันอยู่ที่ฝาผนังด้านทิศใต้. ภาพทั้งหกเจ็ดภาพเป็นภาพในกรอบไม้ขนาดยาวประมาณฟุตหนึ่งแทบทุกภาพ.ภาพขาวดำเหล่านั้นบอกเล่าเรื่องของคณะกฐินสามัคคีจากกรุงเทพฯ นำคณะมาทอดทำบุญที่วัดเอก. แล้วชวนกันไปชมความงามของแหลมสมิหลา สงขลา. ภาพถ่ายของคณะกฐินที่แหลมสมิหลาดังกล่าวนั้น เรียงปีกันตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ เป็นต้นมา. ช่างเป็นภาพที่งามเหลือเกิน โดยเฉพาะงามด้วยความฝันของผมว่า. สักวันหนึ่งผมน่าจะได้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ...ขณะนี้ไม่ทราบว่าภาพทุกภาพหายไปไหน .

     " เลือกผู้แทน "

    บ้านเชิงแส.แม้ว่าจะห่างไกลความเจริญของตัวเมืองสงขลาเหลือเกิน.แต่กับบรรยากาศของการเลือกตั้งแล้ว ผมรู้สึกว่ามันอยู่ใกล้ตัวผมเสมอมา เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะพ่อได้พูดถึงผู้แทนให้ผมฟังอยู่เสมอ. ผู้แทนที่พ่อพูดถึงบ่อยมีสองคน คือ นายคล้าย ละอองมณี. และนายสงบ ทิพย์มณี. กล่าวเฉพาะนายคล้ายนั้นไม่เพียงแต่พ่อหรอกครับ ชาวเชิงแสคนอื่นๆก็พูดถึงท่านอยู่เสมอ. เช่น แปะชมพี่ชายของแม่ ได้พูดถึงนายคล้ายว่า "นายคล้ายพูดว่า อยากให้หนนสายเขาแดงกับโนดลาดยางเสียที หนนสายนี้ไม่ได้ลาดยาง ก็จะมีคนเอาไปหาเสียงอยู่นั่นแหละ"
   พ่อกับนายคล้ายดูจะสนิทกันพอควร. คือใจนักเลงทั้งคู่ หากเป็นคนสมัยนี้คงจะไม่สนิทกันแน่ และอาจจะโกรธกันก็ได้. เนื่องเพราะเมื่อพ่อไปเป็นพยานในคดีแพ่งที่ศาลสงขลา นายคล้ายเป็นทนายความให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง พ่อเล่าผมว่า "นายคล้ายซักค้านพ่อหนักมาก". แต่ด้วยความที่ทั้งพ่อและนายคล้ายต่างเป็นลูกผู้ชายใจกว้าง. เมื่อเสร็จเรื่องคดีแล้วจึงคบหากันได้อย่างสนิท. ดังคราวที่ลูกนายคล้ายต้องเสียชีวิตลง พ่อก็ได้ร่วมงาน พ่อถามนายคล้ายว่าฝ่ายก่อเหตุติดต่อมาบ้างมั๊ย? นายคล้ายตอบอย่างคมคายอย่างผู้ใหญ่ว่า. "เขายังไม่ได้ติดต่อมาเลยพี่เพียร. เขาอาจจะเห็นว่าเรายังอยู่ในช่วงเสียใจก็ได้"
    เมื่อมีการเลือกผู้แทนทุกคราว. ผมเห็นโปสเตอร์แผ่นเท่าสมุดวาดเขียนติดอยู่ที่เสาศาลาวัด และที่เสาร้านขายข้าวแกงในโรงเรียน. การหาเสียงที่วัดกันด้วยความดีนั้น ในหมู่บ้านหนึ่งๆจะติดแผ่นหาเสียงกันเพียงเล็กน้อย. แต่กระนั้นก็ตาม ที่ผมสงสัยอยู่เสมอ คือ ข้อความใต้ภาพของนายคล้ายที่เขียนว่า..."ทนายความ ชั้น ๑ "..นั้นหมายความว่าอะไร.  ?
    ผมเรียนกฎหมายจนถึงชั้นเนติบัณฑิต. โดยลืมไปว่า เมื่อตอนเล็กๆ เคยติดใจในเรื่องนี้. หลังจากที่ผมเป็นผู้พิพากษาได้ ๕ ปี ผมไปรับราชการประจำที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี.วันแรกที่ผมจะขึ้นพิจารณาคดี ผู้พิพากษารุ่นพี่ได้แนะนำว่า ที่สุราษฎร์มีทนายความอยู่คนหนึ่ง เป็น " ทนายความ ชั้น ๒ ". นั่นแหละ จึงทำให้ผมคิดถึงคำว่า ทนายความชั้นหนึ่ง ขึ้นมาอีกครั้ง. เพราะทนายความชั้นหนึ่งสามารถว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร และขณะว่าความในศาลทนายความชั้นหนึ่งมีสิทธิสวมครุย. แต่ทนายความชั้นสองว่าความได้บางจังหวัดและขณะว่าความไม่มีสิทธิสวมครุย.