วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

บทที่ ๑๖ เชิงแส Online ณ บ้านชายเล

บทที่ ๑๖ เชิงแส Online ณ บ้านชายเล

     " เชิงแสบ้านแม่ ". เดินทางมาถึงบทที่ ๑๖ แล้ว . นับว่าเป็นจดหมายเหตุใน blog เรื่องยาว ที่มีพลัง และหลากหลายประเด็นที่สุดเกี่ยวกับชุมชนเล็กๆชุมชนนี้...จาก" บารเชิงแสะ " ซึ่งเป็นภาพวาดของบ้านเชิงแสและวัดทั้งสี่วัดในพื้นที่บ้านริมเลแห่งนี้ อันได้ถูกจารให้ปรากฏเพื่อการศาสนาอยู่ในแผนที่กัลปนาวัดฝั่งทะเลสาบด้านตะวันออก. และถูกเผยแพร่ออกสู่สังคมเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา..คำว่า." บารเชิงแสะ " ซึ่งอุบัติขึ้นในเอกสารคราวแรกนั้น. คงจะเดินทางสู่การรับรู้ของผู้คนอย่างเนิบช้าและมีการรับรู้กันไม่มากนัก. เป็นไปตามยุคสมัยของวิถีชีวิตในยุคก่อน. แต่ครั้นถึงยุคสมัยปัจจุบัน คำว่าเชิงแสและชีวิตชีวาตลอดจนเรื่องราวของผู้คนที่นี่กลับปรากฏอยู่มากมาย. ด้วยฝีมือของลูกหลานแห่งบ้านนี้.ทั้งที่อาศัยอยู่ที่บ้านเกิด หรือแถบถิ่นอื่ในภาคใต้ และที่กรุงเทพฯ.

       เชื่อหรือไม่ว่า. ขณะนี้.  หากคลิกค้นไปที่คำว่า " เชิงแส Facebook " หรือ " โรงเรียนชุมชนวัดเชิงแส Facebook " หรือที่ "คนบ้านเรา รักบ้านเชิงแส Facebook" ทุกท่านก็จะได้รับทราบเรื่องราวของพี่น้องลูกหลานร่วมบ้านเกิดและกิจกรรมที่นั่นทันที.ล่าสุดเพจ "คนบ้านเรา รักบ้านเชิงแส" ก็โพสต์ภาพพิธีแห่ผ้าห่มพระนอนที่วัดกลางให้ได้ชมกัน. ทำให้ภาพพีธีสำคัญและท่วงท่ารำวงของหนุ่มน้อยสาวน้อยรุ่นพี่ผมปรากฏไปทั่วกระแสออนไลน์. ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมโลกออนไลน์ของลูกหลานชาวเชิงแสที่ใช้ชื่อเฉพาะของตนในการสื่อสารอีกนับร้อยๆคน เช่น "นารถ จิตบรรจง" นายประตูมือ ๑ ทีมฟุตบอลของโรงเรียน. หรือ "อาเฝ้อ ลุงฝ้าย. facebook" พี่ฝ้ายของผมซึ่งเคยเป็นนักบอลหมายเลข ๑๐ ทีมโรงเรียน บัดนี้พี่ฝ้ายได้ขับกล่อมบทเพลงให้ท่านฟังอย่างเพราะพริ้ง.หรือเมื่อไปที่คำว่า. "Nipon Nakarabundit Facebook" พี่ชายแสนสนิทของผมซึ่งเคยเป็นอาจารย์โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย.พี่นิพนธ์ก็จะนำเรื่องของเชิงแสมากล่าวขานให้ได้ทราบกัน.แม้กระทั่งหากพิมพ์คำว่า "อินทผาลัม สวนพังการ เชิงแส" ทุกท่านก็จะได้พบกับไร่สวนผสมในท้องทุ่งเชิงแสบริเวณที่แต่เดิมเรียกว่า "หนองพังกาน". หนองพังกานนี้เป็นหนองน้ำใหญ่ที่สุดในทุ่งเชิงแสครับ.บริเวณนี้เป็นพื้นที่สูง จึงเป็นจุดแบ่งน้ำตามธรรมชาติ ที่จะไหลไปด้านทะเลหัวนอน กับด้านทิศเหนือของท้องทุ่งแล้วไปลงทะเสสาบที่คลองโรง. เรื่องหนองพังกานมีเรื่องจริงที่เล่าขานกันเรื่องหนึ่ง. คือ รุ่นพี่ผมคนหนึ่งไม่อยากไปโรงเรียน ครั้นเธอเห็นครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ ครูประจำชั้น  ป. ๑ เข้า คงกลัวครูมาก. จึงวิ่งหนีไปซ่อนที่หนองพังกาน.

     นอกจากนั้นน้องๆสาวรุ่นที่มาทำงานเทศบาลเชิงแส.ก็ส่งกระแสออนไลน์แห่งยุคสมัยใหม่ให้ได้เห็นกัน. อย่างเพจของ. "หนมเด็ก คนสวย Facebook". หรือ "Ja O Jang Facebook" สาวๆสมัยใหม่เหล่านี้ได้ส่งภาพเรื่องราวของบ้านเชิงแสออกสู่สังคมชาวเน็ต.ต้องยอมรับว่าภาพที่เห็นนั้นชวนให้คิดถึงบ้านและต้องพยายามคิดว่า.ภาพนี้คือที่ไหนของบ้านเชิงแส. บ้านแม่ของผม.

        แต่มี facebook ที่ผมอยากจะให้ลองเข้าไปดู คือ " กลุ่มศิษย์เก่ากระแสสินธ์ุวิทยา ". ซึ่งแม้ขณะนี้จะไม่มีความเคลื่อนไหวของข้อมูลมากนัก. แต่ก็มีสมาชิกกลุ่มเกินกว่า ๑,๐๐๐ สมาชิก นับว่าเป็นห้องใหญ่ในโลกออนไลน์ จากโรงเรียนในเขตชนบท. ในห้องดังกล่าวนี้ จะได้เห็นการทักทายกันของเหล่าศิษย์เก่าโรงเรียนกระแสสินธ์ุวิทยา. จากข้อมูลการพูดคุยกันทำให้ได้รู้ถึงความก้าวหน้าของศิษย์เก่าแห่งโรงเรียนนี้. ได้รู้ว่าใครทำงานที่ไหน ก็มีทั้งที่ทำงานอยู่แถวบ้านเกิดบ้าง ที่สงขลาบ้าง และที่ภาคใต้จังหวัดอื่นบ้าง. ตลอดจนที่กรุงเทพฯ ก็มีไม่น้อย. มีเรื่องหนึ่งที่หลายคนถามถึงกันก็คือการเลี้ยงรุ่น ซึ่งขณะนี้ก็มีภาพการเลี้ยงรุ่นของศิษย์เก่าบางรุ่นเช่นกัน.

        ผมไม่ได้เรียนที่กระแสสินธุ์วิทยาหรอกครับ. แต่รู้เรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนนี้พอสมควร. และผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผมต้องเล่าเสียด้วย เนื่องจากการตั้งโรงเรียนนี้มีความดีของชาวเชิงแสหลายคนที่ควรจะจารึกไว้. และศิษย์เก่าของกระแสสินธุ์วิทยาอาจจะไม่ทราบ. หรือเคยทราบก็ลืมกันไปแล้ว...เรื่องเป็นดันี้ครับ.

       ขอเริ่มจากแรกตั้งโรงเรียนก่อนเลย. ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการตั้งโรงเรียนกระแสสินธุ์วิทยา คือ พระครูปิยสิกขการ ( พระมหาพร้อม ปิยะธัมโม ) เจ้าอาวาสวัดหัวป้อมใน สงขลา พ่อท่านพร้อมท่านเป็นพระที่เห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะทั้งทางธรรมของพระเณร และทางโลกของเด็กๆ. เมื่อผมได้เป็นเด็กวัดพักอยู่กับท่าน และต่อมาผมสอบได้กฎหมายที่ธรรมศาสตร์ วันที่กราบลาท่านเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ. พ่อท่านพระมหาพร้อมให้หลวงพ่อทวดผม ๑ องค์ เป็นพระผงรุ่นเก่า. แล้วกล่าวว่า "เธอมีพ่อแม่ส่งเสีย แต่ถ้าหากไม่มีพ่อแม่นะ เราส่งให้เธอเรียนได้ " ผมยังจำคำของท่านได้จนถึงทุกวันนี้. และพระผงหลวงพ่อทวดที่ได้มา ผมก็ยังคงเก็บไว้กับตัวเช่นกัน. ๓๓ ปีแล้ว ก็ยังอยู่.

      หลังจากได้ตั้งกิ่งอำเภอแล้ว ขณะนั้นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอยังตั้งไม่ได้. พ่อท่านพระมหาพร้อมจึงดำเนินการประสานงาน ติดต่อ กับราชการด้านการศึกษาด้วยตัวท่านเอง. จนได้รับอนุมัติงบประมาณและได้รับอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียน. ( ยังไม่จบครับ ค่อยเล่าต่อ )/