วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บทที่ ๙ กำแพงบุญ จารึกสังฆคุณสองแผ่นดิน


บทที่ ๙ "กำแพงบุญ จารึกสังฆคุณสองแผ่นดิน"

     ...เดือนนี้ พฤษภาคม ๒๕๖๐ blogger แจ้งจำนวนผู้อ่านบทที่ ๙ "กำแพงบุญฯ " ว่ามีการอ่านแต่ละวันประมาณ ๑๐ ครั้ง.ผมขอบคุณทุกท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวของวัดกลาง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ไม่น่าเชื่อว่าชุมชนเล็กๆ อย่างบ้านเชิงแสจะรักษาไว้ได้อย่างรู้คุณค่า ในขณะที่ที่ในเมืองหลายที่บุกรุกครอบครองวัดเก่าไปเป็นจำนวนมาก.ความดีของชาวเชิงแสนี้ ทำให้ผมคิดถึงคำของพ่อ ที่พูดอย่างภูมิใจว่า "คนเชิงแสมีดี ไม่อย่างนั้นคงรักษาวัดทั้งสามวัดไว้ไม่ได้"...ผมยังจำคำพ่อได้จนถึงทุกวันนี้./.../

    ๐ เดิมที่บ้านเชิงแสมีวัดทั้งหมด ๕ วัด. แต่เมื่อ "วัดทเยา" และบ้านเชิงแสที่อยู่กลางทุ่งนาต้องสลายลง และเมื่อ "วัดรักษ์" ที่ตั้งอยู่ใกล้ปากสระโพธิ์ หมดสภาพไป.ทุกวันนี้ที่เชิงแสจึงมีวัดเพียงสามวัด คือ "วัดเชิงแสะพระครูเอก" , "วัดกลาง" , และ "วัดเชิงแสะหัวนอน" แม้วัดทั้งสามนี้มีเขตวัดที่ชัดเจนก็ตาม แต่ก็มีเพียงวัดกลางเท่านั้นที่มีกำแพงวัดล้อมรอบทุกด้าน กำแพงวัดกลางเกิดจากแรงศรัทธาของชาวพุทธ ๒ ประเทศ คือชาวพุทธที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และชาวพุทธที่อาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ภายใต้สังฆคุณสังฆบารมีของพระเดชพระคุณชาวเชิงแสที่ชื่อ "พ่อท่านรื่น โชติรโส" หรือสมณทินนามหนึ่งว่า "พระครูวิบูลย์ปรีชาญาณ" ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุบาลิง(ป่าลิไลยก์)เจ้าคณะอำเภอบาลิง(Baling) รัฐไทรบุรี(เคดะห์,Kadah) ประเทศมาเลเซีย...+++..."พ่อท่านรื่น" ท่านเกิดเมื่อประมาณปี ๒๔๔๕ ที่บ้านเชิงแสซึ่งเรียกชุมชนบ้านเกิดของท่านบริเวณนั้นว่า "บ้านปากสระโพธิ์" หมู่ที่ ๓ ตำบลเชิงแส อำเภอระโนด โยมบิดาและโยมมารดาของท่านเป็นคนเชื้อสายจีน มีที่นาอยู่ทางด้านทิศใต้ของสระโพธิ์ พ่อท่านท่านบวชเรียนแล้วได้พำนักอยู่ที่วัดกลางหลายพรรษาท่านจึงเป็นลูกศิษย์ของพ่อท่านเขียวเจ้าอาวาสวัดกลางผู้เก่งกล้าด้านโอสถหยูกยาและวิชาเข้าญาณนั่นเอง พ่อท่านรื่นใฝ่ในการศึกษาหาความรู้เป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราช จนสำเร็จวิชาด้านศาสนาและบาลีถึงระดับที่เป็นอาจารย์สั่งสอนพระเณรได้ เมื่อท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุไปเรียนหนังสือที่นครศรีธรรมราชในปี ๒๔๗๔ ท่านเจ้าคุณได้เป็นศิษย์ของพ่อท่านรื่นด้วยได้รับการถ่ายทอดความรู้จากพ่อท่านรื่นที่สำนักเรียนวัดสระเรียงเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นในปลายปี ๒๔๗๕ ถึงเดือนมกราคม ๒๔๗๖ ท่านเจ้าคุณปัญญาและแปะหลวงขิ้มของผมได้ร่วมคณะของพระโลกนาถเดินทางเดินเท้าไปยังประเทศอินเดีย ดังที่ผมได้เล่าไว้แล้วในบทที่ ๑ ต่อมาเมื่อประมาณปี ๒๔๗๗ พ่อท่านรื่นเดินทางจาริกไปพำนักเผยแพร่พระธรรมที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยความรู้กับความดีและสมณปฏิปทาวาจานุ่มนวลท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของคนในมาเลเซียทั้งเชื้อสายไทยและเชื้อสายจีน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้เป็นพระสังฆาธิการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธาตุบาลิง และได้เป็นเจ้าคณะอำเภอบาลิง ระหว่างนั้นพ่อท่านรื่นท่านไม่ลืมภูมิสถานประเทศบ้านเก่าที่เป็นถิ่นกำเนิดชาติภูมิ ท่านจึงได้พัฒนาวัดในประเทศไทยอย่างน้อย ๓ วัด คือ ได้สร้างวิหาร เสนาสนะ และก่อสร้างกำแพงรอบวัดกลางที่เชิงแสบ้านเกิดของท่าน สร้างศาลาการเปรียญให้วัดราษฎร์เจริญ นครศรีธรรมราช และในปี ๒๔๘๔ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญเป็นประธานในการสร้างอุโบสถวัดมาลาประชาสรรค์ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา...+++๐.พ่อท่านรื่นมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘..++๐..ในงานศพของท่านมีพระสงฆ์กับพุทธสาสนิกชาวเชิงแส ชาวสงขลา ชาวนครศรีธรรมราช และชาวยะลาไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก ท่านเจ้าคุณปัญญานันทนภิกขุก็ไปร่วมงานด้วย และได้แสดงปาฐกถาธรรมถวายพ่อท่านซึ่งเป็นพระอาจารย์ พระราชปริยัติโกศล(สเถียร ฉันทโก)เจ้าอาวาสวัดใหม่พิเรนทร์ กรุงเทพฯ ให้ความเมตตาเล่าให้ผมฟังว่า..."พ่อท่านสิ้นตอนเราจำวัดอยู่ที่สงขลา เราได้ไปงานศพของพ่อท่าน หลวงพ่อปัญญาได้แสดงปาฐกถาธรรมในงานนี้ พ่อท่านรื่นเป็นที่เคารพของคนมาเลย์มากจริงๆ ท่านพูดเพราะ และนอกเหนือจากวิชาการด้านธรรมะแล้ว ท่านมีวิชาอีกวิชาหนึ่ง คือ ทำด้ายผูกข้อมือ"

(พระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดรพระธาตุบาลิง มาเลเซีย)

     บาลิง(Baling)เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐไทรบุรีหรือเคดะห์(Kadah)ประเทศมาเลเซีย ห่างจากอำเภอเบตง ๑๔ กิโลเมตร คือจากด่านชายแดนของไทยที่เบตงไป ๗ กิโลเมตร จะถึงโกระ ต่อไปอีกระยะทางเท่ากันก็ถึงบาลิง ในสมัยอยุธยาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พื้นที่แถบนี้อยู่ภายใต้การปกครองของไทย ก่อนท่ี่พ่อท่านรื่นจะไปพำนักอยู่ที่วัดพระธาตุบาลิงนั้น ที่บาลิงมีคนมาเลเซียเชื้อสายสยามอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันที่ในเขตของรัฐไทรบุรีก็มีชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยอยู่ถึงประมาณ ๒๖,๐๐๐ คน มีวัด ๓๔ วัด และสำนักสงฆ์ ๘ แห่ง อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่พ่อท่านไปอยู่ที่บาลิง สภาพการทางการเมืองในมาเลเซียเกิดความไม่สงบอยู่หลายช่วง เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองมาเลเซียและได้สู้รบกับอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์มลายาภายใต้การนำของ "จีน เปง"(อึ้ง บุ้นฮั้ว, Ong Boon Hua)หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "เฉิน ผิง" ที่เคยช่วยเหลืออังกฤษ ได้ตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น ๑๒,๐๐๐ คน (๑๒ กรม)สู้รบกับอังกฤษผู้ปกครอง จนกระทั่งถึงปี ๒๔๙๘ ในวันที่ ๒๘ และ ๒๙ ธันวาคม จึงได้มีการเจรจาทางการเมืองขึ้นที่บาลิง เรียกว่า "Baling Talks 1955" อันเป็นการเจรจาระหว่าง จีนเปง ฝ่ายหนึ่ง และ ตวนกู อับดุล เราะมาน (Tun Abdul Rahman) มุขมนตรีของมาเลเซีย อีกฝ่ายหนึ่ง และมี David Marshall เข้าร่วมด้วย แต่การเจรจาล้มเหลว เมื่อการเจรจาที่บาลิงล้มเหลว เนื่องจากข้อเสนอของจีนเปงที่จะให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมายได้รับการปฏิเสธ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่มี จีน เปง เป็นเลขาธิการก็ถูกทางการอังกฤษและมลายาปราบปรามหนักขึ้นจนพ่ายแพ้แทบทุกพื้นที่ กองกำลังที่เหลืออยู่เพียง ๓ กรม ต้องหนีมารวมอยู่ตามแนวชายแดนไทย กองกำลังนี้เราเรียกกันว่า "โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา" ชื่อย่อว่า "จ ค ม." ภาษาอังกฤษว่า "CPM" จีนเปงและกองกำลังกลับเข้าป่าและต่อสู้กับทางการต่อ แต่ตัวของจีนเปงนั้นได้ไปอยู่ที่กวางโจวของจีน ได้จัดรายการทางวิทยุชื่อ "เสียงแห่งการปฏิวัติมลายา" ผมขอสรุปว่า ต่อมาวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๒ จีนเปงและทางการมาเลเซียตกลงหยุดการสู้รบกัน โดยทำสัญญาที่โรงแรมลีการ์เดน หาดใหญ่ สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจำนวนมากได้รับอนุญาตจากไทยให้มาอยู่อาศัยในเขตประเทศไทย ส่วนจีนเปงนั้นมาเลเซียไม่อนุญาตให้กลับประเทศมาเลเซียบ้านเกิด จึงต้องมาอยู่ที่ประเทศไทย และเสียชีวิตในปีนี้เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ ที่กรุงเทพฯ ศพบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจที่วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ...+++...กลับมาที่เรื่องของพ่อท่านรื่นต่อนะครับ

(หอนาฬิกาอิสระภาพประจำอำเภอบาลิง)


(ย่านธุรกิจกลางเมืองบาลิง)

     ในการเดินทางไปยังบาลิงนั้น ผมเข้าใจว่าพ่อท่านเดินทางโดยทางรถไฟจากอำเภอหาดใหญ่ไปยังอลอร์ สตาร์ เมืองหลวงรัฐไทรบุรี ก่อน จากนั้นจึงเดินทางต่อไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมุ่งหน้าสู่อำเภอบาลิง ที่ผมเข้าใจเช่นนี้ก็เนื่องจากในชั้นที่พระราชปริยัติโกศลไปงานศพของพ่อท่าน ท่านเจ้าคุณและชาวเชิงแสเดินทางโดยใช้เส้นทางเดียวกันดังที่ผมกล่าวถึง ยุคแรกที่พ่อท่านรื่นไปพำนักที่บาลิงนั้น อำเภอนี้ยังไม่เจริญนัก ยังไม่มีทั้งไฟฟ้าและประปาใช้ อีกทั้งเป็นพื้นที่ห่างไกล และหลังจากนั้นก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมาหลังสงครามก็อยู่ในการประกาศภาวะอัยการศึกของทางการอังกฤษ เพราะยังมีการสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์มลายากับทางการของอังกฤษและมาเลเซีย แต่สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้พ่อท่านรื่นซึ่งได้รับการยกย่องนับถือมาก สามารถสร้างวัดพระธาตุบาลิงขึ้นรุ่งเรืองมี ๓ ประการ คือ ๑.ที่อำเภอบาลิงมีคนไทยและคนจีนอยู่เป็นจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้ต่างนับถือพุทธศาสนา และโดยเฉพาะคนที่มีเชื้อสายไทยนั้น แม้จะอยู่ในมาเลเซียก็ยังพูดภาษาไทยและรักษาขนบประเพณีเดิมไว้ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ๒.อำเภอบาลิงตั้งอยู่ไม่ไกลจากอำเภอเบตงของไทย การไปมาหาสู่ติดต่อกันไม่ลำบากยากนัก ทำให้พ่อท่านเดินทางมาเผยแพร่ธรรมะในเขตไทยได้ จึงมีผู้คนสองทั้งประเทศให้ความศรัทธาท่าน และประการที่ ๓. ซึ่งสำคัญที่สุดก็คือ พ่อท่านรื่นเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดีงาม มีความรู้ดี มีเมตตากรุณา อีกทั้งท่านไม่ละทิ้งการพัฒนาวัดเดิมในประเทศไทยที่เคยพำนัก ความดีงามเหล่านี้เป็นปัจจัยหนุนส่งให้พ่อท่านได้รับความศรัทธาเป็นอย่างมาก......++++...ที่กล่าวนี้สังเกตได้จากการที่มีผู้ศรัทธาสร้างพระรูปบูชา เหรียญบูชา และเหรียญเสมา ในชื่อ "พระวิบูลย์ปรีชาญาณ(หลวงพ่อรื่น)" ไว้เป็นที่บูชาเคารพ ซึ่งในปัจจุบันทั้งพระบูชาและเหรียญทั้งสองแบบเป็นสิ่งที่หายากมาก โดยเฉพาะชาวพุทธมาเลเซียเชื้อสายไทยนั้นผู้ใดมีไว้แล้ว ก็จะไม่ยอมปล่อยให้ใครเช่าต่อเลย...เกี่ยวกับของบูชานี้ มีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวไว้ด้วย นั่นคือ "ผ้ายันต์พ่อท่านรื่น" ผ้ายันต์นี้พ่อท่านจัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ เพื่อมอบให้แก่ผู้ศรัทธาร่วมสร้างศาลาการเปรียญของวัดราษฎร์เจริญ นครศรีธรรมราช โดยพ่อท่านเขียนคาถาอันเป็นวิชาอาคมของชาวเชิงแสบ้านเกิดท่านกำกับไว้ เช่น คาถาอาคมของชาวเชิงแสที่ว่า "พุทธัง คลาดแคล้ว พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว ปิติปิโส ภควา . ธัมมัง คลาดแคล้ว พระธรรมเกิดแล้ว ปิติปิโส ภควา .สังฆัง คลาดแคล้ว พระสงฆ์เกิดแล้ว ปิติปิโส ภควา..."

(รูปเหมือนพระครูวิบูลย์ปรีชาญาณเจ้าอาวาสวัดพระธาตุบาลิง)


(เหรียญบูชารูปพระครูวิบูลย์ปรีชาญาณ)


(ผ้ายันต์โบราณของพระครูวิบูลย์ปรชาญาณจัดพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒)

     ขอกล่าวเจาะจงเฉพาะที่วัดพระธาตุบาลิงซึ่งพ่อท่านรื่นเป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะอำเภอไว้ ณ ที่นี้ พอสังเขป ว่า วัดพระธาตุบาลิงตั้งอยู่ริมน้ำในบริเวณตัวอำเภอบาลิง ชั้นแรกที่พ่อท่านไปพำนักนั้นอุโบสถของวัดยังเป็นอุโบสถไม้ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่งดงามด้วยพุทธลักษณะกึ่งทรงเครื่อง ที่แปลกมากคือองค์พระพุทธรูปนั้นเป็นสีเขียวมรกต ที่วัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอสมควร แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา เมื่อพ่อท่านสิ้นบุญแล้ว ท่านเจ้าอาวาสรูปต่อมาเป็นพระที่ตาบอด แต่ท่านมีความสามารถมาก สามารถท่องปาติโมกข์ได้ และมีความรู้แตกฉานในข้อธรรมของพระศาสนา ปัจจุบันนี้มีชาวไทยและชาวจีนมาเลเซียเป็นจำนวนมากมีความศรัทธาวัดพระธาตุบาลิง สังเกตได้จากมีงานเขียนภาษาอังกฤษหลายชิ้นกล่าวถึงวัดนี้อย่างชื่นชม

     เมื่อพระครูวิบูลย์ปรีชาญาณ หรือ พ่อท่านรื่น ได้รับความศรัทธาเคารพจากพุทธสาสนิกมากขึ้นแล้ว ท่านได้ระลึกถึงบ้านเชิงแสบ้านเกิดของท่าน จึงได้รวบรวมปัจจัยทุนรอนมาพัฒนาวัดกลางของบ้านเชิงแส ท่านได้บูรณะวิหารและก่อสร้างที่พักสงฆ์ขึ้นหลายหลัง แต่ที่ตรึงอยู่ในความประทับใจของผม ก็คือ กำแพงทุกด้านรอบวัดกลาง กำแพงนี้เดิมเป็นกำแพงสูงเกินหัวเด็กอย่างผม ทุกช่วงของกำแพงมีปูนปั้นเป็นรูปดอกบัว และผนังกำแพงด้านบนเขียนข้อความจารึกชื่อและที่อยู่ของผู้ออกทุนกับจำนวนปัจจัยก่อสร้างไว้ทุกช่วง ผมชอบอ่านมาก เดินอ่่านไปรอบๆ แต่ที่สะดุดใจและไม่เข้าใจคือเมื่ออ่านถึงจารึกข้อความที่เขียนว่า "บาลิง ไทรบุรี" ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าตั้งอยู่ที่ไหน และก็แปลกที่ผมไม่เคยถามใครเลย ไม่เคยแม้แต่จะถามพ่อแม่ เก็บความสงสัยเอาไว้ในใจจนโตเป็นผู้ใหญ่ จนได้มีโอกาสค้นคว้าประวัติของพ่อท่านรื่น และอำเภอบาลิง รัฐเคดะห์ (ไทรบุรี) จึงนำมาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกันขณะนี้...เกี่ยวกับวัดกลางบ้านเชิงแสนี้ยายของผมเล่าให้ผมฟังว่า ผู้สร้างวัดกลางเป็นผู้หญิงชื่อนางทองจัน เมื่อสร้างวัดเสร็จก็สร้างพระพุทธรูปเป็นแถวไว้ที่วัด ที่เศียรพระองค์หนึ่งนั้น นางได้บรรจุทองคำไว้ ต่อมามีโจรขโมยทองโดยทุบเศียรพระเสียทุกองค์ ยายเล่าเป็นคำกลอนว่า "วัดกลาง วัดนางทองจัน ทองสามแม่ขัน อยู่หัวเรียงราย"...เมื่อผมค้นคว้าพบแผนที่วัดกลางที่เขียนไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ผมดีใจมากจึงได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ขอถ่ายภาพตัวผมกับแผนที่วัดกลางไว้เป็นที่ระลึกด้วยความดีใจและความสุขที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิต และด้วยความคิดถึงยาย เพราะยายของผมตั้งศพทำบุญและฌาปนกิจที่วัดนี้ ขณะนั้นมีพ่อท่านส้มเป็นเจ้าอาวาส นัยว่าพ่อท่านส้มนั้นเป็นญาติกับยาย เป็นญาติกันทางสายไหนผมไม่ได้ถามใครไว้เลย น่าเสียดายมากที่ไม่มีข้อมูลมากไปกว่านี้

     ผมได้เกริ่นไว้บ้างแล้วถึง "พ่อท่านเขียว" เจ้าอาวาสวัดกลาง เชิงแส จึงขอเล่าถึงพ่อท่านเขียวไว้เสียด้วย ว่า พ่อท่านเขียวพระคุณเจ้ารูปนี้ เป็นพระที่มีอาวุโสกว่าพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์แห่งวัดเชิงแสใต้ พ่อท่านเมฆจึงเรียกพ่อท่านเขียวว่า "หลวงพี่" (และพ่อท่านเมฆก็เรียกพ่อท่านเจียมแห่งวัดเอกว่า หลวงพี่ เช่นกัน) พ่อท่านเขียวนั้นท่านมีความรู้ด้านโอสถหยูกยา เมื่อผมไปวัดกลางกับแม่ ก็จะเห็นครกบดยาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่ใกล้ประตูทางขึ้นโรงครัว ผมชอบดูมากชอบตรงที่รางบดยาข้างล่างนั้นรูปร่างเหมือนเรือ นอกจากจะมีวิชายาโอสถแล้ว พระราชปริยัติโกศลเล่าให้ผมฟังว่า "พ่อท่านเขียวท่านมีญาณแก่กล้า ถ่ายรูปไม่ติด เคยให้ช่างภาพจากระโนดมาถ่ายภาพท่านก็ถ่ายไม่ได้ ไม่ติดภาพ นอกจากจะเก่งทางยาแล้ว ท่านยังจับยามสามตาแม่น รู้ว่าอะไรจะเกิดที่ไหน มีอยู่คราวหนึ่ง คนร้ายลักวัวของวัดตัวที่ชื่อว่า "ไอ้ลายนาขอ" แล้วนำไปฆ่า ท่านนั่งทางในก็บอกได้ว่า หัววัวถูกนำไปซ่อนไว้ที่ไหน พ่อท่านเขียวนั่งวิปัสนาทุกคืน เมื่อนั่งเสร็จแล้วตอนเที่ยงคืนท่านจะเดินออกมาที่หน้ากุฏิ แล้วพูดว่า อืม. ท่านเป็นคนร่างใหญ่ เป็นพระที่เคร่งมาก


(กำแพงวัดเชิงแสกลางที่พ่อท่านรื่นได้มีจิตศรัทธาสร้างไว้ ในภาพจะเห็นชื่อของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยและจำนวนเงินที่บริจาค)

     วัดกลางแห่งบ้านเชิงแสให้ความรู้สึกร่มเย็นแก่ตัวผมมาก ผมจึงจำภาพความเป็นไปที่วัดนี้ได้หลายอย่าง ดังจะได้เล่าต่อไป อย่างน้อยก็สักสามสี่เรื่อง คือ ๑.เรื่องพระนอนและพระพุทธรูปรายรอบวิหาร ๒.เรื่อง ต้นโพธิ์ ต้นเนียน ไม้ใหญ่ในวัดกลาง ๓.เรื่อง ความงามของหมู่ที่พำนักสงฆ์ และเรื่องที่ ๔.ซึ่งหากไม่เล่าแล้ว "เชิงแสบ้านแม่ฯ" บทนี้จะไม่สมบูรณ์ นั่นก็คือ เรื่องของ "ลุงหลง" ...เริ่มจากเรื่องที่ ๑.+++. นับเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของวัดกลางที่ต่างจากวัดเอกและวัดเชิงแสใต้ กับรวมถึงวัดอื่นๆในแถบนี้ เพราะการมีพระนอนนั้นที่วัดแถบอำเภอระโนดด้านทะเลสาบผมยังนึกไม่ออกว่าที่วัดไหนมีพระนอน ผู้ศรัทธาในการสร้างพระนอนวัดกลางเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๗ ขณะนั้นผมยังเรียนชั้นประถมอยู่ที่โรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์) จำได้ว่าหลังเลิกเรียนแล้วผมจะมาที่ศาลารายด้านบริเวณด้านหลังวิหาร มาดูการสร้างพระ มาบ่อยมาก จำช่างปั้นคนหนึ่งเป็นผู้ชายอายุประมาณ ๕๐ ปี ร่างผอมๆ ได้ ระหว่างที่มีการสร้างพระนอน ก็มีช่างปั้นอีกกลุ่มหนึ่งสร้างพระพุทธรูปเรียงรายเป็นแถวรอบศาลาราย แต่เมื่อถึงบริเวณด้านเหนือสุดตรงประตูทางเข้าแทนที่จะเป็นพระพุทธรูป ช่างกลับปั้นเป็นรูปฤาษีหนึ่งท่านไว้แทน ผมและพวกเด็กๆ ชอบดูมาก โดยเฉพาะชอบดูเคราที่คางฤาษี มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ดูการสร้างพระอยู่นั้น เพื่อนคนหนึ่งปีนขึ้นไปที่หน้าต่างวิหารบริเวณด้านหลังพระพุทธรูปประธาน แล้วมาบอกกันว่ามีคนนอนตายอยู่ที่หลังพระประธาน จีวรพระคลุมอยู่ ผมก็ปีนขึ้นไปดู...เห็นแล้วตกใจมาก เหมือนศพที่ถูกคลุมไว้ด้วยจีวรจริงๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ศพหรอก เป็นเพียงดอกไม้ประดิษฐ์บูชาพระที่คลุมไว้ด้วยจีวร ดอกไม้ประดิษฐ์เหล่านี้เป็นดอกไม้ที่นำมาวางไว้เป็นแถวหลังพระประธาน บางแจกันก็สูงบางแจกันก็ต่ำ แต่เมื่อนำมาเรียงกันเป็นแถวติดกันด้านที่เป็นแจกันต่ำดูเหมือนเป็นหัว ต่อมาเป็นแจกันสูงหลายใบเรียงชิดกันเหมือนลำตัว ส่วนที่เป็นขานั้นก็เป็นแจกันหลายใบเช่นกัน เมื่อคลุมไว้ด้วยจีวรจึงเหมือนคนตายนอนตะแคงหันหน้าเข้าหาด้านหลังพระประธาน...+++...ทั้งพระนอนและพระพุทธรูปรอบศาลารายเป็นพุทธศิลป์ที่งดงามมาก และน่าโน้มใจกายถวายเคารพกราบไหว้บูชาจริงๆ

     เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องไม้ใหญ่ในวัดกลาง ผมขอเริ่มจากไม้ที่หายากก่อน นั่นคือ "ต้นเนียน"...ต้นเนียนที่บ้านเชิงแสนี้ เท่าที่ผมจำได้มีอยู่ ๓ ต้น คือ ต้นที่ขึ้นบริเวณในป่าด้านทิศใต้ของบ้านเชิงแสหัวนอน ต้นหนึ่ง เนียนในป่าต้นนี้เพื่อนเคยนำลูกเนียนมาแบ่งกันกินที่โรงเรียน เพื่อนคนนี้ถ้าจำไม่ผิดคือเพื่อนที่ชื่อ จรัล ชูไทย ซึ่งมีบ้านอยู่ที่ "ในป่า" ทิศใต้ของหมู่บ้าน ขณะนี้พื้นที่ที่ผมเรียกว่า "ในป่า" นั้นเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการอำเภอกระแสสินธุ์ คุณน้าเอื้อมและน้าหีดพ่อและแม่ของจรัลได้ร่วมบริจาคที่ดินให้ทางราชการเพื่อตั้งเป็นศูนย์ราชการของอำเภอ ถึง ๘ ไร่ ผมจึงต้องบันทึกความดีของน้าทั้งสองไว้ ต้นเนียนอีกต้นหนึ่งที่เชิงแสเป็นต้นเนียนซึ่งขึ้นอยู่ที่กลางหมู่บ้าน เมื่อมีการทำถนนครั้งแรกของบ้านเชิงแส ต้นเนียนกลางบ้านก็ยังคงมีอยู่ เพราะเขตถนนกินไปไม่ถึงต้นเนียนต้นนี้ จำได้ว่าเนียนต้นกลางบ้านนี้สูงมาก ครั้งหนึ่งผมเดินผ่านพบลูกเนียนสุกตกอยู่ที่ใต้ต้น จึงนำมากินอย่างอร่อย ลูกเนียนนั้นมีลักษณะรีผิวเกลี้ยง โตกว่าหัวแม่มือไม่มากนัก ถึงสุกแล้วผิวก็ยังออกเขียว หากนึกไม่ออกว่าลูกเนียนคล้ายผลไม้ชนิดใด ก็ขอให้นึกภาพของผลกีวี แต่ลูกเนียนเล็กกว่าประมาณหนึ่งในสี่ ... ต้นเนียนต้นที่สามในความจำของผม ก็คือ ต้นเนียนที่วัดกลาง ต้นเนียนต้นนี้ขึ้นอยู่ที่บริิเวณใกล้กำแพงด้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ นับว่าเป็นต้นเนียนโบราณ นับถึงวันนี้อายุเกินกว่า ๑๐๐ ปี แล้ว ผมไม่เคยเห็นลูกเนียนจากต้นเนียนต้นดังกล่าว แต่โคนต้นเนียนนี้เคยให้ผมได้พึ่งพิง คือว่า เช้าวันหนึ่งผมไปโรงเรียนสาย จึงไปหลบอยู่ที่โคนต้นเนียนเพราะอายชาวบ้านกลัวใครจะเห็นเข้า ครั้นเห็นธงชาติที่โรงเรียนขึ้นสู่ยอดเสาแล้ว ผมจึงเดินออกมาจากโคนต้นเนียน แต่พอเริ่มย่างเดินออกมาเท่านั้น ก็พบครูท่านหนึ่งเข้า ครูท่านนี้จึงบอกว่า "วันนี้ครูกับเธอไปโรงเรียนสายเหมือนกัน"...นอกจากต้นเนียนแล้ว ไม้ใหญ่อีกต้นหนึ่งที่วัดกลาง คือ "ต้นโพธิ์" ต้นที่ขึ้นอยูที่ริมศาลารายด้านทิศเหนือ ที่พิเศษสำหรับผมก็เพราะผมสังเกตว่า ความที่ต้นโพธิ์ต้นนี้เป็นไม้ใหญ่ จึงมีไม้เถาอื่นได้อาศัย ไม้เถาที่อาศัยต้นโพธิ์นี้ มีลักษณะเหมือนงูเขียว เรียกว่าเถาอะไรก็ไม่รู้ ที่น่าจดจำอีกเรื่องหนึ่งคือที่ใกล้ต้นโพธิ์เป็นลานหญ้ากว้างใหญ่ เป็นที่หนังฉายล้อมผ้ามาเปิดการฉาย เจ้าของภาพยนตร์ที่นำมาฉายนั้น เป็นชาวระโนด บ้านตลาดตก ชื่อว่า "นัน" เรียกกันว่า "หนังนัน" คุณนันเป็นทั้งเจ้าของหนังและคนพากษ์หนัง เมื่อปี ๒๕๑๕ ผมได้ดูหนังฉายของคุณนันเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง "เสือขาว" ที่นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ เพชรา เชาวราษฎร์...ที่วัดกลางนี้ยังมีต้นโพธิ์อีกต้นหนึ่ง ไม่ใช่ต้นใหญ่แต่ว่าเป็นต้นโพธิ์สูง ขึ้นอยู่ที่บริเวณใกล้ประตูทางทิศใต้ ต้นโพธิ์ต้นนี้แปลกตรงที่ว่ามีครั่งที่กิ่งโพธิ์ หลังเลิกเรียนผมและเพื่อนๆ เดินกลับบ้าน เมื่อผ่านใต้ต้นโพธิ์ก็ยืนแหงนมุงดูครั่งกัน เพราะเป็นของแปลกสำหรับเด็กเชิงแส นอกจากนี้ที่วัดกลางยังมีต้นสารภี ๒ ต้น คู่กัน เดินผ่านแล้วคอยแต่ให้นึกถึง "ฌ เฌอ คู่กัน" อยู่เสมอ

     เรื่องที่ ๓ สำหรับที่เกี่ยวกับวัดกลางบ้านเชิงแส ก็คือ เรื่อง "ลุงหลง" ลุงหลงเป็นชายสูงวัย รูปร่างผอมสูง แข็งแรง ลุงเป็น "คนวัด" ที่อยู่กับวัดกลางมานาน พระครูพัฒนฯ(นุ่ม กิตติวโร)แห่งวัดสร้อยทอง กรุงเทพฯ เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับบ้านเกิดของลุงหลงว่า "ลุงหลงไม่ใช่คนบ้านเชิงแส น่าจะเป็นคนแถวๆปละตีนระโนด แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าเป็นคลองแดน ตะเครียะ หรือที่ไหน ลุงหลงมาอยู่ที่วัดกลางนานแล้ว จนเป็นชาวเชิงแส" ช่วงเข้าพรรษาลุงหลงเดินหิ้วปิ่นโตตามหลังพระ เมื่อพระยืนรับบาตรที่บ้าน ระหว่างที่แม่ตักบาตรนั้น ผมจะส่งถ้วยแกงให้ลุงหลง ให้ลุงเทถ่ายแกงลงปิ่นโต แต่หลังออกพรรษาแล้วที่วัดกลางมีพระน้อยลง ลุงหลงก็ทำหน้าที่สะพายบาตรและหิ้วปิ่นโตมาบิณฑบาตแทนพระ ทุกเช้าผมมีหน้าที่คอยดูลุงหลงว่าเดินมาใกล้บ้านแล้วหรือยัง ครั้นเห็นลุงหลงเดินมา ก็ร้องบอกแม่ว่า "ลุงหลงมาแล้ว ลุงหลงมาแล้ว" ให้แม่มาตักข้าวใส่บาตรลุงหลง ถึงแม้ว่าผมจะมีเรื่องราวของลุงหลงไม่มากนัก แต่มีความรู้สึกว่าผมผูกพันกับภาพของชายสูงวัยคนนี้ และอยากจะเขียนถึง อยากจะเล่าเรื่องของลุงหลงไว้ในเชิงแสบ้านแม่ฯ...คุณงามความดีที่น่าสรรเสริญยิ่งของลุงหลง ก็คือ ลุงเป็นคนขยันมาก คราวที่พ่อท่านรื่นพระครูวิบูลย์ปรีชาญาณสร้างกำแพงวัดกลางนั้น ท่านได้อาศัยเรี่ยวแรงของลุงหลงตีย่อยหินทุกวัน ภาพการทุบต่อยหินของลุงหลงเป็นที่เล่าขานให้รับรู้กัน จนกระทั่งการสร้างกำแพงวัดกลางแล้วเสร็จ

     สุดท้ายเรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องความงามของศาสนสถานอาคารและที่พักสงฆ์ ...จากประตูทางเข้าวัดด้านทิศเหนือ เมื่อเดินตรงไปประมาณ ๑๐๐ เมตร เศษ ก็จะถึงกลุ่มอาคารหมู่หนึ่ง ตั้งอยู่ทางขวามือ ซึ่งประกอบด้วย ที่พำนักสงฆ์ โถงกลางอเนกประสงค์ หอฉันและโรงครัว รวมทั้งสิ้น ๔ อาคาร โดยมีทางปูนยกสูงเชื่อมถึงกัน...อาคารทั้งหมดเป็นกลุ่มอาคารไม้ใต้ถุนสูง สร้างโดยช่างฝีมือดี จึงงามและแข็งแรงคงทนอยู่จนถึงปัจจุบัน เฉพาะที่พักสงฆ์นั้นเป็นอาคารขนาดยาวหลายห้อง และน่าจะเป็นอาคารที่ยาวที่สุดของบ้านเชิงแส ซึ่งเหลืออยู่ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมาเด็กวัดและครอบครัวมีการถวายภัตตาหารประจำปีที่วัดใหม่พิเรนทร์ กรุงเทพฯ หลายเสียงได้นำเสนอว่า เราควรจะเก็บกลุ่มอาคารของวัดกลางนี้ไว้ และจัดเป็น "พิพิธภัณฑ์บ้านเชิงแส"

     ก่อนจบบทนี้...เห็นควรเล่าด้วยว่า วัดกลางนั้นเป็นวัดที่โดดเด่นด้านการสงเคราะห์มาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม ยายและแม่ผูกพันกับวัดกลางมากที่เดียว หย่อมบ้านของแม่นอกจากจะเรียกว่า "บ้านใหญ่" แล้ว ยังเรียกว่า "บ้านตกวัดกลาง" ก็ได้ ความผูกพันระหว่างยายกับวัดกลางที่เห็นได้ที่สุดก็คือ งานศพของยายจัดที่วัดกลาง ได้รับความอนุเคราะห์จากวัดกลางจนเสร็จงาน การที่วัดกลางเป็นวัดแห่งการสงเคราะห์นี้ คงสืบต่อกันมานานแล้ว อย่างน้อยก็คราครั้งที่พ่อท่านเขียวเป็นเจ้าอาวาส ด้วยความที่พ่อท่านมีวิชาด้านโอสถ วัดกลางจึงเป็นที่ปลูกสมุนไพรหลายหลากขนาน ชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย จึงมารับการรักษาจากพ่อท่าน บัดนี้ยังเหลือเครื่องบดยาขนาดใหญ่ไว้เป็นหลักฐาน การสงเคราะห์อีกอย่างหนึ่งที่ต้องกล่าวไว้ คือ เรื่อง "ประปาบ้านเชิงแส" ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ปีนั้นพระครูประทักษ์ธรรมานุกูล(เสถียร อภิปุญโญ)เจ้าอาวาสวัดเชิงแสใต้ เจ้าคณะตำบลเชิงแส พ่อท่านเสถียรท่านได้ร่วมกับพระครูปิยสิกขการ (พระมหาพร้อม ปิยธัมโม)เจ้าอาวาสวัดหัวป้อมใน สงขลา ติต่อให้สำนักงานประปาชนบทที่ ๙ สงขลา มาจัดสร้างประปาขึ้นที่เชิงแส โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดกลาง เป็นสถานที่ก่อสร้าง ด้วยบารมีของพระคุณเจ้าทั้งสอง ทางการประปาจึงจัดงบประมาณมาให้ และมีการสมทบเงินทั้งของหลวง ของพระ ของชาวบ้าน รวมเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ประปาเชิงแสจึงได้ก่อเกิดขึ้น เมื่อเริ่มแรกที่มีการเจาะบ่อบาดาลที่วัดกลางนั้น เด็กๆ อย่างพวกผมได้เล่นน้ำบาดาลกันอย่างสนุกสนาน และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เห็นน้ำบาดาล การก่อสร้างถังประปาและระบบทั้งหมดแล้วเสร็จในปี ๒๔๑๖...สุดท้ายในการสงเคราะห์ของวัดกลาง คือ "การเลี้ยงน้ำชา" ที่ศาลาวัดกลาง...การเลี้ยงน้ำชาที่บ้านเชิงแสนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เรียกกันว่า "กินน้ำชา" ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่ชาวบ้านเชิงแสบางครอบครัว ได้รับความเดือดร้อนเรื่องเงินทอง ที่ต้องใช้คราวละมากๆ ไม่รู้จะไปพึ่งใคร ก็ "ออกปาก บอกเลี้ยงน้ำชา" ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน บางรายแจกบัตรด้วย ข้อความก็ประมาณว่า ..."ข้าพเจ้า...ได้รับความเดือดร้อน ขอชิญท่านร่วมดื่มน้ำชา ที่วัดกลาง..." การบอกเลี้ยงน้ำชานี้ผู้เป็นเจ้างานจะไม่ระบุจำนวนเงิน จึงเป็นการสงเคราะห์กันตามใจสมัครเอื้อเฟื้อ...เมื่อได้รับบัตรบอกแขกเลี้ยงน้ำชาดังกล่าวแล้ว ผมก็จะรอด้วยความใจจดใจจ่อ รอให้พ่อบอกว่า "งานนี้ให้บ่าวไปกินน้ำชาแทน" แล้วบ่ายวันเลี้ยง ผมก็เดินไปวัดกลางด้วยความยินดีอย่างยิ่ง "น้ำชา" สำหรับบ้านเชิงแสนั้น ไม่ได้หากินกันง่ายๆ นะครับ ไม่เหมือนน้ำหม้อที่จะชดได้ทุกวัน เจ้าภาพใช้ศาลาวัดกลางที่ตั้งอยู่ใต้ต้นโพธิ์เป็นสถานที่ตั้งเตาและหม้อต้มน้ำ เมื่อผมไปถึง เจ้าภาพก็เรียกให้ร่วมดื่ม ผมก็ไปนั่งบนศาลาจุดที่อยู่ใกล้ๆ กับที่ชงน้ำชา...ดูเจ้าภาพชงน้ำชา และยื่นถ้วยน้ำชาส่งให้ กลิ่นน้ำชาหอมกลุ่น แต่สำหรับชีวิตของเจ้าภาพแล้วในห้วงเวลาที่เดือดร้อนจนต้องบอกเลี้ยงน้ำชา คงจะไม่หอมนัก ...ดื่มน้ำชาเสร็จแล้ว เจ้าภาพก็จะถามตามมารยาทว่า "เอาเหรอยไม่?" คือจะดื่มอีกสักแก้วมั้ย? เราก็ต้องตอบตามมารยาทว่า "ไม่พรื้อ น้าหลวงเหอ เอมแล้ว" แล้วมอบเงิน ๑๐ บาทให้เจ้าภาพ

     วันนี้วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เป็นวันมาฆะบูชา ที่เชิงแส ค่ำนี้จะมีการเวียนเทียนกัน เมื่อเป็นเด็กแม่เคยนำผมมาเวียนเทียนรอบศาลาการเปรียญวิหารของวัดกลางแห่งนี้ ก่อนเวียนท่านเจ้าอาวาสนำพระสงฆ์ และชาวบ้าน ทำพิธีสวดมนต์ไหว้พระในวิหารก่อน เสร็จแล้วท่านก็นำมายืนตั้งแถวที่หน้าวิหาร และสวดมนต์สั้นๆอีกบทหนึ่ง แล้วจึงเดินนำหมู่สงฆ์และชาวบ้านเวียนเทียน ท่ามกลางแสงเทยีนและนวลแสงจันทร์ของเพ็ญมาฆะ ชาวเชิงแสจะกล่าว "คำพระ" ระหว่างที่เดินประทักษิณา เวียนขวาตามพื้นคอนกรีตไปทางด้านทิศใต้ของวิหารว่า "อรหัง สัมมา สัมพุทโธ...เป็นอัศจรรย์ น่าเลื่อมใสจริง" เด็กๆบางกลุ่มที่พิิเรน เมื่อพิธีเวียนเทียนแล้ว ก็พูดเป็นคำกลอนเพี้ยนๆ ต่อไปว่า "เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริง ลุงขลิ้งใส่เกือก"


(ภาพของผม "นิกร ทัสสโร" คนเชิงแส ขณะที่วางมาดประคองภาพวาดวัดกลางซึ่งจิตรกรได้วาดไว้เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณ พ.ศ. ๒๒๒๓)

     ผมเล่าเรื่อง "เชิงแสบ้านแม่ บ้านทุ่งริมเล" มาครบ ๑ ปี กับ ๑ เดือน แล้ว ทุกบทที่เขียนนั้นขอท่านโปรดเข้าใจด้วยว่า ยังเขียนไม่จบแม้แต่บทเดียว เพียงแต่นำมาโพสต์ให้ท่านที่มีความสนใจเกี่ยวกับประวัติชุมชน ท้องถิ่น ชาติพันธ์ุ และบรรดาลูกหลานเหลนของชาวบ้านเชิงแส ตลอดจนชาวบ้านใกล้เคียง อย่างเกาะใหญ่ เขาใน โคกพระ เขารัชปูน ได้อ่านกันก่อน และตั้งใจจะเขียนไปเรื่อยๆ อีกประมาณ ๑๐ บท คงใช้เวลาประมาณ ๒ หรือ ๓ ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับประวัติของหมู่บ้านที่น่ามีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้นแล้ว ต้องนับว่าผมใช้เวลาเขียนน้อยมากๆ แต่ก็ถือเสียว่าเป็นการจุดประกายแรกให้มีการเขียนการบันทึกถึงเรื่องราวท้องถิ่นและบ้านเกิดของตนเอง ที่ผ่านมามีผู้เข้าอ่านเข้าชมมากกว่า ๔,๗๐๐ ครั้งแล้ว ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ มีการเข้าชมจากประเทศสหรัฐอเมริกาถึง ๑๔๘ ครั้ง และมีผู้เข้าชมที่เมืองไทยอีก ๕๑ ครั้ง ...นอกจากนั้นมีคุณน้ำค้างหลานของคุณครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ โพสต์ความเห็นมา ๑ ครั้ง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก คุณครูวิทย์มีพระคุณและให้ความเมตตาผมอย่างที่สุดมาตั้งแต่ผมเป็นเด็ก คราวท่ี่ผมบวชท่านก็มาร่วมเดินเวียนพระอุโบสถด้วย หาได้ไม่ง่ายนะครับ ที่นาคคนหนึ่งจะมีครูที่สอนมาในชั้น ป.เตรียม มาร่วมงานบวช.,,.อีกสักระยะจะนำภาพพ่อท่านรื่นและภาพเมืองบาลิงมาให้ได้ชมกัน...ระหว่างนี้ขอส่งความสุขและสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๗ แด่ท่านผู้อ่านตลอดจนมวลมหาประชาชน และมวลอนุประชาชนทุกท่าน นะครับ...ช่วงนี้ ๑๓ มกรา กำลังจะปิดกรุงเทพครับ เขาจะ "SHUTDOWN BANGKOK" ชัตดาวน์แบงค็อก กันแล้ว ส่วนที่เชิงแสบ้านผมนั้น ไม่มีชัตดาวน์แบงค็อก มีแต่ "ซัดราวหัวครก" ซัดราวโหม้งหัวครกกันครับ คือเอาเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาเล่นซัดราวกัน บางวันเล่นซัดราวจนลืมไล่วัวเข้าคอก ก็เป็นที่แน่นอนว่าวันนั้น ไม่ถูกดุก็ต้องถูกตี)

     ชัตดาวน์กรุงเทพฯ มาถึงวันนี้ก็มีข่าวเศร้าสุดอาลัย คุณประคอง ชูจันทร์ นักสู้จากนครศรีธรรมราช ซึ่งถูกพวกขี้ขลาดลอบโยนระเบิดทำร้าย ได้เสียชีวิตแล้ว และจะตั้งศพที่วัดเทพศิรินทราวาส ขอให้ดวงวิญญาณของคุณประคองยอดนัดสู้จงไปสู่สุคติ....ส่วนมะรืนนี้วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ก็จะมีการพระราชทานเพลิงศพคุณสุทิน ธราทิน ผมตั้งใจไปร่วมงานด้วย แม้จะไม่รู้จักกัน แต่ก็รู้ในคุณงามความดีของเขา และรู้ว่าเขาเสียสละเพื่อชาติมากกว่าผม...คนเชิงแสบ้านผมนั้นถือคติที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ งานศพเป็นงานที่เจ้าภาพไม่ต้องบอก เมื่อรู้ก็ไปทำบุญ ไปร่วมงานได้ ถือไม้ฟืนกันไปป่าช้า พ่อสอนผมว่า "นึกถึงความดี ไปเผา ไปจี กัน".๐๐๐๐๐+++++....๐๐๐๐๐๐++++++/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น