วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทที่ ๗ สิงห์บ้านนา เสือลาทุ่ง


บทที่ ๗ สิงห์บ้านนา เสือลาทุ่ง


     บ้านเชิงแสบ้านเกิดของผมนั้นตั้งอยู่ที่ตรงบริเวณชายขอบของเมืองสงขลา เป็นบริเวณใกล้เคียงกับเขตต่อแดนระหว่างสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช พื้นที่อย่างนี้เอื้ออำนวยเสียเหลือเกินกับการตั้งถิ่นของทุจริตชน ทั้งในลักษณะที่เป็นกลุ่มชุมโจรและโจรเดี่ยว ทั้งโจรทางน้ำในทะเลสาบสงขลา และโจรบนบกริมฝั่งทะเล การชุกชุมของพวกโจรเหล่านี้มีมานานแล้ว จนความทราบถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ จะเห็นได้จากเมื่อพระองค์เสด็จฯสงขลา เมื่อ ร.ศ.๑๐๘ (พ.ศ.๒๔๓๒)ก็มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินตรวจราชการยังพื้นที่ต่างๆในท้องทะเลสาบสงขลา จนถึงเกาะสี่เกาะห้า และประทับแรมที่เกาะนั้น ก่อนที่จะเสด็จฯ ไปเมืองพัทลุง ปรากฏความในพระราชหัตถเลขาและจดหมายเหตุการเสด็จประพาสแหลมมลายู เกี่ยวกับบรรยากาศการรับเสด็จ พระราชกรณียกิจ และพระราชดำริเรื่องโจรผู้ร้ายในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลา จากพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๑ และ ฉบับที่ ๒ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๓๒ และวันที่ ๒๙ มาสและศกเดียวกันว่า

     "เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา....วันที่ ๒๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๐๘ ...วันที่ ๑๙ วันนี้เปนวันคลื่นลมอยู่ข้างเรียบราบกว่าทุกวันตั้งแต่มา เปนแต่เวลาเช้ามีเล็กน้อย เวลาบ่าย ๒ โมงตรง แหลมตลุมพุก หยุดขึ้นดูแหลมตลุมพุกเปนหาดทรายแคบนิดเดียว มีเรือนประมาณ ๗๐ หลัง ปลูกต้นมพร้าวมาก...เวลา ๘ ทุ่มถึงเมืองสงขลา...วันที่ ๒๐ พอรุ่งสว่างเลื่อนเรือไปจอดที่ พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม ณ สงขลา ,ต่อมาได้เป็นพระยาวิเชียรคิรี)นำแผนที่ทเลสาบลงมา คิดกะการท่ีจะไปเมืองพัทลุง เวลาบ่ายขึ้นบก เขาทำพลับพลารับที่หน้าจวน กรมการแลภริยากรมการมาหา แล้วไปเที่ยวตามตลาด ตลอดจนถึงวัดมัชฌิมาวาส การที่เมืองสงขลาจัดตกแต่งบ้านเมืองเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เขื่อนหน้าเมืองที่ชำรุดก็ซ่อมใหม่ตลอด ถนนดาดปูนใหม่กว้างขวางหมดจด...ซึ่งกำหนดว่าจะไปเมืองพัทลุงแต่สองคืนแต่ก่อนนั้น เปนอันไม่พอทีเดียว...".............+++++...ขบวนการเสด็จฯเริ่มออกจากเมืองสงขลาเมื่อวันที่ ๒๒ เวลาเช้า เมื่อขบวนถึงปากรอและปากพยูน ต่อมาจนเสด็จฯถึงเกาะสี่เกาะห้า ล้นเกล้าฯของชาวไทยมีพระราชหัตถเลขาว่า..."คลองปากรอนั้นมิใช่เล็ก ถ้าจะเรียกว่าแม่น้ำก็ได้ กว้างกว่าคลองเกร็จมาก...ปากพยูนซึ่งเป็นช่องจะออกที่กว้าง มีบ้านเรือนหลายสิบหลัง ต้นไม้แลภูมที่งามนัก...ตั้งแต่เมืองสงขลาขึ้นมาจนถึงปากพยูน มีเสารั้วโพงพางและยกยอตลอดระทางไป ไม่ได้ขาดเลย เพราะในตอนนี้ปลาชุม พอขึ้นไปถึงกลางเกาะปราบบ่ายหัวเรือขึ้นเหนือ จะไปตามน่าเกาะรังนก ลมพัดโต้น่าจัด น้ำก็ตื้น ...เวลาค่ำจึงได้ถึง ที่ซึ่งปลูกพลับพลานี้ เรียกว่า "น่าเทวดา" คือเปนที่ศาลสำหรับพวกรังนกไหว้เจ้าก่อนที่จะลงมือทำรังนก...วันที่ ๒๔ ได้จารึกอักษร จ.ป.ร. และศักราช ๑๐๘ ไว้ที่หน้าเพิงศาลเทวดา...วันที่ ๒๕ เวลาเช้าหนึ่งออกเรือไปพัทลุง...วันที ๒๗ เวลาเช้าสองโมง ๔๕ ออกจากเมืองพัทลุงมาที่พลับพลาเกาะมวยเร็วกว่าเมื่อขาไป ๑๕ มินิต พอมาถึงก็มีพายุจัด ภายหลังเป็นฝนตกพรำไปจนค่ำ ไม่ได้ไปไหนและไม่ได้ทำอะไร จึงจะขอพูดถึงทเลสาบ...ทเลสาบนี้มีที่กว้างเปนสามลอน ลอนต้นอยู่กลางเมืองสงขลา...เกาะในทะเลลอนที่สองนี้ บันดาเกาะใหญ่ๆ ตั้งแต่ปากช่องคลองปากรอออกไปเจ็ดเกาะ ๆ เล็กสามเกาะไม่มีประโยชน์อันใด ตกเปนของเมืองพัทลุง แต่เกาะเล็กๆที่มีรังนก เรียกว่าเกาะสี่เกาะห้า รายอยู่ตามน่าเกาะใหญ่ของพัทลุงสิบเอ็ดเกาะ มีรังนกอยู่หกเกาะ กับเกาะหว่างช่องที่จะออกไปทเลลอนที่สาม ซึ่งน่าจะเปนของเมืองพัทลุงด้วยนั้น กลับเปนของเมืองสงขลา...ในทเลตอนที่สาม ตั้งแต่ทิศใต้โอบไปจนทิศตวันตกครึ่งทเล เปนแขวงเมืองพัทลุง ตั้งแต่ทิศตวันตกครึ่งทเล โอบไปจนทิศเหนือเปนแขวงเมืองนครศรีธรรมราช ทิศตวันออกเปนแขวงเมืองสงขลา ในที่ทเลต่อแดนกันนี้ ว่าผู้ร้ายชุมอย่างยิ่ง...ด้วยเปนปลายแดน การติดตามผู้ร้ายยากลำบากอย่างยิ่ง..."

    (พ.ศ.๒๔๔๘:ชาวเมืองสงขลารอรับเสด็จ               (พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จ
รัชกาลที่ ๕ อยู่ที่ประตูเมืองริมทะเลสาบสงขลา)                พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

     เกาะสี่เกาะห้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง และประทับแรมด้วยพระมหากรุณาธิคุณอยู่หลายราตรีนั้น เมื่อผมอายุได้สิบสามปีผมและญาติหลายคนมีโอกาสได้ตามรอยเสด็จฯ ไปยังเกาะสี่เกาะห้า โดยเรืองหางยาง ทะเลบริเวณนั้นน้ำไม่ลึก มองเห็นสาหร่ายเรี่ยไหวอยู่ที่ใต้ผิวน้ำ ทะเลสาบสงขลาส่วนนี้คนเชิงแสบ้านผมเรียกว่า "เลหัวนอน" เพราะอยู่ทางด้านทิศใต้ของตำบลบ้านผม เลหัวนอนแถบนี้เป็นที่ที่ท้องทะเลและหมู่เกาะงดงาม ตลอดจนถ้ำรังนกน่าชมน่าพิศวงอยู่มากมาก แต่ต้องยอมรับว่า "ผลประโยชน์และราคาของรังนก" เจ้าของสัมปทานได้มอบความตายอย่างเหี้ยมโหดให้กลุ่มผู้ที่บุกรุกเข้าไปขโมยรังนกอยู่เสมอ...เกาะสี่เกาะห้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปประทับแรม และมีพระราชหัตถเลขาไว้นั้น ขอนำพระราชหัตเลขามาลงพิมพ์ให้อ่านกันในรายละเอียด ดังนี้ครับ.....


(พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้วาด ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท)



      


(พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการเสด็จประพาสเมืองสงขลา เมืองพัทลุง และทะเลสาบสงขลา)


(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเมืองสงขลาที่ศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช ณ เมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙)
(รอชม...ภาพต้นเลียบหัวโจร ที่ผมเคยเล่าไว้ในบทที่ ๑)

(ต้นเลียบใหญ่ทางทิศเหนือของบ้านเชิงแส ซึ่งโจรถูกตัดคอและนำหัวมาเสียบไว้ที่นี่ ปัจจุบันต้นเลียบใหญ่ต้นนั้นน่าจะล้มตายไปแล้ว แต่หน่อพันธ์ุยังคงมีอยู่ จึงเกิดเป็นเลียบต้นใหม่ที่บริเวณเดิม...บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ทางเดินใต้ต้นเลียบที่เคยเป็นทางดินมืดคลึ้มน่ากลัวมาก เด็กเลี้ยงวัวอย่างผมและเพื่อนๆ หากมีเพียง ๓ คน ไม่กล้าเดินผ่าน ก็เปลี่ยนเป็นถนนซีเมนต์ที่กว้างพอที่รถยนต์จะแล่นผ่านได้ ใต้ต้นเลียบที่เคยเป็นสุมทุมพุ่มไม้ป่า ดูจะหายไปมาก ก็คงเหลือแต่ความทรงจำเป็นตำนานให้ได้เล่าขานถึงความกล้าหาญของชาวบ้านเชิงแสและวีรกรรมของก๋งสุย)

     (เนื่องจาก..ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ อยู่ในระหว่างการตรวจข้อสอบคัดเลือกเนติบัณฑิตเพื่อเป็นผู้พิพากษา เด็กเชิงแสอย่างผมจึงของดเล่าเรื่องบ้านเชิงแสไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว...เสร็จจากงานราชการตรวจข้อสอบแล้วค่อยมาเล่าให้ฟังกันต่อ..ระหว่างนี้ขอเชิญทุกท่าน "นั่งแพงเชิง" ร่วมวงพักกิน "หนมลูกโหนด" ไปพลางๆ ก่อน..แต่ให้ระวังสำหรับท่านที่ท้องว่างหากกินมาก..จะเสียดพุง)

     (ภาพขนม ๒ ภาพ)




     (..ขนมลูกโหนด..เป็นขนมไทยบ้านทุ่งประจำถิ่นที่นับว่าเป็นขนมสุดยอดความอร่อยของชาวเชิงแส แม่ทำให้กินแทบทุกครั้งที่อยากกิน /.วิธีทำ./.ขนมชนิดนี้ต้องทำน้ำขนมก่อน โดยคั้นกะทิใส่หม้อไว้ ตวงน้ำตาลโตนดใหม่ใส่ผสมลงไป ก็จะได้น้ำขนมหอม ชิมแล้วใส่เกลือเม็ด ใช้ทัพพีคนให้เสียงดัง "ครก เคร็ก ๆ ๆ" เมื่อแม่ใช้ช้อนเล็กตักชิมอีกครั้ง ผมก็ขอแม่ชิมด้วย ได้น้ำขนมกลมกล่อมแล้วพักไว้ แทลูกตาลสดเนื้ออ่อนๆ ออกจาก "หมรง" ใส่กะละมังใบเล็ก จากนั้นเอามาแกะเปลือกที่เรียกว่า "เจียะ" ออก แล้วใช้มีดบางตัดลูกตาลใส่ลงไปในน้ำขนมทันที จนพอดีกับน้ำขนม เป็นอันเสร็จ..ดูทำง่ายๆ แต่จะให้อร่อยก็ต้องฝีมือแม่..และถ้าจะให้ได้บรรยากาศก็ต้องทำกินกันตอนเที่ยง ๆ ที่ใต้ต้นตาลในทุ่งนา กินเสร็จแล้วหาร่มตาลเหมาะ ๆ นอนเอาหมวกปีกสานปิดหน้า ฟังเสียงลมพัดใบตาลเพลินๆจนหลับสักงีบ..ก็นับว่าเป็นความสุดที่น่าจะย้อนเวลาไปถวิลหา..+++...ในภาพผมทำเองที่บ้าน จำสูตรของแม่มาทำ โดยซื้อลูกตาลมาจากตลาด อ ต ก. ที่สวนจตุจักร น้ำขนมนั้นได้น้ำตาลมะพร้าวปึกของสมุทรสาครแทน "น้ำผึ้งโหนด" ของน้าจิตบ้านเชิงแส ชิมแล้วอร่อยดีครับ..ผมแปลงเพิ่มสูตรเข้าไปเล็กน้อย โดยการผสมลอดช่องลงไปด้วย ปรากฏว่าสีสวยดี แต่รสชาติไม่ค่อยเข้ากัน..นำภาพมาลงหน้าตาของหนมลูกโหนดสูตรกรุงเทพฯ ..ให้ชมกัน..)

     (...ผมมีเวลามีวันหยุดช่วงเข้าพรรษาอยู่ ๒ วัน จึงนำเรื่อง "สวนพระเทศฯ" และ "สวนเถ้าแก้" ที่เมืองสงขลา มาเขียนลงในบทที่ ๖ ทำบุญไหว้พระแล้ว หากสนใจเรื่องเกี่ยวกับ "บ้านเกิด ถิ่นเก่า บ้านเราสงขลา" ก็ตามอ่านได้ที่ช่วงท้าย ๆ ของบทที่ ๖...เนื้อหาของเรื่องสวนพระเทศฯ นั้นเขีียนไว้ค่อนข้างยาว สวนอีกสวนหนึ่งเขียนเพิ่มไว้ไม่มาก เพราะชื่อเจ้าของสวนบังคับไม่ให้เขียนยาว...เจ้าของสวนชื่อว่า "ยกสั้น")

     ได้เวลาต่อบทนี้เสียที่.....+++++.....ชาวบ้านเชิงแสนั้นนอกจากจะต้อต่อสู้กับความลำบากยากจนเช่นเดียวกับชาวนาทุกครอบทุกครัวที่บ้านอื่นภาคอื่นแล้ว ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ชาวบ้านเชิงแสยังจะต้องต่อสู้กับ "โจรภัย" ที่มีมากในลุ่มทะเลสาบสงขลา เช่นดังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชหัตถเลขาไว้...คราวคราใดที่ชาวบ้านเชิงแสชนะโจรได้ อย่างเช่นเรื่องของก๋งสุยวีรบุรุษแห่งบ้านเชิงแส ก็ปลอดภัยหายใจโล่งอกกันไปคราวหนึ่ง แต่หากถึงคราวที่ต้องแพ้โจรแล้ว ก็แทบจะหมดเนื้อหมดตัวเหมือนกัน ชาวเชิงแสทุกบ้านเรือนจึงมีวิธีการต่อสู้กับเหล่าโจรร้ายที่มาปล้นบ้านทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน ที่เหมือนกันก็คือ ทุกกลุ่มบ้านจะปลูกไม้ไผ่สีสุกไว้เป็นแนวรั้วแน่นหนามาก แนวรั้วต้นไผ่นี้ปลูกไว้ที่เขตบ้าน จึงเรียกว่า "ชายดม" คำว่า "ดม" นี้ภาษาใต้ลุ่มทะเลสาบสงขลา แปลว่า รั้ว ที่ชายดมชายรั้วนี้เป็นที่ปลูกไม้ไผ่สมทบเข้าไปให้แน่นหนา นอกจากจะปลูกไม้มีหนามอย่างไผ่แล้ว บ้างบ้านก็มี "หนุมซอ" "ชายโขะ" และ "เพดาด" ปลูกไว้ด้วย เป็นไม้ "ชายดม" คำว่า "ดม" นี้ เป็นคำเก่าในภาษาใต้ ผมได้ความรู้มาจากท่านอาจารย์เธียร เจริญวัฒนา ว่า คำว่า "ดม" นั้น แปลว่า "รั้ว"....ไม้ไผ่ชายดมเช่นนี้มีทุกบ้านทั้งบ้านเดี่ยวและบ้านกลุ่มที่เรียกว่า "หยอมบ้าน" เป็นต้นว่า บ้านนอกหน้าวัดกลาง บ้านลุงแมว ถัดมาบ้านครูแอบ ศิริรักษ์ ถ้าใกล้วัดเอกก็บ้านลุงหิ้นป้าพิน รัตนสุวรรณ บ้านลุงพรั่ง ตั้นซ้าย ใกล้บ้านผมเข้ามานั้นบ้านลุงเห้ง จีระโร ที่บ้านนี้ไม้ไผ่แน่นหนามากจริงๆ...ส่วนที่บ้านเดิมของก๋งสุยนั้นมีต้นหนุมซอแน่นมากขึ้นอยู่ริมทางด้านทิศตะวันออกของตัวบ้าน เป็นแนวไปทางทิศเหนือ บ้านก๋งสุยนี้ต่อมาขยายเป็นหย่อมบ้านหลายหลัง มีบ้านก๋งห้อง รัตนสุวรรณ ลูกชายก๋งสุยเป็นหลังใหญ่ ถัดไปทางเหนือรั้วชายดมติดกันเป็นบ้านของป้ากลิ่น...ทุกบ้านล้วนมี "ชายดม" เป็นเครื่องป้องภัยโจรทั้งสิ้น.....+++...หย่อมบ้านของแม่เรียกว่า "บ้านใหญ่" มีบ้านหลายหลังติดกัน จนกล่าวกันว่าบ้านใหญ่เชิงแสแมวเดินบนหลังคาได้ไกลๆ ไม่ต้องลงดิน บ้านของแม่จัดว่าปลูกอยู่โดยมีบ้านเพื่อนบ้านล้อม ...แต่ความจริงแล้วด้านทิศตะวันออกของบ้านแม่ติดทางสาธารณะ ที่มีความกว้างขนาด "เรือบรรทุกข้าวบั้นหนึ่ง" เข้าถึงบ้านแม่ได้ ทางนี้ตรงไปทางทิศใต้ผ่านบ้านป้าฉีดจนถึง "ทางรง" คำว่า "ทางรง" กลางบ้าน ทางรงนี้บางหมู่บ้านเรียกว่า "หว่างรง" คำนี้เป็นคำใต้โบราณ แปลว่า ทางระหว่างบ้านระหว่างสวน จุดที่ทางจากบ้านแม่จด"ทางรง" เป็นบ้านของก๋งเคว็ด ฉันทอุไร...../

(ภาพของต้นหลุมซอไม้ที่มีหนามคมมาก และขณะนี้ถือว่าเป็นไม้หายากชนิดหนึ่ง... แต่เดิมนั้นที่บ้านเชิงแสมีหลายบ้านได้อาศัยหลุมซอเป็นไม้ชายดมชั้นดี...ผมมีโอกาสหามาได้ต้นหนึ่งจึงนำมาปลูกที่กรุงเทพฯ กลายเป็นว่าปลูกมา ๕ ปี แล้วโตเท่าที่เห็น และมีทีท่าว่าไม่อยากจะโตแล้ว ดูใบเหลืองให้ใจหายทีเดียว ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ชอบน้ำ และคงจะขึ้นดีที่เชิงแส เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่หลุมซอต้นนี้โตเร็วมาก มีใบประมาณ ๖๐ ใบ ผมคิดว่าจะได้เห็นดอกเห็นลูกแน่นอน ที่ไหนได้พอน้ำลดใบก็ลด...เหลืออยู่เท่าที่เห็น ผมเคยบอกลูกเป็นคำกลอนว่า ...+++..."หนุมซอไม้หนามมีที่พ่อปลูก เพื่อให้ลูกได้เห็นเป็นอนุสรณ์ ถึงประวัติและบ้านเดิมของบิดร จากสงขลาเมืองนอนเข้าสู่กรุง...เป็นเด็กวัดอยู่ขรัวจารย์สมภารเจ้า ตั้งบาตรข้าวจัดแจงวางแกงถุง ได้หมู่สงฆ์ใหญ่น้อยคอยพยุง ครบสี่ปีสมมุ่งปริญญา...ด้วยอิทธิบาทธรรมที่ตั้งไว้ ในวิชากฎหมายอันสูงค่า จึงส่งพ่อสู่สุดแห่งวิชชา ได้เป็นผู้พิพากษาตุลาการ...หนุมซอไม้หนามมีที่พ่อปลูก ดุจสิ่งผูกพันใจถิ่นสถาน ให้ย้อนไปในวัยเยาว์เคยสำราญ ณ ปากบางเชิงแสบ้านแม่เอย...ฯ")
     ในตอนกลางคืนทุกประตู "ทางรง" ในบ้านเชิงแสไม่ว่าจะเป็น ประตูท่ี่บ้านใหญ่ ประตูสระโพธิ์ หรือประตูวัดกลาง จะถูกปิดแน่นหนาด้วย "หลอดคอก" ไม้เนื้อแข็ง และท่อนไม้ไผ่สีสุกลำใหญ่ๆ รวมทั้งจะนำหนามไม้ไผ่สุมทับเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เห็นแล้วให้รู้สึกถึงความอบอุ่นและปลอดภัยพอสมควร นั่นคือประตูหมู่บ้าน ส่วนบ้านที่อยู่ด้านริมเช่นบ้านของลุงแมวหน้าวัดกลาง บ้านลุงเห้ง บ้านลุงอิ่ม บ้านก๋งถัด ก็จะปิดประตูบ้านของตนด้วยความแน่นหนาลักษณะเดียวกัน....ยิ่งกว่านั้น ชาวเชิงแสยังมีวิชาป้องกันตนเองในลักษณะของ "คาถา อาคม" ที่สอนสืบทอดกันมา ควบคู่กับการใช้ของขลังป้องกันตัวที่สำคัญ คือ "ผ้ายันต์ นะคาบสมุทร ของ พ่อท่านทองมาก" ดังที่ผมได้เล่าไว้ในบทก่อนๆ แล้วว่า ที่วัดเชิงแสใต้ หรือวัดเชิงแสหัวนอนนั้น มีพระเจ้าอาวาสที่ศักดิ์สิทธิ์มากหลายท่าน เริ่มจากพ่อท่านทองมาก หรือ พ่อท่านเฒ่า ซึ่งต่อมาท่านได้เป็น "พระครูธรรมเจดีย์ศรีสังวร" ยันต์ของพ่อท่านทองมากคุ้มครองชาวเชิงแสมาตลอด ชาวเชิงแสนั้นมีธรรมเนียมเกี่ยวกับผ้ายันต์อยู่อย่างหนึ่ง คือ แทบทุกบ้านจะปิดผ้ายันต์ไว้ที่ "แปทู" กลางตัวบ้าน คงให้ผ้ายันต์คุ้มครองบ้านเรือนและบุคคลภายในบ้านประมาณนั้น ผ้ายันต์ของพ่อท่านทองมากแห่งวัดเชิงแสใต้ ระยะหลังนี้ไม่ค่อยจะมีใครเห็น จนกระทั่งเกิดนิมิตขึ้นแก่พระครูบรรหารศาสนกิจ(พ่อท่านพลับ)วัดระโนด ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อท่านทองมาก พ่อท่านพลับจึงได้เขียนยันต์นี้ขึ้นเป็นคาถา ว่า "นะกุย นะคาบ หยุดฝั่งอยู่ฝั่งคงคา นะคาบสมุทร นะคาบนิพพาน นะคาบ นะสูตร" พ่อของผมก็มีคาถาประจำตัวหลายบท เช่น "ฤ พุทธศูนย์ ฤา พุทธศาสน์" เป็นต้น คาถาอาคมเหล่านี้บ้างก็ให้พระเขียนใส่ผ้ายันต์ให้ บ้างก็ให้พระสอนให้และท่องจำกันมา ถือเป็นเครื่องป้องกันตัวป้องกันภัย

     กลุ่มพวกโจรที่มาปล้นบ้านเชิงแสนั้นเดิมมุ่งมาปล้นเงินปล้นทอง จนคุณทวดคุณย่าคุณยายบางท่านที่มีฐานะหวาดระแวงมาก เมื่อทราบข่าวว่าจะถูกโจรปล้น ก็หาวิธีเอาตัวรอดโดยเก็บเงินทองใส่ห่อมัดติดตัว แล้วไปอาศัยนอนที่บ้านญาติหรือบ้านเพื่อนบ้าน หมุนเวียนกันไปจนปลอดภัยหรือข่าวที่จะถูกปล้นซาเงียบลง แต่ระยะหลังเมื่อชาวเชิงแสเริ่มมีอาวุธปืน การขึ้นปล้นบนบ้านย่อมไม่ปลอดภัยแก่พวกโจร โจรจึงเปลี่ยนวิธีเป็นปล้นวัวใต้ถุนบ้านแทน อันที่จริงจะเรียกว่าปล้นก็ไม่เชิงนัก เรียกว่าลักน่าจะถูกต้องกว่า เพราะจะย่องเข้ามาเงียบๆ แต่ถ้าเจ้าทรัพย์เริ่มรู้ตัว โจรเหล่านี้ก็จะ "ยกระดับ" การทำชั่ว จากแค่เพียง "ลัก" ก็เพิ่มขึ้นเป็น "ชิง" และ "ปล้น" การลักวัวนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ลักเอาไปใช้ไถนา หรือลักเอาไปฆ่าไปแกง แต่เป็นการลักไปเรียกค่าไถ่ คือเมื่ิอวัวถูกลักไปแล้ว เจ้าของวัวจะรวมพวกกันประมาณสี่ห้าคนออก "ตามวัว" ไปที่หมู่บ้านที่คาดหมายว่าชุมโจรอยู่ที่นั่น การตามวัวนี้ตามกันไปหลายวัน นับว่าเป็นวัฒนธรรมความสามัคคีอย่างหนึ่ง เมื่อไปถึงหมู่บ้านที่ตั้งชุมโจร คณะตามวัวจะไปที่บ้านของผู้มีบารมีในหมู่บ้านนั้น คนที่มีบารมีระดับนี้จะมีพวกมาก เรียกกันว่า "คนใหญ่" คณะตามวัวก็จะพักที่บ้านของคนใหญ่ ประมาณวันสองวันหากโจรที่ละแวกบ้านคนใหญ่เป็นผู้ลัก คนใหญ่ก็จะบอกคณะผู้ตามวัวว่า โจรเสนอราคาค่าไถ่เป็นเงินเท่าไร? เมื่อทราบแล้วคณะผู้ตามวัวก็อาจจะต่อรองราคาค่าไถ่วัวคืน เมื่อตกลงค่าไถ่วัวได้แล้ว ประมาณวันสองวันก็มอบเงินไว้กับคนใหญ่ วันรุ่งขึ้นก็จะได้รับวัวคืน หากเงินค่าไถ่ไม่พออาจจะตกลงให้วัวแก่โจรไปบางตัวก็ได้ ...เรื่องอย่างนี้จะไม่มีการแจ้งความกัน...ถือกันเป็นธรรมเนียมโจร...อย่างไรก็ตามโจรก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะในเวลาเข้ามาลักวัวแล้วพลาดท่าเสียทีถูกไล่ตามทัน ก็หมายถึงต้องตายเป็นผีเฝ้าทุ่งเชิงแสได้เช่นกัน....เหมือนเรื่อง "เลียบหัวโจร" และเรื่ิิิองที่ผมจะเล่าต่อไป.....๐๐๐๐๐๐... .....................................................................................................................................................................++++++++++...... เรื่องราวการต่อสู้ของก๋งสุยนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ฮือฮาหวาดเสียวและกล่าวถึงกันมาก ถ้าจะเทียบกับสมัยนี้น่าจะประมาณเรื่องของ "ฮีโร่ป๊อบคอร์น" อย่างนั้นแหละ เรื่อง "ฮีโร่ก๋งสุย" หวาดเสียวกว่ามาก เรื่องเริ่มจากว่า...ที่บ้านเชิงแสมีคุณทวดหญิงคนหนึ่งท่านเป็นคนมีฐานะดี คุณทวดหญิงแห่งบ้านเชิงแสท่านนี้ชื่อว่าอะไรผมจำไม่ได้ แต่ท่านเป็นแม่ของย่าดำภรรยาก๋งเหี้ยง ต่อมากลุ่มโจรจากทะเลน้อยทราบเรื่องนี้เข้า จึงรวบรวมพรรคพวกกันมาที่บ้านเชิงแส ไม่ได้มาทำบุญที่วัดเอก หรือวัดกลาง หรือวัดหัวนอน นะครับ คนชั่วๆ เหล่านี้ทำความดีไม่เป็น เรียกว่ารอยหยักของสมองมีเรื่องความดีอยู่น้อย ที่ยกพวกกันมาบ้านเชิงแสนั้นก็เพื่อจะมาปล้นทวดหญิงแม่ของย่าดำ บ้านของทวดแม่ย่าดำอยู่ติดกับบ้านก๋งสุย คืนนั้น พวกโจรขึ้นบ้านก๋งสุยก่อน เมื่อเห็นก๋งสุยนอนอยู่ก็ใช้ "ปืนลูกนาค" ยิงก๋งสุย แต่กระสุนปืนไม่เข้า ก๋งสุยหาเป็นอันตรายไม่ ก๋งสุยจึงคว้าดาบสู้กับกลุ่มโจร ผลปรากฏว่า โจรตาย ๑ คน ที่เหลือต่างพากันวิ่งหลบหนีไป ชาวบ้านมามุงดูโจรที่ตายแล้วได้เห็นภาพก๋งสุยใช้ดาบตัดอวัยวะเพศของโจร ไข่โจรที่ก๋งสุยตัดมานี้ ชาวบ้านเชิงแสนำไปปิ้งที่กลุ่มกอไผ่ข้าง "หลาทวด" กอไผ่กลุ่มนั้นจึงถูกเรียกว่า "กออี้ปิ้ง" มาตลอด เมื่อผมเป็นเด็ก ยายของผมเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังหลายครั้ง เพราะเป็นตำนานการต่อสู้ของคนบ้านเชิงแส เมื่อปิ้งไข่โจรแล้ว ชาวบ้านเชิงแสก็กลับมาตัดหัวโจรนำไป "ค้าง" ไว้ที่ต้นเลียบใหญ่ ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านใกล้ๆบ้านโคกพระ และใกล้กับที่ฝังศพก๋งซุนเฮาะของผม ต้นเลียบที่นำหัวโจรไปค้างไว้นี้ เรียกว่า "เลียบหัวโจร" ซึ่งผมได้ถ่ายภาพมาให้ชมกัน สำหรับลำตัวแขนขาของโจร ชาวเชิงแสก็ไม่ได้นำไปเผาให้เปลืองไม้ฟืน แต่นำไปขึ้น "ขาหย่าง" ไว้ที่ต้นเลียบอีกต้นหนึ่งที่อยู่ทางทิศใต้ของสระโพธิ์ เรียกต้นเลียบต้นนี้ว่า "เลียบขาหยั่ง" ขณะนี้เลียบขาหยั่งตายไปแล้ว กออีปิ้งบางคนก็บุกรุกที่ดินบริเวณนี้นำไปออกโฉนดเป็นสมบัติส่วนตัวเสียแล้ว จึงเหลืออยู่แต่เพียง เลียบหัวโจร ซึ่งก็ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานกี่ปี คนเชิงแสในปัจจุบันบางคน อาจจะนำไปออกโฉนดฮุบเป็นสมบัติส่วนตัวอีกหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ ..."สังคมไทยในทุกวันนี้" เมื่อคำนึงครุ่นคิดถึงความเสียสละของคนรุ่นเก่า แล้วมาเปรียบเทียบกับความเห็นแก่ตัวของคนไทยในสมัยปัจจุบันแล้ว ได้แต่วังเวงใจจริงๆครับ ประเทศไทยเราจึงได้รับเกียรติ ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการคอรัปชันมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก...ก๋งสุย,วีรบุรุษของชาวเชิงแส สร้างวีรกรรมรักษาชุมชนหมู่บ้านไว้ได้ ให้บ้านเชิงแสปลอดภัยจากโจรต่างถิ่น ผมก็ได้แต่หวังว่าลูกหลานของชาวเชิงแสในปัจจุบันจะได้นำความดีของท่านมาเป็นแบบอย่าง แบบอย่างของการเสียสละอย่างนี้จะต้องมีอยู่อย่างสม่ำเสมอสังคมไทยเราจึงจะอยู่ได้ สังคมชุมชนบ้านเชิงแสก็เช่นเดียวกันจะอยู่ได้ต้องไม่เห็นแก่ตัว ต้องไม่เบียดเบียนที่ดินส่วนรวม ให้เหลือไว้เป็นตำนานสำหรับลูกหลานจะได้เล่าขานกันต่อไปอย่าให้รู้จบรู้สิ้น....+++.. ก๋งสุย เป็นเตี่ยของก๋งห้อง และเป็นโยมปู่ของพระราชปริยัติโกศล (เสถียร ฉันทโก,ป.ธ.๙,เจ้าอาวาสวัดใหม่พิเรนทร์ โพธิ์สามต้น กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลชาวเชิงแสเพียงท่านเดียวที่เป็นพระเถระในระดับเปรียญธรรม ๙ ประโยค ในยุคร่วมสมัย ต้องกล่าวว่าท่านเจ้าคุณเป็นพระผู้มีคุณูปการอย่างล้นเหลือต่อบ้านเชิงแสและต่อชาวเชิงแสในปัจจุบัน อันไม่ต่างจากโยมปู่ของท่าน ...ซึ่งผมจะได้เล่าให้ฟังต่อไป......๐๐๐๐๐๐๐................................................................................................................................++++++....... ในกิจกรรมทางความยุติธรรมของฝ่ายศาลที่ผมทำงานอยู่ ครูบาอาจารย์ได้เล่าเกี่ยวกับโจรในทะเลสาบสงขลาไว้สองเรื่องราว คือ เรื่องของ "อีเสือจวน" และเรื่อง "การชันสูตรศพโจรที่ระโนด" กฎหมายเดิมนั้นกำหนดให้ผู้พิพากษามีหน้าที่ชันสูตรศพโจรที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญ ครั้งที่ท่านเดือน จิตรกร ผู้พิพากษานักเรียนนอก รับราชการที่ศาลจังหวัดสงขลา เกิดเหตุโจรปล้นเรือชาวบ้านในทะเลสาบที่ระโนด โจรถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย คณะของผู้พิพากษาจึงนั่งเรือไปชันสูตรศพโจร เม่ื่อใกล้ถึงที่ระโนดซึ่งบริเวณนั้นมีสาหร่ายในทะเลมาก สาหร่ายจึงพันเอาไปพัดเรือจนเครื่องจักรเสีย เรือไปไม่ถึงศพโจร ต้องลอยลำอยู่ในทะเลนานเป็นวัน กว่าจะมีคณะของทางฝ่ายระโนดนำเรือออกไปช่วย เรื่องครั้งนั้นจึงมีการกล่าวกันว่า "ต่อไปหากจะยิงโจรแล้ว ขอให้ยิงที่ใกล้ๆถนนหน่อย".......๐๐๐๐๐๐..................................................................................................................................++++++++............ เมื่อเสร็จสิ้นหน้านาสำหรับการเก็บเกี่ยวไม่นานนัก...โจรทางด้านบ้านต่างถิ่นเริ่มเคลื่อนไหว โดยเฉพาะขณะนี้ให้ปรากฏว่า ไอ้เน่า(ชื่อสมมุติ)กับพวกได้พ้นโทษออกจากคุกที่สงขลาแล้ว ไอ้เน่ายังไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงวางแผนกับพวกอีกสี่คน ปล้นวัวของชาวบ้านโคกพระ ประมาณบ่ายสองโมงของเดือนวันเสาร์กลางมิถุนายน ปี ๒๕๑๙ ไอ้เน่ากับพวกพร้อมปืน เอ็ม ๑๖ เป็นอาวุธที่ครบมือ เข้าต้อนฝูงวัวของชาวบ้านโคกพระซึ่งเด็กๆกำลังเลี้ยงอยู่ที่กลางทุ่งด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เด็กหลายคนต่างวิ่งมาที่บ้านโคกพระและตะโกนบอกไปทั่วบ้าน "โจรอุกวัวแล้ว! โจรอุกเอาวััวไปแล้ว!"...ชาวบ้านโคกพระใจเด็ดเดี่ยวมาก รวมกลุ่มกันแล้ววิ่งไปแทบหมดหมู่บ้าน ไล่ไปทันโจรกลุ่มของไอ้เน่าที่บริเวณตะวันตกหนองตรุดห้างกลางทุ่ง ชาวบ้านโคกพระสกัดกลุ่มโจรไว้ไม่ยอมให้ต้อนวัวไปทางทิศตะวันออกอันเป็นบ้านของไอ้เน่ากับพวก แต่บังคับให้โจรต้อนวัวไปทางทิศใต้ ซึ่งท้องทุ่งเป็นแนวยาว ไอ้เน่าเริ่มเสียชัยภูมิ จึงยิงปืนดังไปทั่วทุ่ง ขณะนั้นผมกับพ่อนั่งอยู่บนแคร่ใต้ต้นโพธิ์เลที่สวนตีน ด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ได้ยินเสียงปืนเป็นชุดๆ อย่างชัดเจน ไม่นานนักญาติจากบ้านโคกพระวิ่งมาบอกข่าวพ่อ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า "จ้ายนำชาวบ้านสู้กับโจร"...พ่อถามว่า "เครื่องมือพวกเรามีกันไปครันไหม้?" ญาติบอกว่า ..."ไม่เท่าใด แต่คนเราลุย" คือตอบว่า ไม่มากนักแต่คนของฝ่ายเรามาก "ลุย" แปลว่า มีมาก .,เสียงปืนของฝ่ายโจรดังอยู่เป็นระยะๆ ชาวเชิงแสต่างก็ถามข่าวกันทั่ว ครั้นทราบว่าพี่น้องชาวโคกพระได้สกัดกลุ่มโจรไว้ บางคนก็ชวนพากันไปสมทบ...ภาพทุ่งนาปาซังข้าวเก็บเสร็จใหม่ๆยามนั้น นับว่าน่าตื่นเต้นมาก พี่น้องชาวโคกพระและกลุ่มโจรชิงไหวชิงพริบกัน โดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน การสัปยุทธเริ่มถึงจุดหักเห เมื่อกลุ่มชาวบ้านยันโจรไว้ที่ทิศตะวันออกของหนองบ่อ ไม่ยอมให้โจรฝ่าขึ้นไปทางตะวันออก จนในที่สุดไอ้เน่าหัวหน้าโจรสั่งสมุนให้ทิ้งฝูงวัว และพากันไปทางทิศใต้จนถึงหนองนกพลัด ไอ้เน่าเลือดเข้าตา ระดมยิงปืนชุดใหญ่หมายฆ่าชาวโคกพระ ชาวบ้านโคกพระหลบลงตามคันนา และยิงปืนยาวโต้ตอบ ระหว่างนั้นสมุนโจรสองคนฝ่ากลุ่มชาวบ้านหลบหนีไปทางบ้านเจดีย์งาม ส่วนอีกคนหนึ่งทิ้งพวกหนีไปทางเขารัดปูน พี่จ้ายเห็นเข้าก็พาพวกสามคนไล่ตามไป จนทันกันที่ทิศตะวันตกของหนองพังกาน พี่จ้ายยิงโจรจนแน่นิ่งไป แต่! เมื่อเข้าไปดูที่จุดโจรถูกยิง ปรากฏว่าสมุนของไอ้เน่าถอดเสื้อคลุมตอไม้ไว้ หลอกให้ยิงเสื้อ โดยตนเองสามารถหลบหนีไปได้ ....ส่วนการต่อสู้กันระหว่างไอ้เน่าและพวกอีกหนึ่งคน กับกลุ่มชาวบ้านโคกพระ ผลปรากฏว่าพี่น้องชาวบ้านโคกพระชนะ ๒ - ๐ /....๐๐๐๐๐๐....................................................................................................................................+++++++....... ใกล้ค่ำแล้ว..."จ้าย ดุกลิ่ม" นำคณะหลายคนมาที่บ้านเชิงแส พี่จ้ายยืนเล่าเรื่องการยิงกับโจรให้ชาวบ้านฟังอย่างออกรสออกชาติมาก ผมยืนฟังอยู่ด้วย ขณะที่เล่าพี่จ้ายก็กางเสื้อตัวนั้นของโจรให้ชาวบ้านและผมดู .....เช้าวันอาทิตย์ชาวเชิงแสไปดูศพโจรกันที่กลางทุ่ง ผมก็ไปด้วย ศพไอ้่เน่านอนหงายอยู่ข้างคันนา มือสองข้างยกขึ้นเหลื่อมกัน ชาวบ้านพูดกันว่าเหมือนท่าจับปืน ไม่ไกลกันนัก โจรอีกศพหนึ่งนอนหงายตายอยู่ในนาห่างคันนาสักสิบเมตรประมาณนั้น ศพนี้ถูกยิงที่อก มีรอยกระสุนเป็นรูสองรอย เห็นได้ชัดมาก และมีมดหลายตัวมากินเลือดอยู่ที่รอยกระสุน พวกเราดูศพโจรกันอยู่นานเท่าใดจำไม่ได้ แต่เริ่มรู้สึกว่ามีคนมากขึ้น ...ทันใดนั้นพ่อก็เดินมาที่ผมและกลุ่มเด็กๆ พ่อบอกให้รีบกลับบ้านเสีย พ่อเกรงว่าเด็กๆ จะไม่ปลอดภัย เพราะกลุ่มคนที่มากันมากนั้น เป็นชาวบ้านของกลุ่มโจร พวกเขากำลังจะมาหามศพทั้งสองศพกลับบ้าน...+++...เหตุครั้งนี้แม้จะทำให้ชาวบ้านโคกพระและบ้านเชิงแสปลอดภัยจากโจร แต่พวกเราก็ต้องระวังตัวกันมาก กลัวโจรจะมายิงแก้แค้น...เช้าวันจันทร์เปิดเรียนแล้วเด็กๆก็ยังพูดกันถึงเรื่องชาวโคกพระสู้ชนะโจร "เกษม อินทร์ดำ" ลูกน้าเซี้ยนซึ่งเป็นเด็กบ้านโคกพระเพื่อนร่วมชั้นของผมเล่าว่า คนบ้านกลุ่มโจรจะแก้แค้น หากใครเป็นคนแปลกหน้าผ่านหมู่บ้านของเขา ก็จะถูกถามว่า "เป็นชาวบ้านโคกพระหรือไหม้?" เกษมได้ข่าวนี้มาจากใครผมไม่ทราบ ผมลืมถาม!;....หลังจากนั้นผมมีประสบการณ์รู้เห็นโจรปล้นบ้านเชิงแสอีกหลายครั้ง เช่น คืนหนึ่งที่โจรปล้นวัวบ้านลุงอิ่ม แล้วลุงแอบมาเรียกให้พ่อช่วย..."เพียร เพียร โจรอุกวัว" เสียงที่ลุงอิ่มเรียกพ่อครั้งนั้น ผมยังจำได้อยู่จนทุกวันนี้ เพราะขณะนั้นผมและพ่อนอนอยู่ที่ระเบียงบ้าน ทันที่ที่ได้ทราบว่าลุงอิ่มถูกโจรปล้น พ่อก็ตะโกนขึ้นว่า "หลักไว้! หลักไว้! วินหลักไว้ปละตีน" พ่อตะโกนยังไม่ทันขาดคำ โจรก็ยิงปืนขึ้นทันที กระเบื้องหลังคาบ้านลุงอิ่มร่วงกราว และโจรยิงอีกหลายชุด ไม่ให้เราสู้ ...คืนนั้นเราแพ้ โจรปล้นวัวของลุงอิ่มไปได้ ๒ ตัว...หลังจากโจรได้วัวไปแล้ว ทุกคนมารวมกลุ่มกันที่บ้านของผม พ่อถามว่า "โจรพาวัวไปทางไหน?" มีเสียงตอบว่า "พาไปทางสวนตีน แล้วเลี้ยวไปทางท่าออก ที่ตีนวัดเอก"...หลายคนปรึกษากันว่าตามไปแย่งวัวหรือไม่? และว่าน้าไหวมีปืน แต่เป็นปืนสั้น ส่วนน้าอีกคนมีปืนยาว ...ที่สำคัญ ข้อที่ปรึกษากันนั้น ได้ความเพิ่มเติมว่า การปล้นคืนนี้น่าจะมีชาวเชิงแสที่ชื่อว่า "....." เป็นนกต่อ เป็นสายให้คนบ้านอื่นปล้นคนบ้านตัวเอง ทุกคนเห็นร่วมกันว่า หากตามไปกลางคืนจะเกิดอันตรายมาก...เรื่องที่มี "นกต่อ" ครั้งนี้เป็นเรื่ิิองที่ยังจดจำกันอยู่จนถึงทุกวันนี้./

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น