วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทที่ ๖ ไข่มดริ้น ธัญทิพย์มหัศจรรย์ นาแก้วข้าวขวัญแห่งเชิงแส


บทที่ ๖ "ไข่มดริ้น" ธัญทิพย์มหัศจรรย์ นาแก้วข้าวขวัญแห่งเชิงแส


...เรื่องราวของเชิงแสบ้านแม่บท "ข้าวไข่มดริ้นฯ" นี้มีผู้สนใจอ่านกันมาก จวบจนถึงวันนี้ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ มีผู้เข้าทุกบท ตั้งแต่ บทที่ ๑ "บ้านแม่" จนถึง บทที่ ๒๑ "อินทผลัม ที่ขนำปลายนา" มีผู้เข้าอ่านถึง ๒๓,๐๐๐ ครั้งแล้ว ซึ่งบางท่านก็ได้เห็นความเห็นมาพูดคุยกับผม ผมรู้สึกมีความยินดี และ ดีใจมาก เพราะเป็นการสื่อสองทางที่จะทำให้ผมได้ปรับปรุงงานเขียนได้ดียิ่งขึ้นครับ
...ข้อมูลของ blogger ที่แสดงให้ผมทราบนั้น ทำให้รู้ว่า ขณะนี้ในแต่ละวันมีผู้อ่านกี่ครั้ง.แต่ผมไม่ทราบเลยว่าเป็นใครบ้าง ถ้ามีการเขียนความเห็นมาท้ายบท ผมก็จะทราบรายละเอียดของผู้อ่าน ในบางบทผู้อ่านบางท่านก็เป็น ลูกของพี่น้องชาวเชิงแส.ในบางบทผู้อ่านก็เป็นหลานของชาวเชิงแส....บางบทก็เป็นผู้สนใจเรื่องราวชีวิตของชาวชนบทบ้านทุ่งริมทะเลสาบสงขลา...เรื่องที่ผมเขียนถึงแม่และชื่อของชาวเชิงแสหลายนี้ หลายท่านล่วงลับไปแล้ว...หากแม่และท่านที่จากไปแล้วได้ทราบด้วยวิถีใด น่าเชื่อว่าคงจะอิ่มเอมใจและมองจากสรวงสวรรค์ เห็นท้องทุ่งนาที่เชิงแสอย่างมีความสุข./

     ผมเริ่มต้นบทนี้ในวันพืชมงคลแห่งปี ปกติแล้วหน้าร้อนอย่างนี้แม้อากาศที่กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทิราฯ จะร้อนมาก แต่ที่ท้องสนามหลวงนั้น แทบจะทุกปี เมื่อถึงการพระราชพิธีพืชมงคลฝนจะโปรยปรายมาเสมอ มากบ้างน้อยบ้างแต่มักจะมีฝน อย่างไรก็ตามปีนี้ไม่ทราบว่ามีฝนโปรยในพระราชพิธีหรือไม่...เพราะผมติดธุระมีงานด่วนที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก จึงไม่ได้เข้าไปที่ศาลฎีกา....ที่ตั้งใจเริ่มบทนี้เสียตอนสามทุ่มเนื่องจากเป็นวันสำคัญสำหรับชาวนาและเกษตรกรนั้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคงเพราะคิดถึงบ้านมั้ง?...โดยเฉพาะคิดถึงข้าวไข่มดริ้นข้าวที่แม่ปลูกทุกปีมิได้ขาดเลย...หากจะเปรียบว่า "ข้าวสังหยุด" เป็นหญิงไทยใต้คมขำแห่งเมืองพัทลุงแล้ว ผมเห็นว่า "ข้าวไข่มดริ้น" หรือที่แม่และชาวเชิงแสเรียกว่า ข้าวไข่มด ก็เทียบได้กับสาวงามสายเลือดไทยจีนแห่งบ้านเชิงแสได้เช่นเดียวกัน ไข่มดริ้นข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวขาวเมล็ดข้าวสารยาวประมาณ ๙ มิลลิเมตร ข้าวหอมนุ่มละมุนลิ้น จัดว่าเป็นข้าวพันธุ์ดีเยี่ยมของเชิงแส........กล่าวถึงสาวงามชาวนาอย่างนี้แล้ว ก็ให้ได้ยินเสียงเพลง "น้องนางบ้านนา" ผลงานประพันธ์ของครูเพลง "ไพบูลย์ บุตรขัน" คีตกวีแห่งท้องทุ่งนาเมืองปทุมธานี แว่วผ่านปลายต้นโพธิ์เลริมรั้วบ้าน "ป้าช่อ" และผ่านแนวกอไผ่รั้วบ้านของ "ลุงแมว" หน้าวัดกลาง ...ฟังว่า...+++...โฉมเอ๋ยสอางค์แม่นางท้องทุ่ง...โสภายิ่งกว่านางกรุง หมายมุ่งชมโฉมน้องนาง...บ้านนาอย่างนี้น้องยังโสภีสล้าง ...เอมอิ่มปรางดั่งนางฟ้า ลอยมาอวดโฉมลาวัลย์...+++...สวยเอ๋ยรวงทองน่ามองลิบลิ่ว...เห็นแนวกอไผ่เป็นทิว ลิบลิ่วสดสีอำพัน...ใคร่จะป่าวร้องข้าวรวงสีทองใครปั้น...มือแม่นางบอบบางนั้น กำเคียวเกี่ยวข้าวในนา..."........

(รวงสีทองของข้าวไข่มดริ้น)
     พื้นที่ทุ่งนาเชิงแสแห่งนี้เป็นผืนดินที่นาอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ สังเกตจากคำว่า "แส" ที่แปลว่า "นา" ดังปรากฏจากแผนที่กัลปนาสมัยอยุธยาซึ่งผมได้กล่าวไว้ในบทที่ ๒ ในแผนที่ดังกล่าวมีข้อความที่ด้านหลัง(ภาษาของนักจดหมายเหตุและนักภาษาโบราณเรียกด้านหลังว่า "หน้าปลาย" และเรียกด้านหน้าว่า "หน้าต้น") กล่าวถึงสภาพของทุ่งนาในพื้นที่แถบนี้ และพื้นที่กัลปนา วัดเขียน วัดสทังพระ ไว้ว่าเมื่อพุทธศักราช ๒๒๔๒ "...สมเดจพระรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิษรวร...เสดจสถิตณท้องพระโรงพระธิน่งบรรยงครัตศน...พระถวายพระพรว่าพระครูอินทเมาลีศรีษาคร บวรนนทราช จุลามุนีศรีอุปดิษเถรคณ ปาแก้วหัวเมืองพัทลุง ขอพระราชทานให้ถวายพระพรด้วยดำราพระกัลปนาพระราชอุทิศ...มีพระราชโองการให้เบิกเชิงกุฎี ศิลบาญ ข้าโปรดคนทานๆพระกัลปนา ออกจากขุนมุนนาย โดยบูรรพกษัตราอุทิศไว้แต่ก่อน...แต่นี้ต่อไปเมื่อหน้าถ้าผู้ใดเรียกเอาค่านาและส่วยสาอากรสมภักษร...ให้ผู้นั้นไปตกมหาอวิจีนรกหมกไหมใด้ทุกขนิรันดร..." (ผมคงอักขระเดิมไว้ โปรดอย่าเข้าใจว่าเขียนผิด) ครั้นถึงแผ่นดินในรัชสมัยแห่งสมเด็จพระเพทราชาหนังสือกัลปนาเมืองพัทลุงได้กล่าวว่า "ไร่นาอากรตาลในที่ทานพระกัลปนา..." นอกจากนั้นหนังสือกัลปนายังได้กล่าวถึง "...พระมหาเถรโสม พระมหาเถรพง ทำพระวิหารตำบลวัดโรง แลเข้าไปในพระนครศรีอยุธยา แลมีพระราชทานโปรดให้เบิกญาติโยม แลที่ภูมิสัด แลไร่นาโตนดผลารามิส..." โดยก่อนหน้านั้นพุทธศักราช ๒๑๕๖ พระตำรากล่าวถึงบ้านเชิงแสไว้ว่า "พระครูเทพราชเมาฬีศรีปรมาจารย์ราชประชา ปลัดนั่ง ณ หัวจัง แลให้นิมนต์พระคัมภีร์ขึ้นมาครองกุฎี ณ บนเขาพะโคะ...มีกฎหมายไว้ในข้าพระเจ้าว่า ดังนี้ ในตำบลด้านทักษิณ พระครูธรรมเมธากรหัวเมืองพะโคะ ๔ องค์ แลได้ห้องนั้นสืบไปแก่พระครูรอง...นายศุขประเพณีเชิงแส องค์ ๑..."
     สำหรับจำนวนปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในแถบละแวกนี้ เท่าที่ผมสืบค้นได้มีปรากฏอยู่ในเอกสาร ๒ ชุด ชุดหนึ่งคือ "เอกสารราชการมณฑลนครศรีธรรมราช" ซึ่งเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)เมื่อครั้งที่ท่านรับราชการเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองสงขลา โดยรายงานของท่านเจ้าคุณจากเมืองสุพรรณบุรี ได้กล่าวถึงปริมาณข้าว สภาพการค้าข้าว และเงินค่านาในเขต "ปละท่า" ซึ่งคืออำเภอสะทิงพระ สิงหนคร ระโนด และกระแสสินธ์ุ ในปัจจุบัน ไว้อย่างน่าศึกษาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เช่น หนังสือกราบทูลฉบับที่ ๒๔/๑๑๔ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘)ท่านเจ้าคุณยมราชกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า..."ด้วยวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระยาวิเชียรคีรีไปตรวจราชการตามแขวงที่เรียกว่าปะท่า เพื่อได้ทราบเกล้าฯภูมิลำเนาแลการทำมาหากินของราษฎร วันแรกไปพักแรมที่ตำบลท่าหิน วันที่ ๒ ที่ ๓ พักอยู่ที่ตำบลดอยมดคัน วันที่ ๔ ที่ ๕ พักที่ตำบลเกาะใหญ่ วันที่ ๖ พักที่คลองระโนด...นาปีนี้บริบูรณ์ทั่วกันหมดถึงแก่เก็บไม่ทัน ต้องขายเข้า(ข้าว)ในนาก็มีบ้าง แต่ข้าพระพุทธเจ้ามีความเสียดายอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งชาวเมืองสงขลาพากันนิยมในการเก็บเข้า ไม่เกี่ยว ไปยืนดูเขาเก็บออกรำคาญในตาเป็นล้นเกล้าฯ เสมอยืนดูคนมีท้าว(เท้า)บริบูรณ์ดีอยู่ แต่ไม่เดิน ใช้คลาน...ถ้าเกี่ยวคงไม่ต้องขายข้าวในนาเปนแน่ ราคาเข้าเปลือกที่เก็บแล้วซื้อขายกันเกวียนละ ๒๕ ถึง ๓๐ เหรียญ ถ้าขายในนาผู้ซื้อเก็บเอาเอง เกวียนละ ๕ เหรียญ ผิดกันไกลถึงเพียงนี้...ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งมีดสำหรับเก็บเข้าทูลเกล้าฯถวายในครั้งนี้ ๒ เล่ม...ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ"

(เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม),ภาพจากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยายมราช)

(เจ้าพระยายมราชถ่ายภาพพร้อมเจ้าเมืองทุกเมืองในมณฑลนครศรีธรรมราช,ภาพจากหนังสือเล่มเดิม)
     ก่อนที่ผมจะเล่าต่อ ขออธิบายไว้ ณ ที่นี้ก่อนสองเรื่องเดี๋ยวจะลืม เรื่องหนึ่งคือ เงินเหรียญ ที่ท่านเจ้าคุณยมราชกล่าวถึง เงินเหรียญนี้เป็นเงินเหรียญเม็กซิกัน ด้านหลังเหรียญเป็นรูปนกคาบอสรพิษจึงเรียกว่า "เหรียญนก" คิดเป็นเงินไทย ๑ เหรียญ เท่ากับ ๓ บาท อีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ท่านเจ้าคุณได้พักที่เกาะใหญ่ในครั้งนั้นทำให้ท่านมีดำริเริ่มให้ขุดคลองเกาะใหญ่ขึ้น เรื่องนี้คนในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะชาวเกาะใหญ่อาจจะลืมไปแล้ว จึงบันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลด้านประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนา ไม่บังอาจที่จะให้เป็นความรู้ หากแต่ส่วนหน่วยราชการใด หรือท่านผู้ใดจะตั้งชื่อคลองนี้ว่า "คลองเจ้าพระยายมราช หรือ คลองสุขุม" ก็น่าจะเป็นการดี...

(เจ้าพระยายมราช สมุหเทศาภิบาลมณฑล)
     มาต่อเรื่องข้าวที่เมืองสงขลาจากเอกสารสืบเนื่องด้วยรายงานของท่านเจ้าคุณยมราชต่อดีกว่านะครับ...ด้วยความที่เมืองสงขลามีข้าวบริบูรณ์ จึงปรากฏว่า "เรือตะเภาของพ่อค้าเมืองสงขลามีอยู่ถึง ๑๔ ลำ ลำหนึ่งบันทุกเข้าสาร(ข้าวสาร) ได้ตั้งแต่ ๔๐ เกวียน ถึง ๑๒๐ เกวียน เดินระหว่างเมืองสิงคโปร์กับเมืองสงขลา" นี่คือปริมาณข้าวส่งออกของเมืองสงขลาเมื่อร้อยปีเศษที่ผ่านมา เรือแต่ละลำค้าขายหลายเที่ยวในแต่ละปี เมืองสงขลาจึงเจริญรุ่งเรืองด้วยภาษีขาออกหลายประเภทสินค้า...แต่..ภาพของการค้าข้าวคือภาพหนึ่ง ซึ่งจะเหมือนภาพของแม่และของชาวนาบ้านเชิงแสหรือไม่???...ผมก็จะชวนท่านผู้อ่านให้อ่านต่อไปครับ...
     เมื่อฝนเริ่มโปรยปรายเม็ดในช่วงเดือนสิบ ได้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับในวันชิงเปรตหนหลังที่วัดหัวนอนกันตามประเพณีแล้ว ลูกชายชาวนาอย่างผมมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการ "โกยขี้วัว" ที่ใต้ถุนบ้าน โกยมากองรวมไว้เป็นกองใหญ่ๆ ขี้วัวที่โกยรวมกันนี้ เป็นขี้วัวแห้ง ที่เปียกนั้นยังไม่ต้องโกยมา รอให้แห้งก่อน และที่โกยมารวมกันไว้เป็นกองใหญ่อย่างนี้ ก็ไม่ต้องแยกว่าเป็นขี้วัวตัวผู้หรือตัวเมีย ขอให้เป็นขี้วัวก็แล้วกัน และที่สำคัญไม่มีทางรู้หรอกว่าเป็นของวัวตัวไหน การโกยขี้วัวเตรียมไว้หาบไปใส่นานี้ เป็นกิจกรรมที่น่าทำเหมือนกัน เพราะโกยเสร็จแล้วก็ขอเงินแม่เป็นค่าขนมได้ แม่ก็จะให้สลึงหนึ่ง หน้านากำลังจะเริ่มอย่างนี้แม่มีงานยุ่งมาก ไม่มีเวลาทำขนม และจะกินขนมลา ขนมเบซำ ที่เหลืออยู่จากวันบุญชิงเปรต ก็เบื่อแล้ว เงินที่ได้จึงต้องนำไปซื้อขนมที่ร้านค้าในหมู่บ้าน แม่เรียกว่า "ขนมโรง" คือ เป็นขนมจากโรงงาน แม่ค้าซื้อมาจากพัทลุง จำพวกขนมหัวจุกที่แป้งกรอบหอมขนาดหัวแม่มือ ด้านบนมีเม็ดน้ำตาลหลากสีเป็นหัวจุก หรือไม่ก็ซื้อน้ำแข็งน้ำหวานของน้าปรานีที่ตั้งโต๊ะขายที่ข้างทางลงไปสะพานกลางหมู่บ้าน ตรงนั้นใกล้ๆนาของป้าฉีดครูพลอย รัตนวิไล น้ำแข็งน้ำหวานอย่างนี้กินหมดน้ำหวานแล้ว ก็เคี้ยวน้ำแข็งต่อจนหมด เพราะเป็นของหากินยากสำหรับบ้านเชิงแส หมดน้ำแข็งแล้ว ก็นั่งดูน้าไสก้อนน้ำแข็งต่อ ดูเพลินดี จนแม่ตะโกนเรียกจึงค่อยกลับบ้าน แต่ก็ไม่กลับทันทีหรอก ขานรับว่าครับไปก่อน แล้วนั่งอู้ต่ออีกนิด จนได้ยินเสียงแม่ว่า "พรื้อยังไม่เห็น ได้ยินเสียง ไม่เห็นตัว ยังไม่หลบบ้าน" นั่นแหละ จึงได้กลับบ้าน รีบกลับไม่ได้หรอก รางวัลหนึ่งสลึงนั้นวันหนึ่งได้ครั้งเดียว ได้รายวัน ไม่ใช่รายกองขี้วัว ถ้าได้อย่างนั้นแม่คงขาดทุนแย่

     หว่านข้าว เคล้าโปลก
     กลับมาถึงบ้านก็เห็นแม่นั่ง "เคล้าโปลก" อยู่แล้ว การเคล้าโปลกหรือการ"เคล้าปลูก"นั้น เป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับนาหว่านที่บ้านเชิงแส ไม่ว่าจะหว่านเป็นข้าวกล้าเพื่อถอนไปปักดำต่อ หรือหว่านข้าวจริง การเคล้าโปลกคือการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่จะใช้หว่านในนามาคลุกเคล้ากับปุ๋ยขี้ค้างคาว ซึ่งเรียกว่า "มายา" ให้ปุ๋ยมายาเกาะเมล็ดพันธ์ุข้าว แม่ต้องเริ่มงานนี้ตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษา โดยแม่และเพื่อนบ้านเช่นคุณน้าเลื่อน คุณป้าฉีด คุณป้าเอื้อย เริ่มจากนำเรียงพันธุ์ข้าวมานวด ให้ได้เมล็ดพันธุ์ พันธุ์ข้าวที่นำมานวดนั้นมีข้าวหลายสายพันธ์ุ กล่าวเฉพาะของแม่ ก็มี พันธ์ุนางฝ้าย พันธ์ุนางกอง พันธ์ุนางหมุย พันธ์ุช่อไพร และที่สำคัญคือพันธ์ุไข่มดริ้น ข้าวพันธ์ุดีของบ้านเชิงแส แม่ต้องใช้ข้าวปลูกหลายสายพันธ์ุก็เนื่องเพราะ ที่นาของเรามีอยู่หลายที่หลายบริเวณ ที่นาใกล้ทะเลโคกพระซึ่งเป็นนามรดกของปู่ของย่า เป็นที่ลุ่มมาก เรียกว่า "นาลึก" น้ำมากบางปีถึงหน้าเก็บแล้วต้องเก็บข้าวกันในน้ำ ต้องใช้ข้าวพันธ์ุหนักขึ้นน้ำ ที่ว่าพันธ์ุหนักถือเอาระยะเวลาเก็บเกี่ยวเป็นเกณฑ์ ถ้าปลูกข้าวแล้ว ๕ เดือนจึงจะเก็บได้อย่างนี้เรียกว่าข้าวพันธ์ุหนัก ข้าวที่เชิงแสส่วนใหญ่เป็นพันธ์ุข้าวที่หนักน้อยกับหนักมาก ไม่มีข้าวพันธ์ุเบา ผมจำได้ว่าข้าวพันธ์ุเบา อย่างพันธ์ุ "ก ข" เลขต่างๆ เช่น "กข ๗" มาถึงเชิงแสเมื่อผมอายุประมาณ ๘ ขวบ ชาวเชิงแสเรียกว่า "ข้าวเตี้ย" เพราะต้นข้าวเตี้ยมาก ไม่สูงเหมือนข้าวพันธ์ุพื้นเมือง และเป็นพันธ์ุที่เบามากๆ ประมาณ ๓ เดือน ก็เกี่ยวได้แล้ว คือเกี่ยวโดยใช้เคียว ไม่ได้เก็บโดยใช้ "แกะ" นาแปลงแรกที่ปลูกข้าวพันธ์ุ ก ข เป็นนาของคุณครูแอบ ศิริรักษ์ ที่หน้าหมู่บ้านใกล้ "สระตีน" ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ที่จำได้ก็เพราะผมมีความสนใจนั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็เพราะเป็นการทดลองปลูก และไม่ได้ปลูกหน้าฝน ใช้น้ำที่ต่อจากท่อประปาหมู่บ้านมาปลูกข้าว และอย่างที่สำคัญที่ทำให้ผมจำได้ก็คือ ข้าวพันธ์ุใหม่ของบ้านเชิงแส เขาหว่านโดยไม่ต้องใช้วิธี "เคล้าโปลก"
     เมื่อแม่ได้เลือกเรียงพันธ์ุข้าวมาแล้ว แม่นวดข้าวที่ใต้ถุนบ้านโดยแม่ใช้หนังวัวปูเป็นที่รองนวดข้าว มือแม่จับไม้ไผ่ที่เป็น "หลอดคอกวัว" เท้าแม่ก็นวดข้าวไปคราวละประมาณ ๕ เรียง ส่วนผมนั้นแม่ก็สอนให้นวดเข้าคราวละ ๑ เรียง เรียงเดียวแท้ๆ เท้าก็แสบไปหมด เมื่อเท้าแสบก็ต้องอู้เป็นเรื่องธรรมดา เริ่มจากขอแม่หยุดนวดข้าวบอกแม่ว่า หิวน้ำ ดื่มน้ำเสร็จแล้วก็จะถามยายว่า "ยายจะกินหมากแล้วไม่" คือจะกินหมากแล้วหรือยัง ถ้ายายตอบว่า "ยนหมากให้ยายที่ตะ" ก็จะบอกแม่ว่านวดข้าวต่อไม่ได้แล้ว ต้อง"ยน"หมากให้ยาย มีงานอื่นต้องทำแล้ว แม่ต้องเร่งให้ยนหมากเร็วๆ..."อย่าแช อย่าแช" คืออย่าช้า...หญิงชาวเชิงแสนั้นทั้งขยัน อดทน ทั้งกล้าทั้งเกร่ง โดยเฉพาะในเรื่องทำนาและนวดข้าวแล้ว เกิดมายังไม่เคยเห็นใครสู้ได้ แม่นวดข้าวเร็วมาก ไม่นานก็ได้พันธ์ุข้าวกองเต็มผืนหนัง แล้วแม่ก็ "สงฟาง" ผมช่วยแม่สงฟางข้าวกองที่แม่นวด ส่วนเรียงที่ผมนวดนั้น ไม่ต้องสงฟาง เรียงเดียวเท่านั้น ยังนวดไม่เสร็จ ยังไม่หายแสบเท้าเลย "สงฟาง" คือการแยกฟางข้าวออกจากเมล็ดข้าว รวงระแง้ข้าวอย่างนี้คนใต้บ้านผมเรียกว่าฟาง แต่ภาคอื่นนั้นคำว่าฟางข้าวหมายถึงต้นข้าวแห้งที่ได้จากการฟาดข้าว ต้นข้าวแห้งอย่างนี้ที่เชิงแสเรียกว่า "ซัง" หรือ "ซังข้าว" โรงที่ไว้ซังข้าวเรียกว่า "โรงซัง" ฟางข้าวที่ได้จากการสงข้าวนี้ นำไปรองรังให้แม่ไก่ฟักไข่ก็ได้ นำไปให้วัวกินก็ได้ แต่ที่สำคัญและมีประโยชน์ที่สุดสำหรับเด็กบ้านนอกอย่างพวกผม คือ นำไปรอง "หมกโหม้งหัวครก" คือใช้เผาเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ... ที่ทนนวดข้าวกับแม่ ทนปวดแสบเท้าอยู่ก็เพราะรอตรงนี้แหละ ตั้งใจว่าช่วยแม่นวดข้าวแล้ว จะขอฟางข้าวและขอเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไปเผากินกัน
     แต่เรื่องฟืนเรื่องไฟนี้แม้แม่จะตามใจเด็กประถมหกประถมเจ็ดอย่างพวกเราให้ดีใจ เพราะจะได้ชวนกันเผา "โหม้งหัวครก" แบ่งปันกันกิน แต่แม่ก็จะปล่อยให้ห่างตาไม่ได้ เราจึงต้องเผาที่ที่โล่งข้างบ้านป้าฉีด เพราะตรงที่โล่งบริเวณนั้นปลอดภัยที่สุด และอยู่ใกล้แม่และป้าฉีดที่สุดด้วย หรือไม่อีกบริเวณหนึ่งก็จะเผาเมล็ดมะม่วงหิมพานต์กันที่ร่องผักกาดเก่าที่หน้าบ้าน (ซึ่งขณะนี้เป็นที่ปลูกกล้วยน้ำ ปลูกไว้ตั้งแต่ยังมีแม่ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเหลืออยู ๒ กอใหญ่ ๆ ทั้งต้นโตและหน่อกล้วยเล็ก มีอยู่ประมาณ ๒๐ ต้นเห็นจะได้ ผมเพิ่งไปเยี่ยมบ้านเกิด จึงถ่ายภาพมาให้ชม)++++...

(กอกล้วยน้ำที่บ้านแม่ ในภาพ..จะเห็นทั้งต้นใหญ่และหน่อเล็กๆ..กล้วยน้ำน้ีมีชื่อวงศ์ว่า Musaceae ต้นใหญ่นั้นกว่าจะให้ผลออกเครือต้นก็จะสูงมากถึง ๔ เมตร และแน่นอนว่าเส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนต้นก็ใหญ่เช่นกันคือประมาณ ๒๐ เซ็นติเมตร กล้วยน้ำมีผิวกาบขาวนวล หยวกกรอบแกงอร่อย ผลดิบฝนกับน้ำปูนเป็นยาแก้ท้องร่วง ผลของกล้วยน้ำนั้นนิยมนำไปประกอบพิธีงานมงคล ส่วนที่เชิงแสเด็กๆอย่างผมใช้กินกัน ไม่ใช่เพื่อให้เกิดมงคลหรืออะไรหรอก แต่กินเพราะเป็นของที่กินได้บวกกับไม่มีผลไม้อื่นให้กิน จึงกินผลไม้ป่ากันหลายชนิดตามมีตามเกิด เช่น ลูกเหมร ลูกโท้ะ ลูกขุมนก ลูกข่อยสุก ลูกหว้า ลูกขลบ ตลอดจนลูกราม เรื่อยไปถึงนมแมว และฝรั่งบ้าน (ฝรั่งบ้านพบว่ามีขายที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้าห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ กิโลกรัมละ ๘๐ บาท) สุดท้ายก็เป็นผลไม้เปรี้ยวอย่างมะเหม้า และมะขามอ่อนจิ้มกะปิ หรือถ้าโชคดีก็จะได้มะขามบอนเป็นมะขามพองก่อนถึงขั้นมะขามเปียก...อร่อยดีตามประสาเด็กบ้านทุ่ง)
     เสร็จจากอาหารว่างของโปรดประเภทสุดยอดของขบเคี้ยวบ้านทุ่งอย่างโหม้งหัวครกแล้ว....ก็ต้องมาช่วยแม่โปรยข้าว...ผมไม่ได้โปรยข้าวจริงๆหรอก ยังทำไม่ได้ ได้แต่โกยกองพันธ์ุข้าวใส่กระสอบหลังจากที่แม่โปรยข้าวเสร็จแล้ว...นึกคิดถึงภาพแม่และชาวนาที่ต้องตรากตรำทำนาแต่ละขั้นแต่ละตอนแล้ว ยากลำบากเสียจริง ๆ พ่อและแม่จึงปลูกฝังลูก ๆ ทุกคน ให้รู้ถึงคุณของข้าว โดยสั่งสอนและบังคับให้กินข้าวอย่าให้ข้าวหกตกที่พื้น และต้องกินให้หมดจาน เพราะกว่าจะมาเป็นข้าวสารและข้าวสุกนั้นเหนื่อยยากมาก....แม่โปรยข้าวโดยใช้กระด้งตักเมล็ดข้าว แล้วยกขึ้นข้างลำตัวให้สูงรอจังหวะลมพัดมา แล้วจึงค่อยๆโรยโปรยข้าวลงมา ลมจะช่วยพัดเมล็ดข้าวลีบให้ปลิวไปห่างจากกองกลุ่มเมล็ดพันธ์ุข้าวที่สมบูรณ์ ต้องโปรยข้าวอยู่นานกว่าจะเสร็จ หากไม่มีลมพัดมา แม่จะร้องเรียกลม หวู้...หวู้...หวู้...เด็กอย่างผมก็ช่วยเรียกลมให้แม่ ทำไปอย่างนั้นแหละเห็นเป็นเรื่องสนุกๆ ตามประสาเด็ก

(กล้วยน้ำที่บ้านแม่ กล้วยพื้นเมืองพันธุ์นี้ หวีไม่ใหญ่และเครือหนึ่งมีหวีประมาณ ๕ ถึง ๗ หวี เท่านั้น ปัจจุบันนับว่าเป็นกล้วยที่หากินยากขึ้นทุกวัน เมื่อวันที่ ๙ มิ.ย.ที่ผ่านมาผมกลับไปที่บ้านแม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งล่าสุด จึงเก็บภาพมาฝาก)

(นอกจากจะเก็บภาพมา ก็ได้นำกล้วยน้ำหิ้วขึ้นครื่องบินกลับมาบ่มที่บ้านที่กรุงเทพฯด้วย ๑ หวี บ่มอยู่ ๓ วัน สุกแล้วหน้าตาเป็นดังที่เห็น รวมค่าเครื่องกับค่าเช่ารถจากสนามบินหาดใหญ่ไปบ้านเชิงแสแล้ว เสร็จสรรพ กล้วยน้ำจากบ้านแม่หวีนี้ ราคา ๙,๐๐๐ บาท อาจจะได้แรงอกจริงๆ..???..และคงจะหายคิดถึงบ้านเกิดไปอีกสักปีเลยทีเดียว???)

(กล้วยน้ำบ้านเชิงแสเมื่อสุกแล้ว เปลือกเหลืองงามอร่าม เนื้อยิ่งเหลืองเหมือนทองปลั่ง กลิ่นและรสชาติหอมเย็นนุ่มคล้ายๆกล้วยเล็บมือนาง ประมาณนั้น และที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษก็คือ กล้วยน้ำจะมีใส้หนืดๆอยู่ข้างใน พวกเด็กๆบ้านเชิงแสโตมาจากพืชผลพื้นบ้านอย่างนี้แหละครับ)

(ก่อนกลับกรุงเทพฯ แวะไหว้ "บัว" ที่บรรจุกระดูกของพ่อ กับบัวของตาของยายของแปะหลวงและของแม่ ยายและแม่เป็นชาวนา บัวที่เก็บกระดูกก็ตั้งอยู่บนเนินคันนาใกล้แถวต้นตาลอย่างที่เห็น เก็บภาพท้องนาและต้นตาลใกล้บัวของยายและแม่มาฝาก ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทุ่งข้าวแห่งบ้านเชิงแส เชิงแสบ้านแม่ ...บ้านทุ่งริมเล)
     ประมาณ ๒ สัปดาห์ พันธ์ุข้าวทุกชนิดจะนวดเสร็จทันกับการซื้อ "มายา" ขี้ค้างคาว ที่พ่อสั่งซื้อมาจากจังหวัดพัทลุง(ซื้อมาจำนวนมากพอสมควร ที่เดียว เพราะต้องใช้ทั้งในนาของเรา และส่วนหนึ่งนำมาขายแก่ชาวนารายอื่น)แม่เริ่ม "เคล้าโปลก" โดยนำพันธ์ุข้าวใส่กะละมังใหญ่ ตักน้ำในถังข้างตัวด้วยขัน ราดน้ำพรมให้ทั่วเมล็ดข้าว แล้วตักมายาขี้ค้างคาวสีน้ำตาลแก่โรยบนเมล็ดพันธ์ุข้าว ใช้ไม้พายเล็กคลุกเคล้า พลางใส่ขี้เถ้าผสมลงไปเล็กน้อย มายาก็จะจับเมล็ดข้าวทุกเมล็ด เมื่อได้ที่แล้วจึงเทเมล็ดข้าวใส่กระสอบ รอพ่อมาหาบไปปลูกหว่านในนา ขั้นตอนนี้แม่ใช้เวลามากหลายวันกว่าจะได้พันธ์ุข้าวเคล้าปลูกครบถ้วนเพียงพอในแต่ละฤดูทำนา ฤดูกาลทำนานี้เรียกตามภาษาของชาวนาบ้านเชิงแสว่า "หยามนา"
     "หยามนา"...เริ่มแล้ว งานของพ่อและแม่รวมทั้งชาวบ้านเชิงแสทุกครัวเรือนจะยุ่งมาก ทุกครอบครัวมีงานต้องทำไม่หยุดไม่หย่อน พ่อต้องเตรียมและซ่อมคันไถ หางยาม หัวหมู(ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบคันไถ สำหรับไถนา) แอกที่เรียกติดปากว่าลูกแอก ผาลที่จะต้องซื้อใหม่ และต้องดูแลวัวทุกตัวให้ดี ไม่ให้ป่วย เช่น ไม่ให้(วัว)ท้องเสีย ขี้รั่ว สำคัญที่สุดคือต้องไม่ให้โจรมาปล้นวัวลักวัวไปเสียยามหน้านากำลังจะเริ่ม หน้าไถจะเริ่ม..../
     เมื่อพ่อต้องเริ่มงานไถ ผมก็ต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อไป "ส่งวัว" ให้พ่อที่นาแปลงที่พ่อจะไถ นาของเรามีหลายบริเวณ ไกลสุดประมาณ ๓ กิโลเมตรเศษ ก็คือที่ "หนองบ่อ" ต่อแดนกับนาของชาวเจดีย์งาม โดยนาที่ติดกันทางทิศใต้หัวนาคันนาร่วมกันคือนาของน้าขับชาวเจดีย์งาม นั่นไกลสุด ที่นาบริเวณถัดเข้ามาใกล้มาหน่อยหนึ่งคือที่ "ขวางหวัน" เรียกว่าขวางหวันแปลว่า "ขวางตะวัน" อันที่จริงแปลงนาไม่ได้ขวางตะวันหรอก ทั้ง ๑๑ ไร่ รวม ๔ บิ้งนา บริเวณนี้ผืนนายาวตามตะวันจากตะวันออกไปทางตะวันตกตามปกตินั่นแหละ แต่บังเอิญว่าที่นาเดิมของยายบริเวณนี้มีรวม ๓๐ ไร่ กลางที่ดินแปลงใหญ่ตาของผมปลูกขนำใหญ่ไว้ ขนำนี้ปลูกให้ยาวตามแนวเหนือใต้เป็นลักษณะขวางตะวัน ในครอบครัวเราจึงเรียกที่นานี้ว่า "นาขวางหวัน" ดังกล่าวข้างต้น หากบางเช้าพ่อไถนาที่สวนตีนที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ผมก็ต้องไปส่งวัวที่สวน และบางเช้าพ่อไถนาที่นาเลโคกพระซึ่งเป็นนามรดกของปู่ย่าผมก็ต้องส่งวัวท่ี่โคกพระ การไล่วัวจูงวัวไปส่งให้พ่อนั้น ภาพจริงๆ ก็คือไปพร้อมกับพ่อนั่นแหละ พ่อแบกคันไถ ผมจูงวัวตามหลัง ส่วนแม่หุงข้าวทำแกงที่บ้านเสร็จงาน "ในไฟ" ในครัวแล้วจึงหิ้วหม้ออวยและปิ่นโตตามไป ข้าวแกงที่แม่นำไปที่นานั้นเป็นทั้งมื้อเช้าและมื้อเที่ยงของพ่อและแม่ ส่วนผมนั้นกลับมากินที่บ้านแล้วจึงไปโรงเรียน โดยที่ไม่ลืมไหว้ยายและขอเงินจากยายหนึ่งสลึงเสียก่อน+....+..การไปส่งวัวให้พ่อไถนาเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ยังไม่ทันสว่าง คือประมาณเห็นลายมือรางๆ ก็เริ่มออกจากบ้านกันแล้ว ชาวเชิงแสแบกไถจูงวัวออกไปไถนาเวลานี้แทบทุกครัวทุกบ้าน กลิ่นทุ่งนายามเช้าหน้าไถหอมเย็นและสดชื่น ผมเคยถามพ่อว่าทำไมนาของเราทั้งหมดไม่อยู่ที่เดียวกัน พ่อบอกว่า "มีนาหลายที่นั้นดีแล้ว เพราะฝนตกไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน"เป็นความจริงเหมือนคำของพ่อ ชาวนาภาคใต้บ้านผมอาศัยน้ำฝนทำนา หากวันนี้ฝนตกที่หนองบ่อดินนุ่มพอดีไถ ก็ไถนาที่หนองบ่อ ที่สวนด้านทิศเหนือของบ้านฝนยังไม่ตก ก็ไม่เป็นไร มีที่นาให้ไถไม่ต้องรอฝนตกจนทั่วฟ้า ...เช้านี้พ่อไปไถนาที่ขวางหวัน ผมส่งวัวให้พ่อที่นั่น ระหว่างทางพบเพื่อนๆ หลายคนต่างก็ไปส่งวัวเหมือนกันก็คุยกันไปจนถึงที่นา ถึงที่นาแล้ว ฟ้ายังไม่สว่างดีนัก ลูกชาวนาอย่างผมต้องจูงวัวคู่ที่จะ "เข้าไถ" ไปกินหญ้าก่อน เป็นการเอาใจวัวเสียหน่อยหนึ่งประมาณนั้น หน้าที่อย่างนี้ไม่ต้องรอให้พ่อบอก ส่วนพ่อนั้นวางคันไถแล้ว พ่อใช้จอบจวกชายคันนาไปเรื่อยๆ เรียกว่า "ฉากชายนา".....ซึ่งเป็นสาระคัญอย่างหนึ่งของการเริ่มทำนา...พ่อฉากชายนาไปเรื่อยๆ พร้อมกันกับตรวจดูว่าคันนาที่ใดตรงไหนมีรูหนูรูปูนาหรือไม่ พบแล้วก็ต้องใช้จอบจุดดินนุ่มๆในนาแล้วนำไปอุดเสียให้แน่น หากไม่อุดรูให้ดีถึงคราวข้าวใหญ่ในนามีน้ำฝนแล้ว น้ำในนาจะไหลออกหมด ข้าวก็จะไม่สมบูรณ์เพราะขาดน้ำ การฉากชายนามีประโยชน์อีกอย่างก็คือทำให้คันนาสะอาดเรียบงามเพราะหญ้าข้างคันนาถูกคม "จอบตราจระเข้" ของพ่อจัดการดายไปจนหมด หญ้าชายข้างคันนาเหล่านี้จะไม่มาแย่งปุ๋ยข้าวในนา นาของเราใช้ปุ๋ยข้ีวัวและปุ๋ยขี้ค้างคาวซึ่งจะพอดีสำหรับข้าวในนา จะให้มีหญ้าในนาหรือหญ้าที่ข้างคันนามาแย่งปุ๋ยไม่ได้
     ตะวันขึ้นในระดับยอดแนวทิวแถวต้นตาลแล้ว พ่อเรียกผมให้จูงวัวมาเทียมคันไถ เรียกว่า "เข้าไถ" ..."ลูกบ่าว จูงวัวมาเข้าไถได้แล้ว.." ผมจูงไอ้แดงกับอีดำสองแม่ลูกมาให้พ่อ วัวสองตัวนี้เป็นแม่กับลูกอีดำให้ลูกวัวตัวผู้แก่เราหลายตัวแล้ว เช่น ไอ้แดง ไอ้อุด ไอ้ขวัญเรียง ไอ้แดงโตเป็นวัวถึกแล้วต้องจูงมาไว้นอกแอกให้อีดำเป็นตัวในเพราะแรงน้อยกว่า ผมจูงวัวมาเข้าไถเมื่อทั้งสองตัวมาถึงคันไถ ผมร้องว่า "โย แดงโย โย โย" วัวก็จะหยุดแล้วยืนนิ่งๆ...พ่อยกแอกขึ้นครอบที่คออีดำก่อนแล้วดึงสายเชือกจากแอกด้านหนึ่งอ้อมใต้คอวัวไปเกี่ยวไว้ที่ร่องแอกอีกด้านหนึ่ง จากนั้นจึงครอบแอกที่ไอ้แดงถึก ต่อมาพ่อก้มลงจับปลายคันไถลอดเชือกคล้องแอกที่กลางแอก ใช้แรงดึงให้ปุ่มคันไถเข้าล็อกกับเชือกคล้อง การไถนาจะเริ่มแล้ว เมื่อพ่อเดินอ้อมหลังวัวทั้งคู่ไปที่หางยาม ผมจับเชือกที่จมูกวัวไว้ พลางพูดว่า "โย ๆ ๆ" ให้วัวยืนนิ่งๆจนกว่าพ่อจะกุมยกตั้งหางยามได้ เริ่มวันไถแรกๆของหยามนา ต้องระวัวไม่ให้วัวเดินพาคันไถเพราะความตื่นเพริด เนื่องจากผาลไถจะ "กินน่องวัว" คือบาดน่องวัวหรือเท้าวัว..ต้องระวังให้ดีที่เดียว.. เมื่อพ่อจับกุมหางยามได้แล้ว ผมกลับหลังหันเดินนำหน้าจูงวัวในช่วงเริ่มต้นก่อนประมาณ ๓ รอบนา เรียกตรงๆตามภาษาคนทำนาว่า "เดินนำหน้าวัว" ให้วัวรู้งานก่อน พ่อส่งเสียงบอกวัวทั้งสองตัวว่า "ฮุย" ผมเริ่มจูงวัวทั้งคู่ให้เดินลากคันไถ ความจริงแล้วเสียงฮุย.นั้นบอกวัวเป็นภาษาวัว ไม่ได้บอกผม แต่ผมก็ต้องเดินเหมือนวัว รอบไถแรกแรกเดินสบายเท้าในดินนุ่ม แต่ครั้นถึงรอบที่สองต้องระวังขึ้นเนื่องจากเริ่มมี "ขี้ไถ"ในนาแล้วจากรอยไถรอบแรก เดินไม่ดีจะล้มเอาได้ แต่ผมไม่เคยล้ม พ่อและชาวนาเชิงแสทั้งหญิงทั้งชายเดินไถนาด้วยเท้าเปล่า นามีมากก็ต้องไถมาก ไถนาจนเท้าเจ็บไปหมด ปีที่แล้วเมื่อผมไปเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์คุณน้าเลื่อน เครือแก้ว เพื่อนของแม่ เกี่ยวกับผู้หญิงชาวเชิงแสไถนา น้าบอกว่า "แทบทุกปีแหละหัวแบนเอ้ย ตีนเจ็บจนเลือดออกก็ต้องไถให้เสร็จ ให้ทันหยามนา..." (คุณน้าเลื่อนและน้าหลวงชิ้นสามีเลี้ยงดูผมมาไม่น้อย เรียกชื่อผมด้วยตามลักษณะหัวด้วยความคุ้นเคยเอ็นดู เมื่อผมเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์มีรุ่นพี่ชาวใต้ผมคนหนึ่ง ชื่อเล่นภาษาใต้ว่า "ลุ่ย" ที่แปลว่าหลุด เข้าใจว่าเมื่อนุ่งผ้าหรือกางเกง นุ่งหลุดก้นเป็นประจำ แต่ครั้นไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เพื่อนที่กรุงเทพฯเรียกชื่อเล่นออกเสียงเป็นภาษาต่างประเทศว่า "หลุยส์" ดูโก้ไปเลย ตอนนี้พี่หลุยส์ของพวกน้องๆ เป็นข้าราชการระดับปลัดเทศบาลพัทยาแล้วนะครับ.จะบอกให้)
      เมื่อเดินนำหน้าวัวครบรอบที่ ๓ แม่มาถึงนาพอดี พ่อร้องว่า "โย ๆ ๆ" ผมหันมา "ตรันหน้าวัว" ไว้ให้วัวหยุด พ่อวางคันไถให้วัวทั้งคู่ยืนพัก ระหว่างที่พ่อกับแม่นั่งทานเข้ามื้อเช้าที่บนคันนา โดยที่ผมก็นั่งกิน "ขนมมอชี่" ฝีมือของ "ป้าลับ" หน้าวัดกลางที่แม่ซื้อมาฝาก พ่อพูดกับผมอย่างจริงจังว่า "เป็นชาวนาเหนื่อยมากลูกเอ๋ย พ่อและแม่ไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนา พ่อจึงส่งลูกทุกคนไปเรียนหนังสือในเมือง ให้ไปเรียนที่สงขลากันทุกคน พ่อจะไม่ให้ลูกเป็นชาวนา..." "คำพ่อ" คำนั้นแม้เวลาผ่านมาถึง ๔๐ ปีแล้ว แต่ผมยังจำคำของพ่อได้อยู่จนถึงทุกวันนี้
     ระหว่างทางกลับบ้าน ผมเดินมาตามคันนาพลางดูต้นตาลไปทั่ว ต้นไหนมีลูก "ทรามกิน" แล้ว ผมก็หยิบใบตาลแห้งกำหนึ่งไปเสียบไว้ที่กาบตาลตรงโคนต้นตาล ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า "เหน็บกรรมโคน หรือ เหน็บโคน" ซึ่งหมายความว่า "จอง" ลูกตาลไว้แล้ว ชาวเชิงแสทุกคนจองลูกตาลไว้ได้ จะเป็นนาของเราเองหรือตาลที่นาคนอื่นก็จองได้ ไม่ว่ากัน แต่เท่าที่เห็นเป็นธรรมเนียมว่าจองได้ครั้งเดียว เมื่อขึ้นตาลฟันลูกลงแล้วก็เอาใบตาลแห้งที่เหน็บกรรมออกเสีย คำว่า"กรรม"คงมาจากคำว่า "กรรมสิทธิ์" นั่นเอง แต่ก็ไม่ตรงทีเดียวนัก คือคล้ายๆกรรมสิทธิ์เพียงชั่วคราว เพียงคราวเดียว แปลงหญ้าก็เช่นกัน หากจะจองคราวใดก็นำไม้ไปปักไว้เรียกว่า "ปักกรรม"....การให้จองกันอย่างนี้เป็นการเอื้อเฟื้อกันตามวิถีชีวิตประสาคนบ้านนอกบ้านนา ลูกตาลที่ให้เหน็บโคนจองกันอย่างนั้นให้จองกันคราวเดียวดังที่เล่าแล้ว หากจองหลายครั้งติดๆกันไม่แบ่งใคร เข้าใจว่าแทนที่จะได้กินลูกตาลก็คงไม่ได้กินแน่ ...แต่จะได้กิน"ลูกโหนดหัวกลวง" แทนลูกตาล...อย่างแน่นอน...เพราะจะเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไปอันมาจากความเห็นแก่ตัว....ลูกตาลที่จองไว้นั้นตกเย็นหลังเลิกเรียนพวกเด็กๆก็จะชวนกันไปขอให้รุ่นพี่ๆช่วยขึ้นฟันลงมาให้กิน รุ่นพี่คนหนึ่งที่เคยขึ้นต้นตาลให้พวกเรากิน ก็คือ "บ่าวหวิด" บ่าวหวิดขึ้นต้นตาลเก่งมาก และขณะขึ้นต้นตาลแกจะถอดกางเกงนอกออก เหลือไว้แต่กางเกงใน แกบอกว่านุ่งกางเกงในขึ้นต้นตาลมันคล่องดี ...ผมไม่ได้พบบ่าวหวิดเสียนานประมาณ ๓๐ ปีแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมากลับไปทำบุญที่บ้าน จึงได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แทบจะจำกันไม่ได้ ผมถามบ่าวว่า "ยังขึ้นโหนดอยู่หรือไม่?" บ่าวหวิดตอบว่า "ขึ้นไม่รอดเสียแล้ว"./
     ผมรีบเดินกลับบ้านเพื่อให้ทันเข้าแถวที่โรงเรียนวัดเชิงแส(เมฆประดิษฐ์)โดยทิ้งภาพท้องนาหน้าไถไว้เบื้องหลัง....พ่อและชาวบ้านเชิงแสไถนาอยู่ "หลายเช้า" พ่อนั้นไถนาไม่หยุดเลยไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง ต้องไถทุกวัน ไถจนถึงเที่ยงก็หยุดเรียกว่า "ไถได้งายหนึ่ง" ช่วงหลังเที่ยงแล้วไม่ไถนา ให้วัวได้พักกินหญ้า กินหญ้าจาก "หวันเที่ยง ..หวันไช้ ..จนหวันเย็น" รอผมมารับวัวกลับหลังจาก "โรงเรียนลง" คือหลังเลิกเรียน เด็กนักเรียนที่บ้านเชิงแสมีประสบการณ์กันอย่างนี้ทุกคน พ่อไถนาทั้งไถดะและไถแปรแล้ว จึงถึงขั้นตอนหว่านข้าว แม่หาบข้าวปลูกที่เคล้ามายาไว้ดีแล้วไปยังที่นาวันเว้นวัน การทำนาโดยใช้แรงงานในครอบครัวอย่างนี้ ต้องไถไปหว่านไป พ่อหว่านข้าวน่าชมมาก พ่อใช้กระสอบนั่งใส่ข้าวปลูกจนเต็ม อุ้มไว้ด้วยมือซ้ายแล้วใช้มือขวากำข้าว หงายมือซัดโปรยเมล็ดข้าวออกไปตามผืนนาที่ไถเตรียมดินไว้ ข้าวที่ปล่อยออกจากมือนั้น คราวแรกปล่อยออกไปไม่หมด โดยคลายนิ้วออกเพียง ๒ นิ้วก่อน ข้าวปลูกส่วนหนึ่งจึงยังเหลืออยู่ในมือ การหว่านครั้งแรกหว่านไปใกล้ๆก่อน หว่านข้าวในมือครั้งสองหว่านไปไกล เมล็ดข้าวพุ่งเป็นสายสีน้ำตาลดูงามตา นาที่ขวางหวันของเราเป็นนาหว่าน หว่านแปลง"ในพรุ" ซึ่งเป็นที่ลุ่มและแปลงใหญ่ที่สุดโดยใช้พันธ์ุข้าวไข่มดริ้น....หลังจากหว่านข้าวเสร็จแล้วก็ต้องฝากไว้กับฝนกับฟ้า ปีนี้โชคดีฝนตกต้องตามเวลา คือค่อยๆตก หนักขึ้นๆ ตามอายุของข้าว ในนาเราข้าวงามดี และหญ้าในนาก็งามเหมือนกัน งานในนาจึงต้องทำต่อเนื่องไป เป็นงานตัดหญ้าและ "ข้าวผี" เพื่อให้นาหมดวัชพืช หญ้าในนาและข้าวผีนั้นไม่ได้ตัดทิ้งไปเปล่าๆ ต้องนำมาเลี้ยงวัว นำมาให้วัวกิน หน้านาแล้วพื้นที่เลี้ยงวัวมีน้อยมาก ชาวเชิงแสต้องใช้หญ้าในนาเลี้ยงวัวกันทั้งนั้น...โดยเฉพาะวัวของพ่อนั้นทุกตัวจะมีอาหารพิเศษ นั่นคือ "ลูกตาลอ่อน"...ซึ่งพ่อสอยมาสับให้กินเป็นอาหารเสริม/

     เข้าเมือง กับ เรื่องราวและประวัติของสวนพระเทศฯ

(ภาพพระนิเทศโลหสถาน, วูดฮัล วุฒิภูมิ)
     ก่อนออกพรรษาขณะที่ต้นข้าวในท้องนาเริ่มโตขึ้น แม่ได้รับข่าวจากสงขลาว่า "ป้าเชย" พี่สาวของแม่ป่วย ป้าของผมท่านนี้ได้นำลูก ๆ เข้าไปตั้งหลักของชีวิตที่ในเมือง โดยป้าต้องจากบ้านเชิงแสไปอยู่ที่บ่อยาง สงขลา หลังจากที่ "แปะฮั่น" สามีของป้าจากไป ป้าเชยปลูกบ้านอยู่ที่ "สวนพระเทศฯ" ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา ป้ารับข้าวสารจากโรงสีไปขาย เลี้ยงตัวและเลี้ยงลูก ๆ ที่สำคัญป้ามีพระคุณแก่ญาติเหลือคณา เพราะป้าจัดให้บ้านเป็นที่พักแก่พี่ๆของผมที่เข้าไปเรียนหนังสือในเมืองสงขลา ไม่เท่านั้นป้ายังให้ความอนุเคราะห์แก่เด็กผู้หญิงลูกหลานชาวเชิงแสนับสิบคน ให้ได้มีที่พักอาศัยในระหว่างไปเรียนหนังสือที่สงขลา ทั้งนี้เนื่องเพราะในขณะนั้นกิจการหอพักที่สงขลามีน้อย ถึงจะมีก็เกินปัญญาและเกินกำลังเงินของชาวบ้านเชิงแส คุณูปการของป้าเชยเป็นสิ่งเป็นเรื่องที่ชาวเชิงแสที่เคยไปพึ่งพิงป้าไม่ควรลืม...+++...เมื่อป้าป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลแม่ซึ่งเป็นน้องสาวจึงต้องทิ้งท้องนาไว้ชั่วคราว ไปเยี่ยมป้า ...แม่เข้าเมืองครั้งนี้แม่นำผมไปด้วย เป็นการเข้าเมืองสงขลาครั้งแรกๆ ของผม แม่พาผมลงเรือ "ศรียนต์" ของแปะเซ่งไประโนด แล้วคืนนั้น "เรือแสงจันทร์" เรือยนต์สองชั้นก็นำผู้โดยสารกับแม่และผม พร้อมสินค้าสารพัด ตลอดจนหมูในชุดไก่ในเข่ง เดินทางในยามค่ำคืนฝ่าท้องน้ำทะเลสาบเดินจักรสู่สงขลา ผู้โดยสารนั้นมีทั้งเดินทางไปเยี่ยมญาติ ไปธุระ และไปค้าขาย ส่วนหมูและไก่ที่ท้ายเรือก็ไปเยี่ยมญาติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เยี่ยมญาติที่บ้าน หมูและไก่ไปเยี่ยมญาติที่โรงเชือด และก็คงจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จึงไม่กลับมาที่ระโนดอีกเลย...เรือแสงจันทร์จอดแวะรับผู้โดยสารครั้งเดียวที่อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง เมื่อเวลาเที่ยงคืน จากนั้นเรือแล่นต่อไปจนถึงเกาะยอ และก็ถึงท่าเรือสงขลาเมื่อจวนสว่าง ท่าเรือนี้อยู่ใกล้ร้านค้าของน้าปานน้าถิ่น แก้วทอง เจ้าของโรงสีเชิงแสกสิกิจ แม่ปลุกผมให้ตื่นนอน แล้วนำผมลงจากชั้นสองของเรือ เช่นเดียวกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ แม่และผมแวะที่ร้านน้าถิ่นครู่หนึ่ง น้าถิ่นเรียกรถสามล้อที่รู้จักกันให้แม่พร้อมทั้งบอกสามล้อว่า.."ไปบ้านน้าเชย ที่สวนพระเทศ"
     "สวนพระเทศฯ" เป็นละแวกเก่าที่หนึ่งของเมืองสงขลา ชื่อนี้น่าจะเรียกกันมาตั้งแต่รัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ หรืออาจจะตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระปิย มหาราช ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ก็อาจเป็นได้ ชาวสงขลาและท่านที่มีบ้านเกิดในเมืองสงขลาบางท่านอาจจะไม่ทราบ เอาเป็นว่า "เด็กบก" จากบ้านนอกบ้านนา ขออนุญาตอย่างวิสาสะเล่าเรื่อง "ละแวกบ้านนามทำเล" เก่าของเมืองสงขลาให้ฟังก็แล้วกันนะครับ
     "พระเทศฯ" .... เป็นราชทินนามและบรรดาศักดิ์ของข้าราชการไทยที่สัญชาติบิดาเป็นสิงหล แบบเดียวกับพระยาอรรถการประสิทธิ์ (William Alfred Tileke)นักกฎหมายอดีตอธิบดีกรมอัยการ คุณพระเทศฯของชาวสงขลาท่านผู้นี้มีราชทินนามเต็มว่า ... "พระนิเทศโลหสถาน" ...คุณพระท่านมีนามเดิมว่า "วูดฮัล" ท่านเกิดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๓ ข้อมูลจากท่านอาจารย์เธียร เจริญวัฒนา ชาวระโนดครูเก่ามหาวชิราวุธเมื่อ ๒๔๘๕ บรรพตุลาการ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยเห็นและได้พูดคุยกับพระเทศฯตัวเป็นๆมาแล้ว ทั้งเคยสอนกฎหมายวิชาละเมิดแก่ทายาทบางคนของพระเทศฯ ถ่ายทอดความทรงจำให้ผมฟังและจดมา (ประกอบกับข้อมูลจากความจำของผมในวัยเด็ก)ว่า...พระเทศฯรับราชการในสังกัดกรมราชโลหะกิจราวช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องกับช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ประมาณนี้้ คุณพระเป็นชายผิวคล้ำร่างใหญ่ ต่อมาราชการไทยส่งคุณพระมารับราชการที่สงขลา ในตำแหน่งข้าราชการวิสามัญโลหะกิจจังหวัด ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจตรากิจการแร่ของสงขลาเรา ท่านได้รับเงินเดือนสูงมาก คือ เดือนละ ๒๘๐ บาท ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนของผู้พิพากษาในขณะนั้น (เงินเดือนของผู้พิพากษาขณะนั้น ๒๔๐ บาท คือ ๓ ชั่งนับว่าสูงมากแล้ว เงินเดือนคุณพระเทศฯยังสูงกว่า) และแน่นอนว่าสูงกว่าเงินเดือนของเสมียนอาวุโสซึ่งรับอยู่ที่ ๒๘ บาท ต่อเดือน ส่วนเงินเดือนครูชั้นผู้ใหญ่นั้นเดือนละ ๘๐ บาท คุณพระเทศฯจึงเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของเมืองสงขลา ชั้นแรกที่ย้ายมารับราชการที่สงขลาท่านเช่าตึกสามชั้นหลังใหญ่เป็นที่พำนัก ตึกหลังนั้นตั้งอยู่ที่หัวมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตรงที่ถนนนางงามตัดกับถนนปัตตานี คุณพระเป็นข้าราชการที่รักการอ่านและรักการศึกษาค้นคว้า ซึ่งต่างกับผมมาก ผมนั้นรักที่จะคว้าความรู้ที่ครูค้นมาได้ ไม่ใช่รัก "ค้นคว้า" เรียกว่ารัก "คว้าค้น" เพราะครูเผลอเป็นไม่ได้เอาเสียเลยชอบคว้ามาทุกครั้ง ...(แต่ก็อ้างอิงแหล่งความรู้นะครับ)...ขณะรับราชการที่บ้านเราท่านมีที่สวนใหญ่แปลงหนึ่ง บริเวณนั้นสมัยที่สงขลายังมีกำแพงเมือง ตรงนั้นเดิมเรียกกันว่า "นอกแพง" เพราะอยู่นอกกำแพงเมือง ที่สวนของท่านตั้งอยู่ระหว่างวัดชัยมงคลกับวัดเพชรมงคล และอาจกินอาณาบริเวณไปทางด้านหลังวัดด้วย วัดชัยมงคลเดิมชื่อว่า "วัดโคกเสม็ด" ส่วนวัดเพชรมงคลเดิมชื่อว่า "วัดโคกขี้หนอน" คำว่าขี้หนอนนั้นไม่ใช่ว่าหนอนมาถ่ายไว้แล้วพระเดินไปเหยียบ ไม่ใช่อย่างนั้น ขี้หนอนเป็นภาษาใต้ดั้งเดิม คือ "กินนร" ที่คู่กับกินรี คำว่า "นอก" คำนี้พวกสงขลาทั้งบ่อยางบ่อพลับใช้กันบ่อย เช่น บริเวณที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลเมืองสงขลา หัวมุมถนนรามวิถีตัดกับถนนปละท่า ใกล้หอนาฬิกาที่แต่เดิมเคยมีนั้น บริเวณนี้เดิมเรียกว่า "นอกเมรุ" เพราะอยู่นอกกำแพงเมือง และเป็นที่ตั้งเมรุเผาศพของเจ้าเมืองกับคนในสกุล "วัดตีนเมรุฯ" ที่ซึ่งผมเคยมีวาสนาได้เป็นเด็กวัดอยู่คราวหนึ่ง ตั้งชื่อนี้ขึ้นก็เพราะอยู่ทางทิศเหนือของเมรุเผาศพเจ้าเมือง "ปละตีนเมรุ"


     (พากันไปเสียไกล...จะกลับมาเรื่องสวนพระเทศฯต่อ ก็ได้เวลาไปทำบุญเสียแล้ว.....เล่าคร่าวๆ ไว้ก่อน ..เอาเป็นว่าสวนของพระเทศฯเป็นสวนใหญ่ คุณพระมีวัวหลายตัวเลี้ยงไว้ที่สวนนี้ โดยมีคนเลี้ยงให้ คนเลี้ยงวัวของท่านก็เป็นชาวลังกา และพูดภาษาอังกฤษได้..เมื่อครูเคล้าอายุประมาณ ๑๑ ปี ครูเคล้า คชาฉัตร ครูดีศรีมหาวชิราวุธ เคยขึ้นนั่งขึ้นนอนบนหลังวัวของพระเทศฯ..ครับ./)......................++++++++.....(ทำบุญแล้ว)...เล่าเรื่องของพระเทศฯต่ออีกสักเล็กน้อย...คุณพระมีลูกหลานที่สงขลาหลายคน และทายาทของท่านบางคนเติบโตขึ้นมีหน้าที่การงานทางด้านการแพทย์ สกุลของคุณพระเทศฯนั้นคือ "วุฒิภูมิ" ซึ่งก็คือชื่อถนนสองสายที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดชัยมงคลและวัดเพชรมงคลดังกล่าวข้างต้น...น่าจะประมาณช่วงปลายรัชกาลที่ ๗ คุณพระนิเทศฯได้ออกจากราชการ จะออกเพราะ "ถูกดุลฯ" หรือลาออกของท่านเองไม่แน่ชัด แต่หลังจากหมดสิ้นภาระราชการแล้ว ท่านก็ตั้งรกรากอยู่ที่สงขลานั่นแหละ เพียงแต่ได้ย้ายที่พักไปอยู่ที่บ้านชั้นเดียวที่ถนนสายบุรี ที่บ้านนี้ภรรยาของท่านเปิดเป็นร้านขายกาแฟ ส่วนตัวท่านนั้นนั่งอ่านหนังสือ ท่านมีหนังสือดีๆเป็นจำนวนมาก หนังสือของท่านบางเล่มมีเนื้อหาสำคัญว่า "คนที่เป็นเพื่อนกันต้องไม่ยืมเงินกัน เพราะจะเสียทั้งเงินและเสียทั้งเพื่อน" ยิ่งกว่านั้นคุณพระนิเทศฯอ่านหนังสือแล้วท่านจะจดความรู้ที่ได้มาจากการอ่าน จดไว้ในสมุดหลายเล่มมาก เมื่อท่านอาจารย์เธียรของผมถาม ท่านตอบว่า..."ความรู้ที่จดไว้นี้ ตายไปแล้วเผื่อจะได้ติดตัวไปในชาติหน้า" คุณพระนิเทศฯ ท่านจากไปเมื่อปี ๒๕๐๗ ครับ......พูดถึงเรื่องข้าราชการที่เมืองสงขลาแล้ว ก็ขอเล่าต่ออีกนิดเกี่ยวกับราชทินนามของข้าราชการแห่งเมืองสงขลา คือว่าเดิมนั้นบริเวณตัวเมืองสงขลามี ๒ ตำบล ตำบลบ่อยางตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือ ตำบลบ่อพลับอยู่ทางทิศใต้ แยกตำบลกันที่ประมาณถนนหนองจิกและและถนนเก้าห้อง ถนนเก้าห้องนี้หลังจากการประกวดนางงามก็เรียกกันว่าถนนนางงาม ตำบลบ่อยางมีกำนันชื่อว่า "ขุนประโยชน์บ่อยาง" ชื่อเดิม โผ้เฉี้ยง อุณินฑโร ส่วนตำบลบ่อพลับมีกำนันชื่อ "ขุนบ่อพลับพิศาล" ชื่อเดิม อุหมาด พิศาล สำหรับแพทย์ประจำตำบลนั้นคือ "ขุนอภิบาลบ่อพลับ" ชื่อเดิม ทิ้ง บูรณธรรม ท่านขุนอภิบาลบ่อพลับท่านนี้เป็นคุณตาของอาจารย์ อาภรณ์ สาครินทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวรนารีเฉลิม สงขลา โรงเรียนอันเป็นแหล่งศึกษาร่มเย็นในแผนกศิลป์ฝรั่งเศสของผม เข้าใจว่าท่านอาจารย์อาภรณ์น่าจะเคยเป็นผู้พิพากษาสมทบของศาลเยาวชนฯสงขลาด้วย ราชทินนามข้าราชการเมืองสงขลาที่คล้องจอง ก็เช่น "ขุนศิลปกิจพิสัณฑ์ (ผัน ศุภอักษร)...ขุนศิลปกันพิเศษ (แปลก เจริญศิลป์)...ขุนศิลปกรพิศาล...ขุนศิลปการพิศิษฐ์"
     สงสัยว่าผมจะกลับสวนพระเทศฯที่บ้านของป้าเชยได้หรือ?..กลับได้ครับ...เมื่อผมและแม่ไปเยี่ยมป้านั้น มีแต่ชื่อสวนพระเทศฯ สภาพของสวนไม่มีเค้าให้เห็นเสียแล้ว หรือถ้าจะมีก็คงน้อยเต็มที่ เข้าใจว่าหมดสภาพไปเมื่อตัดถนนวุฒิภูมินั่นแหละ "วุฒิภูมิ" เป็นชื่อถนนที่ตั้งขึ้นเป็นอนุสสรแก่คุณพระ เพราะนามสกุลของท่านชื่อว่าวุฒิภูมิ ถนนเส้นนี้ยาวพอสมควร ปลายถนนด้านทิศตะวันออกยังมีสภาพเป็นสวนอยู่เล็กน้อย มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่ และค่อนข้างเป็นที่ลุ่ม สองฟากถนนเป็นบ้านไม้สองชั้นหลายหลัง แต่ละหลังงามดูสะอาดตาน่าอยู่ ประมาณปี ๒๕๒๑ มีบ้านตึกหลังหนึ่งเป็นบ้านเดี่ยวสีเหลืองอ่อนสวยงามมาก เป็นเรือนหอของนักธุรกิจค้าผ้าในตลาด ขณะนี้บ้านหลังงามดังกล่าวก็ยังมีอยู่ แม้ว่าสีจะเก่าหมองลงไปมากแล้ว........++++++....(ที่สงขลานั้นมีผู้สงสัยกันอยู่อีกสวนหนึ่ง คือ "สวนเถ้าแก่" สวนนี้เดิมเป็นของ "เถ้าแก่ยกสั้น" ท่านมีบ้านอยู่ที่บริเวณถนนนางงามตัดถนนยะลา ตัวท่านเป็นคนมีบุคลิกเงียบๆ ซึ่งเป็นธรรมดาของคนดีมีฐานะ เพราะไอ้ที่หนวกหูดังรำคาญจะช่วยเหลือพาลชนคนทุจริตอย่างที่เป็นอยู่เช่นในปัจจุบันนั้น ส่วนมากแล้วน่าจะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เถ้าแก่ยกสั้นมีสวนอยู่ที่บริเวณทิศใต้ของวัดโพธิ์ฯ ครูเคล้าเจ้าของวลี Today is chatpring day เคยพูดขำๆว่า ..."เถ้าแก่คนนี้แปลกดี จะยกทั้งที พันพรื้อที่ไม่ยกเสียให้ยาว"...)
     การได้เข้าเมืองครั้นนี้เหมือนกับว่าตัวผมได้เปิดโลกกว้าง โลกที่ไม่ได้มีแต่ทุ่งนา ต้นตาล ปากบางเชิงแส และความสุขจากการเล่นน้ำในทะเลสาบสงขลา เท่านั้น แต่เป็นการได้พบเห็นโลกที่มีความเจริญโดยเฉพาะทางการศึกษา ผมได้เห็นโรงเรียน "วิเชียรชม" โรงเรียน "มหาวชิราวุธ" ซึ่งรั้วซีเมนต์มีป้ายชื่ออักษรสีชื่อของโรงเรียนสีน้ำเงิน โรงเรียนทั้งสองดังกล่าวเป็นสถานที่เรียนของพี่ชายผม อีกทั้งผมได้เห็น "ตึกเคฯ" หลังงามในวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ ซึ่งวิทยาลัยการช่างชั้นสูงของภาคใต้แห่งนี้ในขณะนั้นพี่ชายของผมกำลังเรียนอยู่ในแผนกสถาปัตยกรรม พี่ชายของผมคนนี้เข้าเรียนที่แผนกสถาปัตย์ฯ เป็นรุ่นที่ ๒ ของวิทยาลัย นอกจากนั้นผมได้เห็นศาลจังหวัดสงขลา ได้เห็นศาลเด็กฯและได้เข้าไปในเขตศาลเด็กด้วย ...เข้าไปเฉพาะเขตศาลนะครับ เขต "หรางเด็ก" ไม่เกี่ยวกัน ไม่ได้เข้าไป...(...อันที่จริงคุกหรือตะรางนี่ดูแล้วมีค่าน้อยน่ารังเกียจก็จริง แต่ต่อให้มีเงินหรือมีการศึกษาสูงแค่ไหน ก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปเดินเล่นได้นะครับ..จะขอเข้าไปเที่ยว หรือขอเข้าไปกินข้าวสักมื้อขอกันง่าย ๆ ไม่ได้ หรือหากได้เข้าไปแล้ว จะออกกันได้ตามใจชอบก็ไม่ง่ายเหมือนกันนะครับ...จึงสรุปว่าคุกตะรางเป็นสถานที่สำคัญอยู่ไม่น้อย จะเข้าจะออกตามอำเภอใจไม่ได้..++/..เดิมเมื่อสมัยแต่แรก ที่เมืองสงขลามีสถานที่มีบริเวณที่ใช้เป็นที่ประหารชีวิตนักโทษอยู่ที่หนึ่ง คือ บริเวณที่ซึ่งปัจจุบันทุกวันนี้เรียกว่า "วชิรา" ด้านทิศใต้ของศาลเด็กฯ ตรงนั้นมีศาลาหลังคาสังกะสีอยู่หลังหนึ่งด้วย เป็นที่ให้พระเทศน์ให้นักโทษฟัง และให้นักโทษประหารกินข้าวมื้อสุดท้าย ก่อนที่จะตัดคอประหารชีวิตกัน.../อย่างไรก็ตาม การประหารชีวิตนักโทษที่มีชาวสงขลาร่วมกันมุงดูมากที่สุด ไม่ใช่การประหารที่วชิราหรอกครับ แต่เป็นการประหารกลุ่มนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ที่ร่วมกันก่อกรรมเลวต่ออาจารย์สมนึกและอาจารย์ศิริพร ผมขอเว้นชื่อกลุ่มนักโทษกลุ่มนี้ไว้ ..)การที่ผมได้ชมเมืองสงขลาครั้งนั้นก็โดยมีพี่ๆลูกของป้านำเที่ยวประมาณนั้น และทุกครั้งที่พี่ๆนำผมออกจากห้องพักของป้าที่โรงพยาบาล ทุกคนต้องเตือนผมเสมอว่า "อย่าลืม..เกือก" ต้องเตือนกันก็เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เท้าของผมมีภาระต้องใส่สิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่ารองเท้า มีอยู่บางครั้งเมื่อเดินออกมาถึงใต้ต้นราชพฤกษ์หน้าโรงพยาบาลสงขลาแล้วผมบอกให้พี่ๆรอ เพราะผมลืมเกือก อยู่บ้านนอกบ้านนาหนังเท้าหนาเสียเคยชิน...คิดไปแล้วสภาพของผมในช่วงนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับ "นายเถื่อนเป็นนายเมือง"...และที่ได้เป็นนายเมืองที่สุดสำหรับผมนั้น น่าจะเป็นเพราะได้ไปเที่ยวที่สวนเสรีข้างเขาน้อย กับได้ถ่ายรูปที่แหลมสมิหลา...นั่นเอง...อย่างไรก็ตาม จะกล่าวให้ชัดแจ้งลงไปแล้ว ผมคิดว่าภาพที่มีส่วนในการกระตุ้นความคิดของผมมากที่สุด มีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรก คือ ...ผมได้เห็นภาพถ่ายของผู้ที่ได้รับปริญญาที่ร้านถ่ายรูปในตลาดเมืองสงขลา...ผมไม่ได้รู้เองหรอกว่าเป็นรูปผู้ได้รับปริญญา รู้จากพี่ๆและป้าบอก ป้านั้นย้ำผมนักหนาว่าต้องเรียนหนังสือให้มากๆ จึงจะได้รับปริญญา.....ส่วนเรื่องที่ ๒ คือ ในระหว่างอยู่ที่สงขลาญาติพี่น้องได้นำผมไปเยี่ยมญาติที่อำเภอจะนะ ผมได้นั่งรถเท็กซี่ผ่านวงเวียนน้ำพุ และสนามบินสงขลา ผมจำได้ติดตาเมื่อมองผ่านคันคูและรั้วลวดหนามเข้าไป จำติดตาว่า ขณะที่ฝนกำลังตกผมเห็นเฮลิคอปเตอร์จอดอยู่ที่สนามบิน เป็นครั้งแรกในชีวิต(อีกแล้ว)ที่ผมได้เห็นเครื่องบิน..เกี่ยวกับเรื่องสนามบินที่สงขลานั้น มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องโจรปล้นเงินของธนาคารเอเชีย สาขาหาดใหญ่ ที่นำจากกรุงเทพฯ มาโดยเครื่องบิน มาลงที่สงขลาเพราะขณะนั้นที่หาดใหญ่ยังไม่มีสนามบิน โจรคนหนึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งแล้ว ไม่รู้จะเก็บ "หยบ" เงินไว้ที่ไหน จึงนำไปซ่อนไว้บนยอดต้นมะพร้าว เช้าขึ้นมาไปแหงนดู จนเป็นพิรุธในที่สุดก็ถูกจับได้

(วันเปิดศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลาเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๕ ,ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระยาอรรถการีย์นิพนธ์)

(พระยาอรรถการีนิพนธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถ่ายภาพร่วมกับคณะผู้พิพากษาและเหล่าผู้พิพากษาสมทบชุดแรกของศาลเด็กสงขลา ,ภาพจากหนังสือเล่มเดิม)

(ตึกเคหะศาสตร์ ในวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ ตั้งอยู่ไม่ไกลนักกับศาลเด็กสงขลา ,ภาพจากกระทู้ใน Web กิมหยงฯ )
     สุดท้ายสำหรับนายเถื่อนที่กำลังจะเป็นนายเมืองอย่างผม ที่ต้องเล่าไว้ก็คือ ช่วงเย็นๆ ผมเดินเล่นที่บริเวณโรงพยาบาลสงขลา ผมพบว่าชื่อของตึกที่มีห้องพิเศษของป้านั้น มีชื่อว่าตึก "ยุคลทิฆัมพร" ชื่อนี้ไม่เพียงแต่พิเศษที่มีห้องพักผู้ป่วยของป้าเท่านั้น แต่สำหรับผมแล้วพิเศษตรงที่ ผมต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษกว่าที่จะอ่านออก...เมื่ออ่านออกแล้วจึงเห็นควรเล่าพระกรณียกิจของเจ้านายชั้นสูงพระองค์นี้ ที่ทรงมีต่อชาวสงขลาพอเป็นสังเขป...เล่าเสร็จแล้วก็จะได้กลับบ้านเชิงแสเสียที...+++...ชาวสงขลารุ่นเก่าๆนั้นหากเอ่ยพระนามถึง "สมเด็จฯ" แล้ว ย่อมเป็นที่ทราบที่รู้กันว่าหมายถึง "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์" พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ "สมเด็จฯ" ท่านทรงเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ทรงสำเร็จราชการ ๓ มณฑล ทั้งมณฑลนครศรีธรรมราช(ที่ว่าการมณฑลตั้งอยู่ที่สงขลา) มณฑลปัตตานี และมณฑลสุราษฎร์ ขณะที่พระองค์ประทับที่สงขลาทรงโปรดเลี้ยงกวางด้วยนะครับ คอกกวางของพระองค์อยู่ป่าสวนหมากใกล้วัดไทรงาม (ตรงนี้เดิมเรียกว่าบ้านป่าหมาก)...+++...จะกล่าวไปแล้วจังหวัดสงขลาของเราได้รับพระมหากรุณาจากพระบรมวงศ์ชั้นสูงเสด็จมาปฏิบัติพระกรณียกิจอยู่เสมอมา และบางคราวก็ทรงหลีกลี้ภยันตรายทางการเมืองมาทรงพำนักที่จังหวัดของเรา กล่าวเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จฯเมืองสงขลานั้นเริ่มตั้งแต่การเสด็จฯของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ต่อจากนั้นเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็เสด็จประพาสเมืองสงขลาถึง ๙ คราว ระหว่างที่ประทับ ณ เมืองสงขลา ได้เสด็จฯ เหยียบศาลมณฑลนครศรีธรรมราช ณ เมืองสงขลา ถึง ๓ ครั้ง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระองค์เสด็จฯ เหยียบศาลที่เมืองสงขลาหนึ่งคราว เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๕๘ โดยพระองค์ประทับบัลลังก์ศาลทรงฟังพระยาทุษยันต์รังสฤษดิ์ (ทองคำ กาญจนโชติ,ต่อมาเป็นพระยาศรีธรรมราช,เจ้าของผู้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนหวังดี) อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลฯ และหลวงราชปรีชา (เชื้อ กฤษณมิตร)พิจารณาคดีคนร้ายลักกระบือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ชกาลที่ ๗ นั้น เมื่อฝ่ายรัฐบาลสู้รบชนะฝ่ายของพระองค์เจ้าบวรเดชที่หินลับแล้ว วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์ เสด็จฯลงเรือพระที่นั่ง "ศรวรุณ" ฝ่าคลื่นฝ่าล้มเสด็จฯมาประทับที่สงขลาถึง ๔๙ วัน การครั้งนั้นฝ่ายรัฐบาลระแวงข้าราชการที่รับเสด็จ ไม่นานนักทางการท่ี่กรุงเทพฯ ก็ได้จับกุมหลวงประกอบนิติสาร (ประกอบ บุณยัษฐิติ) อธิบดีผู้พิพากษาศาลฯที่สงขลา เข้าคุกและดำเนินคดี ...ข้อหานั้น ...พูดกันตรงๆ ก็คือข้อหาที่คุณหลวงประกอบฯ ท่านมีความจงรักภักดีต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗..หลวงประเวศวุฑศึกษา (ประเวศ จันทนยิ่งยง)อาจารย์ใหญ่มหาวชิราวุธของเรา ก็โดนย้าย...ต่อมา...ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จสงขลาครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๐๒ ปีนั้นผมยังไม่เกิด ยังอยู่ในชาติก่อน จึงระลึกไม่ได้ว่าได้เข้าเฝ้าฯหรือไม่ คงจะไม่ได้เข้าเฝ้าฯหรอก แต่ในชาตินี้นั้นจำได้ครับ..จำได้ว่าตัวผมเคยเฝ้าฯรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คราวที่พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ เสด็จฯ มาสงขลาบ้านเรา ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อปี ๒๕๒๐ ป้าเชยและพี่ๆ นำผมไปที่ค่ายรามฯ ถนนไทรบุรี ยังจำได้ติดตาถึงภาพและเส้นทางที่พระองค์ล้นเกล้า และทูลกระหม่อมพระราชธิดา ทรงพระดำเนินเลี้ยวอ้อมพระบรมราชานุสาวรีย์ไปทางด้านทิศใต้ ก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธี.../

(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถคราวเสด็จฯเหยียบศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๒ ..ในภาพผู้เฝ้าฯอยู่นั้น คือ ท่านอธิบดีผู้พิพากษา พจน์ บุษปาคม ,ภาพจากกองสารนิเทศฯ สำนักงานศาลยุติธรรม)

     หอมกลิ่นทุ่ง
     จากนายเถื่อนเกือบจะเป็นนายเมืองอยู่ได้ประมาณ ๒ สัปดาห์ ผมก็กลับบ้านมาเป็นนายเถื่อนตามเดิม...+++...เมื่อกลับมาถึงบ้านที่เชิงแสมีเพื่อนๆหลายคนมาหาผม ผมมีของฝากที่สำคัญมาให้เพื่อนๆ นั่นคือ กระป๋องนมเปล่าซึ่งที่เชิงแสนับว่าเป็นของที่หายากมากทีเดียว เพราะเด็กเชิงแสอย่างพวกเราส่วนใหญ่ที่เติบโตกันมานั้น ไม่ได้มาจากได้ดื่มนมหรอกครับ ดื่มกันแต่ "น้ำหม้อ" เนื่องจากหุงข้าวเช็ดน้ำ น้ำหม้อที่รินมาหลังจากที่ข้าวเดือดแล้ว ก็นำมาใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ยกขึ้นซดยามหน้าฝนอย่างนี้อร่อยร้อนเป็นทางลงไปถึงพุงถึงท้อง ระหว่างนั่งดื่มน้ำหม้อ แม่ก็จะให้เฝ้าหน้าเตาคอยดูว่า "ข้าวที่ดง" ไว้สุกดีสุกทั่วแล้วหรือยัง หากสุกยังไม่ทั่วก็จับหูหม้อหุงข้าวบริเวณที่มี "ไม้ขัดหม้อ" ขัดอยู่ แล้วยกตะแคง "ดง" จนข้าวสุก หากเบื่อน้ำหม้อผสมเกลือ ก็นำ "น้ำผึ้งแว่น" มาใส่ปากเกร็ดไปพลางดื่มน้ำหม้อไปพลาง...ก็อร่อยดีเหมือนกัน...กระป๋องนมที่ผมได้มานั้นเอามาทำรถไว้ลุนเล่นเข็นเล่นเมื่อถึงหน้าแล้งสนุกมาก...(มีเวลาจะวาดภาพให้ชม)...ส่วนหน้าฝนอย่างหน้านานี้ ยังเล่นรถไม่ได้ ...ต้องเล่นเรือที่ทำด้วย "นกพร้าว"...แต่ช่วงนี้ยังไม่ได้เล่นเพราะต้องช่วยแม่ทำนา

     ยามหน้านาของชาวเชิงแสนั้น ก่อนออกพรรษาต้นข้างสูงเลยเข่าแล้ว น้ำในนาก็เริ่มมากขึ้นเพราะฝนตกทุกวัน "...ถึงฝนจะตก ถึงฟ้าจะร้อง ถ้าไม่ได้เห็นหน้าน้อง พี่แทบละเมอ ละเมอ" นั่นเป็นเพลงของศรคีรี ศรีประจวบ นะครับ แต่สำหรับชาวเชิงแสแล้ว จะมาร้องเพลงอยู่ไม่ได้ ต้อง "คลุมผ้ายาง" ไปทำนา อยู่กันที่ในนา ซ่อมข้าว ตัดหญ้า ตัดข้าวผี ที่ในนาให้วัว เที่ยงวันตอนไหนบางวันก็ไม่รู้ เพราะไม่เห็นหวันไม่เห็นตะวัน รู้สึกตัวก็เมื่อเนือยหิวแล้ว "ขึ้นเที่ยง" ได้ก็ตั้งวงกินข้าวใต้ต้นตาลบนคันนานั่นแหละ น้ำฝนไหลไต่ใบโหนดลงมาในจานข้าวบ้าง ในปิ่นโตที่เรียกว่า "ชั้น" ที่ใส่แกงบ้างไม่ถือกันเพราะเป็นเรื่องปกติ ทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินจริงๆ ทุกคนทั้งผมทั้งแม่ทั้งพ่อเปียกชุ่มทั้งตัว เรียกว่า "วันยังค่ำ" อยู่แต่ในนา หากวันไหนลมพัดแรง แม่จะบอกว่า "หมผ้ายางให้แน่นๆ เสียตะลูก หมให้แน่นนะลูกเหอ จะได้ไหม้เย็น" (อ่านว่า.จะได้ไม่เย็น.) ทำนาหน้าฝนอย่างภาคใต้ที่ฝนตกชุกทั้งวันแม้จะไม่ร้อน แต่ก็ลำบากมาก...แม่และพ่อช่วยกันดูแปลงนาว่านาบิ้งไหนบริเวณไหนตรงไหนที่ใดมีข้าวห่าง ก็จะไปถอนข้าวตรงที่แน่นมา "ซ่อม" วิธีไปถอนข้าวแน่นมาซ่อมข้าวห่างนั้น แม่จะแบ่งคราวละครึ่งวัน คือว่า "งายเช้า" แม่จะถอนแบ่งข้าวที่แน่นเหมือนการถอนกล้า มัดเรียงแช่น้ำเป็นกำๆ ส่วนมากแล้วได้ไม่เกินงายละ ๕ กำ เพราะถอนแบ่งข้าวอย่างนี้ต้องระวังไม่ให้กระเทือนถึงต้นที่คงไว้ นอกจากนั้นเมื่อเจอหญ้าบ้าง โสนบ้าง ข้าวผีบ้าง หรือข้าวต่างพันธุ์ ก็ต้องถอนไปด้วย ได้ข้าวซ่อมแล้วต้องตัดปลายใบกล้าให้เสมอกัน เมื่อวางเรียงไว้ในน้ำในนาแล้วดูงามดี จากนั้นก็อุ้มกำกล้าเดินซ่อมไปเรื่อยๆ ผมเคยถามแม่ว่า "แม่ตัดปลายใบเสียไซร่ ปล่อยไว้ให้ยาวๆ ข้าวจะได้โตไวๆ" แม่ตอบว่า "ข้าวที่ปักซ่อมหรือดำใหม่ๆ ต้องตัดปลายใบ ต้นข้าวเพิ่งปลูกถูกลมแรงๆ จะล้มเสียเหม็ด" ปลายใบที่ตัดนั้นไม่ได้ตัดทิ้งหรอก ตัดแล้วผมมีหน้าที่เอาไปให้วัวกิน หน้าฝนอย่างนี้วัวทุกตัวยืนนิ่งอยู่ที่ "โคกหนำ" น่าสงสารมาก พวกมันรอพ่อตัดหญ้าและสับลูกโหนดให้กินเมื่อถึงช่วง "หวันไซ้" คือช่วงบ่ายๆ คำว่า "ไซ้" หมายถึงเวลาบ่าย ผมอ่านพบในสมุดไทยเดิมเรื่องกัลปนาฯ ก็ใช้คำว่า "ไซ้" เหมือนกัน และมีอีกคำหนึ่ง คือคำว่า "เลิกพระศาสนา" แปลว่า "ยกหรือฟื้นฟูศาสนา" เมื่อผมยังเป็นเด็กที่เชิงแสบ้านผม หากจะหาจิ้งหรีดในขี้ไถในนามาเล่นกัน ก็ต้อง "ไปเลิกขี้ไถในปาขี้ไถ หาจิ้งหรีด" คือไปยกก้อนขี้ไถในนาหาจิ้งหรีด หามาได้แล้วมันไม่ส่งเสียง "กริ๊ด ๆ ๆ" ก็ใช้วิธีเป่าท้ายจิ้งหรีด นึกถึงชีวิตวัยเด็กแล้ว บางช่วงเวลาก็ทำบาปทำกรรมเสียจริงๆ.....++++.....ทุกวันนี้มีอายุมากขึ้น เมื่อต้องตรวจร่ายกายประจำปีคราวใด ได้แต่ภาวนาอย่าให้ต้องถูกหมอตรวจก้นหาโรคเลย ที่กลัวก็เพราะนึกถึงกรรมที่ทำไว้กับจิ้งหรีดเมื่อยังเป็นเด็ก จิ้งหรีดที่ถูกพวกเราเป่าก้น อาจจะรอให้พวกเราถูกหมอตรวจก้นก็เป็นได้...

   

     หลังจากที่ฝนตกติดต่อกันมาหลายวัน เช้าวันเสาร์นี้ฟ้าเปิดแล้ว ฝนขาดเม็ดลงอย่างสนิท ให้ต้นข้าวได้รับแสงแดดและอากาศสดใส กล้าข้าว ทุ่งนา และป่าโหนด อวลกลิ่นหอม เป็นกลิ่นทุ่งที่หอมเย็นสดชื่นอย่างน่าพิศวง น้ำใสในนาสะอาดเมื่อเพ่งมองก็จะเห็น ต้นอ่อนของพืชน้ำจำพวก "หวา" หรือสันตะวา "ผักริ้น" "ขี้ไต้" ตะไคร่น้ำ ที่ชาวเชิงแสเรียกว่า "ไคร" เริ่มแตกหน่อระรวยใบอยู่ใต้น้ำ ปูนาตัวเขื่องท่ี่ผมและเพื่อนๆ เรียกว่า "ไอ้หิน" คลานผ่านกอข้าวต้นเก่าตรงมายังกอข้าวใหม่ที่แม่เพิ่งซ่อมได้ไม่นานนัก ไอ้หินใช้ก้ามใหญ่คีบแล้วถอยตัวดึงโยกต้นข้าว จนมวลดินใต้กอข้าวเริ่มขุ่น ม้วนตัวขึ้นมาเกือบถึงผิวน้ำ ผมนั่งมองเงียบๆอยู่ที่หัวนา ...ไม่ได้การแล้ว...ไอ้หินเริ่มจะถอนต้นข้าวได้ ...ว่าแล้วผมค่อยๆเอื้อมมือลงไปจนใกล้ถึงผิวน้ำแล้วตั้งวงนิ้วดีดน้ำ ...ผลุ้ง..เสียงดีดน้ำดังจนไอ้หินตกใจ รีบคลายก้าม แล้วคลานหนีโดยเร็ว ทิ้งรอยเท้าเป็นเส้นและหมวนน้ำไว้เบื้องหลัง.....นับว่าเป็นภาพที่อยู่ในความทรงจำของผมเสมอมา...สมัยเป็นนักเรียนมัธยมเคยเขียนพรรณาโวหารเรื่องที่ผมแกล้งไอ้หินเรื่องนี้ส่งอาจารย์เสียด้วย

     การจับปูหาปลานั้นเป็นเรื่องคู่กันกับเด็กบ้านนอกบ้านนา แต่เมื่อจะจับปูก็ต้องระวังก้ามปูหนีบมือ อย่างปูตัวโตเช่นไอ้หินนี้หนีบมือเจ็บมาก ไอ้โอ่งอ่างก็เป็นปูตัวใหญ่อีกชนิดหนึ่งที่หนีบเจ็บ อาจจะสงสัยว่าปูนาทั้งสองชนิดนี้ต่างกันอย่างไร ต่างกันชัดมากครับ คือ ไอ้หินที่กระดองมีลายขาวพาดสวยงาม ส่วนไอ้โอ่งอ่างกระดองสีน้ำตาลม่วงและออกจะเตี้ยกว่า ก้ามปูนาทั้งสองชนิดนี้ใหญ่เนื้อแน่นกินอร่อย จะต้มกินหรือเผากินก็อร่อย แต่ถ้าเผาก้ามปูกินก็จะตื่นเต้นกว่า ตื่นเต้นตอนที่ได้เห็นน้ำ ปุด ปุด ออกมาจากข้อต่อก้ามปู พี่สาวคนรองของผมแนะนำวิธีแก้ปูหนีบมือว่า...เมื่อถูกก้ามปูหนีบ "น้องบาว อย่าทกออก ถ้าทกออกจะเจ็บ เนื้อขาดได้ แต่ให้วางปูลงที่พื้น ปูหมันจะอ้าก้ามออก แล้วรีบคลานหนี เราถึงค่อยจับใหม่" นี่คือความรู้ชั้นยอด คำว่า "ทก" เป็นภาษาใต้คำเก่า แปลว่า ดึง ปูนานั้นนอกจากจะกินก้ามแล้ว ชาวเชิงแสบางคนที่ขยันจับปู ก็ทำมันปูขาย โดยเอามันปูเหลืองๆ ที่กระดองของปูมาต้มทำเป็นมันปู อร่อยมาก แม่ก็เคยทำ แต่นานๆ ครั้ง ส่วนใหญ่แล้ว แม่ซ้ือมาจาก "นัดหัวโคก" คือตลาดนัดที่สนามโรงเรียน ซึ่งมีสองวัน คือ วันอังคารและวันเสาร์ มันปูนี้ซื้อสักห้าสิบสตางค์ก็พอกินกันทั้งครอบครัวแล้ว เงินห้าสิบสตางค์ดังกล่าวยายและแม่เรียกว่า "โขก" ...๑ โขก เท่ากับ ห้าสิบสตางค์...++++++.....บ่ายวันนี้ กลับจากนาที่ขวางหวันแล้ว เพื่อนๆ สามสี่คนชวนกันไปตกปลาในนา คนหนึ่งถือจอบมาว่าจะขุดไส้เดือน เอาไปเป็นเหยื่อตกเบ็ด แต่ถูกผู้ใหญ่ห้าม เพราะฝนเพิ่งหยุดตก ไม่ให้ขุดที่ใกล้บ้าน แม่เคยแนะนำว่าให้ใช้ "ยางข่อย" เป็นเหยื่อเบ็ดแทน ตกลงเป็นอันว่าวันนี้พวกเราจะใช้ ยางข่อยเป็นเหยื่อ...ระหว่างทางไปตกปลาในนาที่ "สวนตีน" ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน พวกเราเดินร้องเพลงกันไปพลาง เน้ือเพลงมีว่า ..."ขึ้นเขา ไปเก็บกล้วยเถื่อน กลับมาถึงเรือน ขุดเดือนทงเบ็ด ไม่ทันถึงหนอง เดือนพองเพร็ดๆ ไม่ทันถึงหนอง เดือนพองเพร็ดๆ มือซ้ายถือเบ็ด มือขาวเด็ดเดือน"...

     เมื่อตกลงว่าจะใช้ยางของต้นข่อยเป็นเหยื่อปลา ดูเหมือนง่ายๆ ก็จริงอยู่ เพราะที่สวนตีนของบ้านเชิงแสนั้น ทุกสวนมีต้นข่อยต้นใหญ่ๆ ทั้งนั้น เริ่มจากที่ขอบ "สระตีน" ตรงด้านมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตรงนี้มีต้นข่อยใหญ่พอควรอยู่ต้นหนึ่ง หน้าร้อนแต่ละคราวลูกข่อยสุกเหลืองใสเหมือนแก้วพราวเต็มต้น ผมและเพื่อนๆ ไม่มีอะไรกินเล่น ก็ขึ้นไปกินลูกข่อยสุกต้นนี้ เพราะอยู่ใกล้บ้าน ที่นาสวนของแม่ก็มีต้นข่อยใหญ่ ใช้มีดสับยางออกมาได้ง่าย แต่วันนี้อาจพบปัญหาเสียแล้ว เพราะการใช้ยางข่อยเป็นเหยื่อปลานั้น จะใช้เฉพาะยางข่อยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ไข่มดแดงหรือตัวมดแดงผสม แล้วปั้นเป็นก้อนเกี่ยวตาเบ็ด วันนี้หน้าฝนและบ่ายมากแล้ว หาไข่มดแดงไม่ทัน เพื่อนผมคนหนึ่งแนะนำว่า หา "ปูสองดอง" มาทำเหยื่อดีกว่า ....ใช่แล้วครับ...บ่ายแก่ๆนี้ ตกลงว่า จะหาปูสองดองกัน ปูสองดองหรือปูสองกระดองเป็นปูที่เพิ่งลอกคราบ ทำเหยื่อเบ็ดได้ดี ปลาหมอชอบนัก

     ชวนกันตกปลาในนาข้าว เป็นความสนุกกันเสียมากกว่าที่จะให้ได้ปลาจริงๆ จนตะวันบ่ายมากแล้ว จึงพากันไปดื่มน้ำที่บ้านของปู่ปุ่น ย่าดำ จ้ายมะโน ทั้งสองท่านให้ความเอ็นดูผมและเด็ก ๆ มาก ทั้งสองท่านอยู่กันสองเฒ่าสองแก่ ไม่มีลูก และชอบทำบุญเป็นที่สุด เคยบริจาคเงินซ่อมสะพานใหญ่ข้าม "คลองควายอ่าง" กล่าวเฉพาะย่าดำนั้นเมื่อผมรับประกาศนียบัตรเนติบัณฑิตที่สวนอัมพร กรุงเทพฯ ก็มาร่วมแสดงความยินดีกับผม ...ปู่ปุ่นเห็นพวกเรามาถึงบ้านกลางนากลางทุ่ง ให้ดื่มน้ำแล้ว ก็เล่านิทานเรื่องปูให้ฟัง ว่า..."ตาแก่ใจบุญคนหนึ่ง ญาติให้ปูมาหลายตัว ตาจะต้มปูกิน แต่ก็กลัวบาป จึงตั้งจิตว่า เราจะตั้งกะทะต้มน้ำ แล้วใช้ไม้พาดที่ขอบกะทะ ให้ปูไต่ไป ตัวใดไม่ถึงคราว ก็จะไต่ข้ามได้ไม่ตกลงในน้ำต้ม ปรากฏว่า ปูที่ตัวเล็กไต่ถึงกลางไม้ ก็ตกลงไปทุกตัว เหลือไอ้หินตัวสุดท้ายที่ก้ามใหญ่ ไอ้หินไต่ข้ามได้ ตาจับไอ้หินมา แล้วพูดว่า ...เจ้าไต่ข้ามได้ เพราะตัวโตกว่าเพื่อน จะให้ไต่ครั้งเดียวหรือ ฉันก็เกรงว่าจะไม่ยุติธรรมสำหรับปูตัวใหญ่อย่างเจ้า"...ไอ้หินก้ามใหญ่จึงต้องไต่สองครั้ง..........ปู่มีนิทานสนุกและให้ข้อคิดมาเล่าอยู่เสมอครับ ..ก่อนกลับบ้านผมเห็นปู่ไอและดูเหนื่อย จึงถามปู่ว่า "โปไม่บายเหอ" ปู่ตอบว่า "หน้าฝน ไม่ค่อยบาย ฝนหยุดแล้ว หายหวัดกลับเป็นหอบเล่า แต่ไม่พรื้อแล้ว แรกเช้าไปวัดมา พ่อท่านให้ยาแก้หอบมาแล้ว" ..."ยาไหรโป?" ผมถามปู่ว่าพ่อท่านให้ยาแก้หอบเป็นยาอะไร..ปู่ปุ่นตอบว่า ..."ยาแก้หอบนั้น พ่อท่านว่า ให้..วาง..เสีย จะได้ไม่พักเที่ยวหอบอยู่"

(ย่าดำในงานบวชของผมเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ย่าดำนั่งที่ม้าหินติดกับพ่อที่ยืนอยู่ ด้านซ้ายมือของย่าดำเป็นย่ามาก และที่นั่งถัดจากย่ามากไปก็คือแม่ ระหว่างผมกับพ่อ คือ ลุงเห้ง ช่วยไล่ บ้านโคกพระ ลุงเห้งเป็นญาติของพ่อ พ่อเรียกว่า "เพนเห้ง" คำว่า "เพน" น่าจะมาจาก "พี่เณร" เป็นคำที่พ่อใช้เรียกผู้ที่เป็นรุ่นพี่ เช่น "เพนอิ่ม" "เพนปุ่น" ฯลฯ พี่เณรนั้นผมสันนิษฐานของผมเองอย่าเพิ่งเชื่อนะครับ...ภาพนี้ถ่ายภาพที่กุฏิกลางน้ำกลางทุ่งวัดเอก....บวชคราวนั้นผมจำพรรษาอยู่ครบษา จำวัดที่กุฏิหลังนี้กับท่านเจ้าคุณมนัสท่านเจ้าอาวาสพระนักพัฒนา แห่งบ้านเชิงแส)

     เย็นยามที่เดินตามหัวนากลางทุ่งข้าวเช่นเย็นนี้ กลิ่นทุ่งสวนตีนบ้านเชิงแส หอมทั้งกลิ่นทุ่งนา ดอกกล้วยผี ดอกเหมร และดอกลำเจียกข้างศาลาสระข่อยที่เรียกว่า "หลาสระข่อย" อีกทั้งดอกนมแมวก็ส่งกลิ่นหอมเคล้ารื่นริน พวกเราเด็กๆ ต่างพูดกันว่าดอกนมแมวหอมมากเวลาวัวเข้าคอก...แต่เรียวนมแมวนั้นใช้ตีเจ็บมาก พอกับหางปลากระเบน....+++++....ฝนหยุดตกได้ไม่กี่วันเมื่อถึงเดือนสิบสอง เดือนอ้าย เดือนยี่ ฝนภาคใต้ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ต้นข้าวตั้งท้องแทงดอกออกรวงงามยามหน้าฝนหน้าน้ำ....ครั้นถึงกลางเดือนยี่ไปจนเดือนสามฝนจึงหยุดตก ข้าวพันธ์ุหนักสูงเหนือหัว สุกเหลืองเป็นทุ่งทองใต้ทิวแถวต้นตาล.......++++..."หน้าเก็บข้าว" ...เริ่มแล้ว...บ้านเชิงแสทั้งข้าวทั้งปลาในนาสมบูรณ์อุดม บางคนเริ่มทำ "หลุมวิ่ง" เพื่อจับปลาช่อน ปลาดุกนา และปลาหมอ ต่อไปเมื่อเสร็จจากหน้าเก็บข้าวก็จะได้ "จับลูกคลัก"....และ "หวดนก"...กันแล้วครับ.....+++++/.....

(ภาพพานอรามาของทุ่งเชิงแสซึ่งจิตรกรได้วาดไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา...แม้จำเนียรกาลผ่านเวลามาสามกรุง นับหลายร้อยปีแล้ว แต่ความงามของท้องทุ่ง วัดวาอาราม ทั้งหมู่บ้านชุมชน ก็ยังคงมีอยู่เป็นส่วนใหญ่ ...,ภาพตามเข็มนาฬิกา...จาก "วัดเชิงแสพระครูเอก", "โพธิ์ดอรขรี" หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า ดอนโพธิ์ , "วัดพระไจยดีงาม" "เขารัชปูน"...ฯลฯ...ยังมีอยู่ครบ...เสียดายก็เพียง "วัดทเยา", "บ้านนางสีมา", "บ้านหลวงสีสังยศ" , "บ้านหลวงพรมหัวงาน" "บ้านเชิงแส กลางทุ่ง" และ"คลองพระ"...ซึ่งหากหมู่บ้านคามสถานเหล่านี้ยังมีอยู่ ผมเชื่อเหลือเกินว่า คนยุคปัจจุบันจะรับรู้เรื่องราวและสังคมในอดีตได้อีกมาก ผมคิดในใจสมมุติว่า หมู่บ้านกลางทุ่งเหล่านี้หากยังมีอยู่ก็คงเทียบได้กับ "บ้านโคกแห้วน้ำโอและวัดโคกแห้ว" กระมัง และอนุชนของหมู่บ้านเหล่านั้นบางคน อาจจะมีความรู้ขั้นสูงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นราชบัณฑิต เหมือนเช่น ท่านราชบัณฑิตณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ...แห่งบ้านโคกแห้ว ตำบลโรง ก็เป็นได้)

     หน้านาเก็บข้าวปีนี้ดังเช่นแทบทุกปีที่ผ่านมา ข้าวในนาสุกเหลืองอร่ามทุ่งพร้อมกับที่น้ำนาลุ่มยังสูงเกือบถึงเข่า...+++...ก่อนถึงหน้า "เก็บข้าว" ทุกคืนช่วงหัวค่ำจะได้ยินเสียงครกตำข้าวกันหลายบ้าน เป็นการ "ตำเหม้า หรือ ทิ่มเหม้า" คือตำข้าวเม่านั่นเอง แม่ไม่ได้ตำข้าวเม่าที่บ้าน แต่ตำกันที่บ้านสวนของย่าดำ แม่กลับมาตอนไหนไม่ทราบ ผมหลับไปแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาเพราะเสียงแม่ขูดมะพร้าว ตื่นขึ้นมาล้างหน้าแล้วแม่ "ขูดพร้าว" เสร็จพอดี ผมจึงนำ "เหล็กขูด" ไปเก็บ แล้วนั่งรอดูแม่ทำข้าวเม่าคลุกมะพร้าว จนจบลงท่ี่แม่พรมน้ำเกลือลงไปในกะละมังข้าวเม่า กะละมังนี้ที่บ้านผมเรียกว่า "โคม" (ไม่ใช่ "Comb" นะครับ) พรมน้ำเกลือแล้วแม่ก็ตักใส่ถ้วยไว้ถ้วยหนึ่งรอใส่บาตร ซึ่งช่วงนี้ออกพรรษาไปนานแล้ว ที่วัดกลางไม่มีพระพอ "ยืนบาตร" ดังนั้นช่วงนี้ผู้ที่มายืนบาตรแทนพระ คือ "ลุงหลง" ข้าวเม่าอีกถ้วยหนึ่งแม่ตักให้ยาย แต่ยายบอกว่าไว้กินพร้อมกัน ...ระยะเริ่มหน้าเก็บข้าวมีชาวเชิงแสหลายคนนำข้าวเม่ามาให้ยาย เป็นประเพณีและขนบบ้านนาของชาวบ้านเชิงแส ที่จะนำข้าวเม่าและข้าวสารใหม่ๆมามอบให้แก่ผู้ใหญ่ที่เคารพ มีญาติของแม่ครอบครัวหนึ่งอยู่ที่บ้านเขาใน ชื่อ "ลุงชุม" และ"ป้าอบ" นำทั้งข้าวสารใหม่และกล้วยมามอบให้ยายทุกปี นัยว่าเป็นญาติฝ่ายยาย น่าเสียดายที่เรื่องนี้ผมไม่ได้ถามแม่ให้ละเอียด เสียดายจริงๆ

(จดหมายของแม่ที่เขียนมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำนาและสภาพของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เมื่อประมาณเกือบ ๓๐ ปี ที่แล้ว...ผมยังคงเก็บจดหมายแม่ไว้หลายฉบับ)

     ช่วงเวลาก่อนเริ่มเก็บข้าวเช่นนี้ พ่อและแม่ต้องเตรียมเครื่องมือหลายอย่าง ทั้ง "แกะ", "แสรก" หรือ สาแหรก , "เปี้ยว" และหมวก นอกจากนั้นพ่อและแม่ยังได้จัดเตรียม "ลอมข้าว" ไว้เป็นที่เก็บเรียงข้าว วิถีชาวนาภาคใต้นั้น ไม่มียุ้งข้าว แต่มีลอมข้าวที่บนบ้าน เรียกว่า "จากรวง เป็นเรียง แล้วจึงดับขึ้นเป็นลอม" นี้คือขั้นตอนการเก็บเกี่ยวข้าวของชาวเชิงแสและชาวนาภาคใต้ลุ่มทะเลสาบสงขลา พ่อใช้เวลาประมาณหนึ่งวันรื้อข้าวเก่าไปตั้งเป็นลอมใหม่ที่ระเบียงด้านทิศตะวันตกของบ้าน ใกล้ๆกับลอมข้าวเหนียว เสร็จแล้วปูสาดใหม่คือปูเสื่อใหม่ (คำว่า "สาด" ที่ในภาษากลางว่าเสื่อนี้ นัยว่าเป็นภาษาเหนือที่ชาวพัทลุงนำมาใช้ แท้จริงเป็นอย่างไรคงต้องสืบค้นทางภาษากันต่อ) ส่วนผ้ายันต์มงคลและคำบูชาพระคุณของแม่โพสพที่ใส่ขวดสีดำ ซึ่งอยู่ที่บริเวณใจกลางลอมข้าวชั้นล่างสุดนั้น พ่อเก็บไว้อย่างดี เมื่อได้ข้าวใหม่หาบแรกมาจัดเป็นลอมข้าวในปีนี้แล้ว พ่อจะทำพิธี "ว่าคำพระ" ตั้งขวดดำใบนี้ที่กลางลอมข้าวใหม่ ทำนองเชิญขวัญข้าวสู่เรือนประมาณนั้น....ก็เหลือเชื่อเหมือนกันนะครับ ภาพเหล่านี้ผมไม่ได้เห็นเสียนานเพราะจากบ้านมาหลายสิบปีแล้ว แต่ยังคงจำได้เหมือนเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาไม่นาน ไม่ใช่ความจงความจำดีหรอก แต่เพราะเร่ิมแก่แล้วนั่นเอง...พี่สาวของผมเล่าให้ฟังว่า ก่อนผมเกิดประมาณ ๑๕ วัน ครั้งที่เกิดเหตุฆ่ากันตายที่หมู่บ้านอื่น ตำรวจใช้อำนาจกฏหมายสมัยเผด็จการ ตั้งข้อสงสัยและมารุมล้อมจับพ่อ เมื่อพ่อถูกจับแล้ว มีตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งมาที่บ้าน ต่างใช้เสียมและไม้แทงเข้าไปในลอมข้าว เพื่อจะหาปืน ปรากฏว่าไม่พบปืน พบแต่ขวดผ้ายันต์ขวัญแม่โพสพใบนี้...เหลือเชื่ออีกเช่นกัน ที่ต่อมาเมื่อผมเป็นผู้พิพากษาแล้ว ผมได้พบกับตำรวจคนดังกล่าว ดูหมดสภาพเต็มที แม้จะเป็นพลตำรวจตรีก็ตาม ไม่ได้พูดคุยอะไรกัน เพราะเขามาหาผู้พิพากษาคนหนึ่งที่ศาล ผู้พิพากษาคนดังกล่าวนั้นตอนนี้รักษาความเป็นผู้พิพากษาเอาไว้ไม่ได้ เนื่องจากมีเหตุให้ต้องออกจากราชการไปหลายปีแล้ว
     พ่อและแม่นำผมไปเก็บข้าววันแรกที่ "นาขวางหวัน" วันนี้ชาวเชิงแสแทบทั้งหมู่บ้านต่างเริ่มเก็บข้าวกันแล้ว ดูไปก็เห็นใส่หมวกใส่เปี้ยวถือแกะเก็บข้าวทั่วทุ่ง ครอบครัวของเราพ่อเดินแบก "ไม้ข่มข้าว" ไปด้วยเพราะข้าวพันธุ์พื้นเมืองทุกสายพันธ์ุเป็นข้าวต้นสูง ถึงที่นาแล้วแม่แขวนข้าวห่อและปิ่นโตไว้ที่กาบตาลของต้นตาลต้นเล็ก แล้วเริ่มจับกลางลำไม้ไผ่ทั้งลำที่เป็นไม้ข่มข้าว เดินบุกฝ่าต้นข้าวให้ไม้ข่มต้นข้าวราบในระดับเอว จากคันนาด้านทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก ที่ต้องข่มต้นข้าวก็เพราะให้ต้นข้าวโน้มลงทอดคอรวงข้าวจนพอเหมาะและพอดีกับการใช้ "แกะ" เดินเก็บที่ละรวง แม่เก็บข้าวเร็วมากเก็บได้เต็มกำมือแล้วก็ใช้ต้นข้าวสามต้นตัดให้ยาวประมาณ ๒ คืบ แล้วมัดเป็น "เรียง" แม่วางเรียงข้าวหงายไว้ เรียกว่า "หงายบัว" เป็นการตากข้าวไล่ความชื้นของน้ำค้างที่เกาะเมล็ดและระแง้ข้าว.....ใกล้เที่ยงพ่อก็มาตั้งเรียงข้าวให้หัวเรียงยกขึ้นตามเดิมเรียกว่า "บัวคว่ำ"...แม่และชาวบ้านเชิงแสทุกครอบครัวต้องยืน "เก็บข้าว" กันอย่างนี้เป็นเวลาถึงสามเดือนสี่เดือนจึงจะหมดข้าวในนา เหนื่อยยากลำบากมาก เที่ยงแล้วนั่งล้อมวงกินข้าวห่อกันบนคันนาใต้ต้นตาล กับครอบครัวของพี่ละอองลูกสาวคนโตของป้าเชย พวกเราเด็กๆมักจะหาที่นอนหลังมื้อเที่ยง แม่ก็นอนเหมือนกัน แต่นอนครู่เดียวแม่ว่า "ยืดหลัง" แล้วลงนาเก็บข้าวต่อไป ปล่อยให้เด็กๆ นอนหลับกันต่อ สักพักหนึ่งแม่ก็เรียกให้ลงนาช่วยเก็บข้าวกันต่อ...หน้านาช่วงเวลาเก็บข้าวอย่างนี้ มองทุ่งนาบ้านเชิงแสแล้ว ท้องทุ่งสีทองเหลืองงามอร่ามไปทั่วทุกแถวแนวต้นตาล ถึงแดดยามเดือนมีนาคม เมษายน จะร้อนเพียงใด แต่แม่และชาวบ้านทุกคนมีความสุขมาก ด้วยรวงข้าวในนาที่สมบูรณ์ เป็นทรัพย์ในดินที่ช่วยให้ชีวิตชาวนาได้ยืนหยัดอยู่อย่างยั่งยืน มองไปในทุ่งนาหน้าเก็บข้าว ทุกหนแห่งเห็นยืนเก็บข้าวกันทั่วทั้งทุ่ง ครั้นใกล้เที่ยงก็ตะโกนเรียกกันว่า "ขึ้นเที่ยงได้แล้ว กินเที่ยงได้แล้ว"...ข้าวทำให้ชีวิตเราอยู่ได้ ข้าวเปลี่ยนเป็นเงินส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือ หาความรู้ใส่ตัว สร้างตัวสร้างอนาคต เหมือนที่พ่อบอกกับผมเสมอว่า "พ่อไม่อยากให้ลูกๆ เป็นชาวนาเหมือนพ่อ ชีวิตชาวนานั้นเหนื่อยยากลำบากมาก" ผมและเด็กๆ บ้านเชิงแสรู้แต่ว่าเหนื่อยและร้อน แต่เรื่องยากลำบากนั้นไม่ค่อยรับรู้มากนัก เพราะยังเด็กเกินไป เราพวกเด็กๆ รอแต่ว่า อีกไม่นานแม่จะ... "ออกปาก นาวาน"
     ครอบครัวของผม นับว่าเป็นครอบครัวที่มีลูกน้อย พี่ๆที่โตพ่อแม่ส่งเรียนหนังสือในเมืองทุกคน พี่เศียรพี่ชายคนโตเรียนหนังสือชั้นประถมที่ "โรงเรียนสงเคราะห์ประชา" ร่วมห้องเดียวกับท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง พี่ปรีชาหรือพระปลัดปรีชาเรียนหนังสือที่ "โรงเรียนวิเชียรชม" พี่ดวงพรและพี่สาครเรียนหนังสือกันที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชาโรงเรียนเดียวกับพี่ชายคนโต แม่จึงมีเพียงผมและน้องสาวช่วยเก็บข้าวในนา รอพี่ๆปิดภาคเรียนจึงได้มาช่วยงาน การที่มีลูกช่วยงานได้น้อยอย่างนี้ ทำให้เก็บข้าวไม่ทัน จึงต้อง "ออกปาก นาวาน" ให้ชาวบ้านช่วยเก็บข้าวให้ "ออกปาก" หรือ "นาวาน" เป็นวัฒนธรรมของชาวนาเชิงแสที่ช่วยเหลือกันตามประสาชาวนา การออกปากนั้นจะเริ่มทำเมื่อ เพื่อนบ้านคนอื่นๆ เริ่มจะเก็บข้าวของตัวเองใกล้จะเสร็จแล้ว คือเริ่มจะว่างงานแล้ว แต่ข้าวของเรายังเหลืออีกหลายบิ้งนา ข้าวก็เริ่ม "หักแง้" เริ่มเก็บไม่ทันก็ต้องออกปากให้มาช่วยเก็บข้าวกัน การออกปากเก็บข้าวทำกันหลายเจ้า เป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติสำหรับเด็กๆ ก็คือ มันเหมือนกับว่าในวันนั้นที่บ้านมีการจัดงาน และในนามีเพื่อนบ้านจำนวนมาก ๒๐ คนเศษมาช่วยกันเก็บข้าว ดูเต็มบิ้งนาไปหมด สนุกมาก ...เช้าวันเก็บข้าวนาวาน แม่และญาติพี่น้องสามคนที่ฝีมือสุดยอดในการทำแกงหม้อใหญ่ๆ คือ พี่ละออง พี่โสภา และพี่สาวสุชาติ มาช่วยแม่ทำกับข้าว นาวานที่นาเราวันนี้ แม่ทำแกงคั่วนกกับหัวตาลเป็นอาหารหลัก แกงคั่วอย่างนี้ชาวเชิงแสเรียกว่า "แกงคั่วหัวโหนด" แม่บอกซื้อ "นกชันไขเป็ด" ไว้หลายตัวมาก เพราะขณะนี้ชาวเชิงแสส่วนมากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ในทุ่งนาหลังหน้าเก็บเกี่ยวมีนกมาก เมื่อบ่าวหวิดและน้าหลวงชิ้นช่วยซื้อนก "ที่ทำเสร็จ" คือถอนขนลนไฟมาให้แล้ว แม่ก็นำนกมาสับมาผ่าอกและหั่นเป็นชิ้นเล็กสดๆ พี่ๆเหล่านั้นทำเครื่องแกงและขูดมะพร้าว พร้อมกับหุงข้าวขึ้นสามหม้อใหญ่ ส่วนขนมหวานเป็นขนมกะทิสุก ซึ่งเรียกว่า "หนมเท่สุก" นั้นพี่ลั่นทมกับพีนีช่วยทำให้ สักครู่หนึ่งพี่ลั่นทมก็นำขนมมาที่บ้าน กับข้าวนาวานมีเพียงเท่านี้และสำหรับมื้อเที่ยง ส่วนมื้อเช้าพวกช่วยนาวานทานข้าวที่บ้านของตัวเอง แต่แม่สั่งซื้อ "ขนมปำ" ฝากพี่เขียวนำไปเลี้ยงพวกที่นาด้วย....ที่นาของเราวันนี้มีเพื่อนบ้านมาช่วยเก็บข้าวถึงยี่สิบคน ดูเต็มนา และสนุกมาก เสียง "แกะ" ตัดรวงข้าวและเสียงพูดคุยขณะ "เก็บข้าว" เป็นไปอย่างสนุกสนาน พ่อ น้าหลวงชิ้น พี่ช่วง บ่าวไชย และญาติๆบ้านโคกพระต่างช่วยกันขนเรียงข้าวมารวมไว้เตรียมทยอยหาบกลับบ้าน.....++++....และก่อนเที่ยงแม่ พี่ละออง พี่โสภา พี่สาวสุชาติ พี่ลั่นทม พี่นี ก็หาบสำรับกับข้าวและขนมมาถึงที่ "นาขวางหวัน" เสียงพี่ลูกแมวตะโกนแซวล้อเสียงดังไปทั่วท้องนาว่า "อี้สาวเหอ หมึงหาบหม้อแกงให้ดีๆ อย่าให้พลัดหัวนา แกงหกหมด ไม่พักได้กินกันแหละ" เสียงคนในขบวนหาบตอบมาว่า "แรกเดียวพลัดหัวนา ที่หนองใหญ่ หม้อแกงคั่วนกคว่ำ นกหกหมด เหลือแต่น้ำแกงในหม้อ นกหกเหม็ดแล้ว อี้ลูกแมวเหอ"...ก็คิดดูเถอะครับ หม้อแกงคว่ำอย่างไร แกงหกเหลือน้ำแกงไว้ในหม้อ...+++ประเพณีนาวาน นาออกปาก เหนื่อยไปสนุกสนานกันไปชีวิตชาวนาแต่ก่อนเป็นอย่างนี้...ช่วงเวลาใกล้เคียงกันญาติของพ่อจากบ้านโคกพระนำโดยพี่อารมย์ลูกของป้ากุ้งอีกคณะหนึ่งก็พากันมาสมทบ คณะนี้เตรียมมาหาบข้าวด้วย คืนนี้คงจะนอนกันที่บ้านของผม ไม่ได้มาช่วยอย่างเดียวยังได้นำกับข้าวถาดใหญ่และอวยใหญ่ของโปรดสำหรับผมมาช่วยงานนาวานด้วย นั่นคือ "ปลาดุกร้าเจี้ยน"..และ "ไก่บ้านต้มขมิ้น" ......๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐..............................................................................................................................................++++++++++++............ ข้าวเที่ยงนาวานวันนี้อร่อยเสียเหลือเกิน ทุกคนทานกันใต้ต้นตาล หอมกลิ่นแกงพื้นบ้านเคล้ากลิ่นซังข้าวฟางข้าวหน้าร้อน สนุกสนานครึกครื้นด้วยเสียงพูดคุยกันหลายเรื่องราว เช่น เรื่องการเตรียม "ตัดซัง" และการเตรียมปลูกแตงโม และถั่วเขียว ที่ทุ่งสวนตีน แต่ที่สาวๆ และพวกผู้หญิงกล่าวถึงกันมากในวันนี้ ก็คือ งานคณะผ้าป่าสามัคคีจากกรุงเทพฯที่จะมาทอดทำบุญที่วัดเชิงแส งานนี้จะเป็นงานใหญ่มากที่เดียว เริ่มมีการประชุมกันแล้วว่าจะมีคณะกรรมการจัดงานเดินทางไป "รับ" ลิเกชื่อดังจากกรุงเทพฯ มาแสดงที่หน้าโรงเรียนวัดเชิงแส ลิเกคณะนั้นคือ "ลิเกคณะบุษบา" ที่มีดารานำ คือ "บุษบา" "สายบัว" และพระเอกขวัญใจมวลมหาประชาชน "ประเทือง เสียงกาหลง" เจ้าของเสียงเพลง "ทหารผลัดสอง"...ลิเกคณะนี้ออกอากาศเป็นลิเกวิทยุทางสถานีวิทยุ ว.ป.ถ.๕ หาดใหญ่...ซึ่งพวกผู้หญิงติดกันงอมแงม ที่กรุงเทพฯนั้นวันที่ผมมีธุระต้องขับรถผ่านถนนงามวงศ์วานก็ให้คิดถึงลิเกคณะบุษบาแทบทุกครั้ง คิดถึงคำโฆษณาที่ว่า "ติดต่อลิเกคณะบุษบา ยาหอมตราห้ากระติกน้ำ ได้ที่ถนนงามวงศ์วาน กรุงเทพฯ นะคะ"++++...ตกบ่ายใกล้เย็นพ่อและญาติๆผู้ชายต่างช่วยกัน "ดับข้าว" ใส่สาแหรก หาบข้าวกลับบ้าน เดินตามกันเป็นแถวไปตามคันนา ครั้นยามเย็นคณะนาวานออกปากก็ได้เวลากลับบ้านกันแล้ว แม่ขอบใจทุกๆคนที่มาช่วยกันเก็บข้าวให้ ที่เหลืออีกไม่มากนักแม่ก็จะเก็บคนเดียว อีกสักสัปดาห์คงจะเสร็จ "หยามนา" ในปีนี้หยามนี้ .....ได้เห็นภาพสาวชาวนาพากันเดินกลับบ้านในยามเย็นๆเช่นนี้แล้ว ก็ให้คิดถึงเพลง "ไอดินกลิ่นสาว" เสียจริงๆ ..."กลิ่นฟางสาบสาวมันติดผิวกายเรียกร้อง คิดถึงใบหน้านวลน้อง ใส่งอบเดินท่องท้องนายามบ่าย ผิวน้องหม่นแมม สองแก้มเปื้อนดินและทราย ไม่อาจลบความงามลงง่าย ไม่วายแอบมองต้องตา ".....และท่อนเพลงท้ายๆที่ว่า...."กลิ่นโคลนสาบควายมันติดผิวกายพี่นัก ทั้งกลิ่นฟางข้าวสาวรัก เมื่อคิดแล้วอยากหวนคืนยังถิ่น อยากพบแก้วตา แม่เทพธิดาชาวดิน น้องบ้านนาขวัญตาของถิ่น ดินแดนกันดารบ้านนา" เพลงนี้ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้แต่ง โดยมี รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เป็นผู้ร้องครับ...........๐๐๐๐๐๐๐๐๐........................................................................................................................................................++++++++++...... ค่ำแล้ว...แม่และญาติๆจากบ้านโคกพระช่วยกันอุ่นกับข้าวที่เหลือมาจากที่นา โดยญาติบางคนก็ช่วยกันล้างจานชามสำรับจากนาวาน,. ที่บนลอมข้าวพ่อ พี่รมย์ น้าหลวงชิ้น ต่างช่วยกัน "ดับลอมข้าว" ซึ่งสูงขึ้นจนใกล้ถึงแปทูแล้ว แสงตะเกียงน้ำมันก๊าดที่วางอยู่ใกล้กับหัววัวของแม่ที่แขวนขาวอยู่ วัวตัวนี้ตัวที่ชื่อว่า "ไอ้จำปา" ส่องแสงเหลืองนิ่งให้เห็นเงาของพ่อและญาติทั้งสองไหวอยู่ที่ราวลูกกลอนบนหลังคาบ้าน ปีนี้ชาวเชิงแสทุกครัวเรือนได้ข้าวมากเพราะข้าวได้น้ำดีแดดงาม บางรายที่เก็บข้าวเสร็จแล้วก็เริ่ม "ตัดซัง" มารวมไว้ในโรงซังเตรียมไว้ให้วััวกินช่วงหน้าฝนยามปลายปี อีกสองสามคืนคราวเดือนแจ้งเดือนหงายก็จะมีการออกปากตัดซังกันแล้ว ออกปากตัดซังตอนหัวค่ำนั้น ผู้ออกปากมักจะเลี้ยงข้าวต้มไก่ หรือไม่ก็ข้าวต้มกุ้ง เรียกตามภาษาของชาวเชิงแสว่า "ข้าวเปียกไก่" หรือ "ข้าวเปียกกุ้ง"...เสร็จจาก "ดับข้าว" แล้วพ่อ น้าหลวงชิ้น และพี่รมย์ มานั่งมวนใบจากสูบบุหรี่กันที่นอกชาน รอให้เหงื่อแห้งแล้วจะได้อาบน้ำที่ตุ่มข้างบ้าน แล้วตั้งวงกินข้าวค่ำ...ระหว่างที่สูบบุหรี่กันอยู่นั้น พ่อเปรยขึ้นว่าเสร็จหน้านาแล้ว ชาวเชิงแสโคกพระก็ยังต้องระวังโจรมาปล้นวัว เพราะช่วงนี้ไม่มีข้าวแล้ว ฝูงวัวจะถูกปล่อยและพากันไปกินหญ้าและแขนงข้าวในทุ่งไกลบ้านมากขึ้น พวกโจรแถวบ้านเนินมักจะมาปล้นวัวอยู่บ่อยๆ...../(บทที่ ๗ ผมจึงเล่าเรื่องราวของโจรปล้นวัว...แต่ยังเขียนไม่จบ เล่าไม่เสร็จเสียที)..............................๐๐๐๐๐๐๐๐..........................................................................................................................................................+++++++++....... คืนนี้...เมื่อเอนหลังนอนบนเสื่อที่ระเบียงบ้าน ลมทุ่งไล่ลมร้อน กลิ่นท้องนาหลังหน้าเกี่ยวหอมชื่น อวลกรุ่นทั่วบ้านเชิงแส ลำไผ่สีสุกต้องลมเบียดเสียดสีเหมือนซอกล่อมบ้านนา แกะที่เก็บข้าวเสียบอยู่ที่เปี้ยววางนิ่งที่หัวผลา พอให้ได้เห็นเป็นเงารางๆ...กลิ่นโคลนสาบวัวเคล้าโชยอ่อน ยามนอนหลับแล้วใฝ่ฝัน....///

6 ความคิดเห็น:

  1. เขียนดีจังเลยค่ะ ภาษาง่ายๆแต่ไพเราะได้อรรถรสและเห็นภาพบ้านทุ่งริมเลที่งดงามและมีเสน่ห์ หากไม่รังเกียจจะขออนุญาตรบกวนเรียนถามข้อมูลบางเรื่องเป็นความรู้บ้างนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. - ยินดีอย่างยิ่งครับ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ผมไม่ทราบนะครับ.ที่เขียนไว้ก็เพื่อให้ลูกหลานชาวบ้านเชิงแส และท่านที่สนใจได้อ่านเป็นข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเกิดของปู่ย่าตายาย หรือชีวิตของคนแต่ก่อน.อย่างไรก็ตาม บางเรื่องผมก็เขียนไม่ปะติดปะต่อ แต่ต้องเขียนคร่าวๆ ไว้ กลัวจะลืม.ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ.ที่ไม่ได้ตอบก่อนหน้านี้ เพราะผมเพิ่งเห็นวันนี้เองครับ.
    - ภาษาเขียนแบบบ้านๆ เขียนสดๆ ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับ.
    - ท่านที่สนใจงานเขียนผม ที่รวมเล่มไว้ ตามอ่านได้ ที่เรื่อง "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย","รอยเสด็จ ภูมิสถาน ศาลยุติธรรม" เป็นต้น.

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีอีกครั้งค่ะคุณนิกร อยากจะรบกวนเรียนถามค่ะว่าพอจะค้นเรื่องราวเกี่ยวกับข้าราชการเมืองสงขลาที่คุณนิกรได้กล่าวถึงไว้ "กำนันชื่อว่า "ขุนประโยชน์บ่อยาง" ชื่อเดิม โผ้เฉี้ยง อุณินฑโร ส่วนตำบลบ่อพลับมีกำนันชื่อ "ขุนบ่อพลับพิศาล" ชื่อเดิม อุหมาด พิศาล สำหรับแพทย์ประจำตำบลนั้นคือ "ขุนอภิบาลบ่อพลับ" ชื่อเดิม ทิ้ง บูรณธรรม" จากเอกสารที่ไหนได้บ้างคะ เนื่องจากดิฉันเป็็นลูกหลานของบุคคลหนึ่งในนั้นค่ะ ขอความกรุณาช่วยชี้แนะด้วยนะคะ กราบขอพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

      ลบ
    2. อ่านจากหนังสือครูเคล้า คชาฉัตร และจากการสอบถามท่านอาจารย์เธียร เจริญวัฒนา อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมครับ ท่านอาจารย์ตอนนี้อายุ ๙๔ แล้วครับ.,สนใจเรื่องราวของสงขลา เข้าไปเป็นหรืออ่านข้อมูลในกลุ่มปิด "นาฬิกาแห่งกาลเวลาที่สงขลา facebook" ก็ได้นะครับ./

      ลบ
    3. กราบขอบพระคุณคุณนิกรเป็นอย่างสูงนะคะ เดี๋ยวจะลองไปหาหนังสือครูเคล้า คชาฉัตรมาอ่านดูค่ะ กลุ่มนาฬิกาแห่งกาลเวลาที่สงขลาน่ารักและอบอุ่นมากค่ะ

      ลบ