วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

บทที่ ๕ Massey Ferguson ความผันแปรรอยไถในท้องทุ่ง


บทที่ ๕ Massey Ferguson ความผันแปรรอยไถในท้องทุ่ง


      จากเรื่องราวเรื่องแรกของ "เชิงแสบ้านแม่ บ้านทุ่งริมเล" จนถึงเรื่องที่ ๒๑ "อินทผาลัม ที่ขนำปลายนา" ผมขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านข้องานเขียนของผม ขอบคุณทุกท่านนะครับ...อยากจะขอบคุณให้ยาวกว่านี้ แต่เสียงรถจักรแทร็กเตอร์ดังขึ้นแล้ว ต้องรีบวิ่งกันไปดูแล้วล่ะ...

       เสียงเครื่องยนต์ของรถจักรไถนาคันสีแดง ยี่ห้อ Massey Ferguson ราคา ๒๖,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นรถไถนาคันแรกสุดของบ้านเชิงแส ดังกระหึ่มทุ่ง รถไถนาคันนี้เป็นของน้ากิมจั่น ประพันธ์ ธีระกุล แม้ "รถจักร" คันแรกของหมู่บ้านจะเป็นรถที่มีกำลังเครื่องยนต์ไม่มากนัก แต่ก็ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีการทำนาของชาวเชิงแสอยู่ไม่น้อย หากจะเปรียบเทียบแล้วคงคล้ายกับคราวที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายนวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงสั่งนำเข้ารถแทรกเตอร์เข้ามาใช้ในที่นาทุ่งรังสิตเมื่อปี ๒๔๔๙ ประมาณนั้น ทั้งนี้เพราะการเข้ามาของ "Ferguson" รถจักรคันแรกทำให้ต่อมาไม่นานนักมีชาวเชิงแสอีกสามสี่รายได้สั่งซื้อรถจักรแทรกเตอร์จากบริษัทที่อำเภอหาดใหญ่มาไถนาในแปลงนาของตนเอง และรับจ้างไถนาให้แก่เจ้าของนารายอื่นด้วย
 
      และหนึ่งในจำนวนผู้ที่สั่งซื้อรถแทรกเตอร์มาไถนา ก็คือ พ่อ โดยพ่อร่วมหุ้นกับคุณอา รถที่พ่อซื้อมาเป็นรถแทรกเตอร์ยี่ห้อ "FORD" สีน้ำเงินมีแถบขาวคาด ผมยังจำได้ดี ขณะนั้นผมอายุได้ ๕ ขวบ จำได้ด้วยว่าผมยืนอยู่ข้างรถไถ น้าหลวงคนขับยกตัวผมขึ้นไปนั่งบนรถคันนี้ การที่รถแทรกเตอร์เข้ามาสู่ทุ่งเชิงแสดังกล่าวนั้น หากจะเปรียบไปแล้ว (...ผมจะกล่าวเฉพาะรายของพ่อ รายของพ่อคนอื่นแม้จะสนิทกันมากเพียงใด ผมก็ไม่เกี่ยวนะครับ คือพ่อของใครคนนั้นต้องเขียนเอาเอง) ก็นับว่า...เป็นเรื่องที่ฝรั่งเรียกว่า "Skelton bone in the cabinet หรือโครงกระดูกในตู้...ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ "ลมหัวด้วน" หน้าร้อนที่พัดผ่านท้องทุ่ง เนื่องจากได้ทิ้งรอยร่องแห่งความเสียหายไว้แก่ครอบครัวอยู่ไม่น้อย โดยรถแทรกเตอร์ไถนาของพ่อคันนี้เดินจักรไถนาได้ไม่กี่ปีก็ต้องมาจอดเสียอยู่ที่หน้าศาลแพ่ง กรุงเทพฯ ในคดีแพ่งหมายเลขคดีแดงที่ ๑๐๐๐๐เศษ/๒๕๑๘ ต่อมาหลังจากนั้นสิบปีเศษเมื่อผมเป็นนักเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ผมไปขอคัดสำเนาคำพิพากษาที่ศาลแพ่ง สนามหลวง ผมถูกเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง เรียกเงินตั้ง ๑๐๐ บาท โดยไม่มีใบเสร็จ แต่โลกนี้กลมและหมุนเร็วจริงๆ ครั้นเมื่อถึงพ.ศ.๒๕๓๕ ผมสอบผู้พิพากษาได้แล้ว ผมฝึกงานที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ยังพบกับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ...ตั้งใจว่าจะย้อนความหลังกันเสียหน่อย ก็ยังไม่ทันได้ย้อนความหลังกัน...ต่อเรื่องรถไถนาดีกว่า...รถแทรกเตอร์ของชาวบ้านเชิงแสคันอื่นหลายคันก็เช่นเดียวกัน มาจอดเสียอยู่ที่หน้าศาลแพ่งเหมือนๆกัน...เหตุผลสำคัญก็คือ เศรษฐกิจของผู้คนชาวบ้านเชิงแสมีพื้นฐานจากการทำนา นาที่เหมาะกับการใช้แรงงานวัว พวกไอ้แดงหน้าโพธิ์ ไอ้ลาย ไอ้ลางสาด ไอ้ดำ อีแดงเขากุด เพื่อนร่วมชีวิตที่มีหญ้าเป็นอาหาร ไม่ใช่รถแทรกเตอร์ที่มีน้ำมันและดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อเป็นอาหาร เมื่อทุกคนต่างมีที่นาไม่กี่สิบไร่ ใช้รถแทรกเตอร์ทุกคันไถนา ที่นามีไม่พอจะให้ไถดะไถแปรได้...เจ้าของรถต่างแข่งขันกันลดราคาค่ารับจ้างไถ เงินค่าเช่าซื้อจึงได้น้อย ไม่พอส่งค่างวด เกิดเป็นหนี้สินขึ้นทบทุกเดือน ยิ่งเมื่อเสร็จหน้านา หมดหน้าไถ รายได้มีไม่พอส่งบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ บางรายต้องคืนรถ บางรายพยายามนำรถข้ามทุ่งไปรับจ้างไถที่ทุ่งระโนด ซึ่งที่นั่นก็มีรถแทรกเตอร์อยู่เช่นเดียวกัน มิหนำซ้ำมีชาวเชิงแสบางคนได้พบอาชีพใหม่ คืออาชีพ "พารถจักร" คือนำรถแทรกเตอร์จากตำบลอื่น อำเภอที่อื่น มารับจ้างไถนาที่ทุ่งนาบ้านเชิงแส เมื่อปัญหาเรื่องรถแทรกเตอร์สร้างรายได้ต่อเดือนไม่พอค่างวด ไม่กี่ปีรถจักรไถนาแห่งทุ่งเชิงแสก็เริ่มหมดไปเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นเสียงรถจักรหลายคันที่ครางกระหึ่มกลบเสียง "แจง ๆ"..."เข้า ๆ"..."พาย ๆ"..."ลง ๆ" ก็ค่อยๆ เบาเสียงลง

(รถแทร็กเตอร์ ยี่ห้อ Massey Ferguson)

     บัดนี้เสียงหายใจหนักๆของวัวถึกเมื่อยามลากคันไถ ผสมผสานกับเสียง...แจงๆ..เข้าๆ..พายๆ ของชายหญิงแห่งบ้านเชิงแสที่กุม "หางยาม" แน่นกดผาลไถก่อผืนนาให้เป็นคลองไถ ได้หวนคืนกลับมายังทุ่งเชิงแสอีกคราวหนึ่งแล้ว...ภาพของการ "ไถนาวาน" กลับมาอีกครั้งเมื่อพ.ศ.๒๕๑๘ วัวคู่งามที่เข้าแอกเทียมหางยาม ลากหัวหมูและผาลไถเมื่อเริ่มย่างเข้าเดือน ๙ ต่อเดือน ๑๐ หลังวันชิงเปรตหนหลังผ่านพ้นไม่นาน พร้อมฝนนอกที่โปรยปรายลงมา ให้ดินพอนุ่มเท้า ในท้องทุ่งนาเชิงแสปีนี้ งายเช้า มองไปทางไหนก็เห็นแต่หญิงชายชาวเชิงแส จับหางยามคันไถเดินตามหลังวัวคู่ใจ พลิกแปรผืนดินให้เป็นรอยไถไปทั่ว...ขณะที่ในห้องเรียน..พวกเราเด็กนักเรียนชั้นประถมก็ได้ยินครูบางท่านเล่านิทานตลกเกี่ยวกับแทรกเตอร์ว่า ...พวกรุ่นพี่ๆของเธอ เข้าไปเรียนมัธยมที่เมืองสงขลา เขียนจดหมายฝากเรือยนต์มาขอเงินพ่อแม่ว่า แม่เหอ ลูกจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การเรียนราคาแพงมากน้องน้องราคารถไถแทรกเตอร์ แม่ส่งเงินมาให้ลูกโดยเร็ว เพราะลูกต้องซื้อ ..."ไม้โปรแทรกเตอร์" ...พร้อมทั้งตบท้ายด้วยคำยอดนิยมสำหรับเนื้อความจดหมายขอเงินจากพ่อแม่ที่ว่า "หวังว่าพ่อและแม่คงไม่ขัดข้อง..." ...ส่วนแม่นั้น รับจดหมายจากลูกแล้ว ก็ครวญเบาๆผ่านลมทุ่งให้พอได้ยินว่า "...ไอ้บาว อี้สาว ขอเบี้ยมาแล้วเล่า หมันบอกมาว่า กูคงไม่ขัดข้อง กูอี้ขัดข้องทำไหร กูบอกพวกหมันไปว่า กู้ไม่ขัดข้องหรอกลูกเหอ ตอนนี้กูไม่ขัดทั้ง"ข้อง" และไม่ขัดทั้ง"แตรง" เพราะต้องไถนา ฉากหัวนา ไม่มีเวลาทำข้องหาปลา ต้องทำนาสงเบี้ยให้โหมรสูเรียน หวังว่าพวกสูคงจะได้ปริญญาบัตรก่อนปริญญาบุตร นะลูกเหอ.."

     ปริมณฑลแห่งตำบลเชิงแส.........จากที่เคยกล่าวไว้ในบทที่ ๒ ว่า ด้านทิศตะวันตกของบ้านเชิงแสนั้นติดกับทะเลสาบสงขลา มีความยาวจาก "หน้าท่าเตียน" ไปทางทิศเหนือผ่านปากบางเชิงแส ต่อเรื่อยไปยังปากบางโคกพระ ยาวประมาณสองกิโลเมตรเศษ ผมทิ้งค้างไว้ในบทดังกล่าว จึงขอต่อเสียตรงนี้ว่าอาณาเขตของบ้านเชิงแสด้านทิศเหนือก็เป็นแนวจากปากบางโคกพระปละคลองหัวนอนเรื่อยตรงขึ้นไปด้านทิศตะวันออก ผ่านกอไผ่ริมคลองในหมู่บ้าน ตัดสู่ทุ่งนาเรื่อยไปประมาณ ๓ กิโลเมตร ผ่านทุ่งที่เรียกว่า "ปลายหรำ" ตรงไปอีกจนถึงทุ่งนาที่เรียกว่า "หนองคลองช้าง" และ "หนองตรุดห้าง" บริเวณนี้เป็นที่นาของลุงคล้าย ไชยสุวรรณ คุณพ่อของผู้ช่วยศาสตราจารย์จวน ไชยสุวรรณ นักเรียนนอกคนแรกๆของบ้านเชิงแส พี่จวนของผมและของน้องๆ เป็นนักเรียนอเมริกา และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตรงนี้ไกลจากหมู่บ้านมากและต่อเขตแดนกับตำบลวัดสน เมืองพังยางโบราณ หากดูแผนที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ประมาณ "บารนางสีม้า" (อ่านว่า บ้านนางสีมา) จากบริเวณนี้หักไปทางทิศใต้ ไปตามทางที่เรียกว่า "หมอน" คือเขตแดนระหว่างบ้านเชิงแสกับหมู่บ้านเจดีย์งาม และบ้านอื่นๆ ที่อยู่ด้านที่ดินสูงกว่า เรียกกันรวมๆว่า "เนิน" เรียกชาวบ้านว่า "พวกเนิน" และเรียกเขตแดนว่า "หมอนเนิน" หมอนเขตแดนนี้ครอบครองไม่ได้เป็นทางเป็นที่สาธารณะ กว้างประมาณ ๑๐ เมตร จากหนองตรุดห้าง ผ่านมาที่ "หนองบ่อ" ซึ่งเป็นหนองน้ำจืดที่สุด ดื่มได้อร่อยคงจะพอๆกับน้ำจืดใน "แม่น้ำเพชรบุรี" ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ห้ว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริไว้ ยายมีที่นาอยูที่หนองบ่อประมาณ ๕ ไร่ ต่อมาเป็นของแปะช้อย น้าวิสัยและของแม่ตามลำดับมา จากหนองบ่อเขตแดนเชิงแสเรื่อยไปทางทิศใต้ ผ่าน "หนองพานทอง" "หนองนกพลัด" และ"หนองพังกาน" คลองผี แล้วผ่านหมู่บ้านและวัดโบราณชื่อว่า "วัดทเย้า" ปัจจุบันทุกวันนี้เป็นทุ่งนาตั้งอยู่ที่ทิศตะวันออกของเขารัดปูน เรียกว่า "เยา" ใกล้ท้องทุ่งที่กล่าวถึงมานี้ ผมและเพื่อนๆเคยไปตัดหญ้าใส่ "หย้องแหย้ง" หาบมาเลี้ยงวัวเสียหลายต่อหลายครั้ง เพราะหญ้าที่บริเวณนี้และที่ใกล้เคียงสมบูรณ์มาก เขียวชอุ่มเต็มคันนา ใต้ต้นตาลโตนด ทำกันเป็นประจำในวัยเด็ก จึงเขียนให้อ่านได้อย่างลื่นไหล ประหนึ่งว่าเวลาเพิ่งผ่านมาไม่นาน ..คงเริ่มแก่แล้ว.. แต่ต้องยอมรับว่าทุ่งที่ตรงนี้ไกลและเปลี่ยว ต้องไปกันสองสามคน ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วยลำพังพวกเด็กๆไม่ควรนำวัวไปเลี้ยง เพราะจะถูกคนต่างถิ่นปล้นวัวได้ .../และที่บริเวณนี้ชาวโคกพระได้แสดงความกล้าหาญไล่ตามโจรปล้นวัวและเกิดยิงต่อสู้กันตั้งหลายชั่วโมง โจรภายใต้การนำของ "ไอ้..."(ที่จริงผมยังจำชื่อและตำบลที่อยู่ของโจรพวกนี้ได้ แต่มันจะไม่ดีเพียงใดก็ขอไม่เอ่ยชื่อ)หัวหน้าโจรที่มีปืน เอ็ม.๑๖ ถูกยิงตายที่นี่ ๒ คน ผมและชาวเชิงแส โคกพระไปดูศพโจรกัน ยังจำได้ติดตา "ไอ้..."หัวหน้าโจร นอนตายอยู่ข้างคันนา สภาพศพนอนหงาย มือสองข้างยกขึ้นเล็กน้อย พวกเราเด็กๆพูดกันตามประสาเด็กว่า เป็นท่าถือปืนเอ็ม.๑๖ ซึ่งคงจะไม่จริงหรอก แต่หากจริงผมคิดว่าท่าถือปืนท่านี้ คงเป็นท่าเท่ๆเฉพาะตัว เพราะเป็นท่าที่ไม่มีใครอยากเลียนแบบ ส่วนพวกของมันนอนอีกศพหนึ่งนอนตายอยู่ไม่ห่างนัก ที่ศพมีกระสุนเข้าที่อก มดหลายตัวไต่อยู่ที่รูกระสุน...ผมยังจำติดตาจนถึงทุกวันนี้...//..เขตแดนเชิงแสตรงไปทางทิศใต้อีกจนถึงบริเวณทิศตะวันตกของ "วัดพะโคะ" อันเป็นจุดที่อยู่ตรงทิศตะวันออกของบ้านเขาใน หรือ "เขาทเลจรรไน์" ในแผนที่โบราณดังกล่าว จากหนองตรุดห้างถึงบริเวณนี้ยาวประมาณ ๖ กิโลเมตรเศษ จากนั้นเขตแดนเชิงแสหักตรงลงมาทางทิศตะวันตกผ่านเขาใน ไปตกของเขาในถึงป่าพรุช่มน้ำด้านทิศตะว้นออกของ "วัดหัวถนน หรือ วัดอินทาราม" เป็นวัดที่พ่อท่านล่องเป็นเจ้าอาวาส (ดูภาพในบทที่ ๒) เขตแดนเชิงแสหักจากจุดนี้มายัง "ป่าพรุตกเขารัดปูน" อันเคยเป็นพรุเสม็ดที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศ แม้จะมีเนื้อที่น้อยกว่า พรุควนเคร็ง ก็ตาม "พรุตกรัดปูน" เป็นที่สาธารณประโยชน์มาตั้งแต่โบราณในชื่อของ "หนองประทิ่นพระครูเอก" เป็นต้นกำเนิดของคลองใหญ่ ๒ สายธาร คือ "คลองเชิงแส" และ "คลองจังหน" หรือปัจจุบันเรียกว่า "คลองโหน" ซึ่งเป็นคลองที่ไหลสู่ทะเลสาบสงขลา ผ่าน"บ้านโคกโหนด" และ "บ้านโตนดด้วน"...แลจากจุดนี้แนวเขตของเชิงแสก็จะห้กตรงไปทางทิศตะวันตก ไปลงทะเล ผ่านต้นมะม่วงใหญ่ ที่เรียกว่า "ม่วงงาม" ตรงลงสู่ "หน้าท่าเตียนที่ชายทะเล"

     รวมพื้นที่แผ่นดินเชิงแสทั้งสิ้นประมาณ ๓๓ ตารางกิโลเมตร และหากจะกล่าวให้สมบูรณ์ก็ต้องรวมพื้นน้ำทะเลสาบสงขลาอีกประมาณ ๒๕ ตารางกิโลเมตร เข้าไปด้วย ในพื้นดินถิ่นเชิงแส ๓๓ ตารางกิโลเมตรนี้ จำแนกเป็น ที่ตั้งบ้านเรือน วัด โรงเรียน ๑ ตารางกิโลเมตร ที่สวนทั้งสวนตีนด้านทิศเหนือหมู่บ้านและสวนหัวนอนประมาณ ๒ ตารางกิโลเมตร ที่ป่าอันเป็นเขารัดปูนและเขาในประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร พื้นที่สาธารณะป่าพรุเกาะเลชายทะเลประมาณ ๓ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าพรุสาธารณะด้านทิศตะวันตกของเขาใน เขารัดปูน จนถึง "หน้าบ้านนายเรียว" ซึ่งเป็นป่าเสม็ดชั้นดีชุ่มน้ำขังตลอดปี และรวมกับพื้นที่ต่อเนื่องคือเขตคลองใหญ่ด้านตะวันออกของวัดเชิงแสใต้จนถึง "สะพานยาว" ซึ่งบริเวณนี้เป็นป่ากก กระจูดหนู ผืนใหญ่ รวมแล้วทุกบริเวณ ประมาณ ๖ ตารางกิโลเมตรเศษ..............++++.....ดังนั้น...จึงเหลือพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่นา ท้องทุ่งนา รวม ๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๒,๕๐๐ ไร่ พื้นที่นาจำนวนนี้แหละครับที่เป็นที่กำเนิดและเป็นชีวิตของชาวเชิงแสทุกคน...ยากดีมีจนก็ฝากชีวิต ฝากอนาคตของตัวเองและของลูกหลานไว้กับท้องนาที่นี่...ท้องนาที่เชิงแส...

     โรงสีเชิงแสกสิกิจ
     การใช้เทคโนโลยีสำหรับการเกษตรอีกประเภทหนึ่งสำหรับชาวเชิงแส นอกจากรถจักรไถนาตามที่ผมกล่าวไว้แล้วข้างต้น ก็คือ โรงสีข้าวหัวบด ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่เรียกกันว่า "โรงสีแยก" อันเป็นการพัฒนาด้านการสีข้าวมาจาก "ครกสี"และ "ครกตำข้าว"อันเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมรุ่นปู่ย่าตายาย.... โรงสีแยกอย่างนี้ถูกนำเข้ามาใช้ก่อนปี ๒๕๐๐ คุณน้าประพันธ์ ธีระกุล และ คุณน้าถิ่น แก้วทอง เป็นสองเจ้าแรกที่นำโรงสีประเภทนี้เข้ามาสู่บ้านเชิงแส โรงสีของคุณน้าถิ่นนั้นชื่อว่า "โรงสีเชิงแสกสิกิจ" คุณน้าถิ่นแต่งงานกับคุณน้าปาน แก้วทอง จึงใช้นามสกุลของสามี คุณน้าถิ่นเป็นญาติของแม่สายทวดหญิงเจื้อม ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของคุณตาผม (คุณตาของผมมีพี่น้องสี่คน เรียงตามลำดับ คือ คุณยายเจื้อม คุณตายก คุณยายโคบ และ คุณตาของผมเป็นน้องสุดท้อง บรรพบุรุษของผมทั้งสี่คนพี่น้องมีพ่อเป็นคนจีน แซ่จิว ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็นไทยว่า "จีระโร"...โรงสีของน้าประพันธ์และโรงสีของน้าถิ่นเป็นพลังผลักดันให้ชาวเชิงแสหลายคนรวมทั้งพ่อได้หันมาทำธุรกิจโรงสีด้วย โดยพ่อและอาทำกิจการโรงสีที่พัทลุง สำหรับที่เชิงแสนั้นเท่าที่ผมจำได้และมั่นใจว่าจำไม่ผิด คือว่าต่อมาได้เกิดโรงสีขึ้นที่บ้านเชิงแสทั้งฝั่งคลองตีนและปละคลองหัวนอนถึงสิบกว่าโรง เช่น โรงสีน้าฮวดน้าเจียร ศรีสุวรรณ โรงสีน้าก้าน พัทบุรี โรงสีน้าเหล็ก ศรีแสง แต่ในบรรดาโรงสีทั้งหมดดูผมมีความทรงจำที่ "โรงสีเชิงแสกสิกิจ" นี่แหละ ความจำของผมเกิดจากไปสีข้าวกับแม่บ่อยๆ ผมรู้สึกทึ่งในแผงร่อนข้าวว่าทำงานได้อย่างดีจริงๆ ไม่หยุดพักเหนื่อยเลย เมื่อผู้ใหญ่เผลอผมเคยใช้มือจับเครื่องร่อนข้าว นอกจากมันไม่หยุดทำงานแล้ว มือและแขนผมก็สั่นตามแรงเครื่อง สนุกมาก นอกจากนั้นสิ่งที่ผมแอบทำบ่อยๆ อีกอย่างก็คือการใช้มือรองข้าวสารจากท่อข้าวสาร มันให้ความรู้สึกว่ามืออุ่นดี แต่การที่จะเดินไปที่หลังตัวโรงสี ไปที่สายพานใหญ่ระหว่างโรงสีกับเครื่องยนต์ด้านหลังนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ห้ามเด็ดขาดเพราะอันตราย เนื่องจากเด็กจะเผลอจับสายพานเครื่องสี แต่ผมก็ยังจำเครื่องสีข้าวของโรงสีเชิงแสกสิกิจได้ดี เป็นเครื่องจักรใหญ่วางอยู่บนแท่นซีเมนต์ขนาดใหญ่ เมื่อเดินเครื่องจักรจะเกิดเสียงดังมาก เด็กๆต้องเอามืออุดหูด้วยความสนุกและซุกซน แล้วตะโกนพูดแข่งกับเสียงเครื่องจักร..........ธุรกิจโรงสีข้าวขนาดเล็กอย่างนี้มีอยู่ทุกหมู่บ้านและทุกตำบล ใครที่เป็นเจ้าของโรงสีชาวบ้านก็จะเรียกว่า "เถ้าแก่โรงสี"

(ครกสีข้าวภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวไทยและชาวบ้านเชิงแส)

      โรงสีที่เชิงแสทุกโรงทุกของเถ้าแก่เป็นโรงสีขนาดเล็กมีกำลังผลิตไม่เกินวันละ ๓ เกียน(ปัจจุบันเรียกว่า เกวียน)ข้าวเปลือก แต่อย่างที่ผมเล่าไว้ข้างต้นแล้วว่าทุ่งเชิงแสมีที่นาประมาณ ๑๒,๕๐๐ ไร่ ดังนั้นจึงผลิตข้าวรวมกันได้ประมาณ ๕,๐๐๐ เกียน ต่อปี เท่านั้น เมื่อมีโรงสีมากเกินไป กิจการโรงสีของหลายเถ้าแก่จึงประสบภาวะการขาดทุน บางรายเป็นหนี้สิน ค้างค่าข้าวของชาวนาที่ไปซื้อมา ต้องเสียดอกเบี้ยก็มี ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ เรียกตามภาษาของชาวเชิงแสว่า "เสียพวด" อย่างไรก็ตามกิจการโรงสีที่เชิงแส ก่อให้เกิดผลทางสังคมและทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๒ ประการ คือ...๑.ทางสังคม...ได้เกิดภาพการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของโรงสีกับชาวบ้านเพื่อผลในการซื้อขายข้าว โดยเมื่อข้าวใกล้สุกถึงหน้าเก็บข้าวแล้ว ภาพเจ้าของโรงสีเดินไปตามบ้านชาวบ้านทั้งที่เป็นญาติสนิทและญาติห่าง เพื่อพูดขอซื้อข้าวเปลือกสำหรับโรงสีของตัวเอง ก็เริ่มมีให้เห็นในตอนหัวค่ำ ข้าวของแม่มีเจ้าของโรงสีหลายรายมาพูดติดต่อขอซื้อ ซึ่งแม่จะตกลงขายให้บางส่วน ส่วนที่เหลือแม่เก็บไว้ขายให้แก่แปะช้อยพี่ของแม่ เพราะแปะและป้าพริ้มมีโรงสีอยู่ที่ตำบลปากแตระ ตำบลหนึ่งในเขตอำเภอระโนด ตั้งอยู่ริมทะเลหลวงทะเลน้ำเค็มตามภาษาการเขียนแผนที่เก่า การขายข้าวของชาวนาเชิงแสนั้นจะว่าไปแล้วน่าสงสารมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เงินสดเต็มจำนวน เจ้าของโรงสีจะติดค้างไว้ก่อนจนกว่าตนจะขายข้าวต่อไปได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเจ้าของโรงสีบ้านนอกมีไม่มากรายนักที่มีฐานะดีมากๆและมีเงินเก็บหมุนเวียนพอ ชาวนาบางรายกว่าจะได้เงินค่าข้าวครบจำนวน ก็เลือดตาแทบกระเด็นทีเดียว บางครั้งแม่ก็พบกับสภาวะอย่างนี้เหมือนกัน แต่จะว่าไปแล้วแม่ก็ไม่น่าจะลำบากนักเพราะพอจะมีเงินอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากบางปีแม่รับซื้อข้าวไปขายต่อได้ และน่าจะได้กำไรอยู่บ้าง พวกเราลูกๆ ไม่ได้สังเกตกันนักเกี่ยวกับเงินทองของแม่ คือมีหน้าที่ใช้จ่ายเงินกันอย่างเดียว มารู้อีกที่ก็เมื่อแม่เริ่มป่วย จึงรู้ว่าแม่เป็นชาวนาที่ไม่มีหนี้ แถมยังมีเงินเหลืออยู่ให้ลูกมากพอควร...นี่คือชาวนาอย่างแม่...๒.ทางด้านเศรษกิจ...โรงสีขนาดเล็กอย่างโรงสีที่บ้านเชิงแส เมื่อรวมกับโรงสีที่หมู่บ้านอื่นตำบลอื่นแล้ว ได้ก่อให้เกิดอานุภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ส่งผลให้โรงสีไฟขนาดใหญ่ที่ระโนดสั่นสะเทือนทางการค้า และในที่สุดก็ไม่สามารถดำรงกิจการอยู่ได้ (แต่พึงเข้าใจนะครับว่า เจ้าของโรงสีไฟไม่ได้ขาดทุนอะไรหรอก...เพียงแต่กิจการเดินหน้าต่อไม่ได้) ทั้งนี้เพราะโรงสีขนาดเล็กนับร้อยๆ โรง ได้แย่งชิงซื้อข้าวในหมู่บ้านเสียไปเป็นส่วนมาก ขณะนี้จึงเหลือเพียงคำเล่าขานเป็นตำนาน "โรงสีไฟระโนด" คุณลุงเพ็ญ ถาวรวิจิตร หรือชิกฮั่นของแม่วิเคราะห์เรื่องนี้ให้ผมฟังเมื่อผมไปเยี่ยมที่อำเภอจะนะเมื่อวันสงกรานต์ปีนี้ ขณะที่คุณลุงอายุ ๙๐ ปี..ว่า..."เมื่อมีโรงสีเล็กเป็นจำนวนมาก โรงสีเล็กรับซื้อข้าวในหมู่บ้านไปมากต่อมาก ชาวบ้านหาบข้าวมาสีโรงสีเล็กก็สีได้ ชาวบ้านแบกข้าวมาก็สีได้ ชาวบ้านทูนข้าวมาบนหัวโรงสีเล็กก็สีได้ สีได้ทังเหม็ด...แต่โรงสีไฟสีข้าวหาบเดียว ทูนเดียวไม่ได้ เพราะข้าวน้อยเดินเครื่องไม่ได้..."

      คุณลุงเพ็ญญาติผู้พี่ของแม่พรั่งพรูความทรงจำที่ดีเยี่ยมเกี่ยวแก่เรื่องราวของโรงสีไฟที่ระโนด จนผมจดเสียแทบไม่ทัน ลูกผู้พี่ของแม่ ชายวัย ๙๐ ปีที่ยังแข็งแรงและความจำดี(กับฐานะดีมาก...เอ๊ะ..เกี่ยวอะไรด้วยนี่..ผมชักจะมั่วแล้ว) เล่าผมว่า "...ลุงอายุได้ ๑๒ ปี แม่เลี่ยนก็เสีย ต่อมาพ่อเสียลงอีก ชีวิตจึงลำบาก มีญาติซึ่งก็คือ "น้าแกวด" ยายของเธอ น้าแกวดนี่รักพวกเราที่เป็นหลานๆมาก แกรักจริงๆ เสร็จหน้านาที่เชิงแสแล้ว พวกเราหลานๆถ่อเรือจากระวะไปตามคลอง ไปถึงบ้านน้ำโอที่โคกแห้ว ถ่อไปจนถึงตำบลโรง แล้วออกเลสาบถ่อไปถึงเชิงแส ไปบรรทุกข้าวมากิน น้าให้มาเต็มลำเรือ บางคราวพักกันที่เชิงแสหลายวัน...เมื่อเตี่ยเสียแล้วลุงไปอยู่กับเฮียที่ระโนด และได้ทำงานรับจ้างกับเรือบรรทุกข้าวของฉีเฉี้ยวซึ่งเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในระโนด และลุงได้พบกับพ่อของเธอ เราต่างก็มาทำงานรับจ้างกับฉีเฉี้ยว ลุงเรียกเรียกพ่อเธอว่า "บ่าว" เพราะเป็นรุ่นพี่แก่กว่าลุง เราต้องถ่อเรือรับซื้อข้าวไปทั่ว ฉีเฉี้ยวท่านนี้มีเรือบรรทุกข้าวลำใหญ่มากที่สุดของระโนด บรรทุกข้าวได้ถึง ๔๕ เกียน ไม่ต้องใส่กระสอบ บรรทุกใส่ไปในระวางเรือเลยทีเดียว เรือลำใหญ่ของฉีเฉี้ยวลำนี้มีเสาใบเรือ ๒ เสา ที่หัวเรือเสาหนึ่ง ที่กลางลำเรือเสาหนึ่ง ที่ท้ายเรือเป็นเก๋งที่พักที่หุงข้าว นอกจากจะบรรทุกข้าวมาสีที่โรงสีแล้ว ยังบรรทุกข้าวไปขายที่โรงสีแดง "ทับโห้หิ้น" ที่เมืองสงขลาด้วย ...น่าเสียดายที่ตอนหลังเรือใบที่ใหญ่ที่สุดของระโนด โถกโยะ(โดนพายุ)จมลงที่เกาะใหญ่ในทะเลสาบสงขลา ลุงและคนงานได้มาช่วยกันขนข้าวเปลือกขึ้นจากเรือ..."

      ระโนดเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วส่วนสำคัญมาจากความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งนาขนาดใหญ่ พ่อเล่าของว่าทุ่งด้านทิศเหนือของระโนดไปจนถึงหัวไทร ปากพนัง เป็นทุ่งนาที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ กล่าวเฉพาะทุ่งระโนดนั้นผลิตข้าวได้มากมาย จึงเกิดโรงสีไฟหลายโรง ระโนดจากที่เคยเป็นตำบลหนึ่งในสิบสองตำบลของ "อำเภอปละท่า" แห่งเมืองสงขลาก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ที่ตัวอำเภอมีโรงสีใหญ่ของทวดหญิงฉีด ชื่อ "โรงสีไฟ ฮกซุ่นหิ้น" และมี "โรงสีไฟ นำไทยหลี" กับยังมี "โรงสีไฟของฉีเหี้ยง" อีกโรงหนึ่งด้วย ผมรู้เรื่องราวของโรงสี่ไฟฮกซุ่นหิ้นและโรงสีไฟนำไทยหลีทั้งสองโรงนี้นี้พอสมควร เนื่องจากขณะนี้ผู้เป็นเจ้าของที่ตั้งโรงสีและเป็นเจ้าของ "ป้าย" ชื่อโรงสีไฟ คือ "คุณฉกาจ จีระโร"ซึ่งเป็นหลานชายของแปะเซ่ง จีระโร พี่ชายของแม่ นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ของระโนดผู้นี้อายุเท่าผม เมื่อเด็กๆในคราวทำบุญที่บ้านแม่ยามที่ยายยังอยู่ ผู้ใหญ่มักจะให้พวกเราที่เป็นหลานๆ ร้องเพลงรับรางวัล จำได้ว่าผมร้องเพลงที่ทุกคนต้องร้อง คือร้องเพลงชาติ ส่วนนักธุรกิจคนนี้ร้องเพลงที่เด็กบ้านนอกอย่างผมไม่เคยได้ยินมาก่อน เนื้อเพลงช่วงต้นมีว่า..." มีวิทยุเปิดเพลงเบาๆ แล้วรินเหล้าใส่โซดาบางๆ..." นับว่าเป็นการร้องเพลงที่เขาเอาเปรียบผมมากที่เดียว เพราะขณะนั้นผมที่เชิงแสบ้านผมมีน้อยบ้านมากน้อยบ้านเหลือเกินที่มีวิทยุฟัง และโซดาคืออะไรผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า...ถ้ากินหวากเข้าไปมากๆ ก็จะเดินโซเซ...ด้วยฤทธิ์ของกระแซ่น้ำตาลเมา...เพลงนี้มีชื่อว่า "เพลงเศรษฐีในใจ" เสียงร้องของ "รุ่ง โพธาราม"...รุ่ง โพธาราม นอกจากจะร้องเพลงดังกล่าวแล้ว ยังมีเพลงดังๆอีกหลายเพง เช่น "เพลงลาสาวโพธาราม" ซึ่งมีเนื้อร้องเกี่ยวกับหนุ่มทหารไทยต้องลาสาวไปรบที่เวียดนาม และอีกเพลงหนึ่งคือ "เพลงหนองน้อยปลาชุม" รุ่งเป็นทหารบกมีชื่อว่า "พยงค์ ทองประหลาด" เป็นคนบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ก่อนบันทึกแผ่นเสียงเคยอยู่กับวงของสุรพล สมบัติเจริญ เพลงเศรษฐีในใจรุ่งบันทึกเสียงที่ห้างแผ่นเสียงศรีไพบูลย์ เพลงนี้แต่งโดย "ท้วม บ้านแพ้ว" ที่อำเภอโพธารามนี้มีนักร้องชื่อดังอีกคนหนึ่ง คือ "เพชร โพธาราม" เจ้าของเสียงเพลง "สุโขทัยระทม" "รักคนชื่อน้อย" และเพลง "ต.ช.ด.ขอร้อง" พูดถึงเพลงหนองน้อยปลาชุมแล้ว อย่าให้เสียเวลา หลบเชิงแสไป"เพ็ดจ้อน" แบกโพงวิดหนองกันดีหวา ไอ้เกลอเหอ

      อนึ่ง เพื่อเป็นความรู้แก่และสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ด้านเครื่องจักรเครื่องกลเกี่ยวกับโรงสีข้าวในสมัยรัตนโกสินทร์ ผมหายเหนื่อยจากวิดปลาในหนองกลางทุ่งแล้ว จึงขอเล่าไว้เสียด้วยว่าโรงสีไฟแห่งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๑ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ คราวครั้งนั้นเป็นโรงสีไฟของชาวอเมริกัน ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวอเมริกันได้ตั้งโรงสีใหญ่ขึ้นที่กรุงเทพฯ ชื่อโรงสีไฟอเมริกัน สตรีมไรซ์มิลลิ่ง แอนด์ โก (American Steam Rice Milling co.)และต่อมามีโรงสีไฟของบริษัท เจ เอส มาร์กเกอร์ ( J S Marker Company) ขึ้นอีกโรงหนึ่ง หลังจากนั้นผู้มีฐานะและเจ้านายหลายพระองค์ก็ได้ตั้งโรงสีขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ก็ทรงตั้งโรงสีที่หลังพระตำหนักบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้วัดเทวราชกุญชร ชื่อว่า "โรงสีเล่งหงษ์".........+++++......+++++

      (รอชม...ภาพปล่องไฟของโรงสีไฟนำไทยหลี ภาพฐานรากของโรงสีไฟนำไทยหลี ภาพป้ายชื่อโรงสีไฟฮกซุ่นหิ้น ภาพฐานแท่นเครื่องจักรโรงสีไฟฮกซุ่นหิ้น และภาพโรงสีไฟของคุณยายเหี้ยง ระโนด รวมภาพที่รอชมทั้งสิ้น ๕ ภาพ)

(ป้ายชื่อ "โรงสีไฟ ฮกซุ่นหิ้น ระโนต" ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเป็น "ระโนดโฮมสเตย์")

(ฐานซีเมนต์ของโรงสีไฟฮกซุ่นหิ้น ยังคงเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์แห่งกิจการค้าข้าวที่เคยรุ่งเรืองของระโนดในอดีต ซ้ายมือของภาพคือระโนดโฮมสเตย์)

(ฐานรากของโรงสีไฟ "นำไทยหลี" ระโนด)

(ปล่องไฟของโรงสีไฟนำไทยหลีที่ถูกปกคลุมไว้ด้วยต้นไทรใหญ่...ต้องพยายามสังเกตนะครับ ไม่อย่างนั้นจะมองไม่เห็น ปล่องไฟนี้น่าจะเป็นปล่องไฟโรงสีไฟในระโนดที่เหลืออยู่..ภาพเมื่อฝนกำลังโปรยในตอนใกล้ค่ำของวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๖ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น