วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

บทที่ ๔ ร่มกาสาวพัสตร์ วัดหัวนอน


บทที่ ๔ ร่มกาสาวพัสตร์ วัดหัวนอน


     ผมลังเลอยู่เหมือนกันว่าบทนี้จะเป็นหัวข้อย่อยของบทที่ ๓ ต่อจากสินนุราชคำกาพย์เพราะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของวัดเชิงแสใต้วัดหัวนอนเหมือนกัน หรือจะตั้งเป็นบทใหม่ดี และวันนี้ก็ตัดสินใจขึ้นเป็นบทใหม่ บทใหม่เพราะเห็นว่า
     ๑."วัดเชิงแสะหัวนอน" หรือวัดเชิงแสใต้แห่งนี้ไม่เคยเป็นวัดร้าง เนื่องเพราะดำรงความเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเชิงแสตลอดมาตั้งแต่ยังเป็น "วัดเชิงแสะหัวนอน" เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
     ๒.สุปฏิปันนาจารย์แห่งวัดเชิงแสใต้ท่านมีคุณธรรมพิเศษสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งซึ่งวัด อื่นน้อยนักจักมีได้ คือ ท่านมีความเป็นนักวิชาการที่เห็นความสำคัญของการศึกษา ดังจะเห็นได้จากการที่โรงเรียนวัดเชิงแส (เมฆประดิษฐ์)ตั้งอยูในเขตของวัดเชิงแสใต้มาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อพ.ศ.๒๔๖๑ และตั้งตรึงแน่นผลิตนักเรียนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมมาตั้งแต่รุ่นแม่จนกระทั่งถึงตัวผม ส่วนลูกสาวของผมนั้นแม้จะเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ผมก็บอกลูกว่าหากลูกอยากจะเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ไปใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างพ่อก็บอกพ่อได้นะลูก พ่อจะส่งไปเรียนที่โรงเรียนวัดเชิงแสเหมือนพ่อ ผมบอกลูกหลายครั้งแล้ว ไม่เห็นเธอตอบตกลง ลูกสาวผมคงไม่รู้ความจริงว่าโรงเรียนวัดเชิงแสที่พ่อเรียนหนังสือมานั้น ได้ให้ประสบการณ์ชีวิตได้ดีไม่แพ้หลักสูตรภาษาอังกฤษของโรงเรียนสาธิตที่กรุงเทพฯ โรงเรียนที่เธอเรียนอยู่นะลูกรักเอ๋ย จะยกตัวอย่างให้ก็ได้ เช่น ที่โรงเรียนวัดเชิงแสพ่อสามารถ "ขึ้นเที่ยง" กลับไปกินข้าวกลางวันที่บ้านได้ทุกวัน เพราะแม้ที่โรงเรียนจะมีร้านอาหารร้านข้าวแกงของคุณน้าตั้นหิ้มภรรยาของน้ากำนันลิ่ม ประชา สมุทรจินดา ให้ซื้อกินก็ตาม แต่ต้องรอวันสอบโน่นแหละแม่จึงจะให้เงินผมเป็นพิเศษ คือเป็นค่าข้าวแกงและค่าขนม รวม ๑ บาท ๒๕ สตางค์ เงินที่แม่ให้ไปโรงเรียนจำนวนนี้แยกเป็นค่าข้าวแกง ๑ บาท ที่เหลือ ๒๕ สตางค์เป็นค่าขนม เพราะปกติแล้วแม่ให้เงินผมไปโรงเรียนเฉพาะแต่ค่าขนมวันละ ๒๕ สตางค์ เงินจำนวนนี้เมื่อสี่สิบปีที่แล้วถือว่าพอสำหรับซื้อขนมกินที่โรงเรียน เด็กจำนวนมากไม่ได้มีเงินไปโรงเรียนทุกวัน ไม่ใช่ว่าไม่มีเงิน เงินนั้นพอจะมี แต่ไม่จำเป็น เพราะกินข้าวกินขนมที่บ้าน มื้อเที่ยงก็ "ขึ้นเที่ยง" กินข้าวมื้อกลางวันที่บ้าน เด็กนักเรียนในทุกวันนี้ไม่ได้รับรู้บรรยากาศของการรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านหรอก กินข้าวเสร็จผมก็จะรอเพื่อนๆ มาเรียกเดินกลับไปโรงเรียนด้วยกัน เพื่อเรียนหนังสือภาคบ่ายกันต่อ แต่ส่วนใหญ่แล้วสำหรับผมนั้นกว่าจะเดินไปเรียนช่วงบ่ายก็เปิดวิทยุฟังข่าวกลางวันก่อน แล้วต่อด้วยข่าวกีฬาของ "สาโรจน์ พัฒทวี" ที่สถานี สวพ.สงขลาถ่ายทอดเสียงมาจากกรุงเทพฯ

(พระเจดีย์หน้าพระอุโบสถวัดเชิงแสใต้)
     ร้านข้าวแกงกลางวันของน้าตั้นหิ้มมีลูกค้าประจำเป็นนักเรียนจากบ้านโคกพระและบ้านเขารัดปูนซึ่งต้องเดินเท้ามาเรียนที่โรงเรียนวัดเชิงแส กับลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งคือคุณครูที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครูเสรี ชุมทอง จากบ้านเขาใน ครูกิติพันธ์ ชูโชติ จากบ้านเขารัดปูน ครูปราโมทย์ น้อยเสงี่ยม ครูลาภ เกื้อมา จากบ้านเถรแก้ว และครูผู้หญิงซึ่งมีอยูู่เพียงท่านหนึ่งคือครูสุพร หมานมานะ คุณครูสุพรเป็นอิสลาม สอนวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนครูอาวุโสอย่างครูวิทย์ สุวพนาวิวัฒน์ ครูแอบ ศิริรักษ์ ครูบวร วรารัตน์ ครูเทอด จินดานาค นั้น บางท่านคดข้าวห่อ บางท่านก็กลับไปทานข้าวเที่ยงที่บ้านเหมือนพวกผม...ผมกล่าวถึงครูกิติพันธ์แล้วเล่าต่อไปเสียเลยว่า เดิมท่านชื่อว่าครูก้าน ท่านสอนที่นี่อยู่ประมาณ ๔ ปี ต่อมาท่านเสียชีวิตเพราะกินยาฆ่าตัวตาย พวกผมเด็กนักเรียนได้ไปร่วมงานเผาศพท่านที่สนามโรงเรียนบ้านรัดปูน จำครูได้อยู่เสมอครับคุณครู จำได้ว่าตอนเข้าแถวสวดมนต์ครูกำชับย้ำนักย้ำหนาว่า บทสวดที่ ๒ นั้น อย่ากล่าวว่า .."สวาขาโต ต้องพูดเสียให้ชัดว่า..สวากขาโต ภควตา ธัมโม ...เพราะ"สวา" นั้นแปลว่าลิง สวาขาโตจะแปลว่า ลิงขาใหญ่.."...และ
     ๓.วัดเชิงแสใต้แห่งนี้มีพระพุทธรูปสำคัญพุทธลักษณะงดงามอย่างยิ่ง ซึ่งน้อยคนนักจะสนใจทราบ นั่นคือ พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร เดิมองค์พระพุทธปฏิมางามสง่านี้ประดิษฐานอยู่ที่โรงธรรม เป็นพระประธานให้กราบไหว้ในทุกกิจกรรมแห่งศาสนพิธี เมื่อผมยังเป็นเด็กอยู่ผมได้สร้างวีรกรรมไว้ที่บุษบกฐานพระพุทธรูปนี้ครั้งหนึ่ง คราวครั้งนั้นเป็นงานพิธีอะไรจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าขณะที่แม่และอุบาสกอุบาสิกากำลังไหว้พระอยู่เต็มโรงธรรม ผมลุกจากที่นั่งข้างแม่ ผมเดินไปแหงนมองพระพุทธรูป แล้วจะปีนขึ้นไปบนฐานบุษบก ไม่ใช่ด้วยความศรัทธาในองค์พระดอก ด้วยความซุกซนอ้อนไม้เรียวของพ่อเสียละมากกว่า แล้วผมก็เหนี่ยวกนกฐานบุษบกจะปีน ทำให้ฐานบุษบกชิ้นหนึ่งหัก ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ "ทำให้เสียทรัพย์ ที่เคารพศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนา" เห็นผู้ต้องหาก่อเหตุเช่นนั้น ก็ร้องเอะอะขึ้นว่า "หักแล้ว หักแล้ว หนกหักแล้ว"... ผู้ต้องหารายสำคัญรายนี้ตกใจรีบวิ่งออกไปทางประตูโรงธรรมด้านหลังพระ ทางทิศตะวันตก ณ ที่นั้นพ่อของผู้ต้องหายืนอยู่พอดี พ่อผู้ต้องหาจับมือผู้ต้องหาไว้ แล้วถามว่า "ลูกบ่าวปีนขึ้นไปทำไหรละลูก?"...ทุกวันนี้เมื่อผมกลับไปไหว้พระที่วัดเชิงแสใต้ ผมยังคงคิดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่เสมอ ด้วยเหตุที่คิดถึงก็เพราะว่า คือรู้สึกโล่งใจไปว่าฐานพระเสียหายไม่มากนัก คงจะบาปไม่มาก นั่นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง กระทำความผิดขณะเป็นเด็กคงมีเหตุลดมาตราส่วนโทษแน่นอน แต่ที่สำคัญอย่างสุดท้ายก็คือว่าวันนี้กรณีนี้ "ขาดอายุความ" เรียบร้อยแล้ว...แต่จะว่าไปจริงๆแล้วขณะกราบพระ ก็อดจะคิดไปถึงพระประธานอย่างในเรื่อง "ไผ่แดง" ของคุณชายหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ได้เหมือนกันว่า หากพระประธานที่วัดเชิงแสใต้ท่านพูดได้ ท่านคงจะถามผมว่า..."เมื่อไหร่จะมาซ่อมให้เรียบร้อยยยย...เสียทีี...ก่อเหตุไว้หลายปีแล้วนะ"

(พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรพระประธานในโรงธรรมวัดเชิงแสใต้ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่หอวิหาร "เมฆสถิตอนุสสร")
     ด้วยเหตุทั้งสามประการดังกล่าวแล้ว ผมจึงเห็นว่าวัดเชิงแสใต้ควรจะได้เป็นที่รับทราบแก่สาธุชนในหัวข้อ "ร่มกาสาวพัสตร์ วัดหัวนอน"
     นับตั้งแต่พลังแห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนาปรากฏขึ้นในบริเวณริมฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา คำนวณแล้วก็อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เห็นจะได้ บริเวณนี้มีวัดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พลังขับเคลื่อนที่สำคัญนั้นต้องยอมรับว่า คือ พระสงฆ์ พระภิกษุพุทธสาวกท่านเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจ เป็นทั้งผู้ประกาศธรรมของพระตถาคต เป็นทั้งผู้ให้การศึกษา และเป็นทั้งผู้นำของชุมชนชุมชน...อย่างวัดเชิงแสใต้นี้ นอกจากจะมีปราชญ์อย่างพระผู้แต่งคำสวด "สินนุราชคำกาพย์" แล้ว ในกาลต่อมาพระครูธรรเจดีย์ศรีสังวร พระอธิการคง และพระอธิการเมฆ ท่านเจ้าอาวาสผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดเชิงแสใต้ก็ได้เป็นศูนย์รวมใจของผู้คนทั้งชาวเชิงแส และชาวบ้านแถบละแวกนี้ตลอดมา ในบทนี้จึงใคร่กล่าวถึงประวัติของสุปฏิปันนาจารย์และปฏิปทาของพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดเชิงแสใต้ ดังนี้ ๑.พระคุณธรรมเจดีย์ศรีสังวร ๒.พระอธิการเมฆ ติสโร ๓.พระอธิการคง

(ภาพวาดพระอธิการเมฆ อดีตเจ้าอาวาสวัดเชิงแใต้)

(ภาพวาดพระอธิการคง อดีตเจ้าอาวาสวัดเชิงแสใต้)

(สัญบัตรตราตั้งพระอธิการเมฆ หรือพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์ เมื่อพ.ศ.๒๔๘๔)

(หอ "เมฆสถิตอนุสสร" ที่ประดิษฐานรูปเหมือนและภาพวาดพระอธิการเมฆ หอวิหารดังกล่าวออกแบบและอำนวยการก่อสร้างโดยพระปลัดปรีชา ธัมปาโล สถาปนิกชาวเชิงแส และนักบริหารระดับปริญญา ซึ่งออกแบบและอำนวยการสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘)

พ่อท่านทองมาก (พ่อท่านเฒ่า ; พระครูธรรมเจดีย์ศรีสังวร)
     พ่อท่านทองมากหรือพระครูธรรมเจดีย์ศรีสังวร เป็นชาวสีหยัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเชิงแส ห่างข้ามทุ่งไปประมาณ ๗ กิโลเมตร เมื่อพ่อท่านทองมากเป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงแสใต้หรือเชิงแสวัดหัวนอนนั้น ท่านเป็นพระสังฆาธิการที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง เพราะพ่อท่านเป็นผู้มีบุญญาบารมีมาก อีกทั้งท่านเป็นพระที่มีความรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ สามารถประกอบยารักษาโรคได้หลายขนาน หลายชนิดโรค นอกจากนั้นท่านยังมีอาคมเก่งกล้าในระดับที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เจ้าเมืองสงขลาได้เคยทดสอบอาคมของท่านเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๑ คราวครั้งนั้นพระยาวิเชียรคีรี ได้เดินทางจากเมืองสงขลามาปฏิบัติหน้าที่ปราบโจรผู้ร้ายในเขตทะเลสาบสงขลาเรื่อยไปจนกระทั่งถึงแขวงระโนด ระหว่างที่ผ่านบ้านเชิงแสเจ้าเมืองสงขลาท่านที่ ๘ ได้เข้านมัสการพ่อท่านทองมากและได้ทดสอบยิงปืน ชาวเชิงแสเล่ากันว่าพระยาวิเชียรคีรีหันปากกระบอกปืนไปทางทิศตะวันออก แต่กระสุนปืนไม่ลั่นพุ่งไปทางนั้น กลับพุ่งไปทางด้านทิศตะวันตกแทน
     ไม่เพียงแต่พ่อท่านทองมากจะมีวิชาการแพทย์และวิชาอาคมเท่านั้นท่านยังเป็นพระที่มีวาจาสิทธิ์ กล่าวกันว่าชานหมากของท่านเป็นเหล็ก และขนที่ใบหูท่านเป็นทองแดง ด้วยความเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์ท่านจึงเป็นพระอุปปัชฌาที่มีลูกศิษย์ลูกหาที่ท่านอุปสมบทให้เป็นจำนวนมาก แม้ในยามชราซึ่งไม่สามารถออกเดินทางไปอุปสมบทให้แก่กุลบุตรที่ศรัทธาได้สะดวกแล้วก็ยังมีผู้ที่ประสงค์จะให้ท่านอุปสมบทให้ จึงต้องใช้ไม้คานหาม หามท่านไปยังอุโบสถวัดต่างๆ ปัจจุบันไม้คานหามดังกล่าวก็ยังคงเก็บรักษาไว้ที่หอ “เมฆสถิตอนุสสร
     ในส่วนผลงานด้านการพัฒนาของพ่อท่านทองมากนั้น ได้ท่านสร้างสะพานยาวเป็นถาวรวัตถุที่คงอยู่กับบ้านเชิงแสมาจนกระทั่งถึงยุคของผม นั่นก็คือ “สะพานยาว” ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่มีความยาวมากประมาณ ๑๐ เส้นเศษ หรือ ๔๐๐ เมตรเศษ สะพานแห่งนี้ทอดข้ามคลองเชิงแสในส่วนที่กว้างที่สุด เหตุที่คลองเชิงแสบริเวณนี้กว้างที่สุดเพราะเป็นที่บรรจบกันระหว่าง “คลองพระ” กับ “คลองเชิงแส” มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในปัจจุบันเมื่อคลองพระตื้นเขินไม่เหลือสภาพคลองแล้ว ก็ยังมีบริเวณที่คลองทั้งสองบรรจบกันให้ได้เป็นที่หมุดหมายไว้ คลองเชิงแสที่บรรจบกับคลองพระโบราณจึงเป็นคลองเนื้อเดียวกันที่มีความกว้างมากถึง ๔๐๐ เมตรเศษ
     สภาพของสะพานยาวผมยังจำได้ดีเพราะเคยซุกซนเดินไปคนเดียวจากหัวสะพานด้านวัดเชิงแสใต้จนกระทั่วไปถึงปลายสะพานด้านที่เป็นทุ่งนา สะพานยาวแห่งนี้มีเสาเป็นไม้แก่นกลมเป็นคู่ๆ ไประยะห่างระหว่างคู่เสาประมาณ ๔ เมตร และปูด้วยไม้กระดานหนา ๒ นิ้ว กว้าง ๑๒ นิ้ว แต่ละแผ่นยาวประมาณ ๖ - ๘ เมตร ความแข็งแรงของสะพานสามารถรับชาวบ้านเชิงแสที่หาบข้าว ๑๐๐ เรียง หรือหาบน้ำตาลโตนด ๖๐ กระบอกได้ ตัวสะพานสูงจากผิวน้ำในลำคลองมาก ขนาดว่าปลายต้นกกที่ลำคลองนั้นอยู่ในระดับที่เสมอกับพื้นสะพาน การที่พ่อท่านทองมากดำเนินการก่อสร้างสะพานยาวได้เช่นนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการสัญจรของชาวเชิงแส ชาวเขาในและชาวรัดปูน เป็นอย่างยิ่ง กล่าวได้ว่าสะพานยาวเปรียบเสมือนเส้นทางเศรษฐกิจและเส้นทางแห่งชีวิตสายสำคัญของชาวเชิงแส ชาวรัดปูนและชาวเขาใน สะพานแห่งนี้มีการซ่อมแซมใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยใช้ไม้จากจังหวัดพัทลุง การซ่อมแซมครั้งนี้เกิดขึ้นในสมัยของพ่อท่านเมฆ ติสโร คุณครูชื่น เมืองศรี ครูใหญ่โรงเรียนวัดเชิงแสเมฆประดิษฐ์เล่าไว้ในหนังสือ “ความดีไม่สูญ เทิดทูนชาวเชิงแส” ว่าเมื่อมีการซ่อมแซมปรับปรุงสะพานยาวเสร็จได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร มีการรับมโนราเติมจากเมืองตรัง มโนราช่วงจากนครศรีธรรมราชแข่งขันพนันเมียกัน
     ภาพที่งดงามบนสะพานยาวแห่งนี้ในความรู้สึกของผม ก็คือ ภาพชาวเชิงแสหาบข้าวกลับจากนาหาบกล้าไปปักดำ และแบกคราด แบกไถ เป็นแถวตามแนวของสะพานยาว ภาพหนึ่ง ส่วนอีกภาพหนึ่งก็คือภาพที่พระภิกษุและสามเณรจากวัดเชิงแสใต้เดินทางไปบิณฑบาตที่บ้านเขารัดปูน ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ คุณตาว่อนและคุณยายหลับ อโนทิพย์ ได้สละทรัพย์ส่วนตัวทำถนนคอนกรีต ต่อจากบริเวณหัวสะพานยาวกลางทุ่งนาด้านทิศตะวันออกไปประมาณ ๒๐ เมตร เมื่อผมยังเป็นเด็กผมยังเดินข้ามสะพานยาวไปคนเดียวจนกระทั่งถึงถนนคอนกรีตแห่งนี้ จำได้ว่าขณะนั้นเป็นหน้าน้ำ น้ำท่วมอยู่เต็มถนนผิวคอนกรีตดังกล่าว
     สะพานยาวแห่งบ้านเชิงแสหมดสภาพลงไปอย่างน่าเสียดายเมื่อมีการทำสะพานใหม่ด้านทิศใต้ของวัดเชิงแสใต้ ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ มีการขุดเสาสะพานและไม้กระดานสะพานยาวไปทำสะพานแห่งใหม่ สะพานแห่งนี้อยู่ได้ไม่นานนักก็ถูกแทนที่ด้วยสะพานคอนกรีต(อ่านว่าคอนกรีตนะครับ ...ไม่ใช่ คอ.นก.รีต ...ต้องเตือนกันไว้ก่อน เกือบจะลืมเตือน)แม้สะพานยาวจะหมดสภาพไปแล้วแต่ก็ยังคงมีชื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคุณงามความดีในด้านการพัฒนาของพระครูธรรมเจดีย์ศรีสังวร พ่อท่านทองมาก หรือพ่อท่านเฒ่า ปูชนียบุคคลของชาวเชิงแส

(สภาพปัจจุบันที่บริเวณหัวสะพานยาวด้านวัดเชิงแสใต้ ในภาพจะเห็นเพียงหมู่ไม้ปกคลุมเต็มพื้นที่ ผมถ่ายภาพนี้ไว้เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖)
     ก่อนที่จะผมจะได้กล่าวถึงพ่อท่านเมฆ ติสโร พระอาจารย์ของพ่อ ในความต่อไป เนื่องจากผมได้พูดถึงพระยาวิเชียรคีรี (ชม)เจ้าเมืองสงขลาไว้แล้วจึงขอนำประวัติของเจ้าเมืองสงขลาท่านนี้ท่านที่ได้มาถึงบ้านเชิงแส มากล่าวไว้เสียด้วย ดังต่อไปนี้ (ข้อความส่วนใหญ่เกี่ยวกับปรัวัติของท่าน ผมคัดมาจากหนังสือ "พงศาวดารเมืองสงขลาและพัทลุง" พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณหญิงแข เพ็ชราภิบาล (แข ณ สงขลา) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมมีอยู่และใช้อ้างอิงอยู่เป็นประจำ)

(ภาพถ่ายของพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ถ่ายภาพคู่กับคุณหญิงสมบุญวิเชียรคีรี เป็นภาพประกอบหนังสือพระราชทานเพลิงศพของท่านเจ้าคุณวิเชียรคีรี)

(ภาพสีพระยาวิเชียรคีรีและคุณหญิงเป็นการระบายสีจากภาพขาวดำข้างต้น)

     พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)
     พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)เป็นเจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ ๘ ของสกุล "ณ สงขลา" ต่อจากหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) เจ้าเมืองสงขลาคนที่ ๑ พระยาวิเชียรคีรี(เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๓๖๐ – ๒๓๙๐ ผู้เริ่มสร้างเมืองสงขลา บ่อยาง พระยาวิเชียรคีรี(บุญสัง ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๓๙๐ – ๒๔๐๘ พระยาวิเชียรคีรี(เม่น ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๐๘ – ๒๔๒๗ พระยาวิเชียรคีรี(ชุ่ม ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๒๗ – ๒๔๓๑ แล้วก็ถึงพระยาวิเชียรคีรี(ชม ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๔๓๙ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา, ที่ ๘,พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๔๔)
     พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นบุตรชายคนโตของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาและคุณหญิงพับ และเป็นหลานชายคนใหญ่ของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) พระยาวิเชียรคีรี(ชม) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๓๙๗ ที่ตำบลบ้านป่าหมากในเมืองสงขลา บริเวณบ้านเกิดของท่านในภายหลังบุคคลในสกุลได้ขายให้แก่ทางการในราคา ๒๘,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นจึงได้ตั้งเป็นศาลมณฑลนครศรีธรรมราชและต่อมามีการก่ิสร้างเป็นสำนักงานองค์การโทรศัพท์ สงขลา คือบริเวณที่ถนนจะนะตัดกับถนนวิเชียรชม
     พระยาวิเชียรคีรีได้ศึกษาวิชาการหลายอย่าง คือ ๑ เรียนหนังสือไทยกับเจ้าพระยาสงขลา (เม่น) ผู้เป็นปู่ ๒ วิชาช่างไม้และวืชาการยิงปืนกับพระยาหนองจิก (เวียง) บุตรพระอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) ผู้เป็นญาติ ๓ เรียนวิชาโหราศาสตร์ได้อย่างเชี่ยวชาญยิ่งนัก ๔ เรียนวิชาแพทย์กับหมอทิมชาวกรุงเทพฯและมีท่านเจ้าวัดโปรดเกษฯ แขวงเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นอาจารย์ ๕ เรียนวิชาการเดินเรือต่อกัปตันวรดิกสกี ๖ วิชาการถ่ายรูปต่อหลวงอรรคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และมิสเตอร์ลำเบิกกับมิสเตอร์เนาต้า ๗ วิชาการช่างเหล็กช่างทอง ๘ วิชาทำแผนที่
     ประมาณ พ.ศ. ๒๗๑๘ พระยาวิเชียรคีรีได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ สำนักพระอาจารย์แดง วัดดอนรักซึ่งตั้งอยู่หลังจวนเมืองสงขลา ลำดับตำแหน่งยศและบรรดาศักดิ์ของพระยาวิเชียรคีรี(ชม)
     พ.ศ. ๒๔๐๗ ปีชวด อายุ ๑๑ ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ ๔ รับราชการเวรฤทธิ์อยู่ในกรุงเทพฯ ๒ ปี แล้วทูลลากลับไปเมืองสงขลา
     พ.ศ. ๒๔๑๓ ปีมะเมีย อายุ ๑๖ ปี ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑ เป็นหลวงวิเศษภักดีตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่
     พ.ศ. ๒๔๑๓ ปีชวดสัมฤทธิศก วันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลา โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงวิเศษภักดีขึ้นเป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา ๑,๕๐๐ ไร่ และให้มีหน้าที่เป็นผู้รักษาราชการเมืองสงขลา ในเวลาที่ว่างไม่มีตัวผู้สำเร็จราชการเมือง (ขณะนั้นพระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) เพิ่งถึงอนิจกรรมได้ ๖ วัน)
     พ.ศ. ๒๔๓๓ วันที่ ๑๑ มกราคม ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิเชียรคีรี ศรีสมุทวิสุทธิ์ศักดามหาพิไชยสงคราม รามภักดีอภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา ๕,๐๐๐ ไร่ มีเมืองจะนะ เมืองเทพา เป็นหัวเมืองขึ้น และได้บังคับเมืองแขกทะเลหน้าใน ๗ หัวเมืองด้วย
     เมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาท่านได้รับพระราชทานผลประโยชน์ค่าธรรมเนียมความและส่วนลดภาษีอากรบางอย่างตามสมัยเดิม หาได้รับพระราชทานเป็นเงินเดือนไม่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ รัชกาลที่ื ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล โดยรวมเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง และเมืองขึ้นตั้งเป็นมณฑลเรียกว่ามณฑลนครศรีธรรมราช และโปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แต่เมื่อเป็นพระยาสุขุมนัยวินิจ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล และตั้งศาลาว่าการมณฑลที่เมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรีคงรับราชการเทียบตำแหน่งปลัดมณฑลนครศรีธรรมราช เพราะยังเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งศาลาว่าการมณฑล ตั้งต้นได้รับพระราชทานผลประโยชน์เป็นเงินเดือน เดือนละ ๔๕๐ บาท และได้รับพระราชทานยศเป็นชั้นที่ ๑ ตรี (เทียบเท่ากับมหาอำมาตย์ตรี)
     ถึงแม้ว่าเมื่อได้รวมเมือง จัดเป็นมณฑลแล้วก็ดี ท่านก็ยังมีความอุตส่าห์ตั้งในรับราชการกลมเกลียวกับข้าหลวงเทศาภิบาล พยายามชี้แจงระเบียบราชการ และประเพณีการเมืองอย่างเดิมๆ ช่วยส่งเสริมราชการให้ความรู้ความสะดวกแก่ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นอันดี กับได้จัดการปกครองเมืองสงขลาซึ่งเป็นเมืองในหน้าที่และเป็นเมืองที่ตั้งมณฑล โดยเฉพาะการตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านและสารวัตรตำบลได้เรียบร้อยก่อน อันเป็นตัวอย่างแก่เมืองอื่นๆ ท่านรักษาราชการตามตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยตลอดมา นับเป็นความดีความชอบในราชการ
     พ.ศ. ๒๔๔๔ เมื่อจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้วได้ ๖ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นจางวางกำกับราชการเมืองสงขลา รับพระราชทานเบี้ยบำนาญตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปปีละ ๘,๐๐๐ บาท สูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับพระราชทานในเวลาประจำการปีละ ๒,๖๐๐ บาท และสูงกว่าเบี้ยบำนาญของผู้ว่าราชการเมืองในมณฑลเดียวกัน เป็นพระมหากรุณาอย่างพิเศษ
     เมืองสงขลาเป็นเมืองใหญ่ชั้นโท นับเป็นหัวเมืองชั้นนอกอยู่ห่างไกลปลายพระราชอาณาเขตข้างฝ่ายใต้ เดิมไม่มีรถไฟเรือไฟและไปรษณีย์โทรเลข จึงใช้เรือใบเป็นพาหนะ หรือบางคราวเป็นเวลามรสุมคลื่นลมแรง ต้องใช้คนเดินไปติดต่อกับกรุงเทพฯ กว่าจะรู้เรื่องกันได้ก็กินเวลาตั้งเดือนๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้สำเร็จราชการ มียศบรรดาศักดิ์ชั้นสูงถึงพานทอง และเป็นเจ้าพระยาก็มี เจ้าเมืองต้องเป็นผู้ที่ทรงคุ้นเคยไว้วางพระราชหฤทัยเฝ้าแหนได้ใกล้ชิดอย่างมหาดเล็กผิดกว่าที่หัวเมืองชั้นใน การปกครองบังคับบัญชาต้องเด็ดขาดและศักดิ์สิทธิ์ถึงประหารชีวิต ได้เป็นที่ยำเกรงแก่ราษฎรอีกทั้งโปรดให้ได้ถวายต้นไม้เงินทองทำนองเมืองประเทศราช
     พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวางอย่างใจนักเลงทั้งมีความโอบอ้อมอารีเป็นอันดี อัธยาศัยเป็นคนตรง รักเป็นรัก เกลียดเป็นเกลียดท่านชอบการช่างฝีมือทำสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับต่างๆ เช่น ทำไม้เท้าแกะสลัก เครื่องงา เครื่องเงิน เครื่องทองได้หลายอย่าง ของที่ใช้สอยอยู่ในบ้านก็ใช้ของที่ทำด้วยฝีมือเองโดยมาก ลงทุนสะสมเครื่องมือตั้งโรงงานไว้ในบ้าน มีเครื่องจักรเครื่องกลหลายอย่าง ทำสิ่งของต่างๆ ได้อย่างประณีต ไม่ทำไว้เพื่อขาย แต่ทำตามความพอใจที่ชอบ โดยมากทำไว้เพื่อจะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเจ้านาย แจกข้าราชบริพาร ข้าราชการ ตลอดจนมิตรสหายที่ได้ไปถึงเมืองสงขลาโดยไม่มีความเสียดาย เมื่อใครไปถึงเมืองสงขลาได้ไปหาเยี่ยมเยียนก็ยินดีรับรอง และแจกของที่ทำด้วยฝีมือให้เป็นที่ระลึก ของที่ทำถวายแจกเป็นศิลปอย่างดี เป็นที่ชอบใจแก่ผู้ได้แจกยิ่งนัก เพื่อเป็นพยานแห่งวิชาฝีมือการช่างที่ทำของดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาให้เป็นสำคัญ
     อนึ่ง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งมณฑลมีข้าหลวงเทศาภิบาลออกมากำกับ ซึ่งนับว่าเป็นคราวเปลี่ยนแปลงแก้ไขอำนาจและสิทธิ์ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองที่เคยได้มีมาแต่เดิมมากอยู่ ท่านก็ไม่ท้อถอยกลับมีความมานะอุตส่าห์ช่วยส่งเสริมราชการ จัดการปกครองท้องที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง และช่วยข้าหลวงเทศาภิบาลจัดราชการให้ได้ดำเนินไปโดยดีและปรองดองกัน อาศัยความดีที่มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อราชการดังกล่าวมา เมื่อยกขึ้นเป็นจางวางกำกับราชการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำนาญให้เลี้ยงชีพถึงปีละ ๘,๐๐๐ บาท สูงกว่าอัตราเบี้ยบำนาญผู้สำเร็จราชการเมืองในมณฑลเดียวกัน พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นจางวางกำกับราชการอยู่ ๓ ปีเศษ ก็ป่วยด้วยโรคชราถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านในเมืองสงขลา เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ตรงกับ ณ วันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ เวลาบ่าย ๕ โมง อายุ ๕๐ ปี เป็นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่ ๑๓ ปี
      พ่อท่านเมฆ ติสโร
     พ่อท่านเมฆ ติสโร เป็นบุตรของโยมทวดชู และโยมทวดนุ้ย ชาวบ้านกลาง ตำบลท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ท่านมีพี่น้อง ๕ คน คือ คุณตาพิน คุณตาพุ่ม คุณยายพ่วน คุณตาปู และพ่อท่านเมฆ เนื่องจากคุณตาปูผู้พี่ได้มามีครอบครัวอยู่ที่บ้านเชิงแสกับยายเตี้ยว เมื่อเห็นว่ามีน้องชายมีอายุสมควรอุปสมบท ก็ได้นำมาบวชกับพ่อท่านทองมากที่วัดเชิงแสใต้ พ่อท่านเมฆคิดว่าท่านคงมาบวชไม่กี่วัน ก็ฝากกระบอกตาลกับเพื่อนไว้ แต่หลังจากท่านบวชแล้วก็คงซาบซึ้งในรสพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ประจวบกับได้เป็นศิษย์ของอุปัชฌาย์อาจารย์ที่เก่งกล้าสามารถในหลายๆ ด้าน ก็เกิดความพึงใจในร่มกาสาวพัตร์ที่วัดหัวนอน ครองเพศบรรพชิตไม่ลาสิกขาบท ทั้งสนใจศึกษาพระธรรมวินัย ประกอบกับมีความเมตตาช่วยเหลืออุบาสกอุบาสิกา ท่านจึงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ เชี่ยวชาญผสมหยูกยารักษาคนไข้ทุกประเภท แม้กระทั่งคนไข้โรคจิต กล่าวได้ว่าทุกๆ วิชาที่พ่อท่านทองมากมีอยู่ท่านได้ร่ำเรียนมาหมด อย่างศิษย์เอกของพ่อท่านทองมาก เช่นนี้จึงหลังจากพ่อท่านทองมาก และพ่อท่านนวนมรณภาพแล้ว ก็เป็นยุคของพ่อท่านเมฆวาจาสิทธิ์
     พ่อท่านเมฆ ท่านมีบุญญาบารมีมากเช่นเดียวกับพ่อท่านเฒ่า ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป จึงเป็นศูนย์รวมแห่งพลังของความสามัคคีกลมเกลียว ด้วยเหตุนี้พ่อท่านจึงสามารถสร้างอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดเชิงแส ซ่อมแซมสะพานยาว ขุดลอกสระโพธิ์ ได้เป็นสาธารณประโยชน์มาจนถึงชนรุ่น ป.สข.๓๔๗ อย่างผม
     คุณครูชื่น เมืองศรี บันทึกไว้ในหนังสือ "ความดีไม่สูญ เทิดทูนเชิงแส" ว่า...เนื่องจากพ่อท่านเมฆ เห็นเด็กเรียนในโรงธรรมคับแคบและเบียดเสียดยัดเยียดกันมากแล้ว ท่านมีความเมตตาจึงปรึกษาชาวบ้านสร้างอาคารเรียนให้ได้จัดชาวบ้านช่วยกันหาไม้แบบสร้างสะพานยาว คือไปตัดไม้ในป่าเขตจังหวัดพัทลุงบ้าง ขอรับบริจาคทั่วไปบ้าง เช่น เจ้าบ่าวที่เข้าป่าเพื่อตัดไม้เพื่อสร้างเรือน
     ด้วยความดีที่พ่อท่านเมฆได้ช่วยเหลือสร้างอาคารเรียนให้ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจาก คณะสงฆ์เป็นที่ “พระครูเมฆ ติสโร” ชื่อเสียงของท่านไม่ได้มีเพียงบ้านเชิงแส แม้แต่ถิ่นฐานบ้านไกลๆ ก็ย่อมทราบถึงความดี ความสามารถ ว่าพ่อท่าน “ศักดิ์สิทธิ์” ผู้คนต่างก็มากราบไหว้บูชาพึ่งบุญบารมีของท่านมากมาย และมาตอบแทนบุญคุณท่านด้วยการติดทองคำเปลวที่เท้าท่าน มหรสพประเภท หนัง ลิเก มโนราห์ มีให้ชาวเชิงแสดูกันไม่ค่อยขาด มหรสพโรงใดเดินทางผ่านเชิงแส ต้องแวะแสดงถวายเสียคืนหนึ่งก่อน หรือถ้าเร่งรีบต้องเดนทางจริงๆ ก็ต้องรำถวายหรือเชิดเครื่องต่อหน้าท่านเสียก่อนจึงเดินทางผ่านได้ มิฉะนั้นอาจต้องมีอันเป็นไปนาทางมิดีได้ เสียงพูดกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้น “ท่านจะถูกเอา” ซึ่งความจริงก็คือจิตใจของเจ้าตัวเองที่รู้สึกไม่สบายใจหากผ่านผู้มีบุญแล้วไม่ได้แวะคารวะท่าน เมื่อมหรสพมาแวะที่วัด ทางวัดก็จะตีตะโพนขึ้นให้ชาวบ้านรู้กันว่าเป็นตะโพนขอข้าวขอแกง หรือเวลาทางวัดต้องการน้ำกินน้ำใช้ก็ตีตะโพน ชาวบ้านก็เข้าใจ หาบน้ำจากสระโพธิ์ไปให้ ถ้ามหรสพใดประโคมเครื่องดนตรีขณะเดินผ่านบ้านเชิงแส ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นการแสดงคารวะต่อพ่อท่านเมฆ และต้องรีบเดินทางไปแสงดที่อื่น
     ตอนสุดท้าย ท่านได้นำชาวบ้านไปหาไม้ในเขตจังหวัดพัทลุง เพื่อนำมาสร้างอุโบสถและบูรณะกุฏิวิหารที่ชำรุด ท่านไปติดเชื้อไข้ป่าต้องรีบกลับมาวัด ยังไม่ทันถึงวัด ท่านต้องมรณภาพระหว่างการเดินทางกลับ...เหมือนดังที่แม่กล่าวว่า “ต้นโพธิ์ใหญ่ของบ้านเชิงแสล้มเสียแล้ว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น