วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

บทที่ ๓ สินนุราชคำกาพย์ เชิงศิลป์ เชิงกวีที่เชิงแส


บทที่ ๓ สินนุราชคำกาพย์ เชิงศิลป์ เชิงกวีที่เชิงแส


     "ว่าพลาง พลางชมพนมพนัส เห็นหมาหมูแม่นหมี ชนีแห นกเขาขานขันขับแล้วจับสังแกเมื่อหันแลก็เห็นกวาง หมลังที่ย่างเดิน..." น้าหลวงขับกลอนสดอยู่บนยอดตาลโตนดขณะที่กำลังปาดตาล เสียงสดใสดังไปไกล ต้นตาลต้นนี้ขึ้นเป็นตาลต้นเดี่ยวอยู่ที่ริมคลองเชิงหัวสะพานยาววัดหัวนอน ใกล้ๆแถวต้นคุระ ปฏิภาณกวีกลอนสดแบบชาวบ้านลอยมาอย่างนี้ หวนให้นึกให้คิดไปถึงความเป็นแหล่งรวมปราชญ์ด้านกาพย์กลอนที่วัดหัวนอนบ้านเชิงแสของเรา เพราะที่วัดนี้เป็นที่เก็บคำประพันธ์ซึ่งรังสรรค์ขึ้นของเหล่ากวีมานานแล้ว ...จึงปรากฏหลักฐาน "หนังสือบุด" ต้นฉบับบันทึกวรรณกรรมไว้หลายเรื่อง คือ "สินนุราชคำกาพย์" "มโหสถ" และ "โสนน้อย"....อันเป็นวรรณกรรมอักขระในสมัยอยุธยา ที่วัดเชิงแสใต้แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่เก็บวรรณกรรมภาษาไทยเท่านั้น ยังเป็นที่เก็บคำสวดวรรณกรรมภาษาขอมอีกด้วย


(อุโบสถวัดเชิงแสใต้ซึ่งเคยเป็นที่เก็บวรรณกรรมทั้งสามเล่มดังกล่าวข้างต้น...ส่วนบริเวณหลังอุโบสถนั้นเป็นหมู่กอจากริมชวากคลอง พื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมไปด้วยต้นกระจูดหนูและไม้น้ำหลายชนิด ...ที่สำคัญก็คือเป็นแหล่งที่มีปลากัดชุกชุมมาก ระหว่างพักเที่ยงผมกับเพื่อนสนิทเคยมาช้อนปลากัดจนลืมเข้าเรียน ครั้นกลับไปถึงโรงเรียนคุณครูท่านหนึ่งถือไม้เรียวรออยู่ที่บันได เราถูกตีคนละ ๓ ที)

     กล่าวเฉพาะวรรณกรรมภาษาไทยโบราณทรงคุณค่าจากบ้านเชิงแสทั้งเรื่องโสนน้อยและสินนุราชคำกาพย์สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถบรรพชนคนเชิงแสในเชิงวรรณศิลป์ได้อย่างดีเยี่ยม กล่าวคือ เรื่องโสนน้อยผู้แต่งนิพนธ์บทประพันธ์ได้อย่างไพเราะตลอดทั้งเรื่องและทั้งเรื่องใช้โวหารเด่นในลักษณะบรรยายโวหารก่อให้เกิดลำดับเรื่องราวด้วยภาพชัดเจน
     ส่วนเรื่องสินนุราชคำกาพย์นั้น จัดเป็นวรรณกลอนสวด ที่มีลายลักษณ์อักษรละเอียดบริบูรณ์ เรื่องนี้เก็บอยู่ที่วัดหัวนอน หรือวัดเชิงแสให้ครบทั้งสี่เล่ม หนา ๔๙๔ หน้า ผู้แต่งประพันธ์เรื่องด้วยกาพย์ ๓ ชนิด คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบับ ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
     เมื่อได้อ่านทั้งสองเรื่องแล้วน่าภูมิใจว่าบรรพชนชาวเชิงแส ได้สร้างสรรวรรณกรรมในระดับชาติไว้สด้วยความดีทั้งกายวาจาใจ ยากที่ชุมชนเล็กๆ แห่งใดในประเทศนี้ที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงจักสรรค์สร้างได้

     “โสนน้อย”

     โสนน้อย เป็นวรรณกรรมประโลมโลก ต้นฉบับเป็นหนังสือบุดขาวแต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
     เนื้อเรื่องโดยย่อมีว่า นางโสนน้อยธิดาท้าวหัสวิไชกับนางเกศนีแห่งเมืองโรมวิไส วิตกเรื่องที่โหรทำนายว่านางจะได้พระสวามีเป็นผีต่างเมือง นางเกรงว่าหากเป็นจริงก็จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระบิดา นางจึงหนีออกจากเมือง พระอินทร์ทราบเหตุเช่นนั้นก็ทรงพระเมตตาประทานของวิเศษให้ ของวิเศษดังกล่าวสามารถชุบชีวิตได้ ขณะที่เดินป่านางได้พบศพนางคูลาจึงชุบชีวิตขึ้นมาเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง เมื่อโสนน้อยเดินต่อมาถึงอุทยานเมืองนพรัตน์ก็ได้ชุบชีวิตพระพิจิตรโอรสท้าวกาสิกราชและนางประไพลัคนา ณ ที่เมืองนพรัตน์นี้ ในขณะที่นางสรงน้ำได้ถูกนางคูลาซ้อนกลขโมยเครื่องทรง แล้วเรียกตนเองว่าโสนน้อย กับได้บังคับให้โสนน้อยเป็นข้าเรียกชื่อเป็นนางคูลาแทน จากนั้นนางคูลาทูลขอเป็นมเหสีของพระพิจิตร พระพิจิตรตอบรับแต่ทรงให้รอการอภิเษกไว้ก่อน
     ต่อมาพระพิจิตรออกเที่ยวทะเล เรือพระที่นั่งถูกพายุพัดไปจนถึงเมืองโรมวิไส ชั้นที่พระพิจิตรจะกลับเมือง ท้าวหัสวิไชทรงฝากเรือนหลังเล็กๆ ไปถึงโสนน้อยด้วย และกำชับให้ ๒ อำมาตย์ คือ บันลาดและรัชดา ทำทีเป็นพ่อค้าตามสืบข่าวโสนน้อยไปพร้อมกันด้วย
     เมื่อพระพิจิตรเดินทางกลับมาถึงเมืองนพรัตน์ พระองค์ทรงยกเรือนน้อยแต่ยกไม่ขึ้น เหตุครั้งนี้ยังความประหลาดพระทัยแก่พระพิจิตรเป็นครั้งที่ ๒ โดยครั้งแรกตอนจะออกทะเลก็ถอนสมอเรือไม่ขึ้นมาคราหนึ่งแล้ว ต้องให้นางโสนน้อยมาถอนจึงถอนสมอเรือได้สำเร็จ เมื่อทรงยกเรือนน้อยไม่ได้จึงตรัสให้หาโสนน้อยมาอีก ครั้นโสนน้อยมาถึงนางก็เข้าไปภายในเรือนน้อยได้เป็นที่อัศจรรย์ โดยในเรือนนั้นมีบริเวณกว้างขวาง พร้อมสรรพด้วยเครื่องตกแต่งและสนมกำนัลเป็นจำนวนมาก อันยังความประหลาดใจแก่พระพิจิตรเป็นอย่างยิ่ง หลังจากพระพิจิตรเข้าเฝ้าพระชนกชนนีแล้ว ตกราตรีก็มาประทับด้วยโสนน้อยทุกคืน แต่ทั้งสองหาได้เสียกันไม่
     ฝ่ายนางคูลาเมื่อเห็นโสนน้อยหายไป ก็ออกตามหาจนมาถึงเรือนน้อยซึ่งอยู่ในเรือ นางคูลาได้ยินเสียงพูดจากข้างใน จึงจำได้ว่าเป็นเสียงของโสนน้อย จึงเรียกให้ออกมาหานาง ครั้นโสนน้อยไม่ปฏิบัติตาม นางคูลาจึงเรียกให้สนมกำนัลช่วยเหลือ แต่ทุกคนไม่ช่วยทำให้นางคูลาโมโหมาก เข้าไปจะยกเรือนน้อยทิ้งทะเล แต่ยกเท่าไรเรือนน้อยก็ไม่ขยับเขยื้อน ซึ่งยิ่งเพิ่มความโมโหให้แก่นางและนางคูลาได้กล่าวผรุสวาทต่างๆ นานา พระพิจิตรจึงให้ทหารออกไปจับตัวแล้วนำไปสอบสวนหน้าพระที่นั่ง นางคูลารู้ว่ากลแตกจึงรับสารภาพ โดยเล่าเรื่องหนหลังให้ฟัง นางจึงถูกลงโทษให้เป็นทาสอยู่ประจำสวนอุทยาน ฝ่ายโสนน้อยนั้นท้าวกาสิกราชโปรดให้เข้าวัง และมีสาสน์ถึงท้าวหัสวิไชกราบทูลความทั้งหมดให้ทรงทราบ
     เรื่องโสนน้อยนี้ผู้แต่งสื่อให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องวาสนาบารมีว่าผู้ที่มีบุญวาสนาและความดีแม้จะตกยากก็ย่อมได้ดีในที่สุด ส่วนคนชั่วนนั้น แม้จะพยายามอย่างไรก็สำเร็จได้ยาก
     นอกจากนั้นเรื่องโสนน้อยเรื่องนี้แฝงการสั่งสอนอบรมไว้โดยอ้อมว่าการตั้งต้นในทางมิจฉาทิฐิย่อมก่อให้เกิดโทษภัย ยิ่งมิจฉาทิฐิกระทำต่อบุคคลผู้มีพระคุณด้วยแล้วก็ยิ่งก่อภัยมหันต์แก่ตนเอง
     ผู้แต่งเรื่องโสนน้อย แต่งคำกาพย์ได้อย่างไพเราะตลอดทั้งเรื่อง โดยใช้โวหารที่เด่นที่สุดก็คือบรรยายโวหาร ซึ่งสามารถลำดับเรื่องราวให้เห็นเป็นขั้นตอนและให้เห็นภาพพจน์ชัดเจน ถ้อยคำที่ใช้เรียบง่ายก็จริงแต่เป็นคำกวีที่ไพเราะทั้งด้านเสียงและภาพลักษณ์ ดังตอนพระพิจิตรเข้าเรือนเพื่อหาโสนน้อย ที่ว่า

     "จะเข้าในเรือนน้อย      โสนงามของโฉมศรี
ให้พบยุพาพี่      ได้สมดังมโนปอง
หัตถ์ผลักทวาเรศ      พระทรงเดชคะนองลอง
เสียงกริ่งพระนิ่งจ้อง      ก็เปิดออกสะดวกดาย
พระเสด็จดำเนินหงส์      จับประจงแล้ววางชาย
เนตรส่องแสวงสาย      สวาทน้องอยู่ห้องไหน
เสด็จถึงที่ฉากกั้น      ลูกกลอนลั่นออกด้วยไว
พวกนางระบำใน      ก็ก้มเกล้าชุลีกร
ต่างคนต่างขยับหนี      รู้ทีสโมสร
บุ้ยปากให้เพื่อนจร      ไปหลับนอนตามประสา
     ปางโฉมพระพิจิตร      สุริวงศ์ก็ทัศนา
สรรพสิ่งยิ่งโอฬาร์      มีลดหลั่นเป็นชั้นเฉลียง
ประทีปแก้วส่องสว่าง      หม่อมท้าวนางนอนบนเตียง
พิศพักตร์ก็คบเคียง      ละม้ายแม้นเหมือนเลขา
สมบูรณ์พูนเพิ่มสวัสดิ์      ท้าวเนาวรัตน์อลงการ์
แต่องค์วนิดา       แม่มิ่งมิตรสถิตไหน
มาถึงฉากกระจก      กระหนกเกี่ยวกระหนาบไป
ลับแลแก้วประไพ      ก็โชติช่วงวิเชียรพราย
คมเลิศประเสริฐพิศ      ชวลิตสกุลลาย
เด่นดวงมังกรราย      กระหนกหางเหมือนอย่างจริง
     มลังเมลืองงาม      อร่ามศรีมณีสิงห์
โตดูประดุจจริง      มาชิงดวงมณีชม
ระย้าระยาบยับ      แสงวาบวับระบายถม
สลับสีควรภิรม      เยศท้าวเสด็จคลา
ถึงที่ศรีไสยาสน์      พระหน่อนาถชำเลืองหา
เปิดพระวิสูตรมา      สุคนธ์รื่นยังชื่นทรวง"


     ส่วนโวหารอุปมานั้นเล่า ผู้แต่งก็ใช้คำได้คมคาย ปรากฏในตอนนางโสนน้อยกล่าวบ่ายเบี่ยงต่อคำฝากรักของพระพิจิตร โดยยกเอาความไม่คู่ควรที่พญานาคจะสมจรกับงูดินขึ้นมาเปรียบว่า

     "ไม่ควรเกียรติยศท้าวไท      เกียรติยศเป็นใหญ่
ทั่วพื้นพิภพสากล
     ประมาณเหมือนพระยานาคฤทธิรณ      ไม่รู้สงวนตน
มาระคนสมจรงูดิน
     เจ็ดเศียรเจ็ดพักตร์สุกริน      ครหาจะฉิน
ตราบเท่าจนสิ้นอวสาน"


      “สินนุราชคำกาพย์”

     วรรณกรรมกลอนสวดที่ล้ำค่าเรื่องนี้ ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าน่าจะจัดอยู่ในระดับ “มรดกของชาติ” ได้ทีเดียว เนื่องจากผู้แต่งใช้คำประพันธ์ได้อย่างลงตัวในความผสมผสานคำกาพย์ อีกทั้งเนื้อหาชวนอ่าน ที่สำคัญหนังสือทุกหน้าทั้ง ๔๙๔ หน้ายังบริบูรณ์ดีอย่างยิ่ง ลูกหลานชาวเชิงแสควรจะอิ่มเอมใจ และควรจะระลึกว่าตั้งแต่มีบ้านเชิงแสมาหลายร้อยปีแล้ว ในยุคปัจจุบันชาวเชิงแสและอนุชนคนบ้านนี้ยังไม่สามารถสร้างวรรณกรรมคำกาพย์ได้เช่นที่บรรพชนสรรค์สร้างมา...
     วรรณกรรมเรื่องสินนุราชคำกาพย์ เรื่องนี้ มีทั้งหมด ๔ เล่มหนังสือบุด พิจารณาจากอักขระแล้วน่าเชื่อว่าเขียนขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับสมุดภาพแผนที่กัลปนาดังที่ผมกล่าวไว้ในบทที่ ๒ ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เข้าใจว่าต้นฉบับเดิมชำรุดเช่นเดียวกับเรื่องโสนน้อย จึงมีพระเชิงแส ๔ รูป หรือไม่ก็ชาวเชิงแส ๔ คน หรือทั้งพระทั้งประสกต่างช่วยกันคัดลอกขึ้นไว้จากต้นฉบับเดิม จึงปรากฏว่าอักษรที่ใช้ยังเป็นอักษรเดิม มิใช่อักษรสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พิจารณาโดยเทียบกับกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑ ทั้งฉบับหอหลวง และฉบับศาลหลวง ...(ฉบับศาลหลวงนั้นในช่วงปี ๒๔๘๖ เป็นต้นมาหายไปมากต่อมากน่าเสียดายจริงๆ)...) ...เมื่อคัดลอกแล้วเสร็จ ก็ยังคงเก็บไว้ที่ในอุโบสถวัดเชิงแสใต้เช่นเดิม...โดยคณะผู้คัดได้เขียนกำชับห้ามมิให้ผู้อ่าน "ทำให้เปื้อนน้ำหมาก ห้ามนอนอ่านเพราะจะทำให้หนังสือยับ..." กับเล่าไว้ด้วยอารมณ์ขันว่าผู้เขียนนั้น "นั่งเขียนกันจนเข็ดเอว ใครยืมไปอ่านแล้วไม่รักษา หมาทั้งชาติ"...

     สินนุราชคำกาพย์ ต้นฉบับหนังสือบุดขาว (ปุสตก (ส.) โปตถก(บ.)) ของวัดเชิงแสใต้เป็นวรรณกรรมชาดกนอกนิบาตที่มีความล้ำค่าหลายประการ กล่าวคือ
     ๑. ล้ำค่าด้านอรรถรสของวรรณคดีเนื่องเพราะกวีชาวเชิงแสใช้โวหารภาษาอุปมาอุปไมยได้อย่างยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
     ๒. ล้ำค่าด้านการลำดับผสมผสานเรื่องราว โดยกวีแบ่งซ้อนเนื้อเรื่องเป็นสองตอน ตอนที่หนึ่งแต่งใช้เค้าเรื่องจากสุธนูชาดก ในปัญญาสชาดก ตอนที่สองแต่งโดยนำอนุภาค ของเรื่องรามเกียรติ์และจันทโครพมาเป็นเค้าเรื่อง ดังนั้นเรื่องในตอนแรกจึงมีพระสัชนูเป็นตัวเอก ส่วนตอนที่สองมีพระสินนุราชโอรสพระสัชนูเป็นตัวเอก
     ๓. ล้ำค่าด้านเจตนารมณ์ในการประพันธ์ เนื่องจากกวีชาวเชิงแสประพันธ์เรื่องสินนุราชคำกาพย์เพื่อเป็นหนังสือสวดที่หมายมุ่งสั่งสอนจริยธรรมแก่ผู้คน
     ๔. ล้ำค่าด้านการสอดแทรกวิถีผู้คนและชุมชนเข้าไว้ในเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คติธรรม ความเชื่อ ขนบ ความเป็นอยู่ และสภาพของสังคมขณะประพันธ์ ทำให้เห็นสภาพของบ้านเชิงแสและชุมชนใกล้เคียง จากคำประพันธ์อันสูงค่าเช่นนี้ จึงนับได้ว่าสินนุราชคำกาพย์เปรียบเหมือนหนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกของบ้านเชิงแส
     หากได้เห็นหนังสือบุดขาวสินนุราชคำกาพย์แล้ว เชื่อว่าชาวเชิงแสและลูกหลานชาวเชิงแสจะปลื้มใจจนน้ำตาไหล และก้มกราบหนังสือทั้งสี่เล่มนี้ได้โดยไม่รู้ตัวทีเดียว ด้วยการทรงคุณค่าของวรรณคดีดังที่ผมกล่าวแล้ว ทั้งหนังตลุงและมโนราจึงนำเอาบางช่วงบางตอนมาเป็นบทแสดงของมหรสพชาวใต้ทั้งสองประเภท
     ๕ ล้ำค่าด้านอักขระในการแต่ง กวีผู้แต่งเรื่องสินนุราชท่านนี้เป็นผู้ที่เป็นปราชญ์ซึ่งได้อ่านและมีการศึกษาขั้นสูง จึงทำให้นำเค้าเรื่องจากชาดกและวรรณคดีมาแต่งเป็นคำสวด ด้วยกาพย์ ๓ ประเภท ได้อย่างมีอรรถรสวิจิตรด้วยอักขระและภาษากวี ยากที่จะเลียนแบบได้ แม้ไม่ยากที่เราชนรุ่นหลังจะเดินตามทางกวีของท่าน แต่ก็คงเดินตามได้ห่างๆ เท่านั้น กล่าวสำหรับผมนั้นคงหมดสิทธิเดินตามทางกวีชั้นสูงของปราชญ์เชิงแสท่านนี้อย่างแน่นอน อย่าว่าแต่เดินตามเลย คลานตามจะไหวหรือเปล่าก็ยังไม่รู้
       ๕.๑ อักขระเดิมที่แต่ง กวีชาวเชิงแสผู้ไม่ปรากฏนามแต่งโดยใช้อักขระสมัยอยุธยา แต่ในชั้นที่มีการคัดลอกลงหนังสือบุดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ผู้คัดลอกมีอย่างต่ำ ๔ ท่าน ดังที่กล่าวแล้วตอนต้นคัดลอกโดยใช้อักษรไทยรัตนโกสินทร์ตอนต้นผสมอยู่ด้วย ตัวอักษรที่ได้คัดได้เขียนมามีการเล่นหางเป็นระเบียบ และสม่ำเสมอด้วยวางแนวตัวอักษรไว้ใต้บรรทัดทั้ง ๔๙๔ หน้า การจบเรื่องใช้คำว่า “ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๙๖ พระพรรษา ปีฉลู เบญจศก เขียนจบ ณ วัน ๖ ฯ ๓, ๑๒ แลท่านเอย”
       ๕.๒ วรรณกรรมภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เพราะกวีผู้แต่ง แต่งด้วยความศรัทธาให้เป็นหนังสือสวดสอนจริยธรรม กวีมีจิตใจสูง ไม่ต้องการชื่อเสียง ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ผู้เขียนหนังสือมักจะลอกเนื้อหาจากหนังสือเล่มอื่น แล้วต่างต้องการชื่อเสียงเป็นของตัว โดยไม่ยอมอ้างอิงที่มา เช่น หนังสือเรื่อง “หมิ่นประมาทพระบิดาแห่งกฎหมายไทย” อัยการและทนายความได้ลอกไปจากหนังสือ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ที่ผมเรียบเรียงขึ้นและได้รับรางวัลพระราชทานดีเด่นแห่งชาติ แต่อัยการกับพวกไม่อ้างอิงชื่อผม “ที่ตลกก็คือ มีบางข้อความ บางพ.ศ. พิมพ์ผิด ก็ยังคัดลอกไปอย่างผิดๆ” เช่น ปีพ.ศ.๒๔๔๗ นั้นผิด ที่ถูกเป็นปีพ.ศ.๒๔๔๖ เป็นต้น ผมไปพบเข้าโดยบังเอิญ ตอนนี้ก็ยังมีจำหน่ายอยู่ โดยสำนักพิมพ์ใหญ่ระดับประเทศรับจัดจำหน่ายให้ ก็ต้องขออวยพรให้ทั้งอัยการกับทนายความผู้ลอกผลงานของผมและสำนักพิมพ์ยิ่งใหญ่ผู้จำหน่ายนั้น จงมีความรุ่งเรือง มีความร่ำรวยและความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ
     กลับมาที่เรื่องสินนุราชคำกาพย์ฉบับวัดเชิงแสหัวนอนหรือวัดเชิงแสใต้ต่อดีกว่า อยากจะกล่าวว่าตอนจบเรื่องสินนุราชผู้แต่งกวีได้แสดงความมีจิตใจสูงให้ได้เห็นโดยกล่าวไว้ว่า “ผู้ได้สร้าง ไว้เป็นที่อ้าง คือปักหลักชัย บุญนั้นหนักหนาผู้มาอีมไป (คือมายืมไป...ผู้เขียน) อ่านครั้งหนึ่งไซร้ ได้บุญสิบกัลป์”

     ก่อนจบเรื่องนี้ใคร่ขอยกตัวอย่างลักษณะเด่นของสินนุราชคำกาพย์ พอสังเขป ดังนี้...+++... .......บทชมธรรมชาติ......+++เพลาเมื่อรุ่งเช้า...พระปิ่นเกล้าชมสระศรี...แมงภู่หมู่ภุมรี...ชมมาลีกลิ่นละออง...+++...บัวหลวงแลบัวครั่ง...ดอกสะพรั่งอยู่เรืองรอง...คืออุรังเจ้าทั้งสอง...น้วรลอองทังคูเคียง(วรรคนี้ผมตั้งใจใช้คำดั้งเดิมตามหนังสือ แปลเป็นภาษาปัจจุบันให้เหมือนวรรคอื่นว่า /นวลละอองทั้งคู่เคียง/)...+++...เดินพบจัตุบาท...เที่ยวเกลื่อนกลาดอยู่ในดง...เสือโคร่งอันย่องยง...เที่ยวจ้องครองมองกวางทราย...+++...ละมั่งละมาดมี...เสือดาววิ่งไล่โคควาย...หมีแรดแผดมาใกล้...พระเลิศชายไม่เงืองงง... .....หรืออีกบทหนึ่ง.......+++สายหยุดพุดทรา...ชมนาดจำปา...ลิซ้อยมะลิวัลย์...ชงโคโยธิกา...กระดังงาอัญชัน...กระถินอินจัน...รถนั้นโอฬาร์... .....หรืออีกบทหนึ่งตอนที่พระสัชนูอยู่ในป่า ที่ว่า.....+++สุริยาลับเมรุผัน...แสงพระจันทร์สว่างใส...ภูธรนอนใต้ไทร...มีสระใหญ่ใจสำมราญ...+++แสงเดือนสว่างแผ้ว...คือแสงแก้วในชลธาร...น้ำใสพ้นวิกาล...ได้ชื่นบานในอินทรีย์...+++เพลาเมื่อรุ่งเช้า...พระปิ่นเกล้าชมสระศรี...แมงภู่หมู่ภุมรี...ชมมาลีกลิ่นละออง... .....นอกจากนั้นสินนุราชคำกาพย์ยังมีบทอุปมาอุปไมยตอนที่นางเกศสุวรรณมาลีสลบเพราะปราบนรินทร์กินผลไม้พิษ นางเข้าใจว่าถึงแก่ความตาย จึงรำพึงเปรียบเทียบ ว่า....+++ถ้าพระเป็นนกเปล้า/เมียทรามเคล้าเป็นไพรวัลย์/เป็นที่พระทรงธรรม์/เข้าขันร้องพร้องเจรจา...+++ถ้าพระเป็นแขกเต้า/เมียคูเคล้าเปนสาริกา/สรรพสัตว์สกุณา/เมียนี้หนาเป็นป่าไพร....+++ถ้าพระเป็นทรายทอง/เมียร่วมห้องเป็นหญ้าไซ/ให้ท้าวสำมราญใจ/ที่ในแผ่นพระสุธา....+++ถ้าพระเป็นแมลงภู่/เมียร่วมชู้เป็นบุปผา/ถ้าพระเป็นมัจฉา/เมียนี้หนาเป็นวารี...+++ถ้าพระเป็นคชสาร/กระหม่อมฉันเป็นพงพี/ถ้าพระเป็นราชสีห์/ตัวเมียนี้เป็นคูหา... ......น่าประทับใจในคำประพันธ์ของกวีชาวเชิงแสบ้านแม่บ้านเกิดจริงๆ เชียวครับ อ่านแล้วอยากกลับบ้าน ใครที่จากบ้านมานานก็ควรจะกลับบ้านสักครั้งได้แล้วกลับกันให้ครบ หลบเชิงแส ......ยังมีอีกบทหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเพื่อยกย่องกวีนิรนาม ก็คือรสวรรณคดีที่เป็นการเล่นคำ เช่นคำว่า..+++ร้วย ๒ ภระภ้ายภา/ต้องอุราใหอาใหลย/ราง ๒ รมางไนย/ก้วรภระไทยเจาขึนมา...+++บัดเดียวภระภ้าย/ภัดตองออรไทย/เร้งย้ายโรปา/เร้งตองเร้งเต้ง ครัดเคร้งขึนมา/ยิงชมยิงชา/ยิงมาลารใจ...(แปลเป็นอักขระปัจจุบันว่า...รวยรวยพระพายพา/ต้องอุราให้อาลัย/รางรางระมางใน/กวนพระทัยเจ้าขึ้นมา....+++บัดเดี๋ยวพระพาย/พัดต้องอรทัย/เร่งย้ายรูปา/เร่งต้องเร่งเต่ง/ครัดเคร่งขึ้นมา/ยิ่งชมยิ่งชา/ยิ่งมาลานใจ... ......ด้วยความที่วัดเชิงแสใต้เป็นแหล่งกวีเชิงศิลป์เช่นกล่าวแล้ว ในระยะต่อมาลานวัดลานโรงเรียนก็เป็นที่รวมการแสดงมหรสพหลายประเภท ผมนั้นทันได้เห็นโนราแข่ง หลังตลุงแข่งหลายคณะ ผมเคยได้ดูโนราเติมแข่งกับโนราเสน่ห์ที่ใต้ต้นเลียบใหญ่ จำได้ว่าผู้คนดูโนราเติมทั้งนั้น โนราเสน่ห์ไม่มีใครดูนอกจากผมและเพื่อนกับชาวบ้านบางคน ตัวผมนั้นปีนขึ้นไปนั่งบนโรงโนราใกล้คนตีโหม่ง ดูสนุกมากสนุกอยู่คนเดียว หนังตลุงที่วัดเชิงแสใต้ตั้งโรงที่ใกล้ต้นประดู่ใหญ่ริมสระรักทางไปป่าช้าบ้านเชิงแส ผมได้ดูหนังกั้น ทองหล่อ เล่นเรื่องที่พระเอกร้องเรียกชาวบ้านทุกหัวรุ่งให้ได้ตื่นไปทำนา หนังสกุล เสียงแก้ว จากสงขลาผมก็เคยดูหลายครั้งมาก ดูจนตอนหลังเปลี่ยนเป็น หนังสกุล ตลุงชาโดว์ แต่มหรสพที่คนดูกันจนมืดฟ้ามัวดินก็คือ ลิเกคณะบุษบา ที่มีพระเอกชื่อ ประเทือง เสียงกาหลง การรับลิเกคณะบุษบาไปเล่นไปเปิดการแสดงที่สนามหน้าโรงเรียนวัดเชิงแสเมื่อปี ๒๕๑๘ นั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก ชาวบ้านเชิงแสถึงกับตั้งคณะกรรมการเดินทางมาที่สำนักงานของบุษบาที่ถนนงามวงศ์วาน กรุงเทพฯ กันเลยที่เดียว.. หลบเชิงแส...

6 ความคิดเห็น:

  1. สุดยอดทั้งปราชญ์สมัยก่อนและท่านที่แปลมาเป็นภาษาปัจจุบัน ไพเราะมากๆๆค่ะ

    ตอบลบ
  2. ดีใจมากครับที่ท่านเจ้ามาอ่าน

    ตอบลบ
  3. ลองเดินอ้อมไปดูหลังโบสถ์คับที่หน้าจั่วจะเป็นรูป พระนารายณ์ทรงสุบรรณคับ

    ตอบลบ
  4. ขอทราบหน่อยครับ ตอนนี้สินนุราชคำกาพย์และพระมโหสถ ยังเก็บอยู่ที่วัดเชิงแสใต้มั้ยครับ หรือเก็บไว้ที่ไหนครับ พอดีอยากศึกษาครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อยู่ที่สถาบันไทยคดี ที่เกาะยอครับ

      (ขออภัยที่เพิ่งเห็นคำถาม ครับ)

      ลบ
    2. ไม่ใช่อยู่บนหอเมฆประดิษฐ์หรอคับลุง

      ลบ